ปลุกสติออนไลน์ รุ่น 5: ถอดเทปแนะนำการปฏิบัติ 18 ต.ค. 2563

เครือข่ายพุทธิกา 4 ธันวาคม 2020

ถอดเทปแนะนำการปฏิบัติ

เช้าวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 63

ปลุกสติออนไลน์ รุ่น 5


พบกันอีกครั้ง สำหรับการปลุกสติออนไลน์ วันนี้เป็นวันที่ 3 เช้าแล้วนะ แต่ว่าฟ้ายังไม่ค่อยสว่างเท่าไร แต่ก็ขอให้ใจเราสว่างนะ ใจเราสว่างได้ก็เพราะสติ สติจะช่วยปัดเป่าความซึมเซา ขับไล่ความง่วงเหงาหาวนอนไป ทำให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่ากระชุ่มกระชวย

เมื่อสองวันก่อนก็ได้พูดไปแล้วว่า การปลุกสติ คือการใช้สติ ใช้บ่อยๆ เริ่มต้นด้วยการใช้สติเพื่อพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ใจเมื่ออยู่กับเนื้อกับตัวมันก็จะรู้สึกตัว เวลากายทำอะไร ใจก็รู้สึก รับรู้ไปด้วย เช่นเดิน ปกติเวลาเราเดิน ใจเราลอย คิดนั่นคิดนี่ก็เลยไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ตัวว่ากำลังเดิน และไม่รู้สึกถึงการเคลื่อน การขยับของร่างกาย โดยเฉพาะที่ขา แต่คราวนี้เราหันมาฝึกแทนที่จะปล่อยใจลอย เราก็พยายามฝึกใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว ใจจะอยู่กับเนื้อกับตัวได้เพราะสตินั่นแหละ พาใจที่หลงวนอยู่ในความคิดกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว รู้เนื้อรู้ตัว รู้ว่ากายกำลังทำอะไร อันนี้เรียกว่าเห็นกายเคลื่อนไหว เรียกว่ารู้กายก็ได้ ซึ่งวิธีการก็ได้แนะนำเป็นหลักไว้ว่า  “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น” ขณะเดียวกันมีหลักอีกตัวหนึ่งที่ช่วยได้คือ  “ทำทีละอย่าง” เวลาเดินถ้าเราคิดโน้นคิดนี่ไปด้วย แม้จะเป็นเรื่องงานการก็ตาม อันนี้เรียกว่าทำสองอย่าง ใจก็ไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวเท่าไหร่ และไม่ค่อยรู้ว่ากายกำลังทำอะไรอยู่ คือไม่รู้สึก ไม่รู้สึกถึงการขยับของกาย

คราวนี้เราจะมาฝึกขั้นต่อไป จากรู้กายก็มารู้ใจ โดยใช้สตินั่นแหละ

“รู้ใจ” หมายความว่า รู้ทันความคิดนึก รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ตอนฝึกใหม่ๆ เราเน้นการรู้กายก่อน ใจคิดนึกอะไร อย่าเพิ่งไปสนใจ เพียงแค่ว่าพาใจกลับมาอยู่กับกายก็พอแล้ว และรู้สึกถึงกายเคลื่อนไหว ทำแบบนี้ไปบ่อยๆ นานๆ เข้า สติจะไว จะมีกำลัง ทีนี้พอเผลอคิดไป ก็จะเห็นความคิด รู้ว่าเผลอคิดไป รู้ว่าใจกำลังฟุ้งซ่าน ความคิดที่เคยต่อเนื่องยืดยาวเป็นสาย เช่น คิดไป 7-8 เรื่องถึงจะรู้ตัว อันนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงคือรู้ได้ไวขึ้น จากคิด 7-8 เรื่องก็เหลือ 5-6 เรื่องก็รู้ตัว สตินั่นแหละจะพาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เราจะเห็นความคิดได้ไวขึ้นๆ จากคิดไป 5-6 เรื่อง ถึงค่อยกลับมารู้เนื้อรู้ตัว ต่อไปคิดได้แค่ 2-3 เรื่องก็รู้ตัวแล้ว รู้ว่าเผลอคิดไป รู้ว่าเผลอคิดไปเพราะอะไร เพราะสติ

ตอนที่รู้ตัวว่าเผลอคิดไป จะเห็นความคิดก่อน และระลึกขึ้นมาได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังเดินอยู่ กำลังสร้างจังหวะอยู่ กำลังอาบน้ำอยู่ กำลังกินอาหารอยู่ นี่แหละเป็นงานของสติ

สติทำหน้าที่หลายอย่าง ทำให้ระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำให้รู้ทันความคิดและอารมณ์ หรือเรียกว่าเห็นความคิดและอารมณ์ และยังทำหน้าที่พาจิตออกจากความคิดและอารมณ์ มาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ลองทำไปๆ จะเริ่มเห็นความคิด แต่ก่อนนี้ไม่เห็น มีความคิดอะไรเกิดขึ้นก็เข้าไปเป็นเลย มีอารมณ์ใดเกิดขึ้นก็ไม่เห็นมัน เข้าไปเป็น เป็นผู้โกรธ เป็นผู้เสียใจ เป็นผู้เครียด เป็นผู้วิตกกังวล แต่สติทำให้เห็น เห็นความโกรธ เห็นความเครียด เห็นความเศร้า เปรียบสติเหมือนกับตาใน ตาเนื้อทำให้เราเห็นภาพข้างนอก เห็นคนข้างนอก เห็นสิ่งรอบตัวที่อยู่โดยรอบ  แต่ตาในทำให้เห็นความคิดและอารมณ์ อันนี้เป็นความมหัศจรรย์ของสติว่าทำให้เราเห็นความคิดและอารมณ์ แต่ก่อนนี้ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ หรือรู้ทันความคิดและอารมณ์ เข้าไปเป็นตลอด คิดอะไรก็ไหลไปตามความคิด มีความรู้สึกอะไรก็จมดิ่งไปกับความรู้สึกนั้น เป็นผู้โกรธ เป็นผู้เครียด

เริ่มจากการมารู้กายไปเรื่อยๆ เห็นกายเคลื่อนไหว ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปจะรู้ใจคิดนึก จะเห็นความคิด เห็นความรู้สึก ซึ่งต่อไปแม้เวลาเราไม่ได้ปฏิบัติในรูปแบบ พอมันมีความคิดหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้น สติก็จะไว เห็นทันมัน อย่างพระอาจารย์ประสงค์เคยเล่าว่า เคยสนทนากับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง อายุประมาณ 9-10 ขวบ เธอเป็นคนสนใจธรรมะ ฉลาด พูดจาคล่องแคล่ว หลวงพ่อประสงค์สนทนาเสร็จก็พูดกับเด็กคนนี้ว่า “หนูเป็นเด็กฉลาด หนูเป็นเด็กดี หลวงพ่อจะให้รางวัลหนู” แล้วก็ดึงลูกประคำขึ้นมาจากย่าม หยิบลูกประคำขึ้นมาจากย่าม เด็กเห็นเด็กก็ร้อง “อู้หูว”  อาจารย์ประสงค์เลยถามว่า หนูร้อง “อู้หูว” หนูเห็นอะไร เด็กไม่ได้ตอบว่าหนูเห็นลูกประคำ เด็กตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจ น่าสนใจนะ เด็กไม่ได้ตอบว่าหนูดีใจนะ เด็กตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจ คือเห็นอารมณ์ เห็นความดีใจ พระอาจารย์ประสงค์เลยถามว่า “แล้วหนูทำอย่างไรกับมัน” เด็กตอบว่า “หนูไม่ได้ทำอะไรกับมันค่ะ หนูแค่ดูมันเฉยๆ ตอนนี้ความดีใจมันลดลงแล้ว ข้างในมันเบาลงแล้ว”  เข้าใจคำว่า “เห็น” ไหม เห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นความดีใจ ซึ่งเป็นเพราะสตินะ ให้เราลองสังเกตอารมณ์ของเราดู สังเกตความคิดของเราดู แต่ไม่ต้องถึงกับไปดักเฝ้าดู แค่มันเกิดขึ้นค่อยรู้ทัน หรือเห็นมัน มันดีใจแล้วก็ค่อยมาเห็นมัน ไม่ใช่ไปดักรอ อันนั้นอย่าเพิ่งทำ

เราทำอะไรไป อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว เราก็ทำด้วยใจเต็มร้อย แต่พอมันมีความคิด มีอารมณ์ใดเกิดขึ้น ก็เห็นมัน เห็นเฉยๆ นะ เห็นโดยไม่เข้าไปเป็น ไม่เข้าไปยึด และเวลาเดินจงกรม สร้างจังหวะ หรือทำอะไรก็ตาม ต่อไปถ้าเราทำอย่างมีสติจะเห็นความคิดและเห็นอารมณ์ และจะรู้ทันความฟุ้งซ่าน และไม่จำเป็นเลยที่ต้องไปดักความฟุ้งซ่าน พอแค่เห็นมัน มันก็จะสลายไปเอง เหมือนขโมยที่แอบเข้ามาในบ้าน ย่องเข้ามาในบ้าน เพราะคิดว่าเจ้าของบ้านไม่รู้ แต่พอเจ้าของบ้านหันกลับมาสบตาขโมย ขโมยก็หนีไปเลย มันอาย ไม่ต้องไปขับไล่ ไปไล่ต่อยไล่ตี เพียงแค่ขโมยรู้ว่าเจ้าของบ้านเห็น มันก็หนีไป ให้ลองฝึกแบบนี้ดู คือว่าเวลาทำอะไรด้วยกาย ใจก็รู้ว่ากายทำสิ่งนั้น ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ทำความรู้สึกตัวเวลาเดินไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง เวลามองไปข้างหน้า หรือเหลียวซ้ายแลขวา เวลาครองจีวร สะพายบาตร ผ้าสังฆาฏิ ซึ่งถ้าเป็นฆราวาสคือแต่งเนื้อแต่งตัว เวลากินดื่มเคี้ยวลิ้ม เวลาคู้ขาเหยียดขา หรือคู้อวัยวะเหยียดอวัยวะ ให้ทำความรู้สึกตัว แม้กระทั่งเวลาปัสสาวะ อุจจาระ ทำความรู้สึกตัวเวลายืน เดิน นั่ง หลับ นิ่ง พูด นี่คือไม่ว่าทำอะไร ใจก็รู้ว่าทำสิ่งนั่น รู้ตัวว่าทำสิ่งนั่น และรู้ว่ากายมีการเคลื่อนไหว เคลื่อนขยับ ต่อไปเราก็จะรู้ใจ เพราะเวลาเราทำอะไร ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวได้สักพัก ใจอยู่กับการเดินได้สักพัก ใจอยู่กับการอาบน้ำได้สักพัก เดี๋ยวมันไปละ ใจกำลังรับรู้อยู่กับการกินข้าว สักพักเดี๋ยวใจมันก็ไปละ ไปไหนนะ ไปอยู่ในโลกของความคิด ทีแรกก็แค่รู้ตัวว่าเผลอ แล้วกลับมาที่กาย แต่ต่อไปสติจะไว จนเห็นความคิด และสติจะพาใจกลับมา มันจะรู้ขึ้นมาเอง มันจะรู้ว่าเผลอขึ้นมาเอง อย่าไปดักเฝ้าดูมัน อย่าตั้งใจจะไปจ้อง มันจะรู้เอง ใหม่ๆ ก็รู้ช้าหน่อย แต่ต่อไปก็จะรู้ไวขึ้นๆ อย่าไปใจร้อน ทีนี้พอรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์แล้ว ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ไม่ต้องไปกดข่มมัน ก็แค่รู้เท่านั้นแหละ มันก็จะจางหายไป ใหม่ๆ ก็จะจางหายไปช้าๆ ถ้าหากว่ามันจางหายไปแบบถูกตัดเหมือนกับหนังที่ถูกตัดฉับเลย ขาดหายไปเลยนี่ แสดงว่าเราไปกดไปข่มมัน แต่ถ้าภาพหรือความคิดนั้นค่อยๆ จางสลายหายไป แสดงว่าเรารู้ทันมันละ เรารู้ทันด้วยสติ ทำไปเรื่อยๆ มันจะไวในการรู้ทันและเห็นความคิดและอารมณ์

เพราะฉะนั้นวันนี้ที่อยากมอบเป็นการบ้าน คือเวลากายทำอะไรก็ตาม อาบน้ำ กินข้าว ทำครัว เราเห็นความคิด เราเห็นอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นไหม สังเกตเหมือนเด็กคนนั้นบอกว่าเห็นข้างในมันดีใจไหม ลองสังเกตดูว่ามีความคิดใดเกิดขึ้นในขณะที่เรากำลังอาบน้ำก็ดี กำลังเดินก็ดี กำลังกินข้าวก็ดี แต่ข้อสำคัญคืออย่าไปดักจ้องมัน มันเกิดขึ้นแล้วค่อยรู้ทันมัน อันนี้เรียกว่ารู้กายเคลื่อนไหว ต่อไปเห็นใจคิดนึก ใจที่คิดนึกไม่ใช่ใจที่ตั้งใจคิดนะ มันฟุ้งซ่านของมันเอง ก็ให้สังเกตรู้ทันมัน ขอฝากเป็นการบ้านไว้สำหรับเช้าวันนี้ แล้วมาพบกันอีกครั้งเวลา 17.00 น.