บ้านของใจ

สุวีโร ภิกขุ 15 พฤศจิกายน 2009

เมื่อพูดถึงผืนดิน เรามักจะนึกไปถึงการเป็นเจ้าของที่ดินสักผืนหนึ่ง ในขนาดพื้นที่เป็นไร่บ้าง เป็นตารางวาบ้าง นึกถึงสิ่งปลูกสร้างที่จะอยู่ตรงนั้นตรงนี้อย่างที่คิดภาพเอาไว้ มีบ้านในฝันอย่างที่เราอยากจะเป็นเจ้าของ  ครั้นพอนึกถึงประโยชน์ใช้สอยมากมายกับข้อดีที่จะได้รับกลับคืนมา หลังจากความทุ่มเทใส่ใจลงไปในทุกๆ ขั้นตอนของการทำตามฝันให้เป็นจริง ใช่เลย! มันคงจะทำให้เรามีความสุขถ้าทั้งหมดเป็นไปได้ดังใจนึกฝัน  ความสุขที่เราต้องการจึงขึ้นอยู่กับผลลัพธ์หรือผลที่ปรากฎออกมา หากว่ามันเป็นได้ดังใจ ก็จะรู้สึกพอใจ แต่ถ้าไม่เป็นไปอย่างที่คิดฝันไว้ล่ะ มันจะเป็นยังไง?

มีผู้คนจำนวนมากมายใฝ่ฝันถึงและต้องการอยู่บ้านแสนสุข มีภาพเงาร่างของบ้านในใจ เมื่อค่อยๆ ต่อเติมไปตามความคิดและไหลลื่นไปกับจินตนาการ เป็นเสา เป็นพื้น เป็นฝาเรือน เป็นข้าวของเครื่องใช้และห้องหับภายใน กระทั่งเห็นเป็นภาพชัดในใจ จึงเชื่อว่านี่คือภาพบ้านในฝันที่เราคิดว่าเป็นของจริง แต่ลืมไปไหมว่า มันเป็นจริงเพียงในใจเรา ในยามที่เรานึกคิดฝันเห็นเท่านั้น

ทั้งๆ ที่รู้จักแล้วว่า ใจเรานี้เป็นนายช่างนักสร้างขนานแท้ แม้เราพบเจอนายช่างผู้นี้อยู่บ่อยๆ แต่ก็ยังอดไม่ได้หลงเชื่อใจอยู่เรื่อยเลย กระทั่งเผลอไผลปล่อยให้มันปลูกบ้านแปลงเรือนขึ้นมาในใจอยู่เสมอ อาจเป็นเพราะว่า มันเป็นนายช่างประจำใจเรานั่นเอง ทุกครั้งจึงโอนอ่อนผ่อนตามให้มันสร้าง ปั้นและแต่งได้ดังใจปรารถนา ได้เห็นว่ามันเป็นจริงในใจเรา แค่คิดก็สุขแล้ว  เราเคยชินที่จะสร้างบ้าน หาวิธีคิดนึกถึงมันขึ้นมา ว่าแต่…เรารู้จักมันจริงไหม? นายช่างผู้นี้ รู้จักมันดีแค่ไหน? การรู้จักคงมิใช่เพียงรู้ว่าอยู่ที่ไหน? มาจากทิศใด? ทว่าการรู้จักในที่นี้คือ การรู้จักธรรมชาติอย่างที่มันเป็น

ประหนึ่งว่าเรากำลังพิจารณาดูผืนดินใต้เท้า และพยายามทำความเข้าใจอุปนิสัยพื้นเพของมันตามบุคลิกลักษณะอย่างที่มันเป็น เช่น เป็นพื้นที่ลาดชันหรือราบลุ่ม ชนิดของดินมีลักษณะเหนียวหรือร่วน มีหินผสมหรือดินปนทราย รากไม้ลงได้ลึกหรือตื้น อุดมสมบูรณ์หรือขาดแคลนธาตุอาหาร มีอินทรียวัตถุมากหรือมีน้อย เป็นต้น และค่อยๆ รวบรวมความรู้เหล่านี้ให้กลายเป็นว่าได้รู้ธรรมชาติอย่างที่มันเป็นดีแล้ว  แต่เคยสงสัยบ้างไหมว่า สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้นมิใช่การคิดไปเองแต่เพียงฝ่ายเดียว อะไรคือเครื่องพิสูจน์ว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ การหลงคิดไปว่า “นี่แหละ ใช่เลย!” อาจเป็นแค่การคิดเชื่อก็ได้ เพราะว่านักสร้างบ้านในใจเรานี้ย่อมพยายามยืนยันอย่างจริงจังด้วยรากฐานที่ตัวเราเองยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นอยู่นั่นเอง และถ้ามันเชื่ออย่างงั้นจริงล่ะก็ คงต้องทดลองพิสูจน์ผ่านประสบการณ์จริงด้วยตนเองดูสักที

จะพบได้เองว่า เพียงแค่ความคิดกับการรู้เห็นผ่านประสบการณ์จริงนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง การจับต้องผิวดิน สัมผัสลูบไล้ นวดเหยียบ ฉาบทาและปั้นให้มันเป็นรูปเป็นร่าง ตามจินตนาการให้ออกมาเป็นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาดังใจนึก หรือการวางอิฐไปทีละก้อน  จะอย่างไรตาม ความคิด ย่อมไม่เหมือนกับการดูผู้อื่นกำลังทำแน่ๆ และการก่อมันขึ้นเป็นชั้นๆ ด้วยมือตัวเองนี่ ก็แสดงผลซึ่งมีแต่ผู้ที่ลงมือทำเองเท่านั้นจึงจะรู้ได้

แม้ว่าบางครั้งผลลัพธ์ที่ออกมามันจะเอียงไปบ้าง หรือเป็นผนังดินไม่เรียบ มีหน้าต่างและช่องลมบิดเบี้ยว แต่หลังจากฉาบผิวทาสี ปั้นดินแต่งรูปทรงใส่ขวดสีขาว สีเขียว สีชา จัดวางลงไป มีเสา มีหลังคากันฝน กันแดดและลมหนาว มันก็ดูลงตัวดีถ้าเรามีจุดหมายเพียงเพื่อเป็นที่พักอาศัย  แต่ถ้าต้องการให้มั่นใจแล้วล่ะก็ คงต้องลองอยู่เองถึงจะรู้ และหากสังเกตุดูบ้างสักนิด เราอาจได้รู้จักใจของตัวเองเพิ่มขึ้นอีกว่า ใจนี้คือนักปั้นแต่งตัวฉกาจ แต่งให้ดีก็ได้ แต่งให้ร้ายก็เป็น

ผู้คนที่เคยทำบ้านดินจะรู้ว่า ทุกๆ ขั้นตอนในระหว่างการทำสามารถแก้ไขได้ ถึงมันจะดูเป็นรูปเป็นร่าง หรือแห้งสนิทยึดแน่นแล้วก็ตาม แต่เราพบว่ามันมีบางอย่างที่เราเห็นว่ายังไม่พอดี เราก็สามารถรื้อออกทำใหม่ได้  จนกว่ามันจะดีแล้วชอบแล้วสำหรับผู้อยู่เอง กำแพงมันเอียงออกมามากรึ เราก็เอาไม้มาช่วยกันค้ำให้มันตรง บางทีหน้าต่างมันก่อขึ้นมาแบบผิดสัดส่วน ก็ปั้นกรอบโครงขึ้นเสริมเข้าไปให้แข็งแรง  อาศัยประสบการณ์จากการทำผิดทำพลาดเป็นแบบฝึกหัดจนมีความชำนาญ ให้ทดลองใช้อยู่จริงเป็นแบบเรียน ศึกษาจนรู้ดีเข้าใจลักษณะรูปทรงที่ตั้งที่มีต่อบ้านหลังนี้

มิพักต้องไปกล่าวถึง การทำความเข้าใจกระบวนการทำบ้านดิน ยังอาจทำให้เราเห็นกระบวนการเป็นไปภายในจิตใจของเราได้ไม่มากก็น้อย ถ้าเรารู้จักน้อมใจเข้าไปดู ดังการรู้ว่าเราเป็นคนแบบใด บ้านจึงออกมาเป็นเช่นนี้ ใจเราเป็นอย่างไรระหว่างลงมือทำ ดินปั้นจึงแสดงผลอย่างนี้ และเมื่ออยู่ในสถานการณ์พลิกผัน เรามีท่าทีอย่างไร?  หากเรารู้เห็นตนเองขณะก่อร่างสร้างเรือนได้ ทำไมจะรู้จิตรู้ใจตนเองไม่ได้เล่า ความเข้าใจเกิดขึ้นมีได้พร้อมๆ กับการยอมรับในสิ่งที่เราเป็น มันเป็นอย่างนี้นี่เอง จะเป็นอื่นไปได้อย่างไร  หากเราย่ำดินไม่ทั่วถึง ผนังจะแข็งแรงได้อย่างไร รากฐานที่ง่อนแง่นคลอนแคลนเช่นนี้ หากเป็นบ้านที่เราอยู่จริงๆ คงจะไม่ปลอดภัยเป็นแน่ จะรู้ดีเข้าใจมันได้ก็ต้องเรียนรู้ให้บ่อยๆ รู้เห็นมันจนจำได้เจนใจ เข้าใจวงจรอันธรรมดาสามัญในตัวเราเอง

ใจนี้คือนักปั้นแต่งตัวฉกาจ แต่งให้ดีก็ได้ แต่งให้ร้ายก็เป็น

ดิน หิน ทราย น้ำ อาจเป็นของธรรมดาพื้นๆ ก็จริง แต่หากจะสร้างบ้าน จะอย่างไรจำต้องอาศัยมันเป็นส่วนประกอบพื้นฐาน และเช่นกัน เวลาจะสร้างบ้านในใจก็ต้องอาศัยการประกอบของความจำ การปรุงแต่ง และการนึกคิดเป็นรากฐาน ขึ้นอยู่กับว่ารากของมันชอนไชไปยังที่ใด (ความรู้ ประสบการณ์ และจินตนาการ)  บ้านแบบนี้อยู่ไม่ได้จริง เพราะมันเป็นบ้านในความคิด และปรากฏให้ใจเราอาศัยได้เพียงชั่วคราว อีกทั้งยังผันแปรไปตามวัตถุปัจจัย (กระเบื้อง สังกะสี เป็นต้น) ที่ถูกผลิตขึ้นมากับที่มีอยู่ในโลก แถมยังเปลี่ยนรูปตามใจเราอีกแน่ะ แค่มีความรู้เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น บ้านก็เปลี่ยนไปแล้วตามใจนึก

มันจึงเป็นบ้านแห่งความสุขที่ไม่เคยแม้แต่จะหยุดนิ่ง มันผันแปรไปตามปัจจัยที่แวดล้อม ขึ้นอยู่กับว่าในตอนนั้นมีสิ่งใด? เรื่องอะไร? เกิดขึ้นในใจเรา  บ้านอย่างนี้ทำให้เราเป็นสุขไม่ได้จริง เพราะมันแค่แสดงผลลัพธ์รูปเงาที่เราทึกทักเอาว่า “เป็นสุข” แต่สุขนั้นจะหายไปในทันทีที่สัมฤทธิ์ผล เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้จริง  หากเราต้องการจะมีความสุขจากการได้อยู่ในบ้านหลังนี้จริงๆ ก็ต้องพยายามก่อสร้างมันขึ้นมาให้ใช้อยู่ได้จริงๆ มีตัวบ้านปรากฏให้เห็นกับตา สามารถสัมผัสและเข้าไปในบ้านนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

แต่หารู้ไม่ หลังจากสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมาจนเสร็จสิ้น แม้เข้าไปอยู่ได้แล้ว ก็ยังไม่สุขสม เพราะมันเป็นความรู้สึกที่ขึ้นอยู่กับการยอมรับว่า “บ้านเป็นของฉัน” อยู่แล้วมีความสุขเพราะเช่นนั้นเช่นนี้ สวย มีสไตล์ รู้จักใช้วัสดุในท้องถิ่น ประหยัดค่าใช้จ่ายแต่ดูมีราคา เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้มันจึงต้องอ้างอิงผ่านการยอมรับโดยผู้คนอื่นๆ มากมาย ความสุขหลังนี้จึงเป็นจริงได้ยาก  อีกทั้งยังหลงสร้างความทุกข์ใจขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวถ้าพยายามเรียกร้องหาการยอมรับจากผู้คนอยู่เรื่อยๆ  มันไม่เหมือนกับการเผชิญความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าเดี๋ยวนั้น เมื่ออยู่กลางแจ้งแดดส่องร่างกายมันก็รู้ว่าร้อน พอเข้ามาอยู่ใต้ร่มไม้หรือหลบพักในร่มไม้ชายคา เออ…มันเย็นนะ ร้อนกับเย็นมันเปลี่ยนไปมาอย่างง่ายดาย กายกับใจมันเป็นอย่างนี้ มันบอกเราอย่างตรงไปตรงมา

ขอเพียงเรารู้จักหยุดพักการคิดถึงเรื่องร้อนใจซะสักเดี๋ยว ใจมันก็ค่อยๆ เย็นลงไปเอง แค่เพียงการหยุดพักใต้ร่มไม้ ยังทำให้กายนี้ใจนี้เย็นได้ แล้วถ้าหยุดปั้นแต่งต่อเติมเรื่องราวในใจได้ล่ะ มันก็เท่ากับว่าเราได้สร้างบ้านเสร็จแล้วจริงๆ ใช่ไหม? เพราะบ้านที่ทำสำเร็จแล้วมันไม่ต้องตกแต่งเพิ่มเติมอะไรอีก  แต่ถ้าจะให้ดี บ้านที่แท้จริงกลับไม่ต้องสร้างไม่ต้องเสริมเติมแต่งอะไรเลย เพราะมีอยู่แล้วภายในใจ ในใจปกติธรรมดานี่เอง เป็นใจที่มีบ้านให้กลับได้ทุกเมื่อ เป็นบ้านของใจที่การปั้นแต่งยุติแล้วในใจเรา จนกว่าจะไม่มีงานให้ต้องทำอีก เมื่อนั้นเราจึงบอกได้ว่ารู้จักนายช่างปลูกเรือนอย่างแท้จริง เพราะเมื่อใจรู้จักจึงหยุดดูได้ทันเป็นธรรมดา นายช่างจึงสร้างเรือนให้เราไม่ได้อีก เมื่อจิตใจหยุดดู ย่อมรู้เห็นเข้าถึงสภาพที่ปราศจากการปรุงแต่งในที่สุด คือถึงบ้านแล้วนั่นเอง


ภาพประกอบ