ปัญหาท้าทายและทางออกของสังคมไทย

พระไพศาล วิสาโล 19 เมษายน 2009

เหตุการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายและความรุนแรงในรอบอาทิตย์ที่ผ่านมาได้สร้างบาดแผลให้กับสังคมไทยไม่น้อย  แม้จะยุติได้ในที่สุด แต่ก็มีแนวโน้มว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง  ทั้งๆ ที่ทุกคนบอกว่าไม่ชอบความขัดแย้ง  แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองชนิดที่แบ่งฝักฝ่ายอย่างชัดเจนจนถึงขั้นเผชิญหน้ากันนั้น มีแนวโน้มว่าจะยังอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน  การจัดการกับแกนนำไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม แม้จะทำได้สำเร็จ ก็ใช่ว่าจะทำให้การประท้วงและการชุมนุมกดดันบนท้องถนนยุติลงได้ในที่สุด  อย่างมากก็แค่ทำให้ระงับไปได้ชั่วคราว แต่ไม่ช้าไม่นานการต่อต้านก็จะปะทุขึ้นอีก อาจมาในรูปแบบใหม่ แต่ก็จะลุกลามสั่นคลอนเสถียรภาพและความสงบสุขไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่ผ่านมา

ความขัดแย้งระหว่างคนต่างสีที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มิใช่เป็นแค่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล มันเป็นมากกว่าการต่อสู้ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (และพวก) กับฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น  หากความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเรื่องของการช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองล้วนๆ มันย่อมมิอาจขยายวงไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศได้เลย  การที่ผู้คนระดับรากหญ้าจำนวนนับแสน (หรือนับล้าน) เข้าไปเป็นฝักฝ่ายเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และกล้าท้าทายอำนาจรัฐ ย่อมมิใช่เพราะอำนาจเงินของเขาเท่านั้น  หากเป็นเพราะประชาชนเป็นอันมากไม่พึงพอใจกับสภาพเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่  คนเหล่านี้เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวแทนของระบอบการเมืองที่พึงปรารถนาของพวกเขา  ไม่ผิดหากจะกล่าวว่านี้เป็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ต่างสี ที่มองเห็นระบอบการเมืองที่พึงปรารถนาแตกต่างกัน โดยเฉพาะนิยามของประชาธิปไตยและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันและกลุ่มชนต่างๆ

อะไรทำให้ผู้คนทั้งประเทศมองเป้าหมายทางการเมืองแตกต่างกันเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนเช่นนี้  สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างคนในชาติ  เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เกือบ ๕๐ ปีที่ผ่านมาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนระดับล่างได้ถ่างกว้างขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะมองจากรายได้หรือปัจจัยการผลิตก็ตาม  จริงอยู่คนจนมีสัดส่วนน้อยลง (เมื่อวัดจากเส้นแบ่งความยากจน) แต่ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนไม่เคยลดลงเลย  เห็นได้ชัดจากตัวเลขเมื่อปี ๒๕๔๙ กลุ่มคนที่จนที่สุด (๑๐% ล่างสุด) กับกลุ่มคนที่รวยสุด (๑๐% บนสุด) มีรายได้เฉลี่ยแตกต่างกันเกือบ ๓๐ เท่า  มากกว่าปี ๒๕๔๗ ซึ่งมีความแตกต่างเพียง ๒๒.๗ เท่า

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบการถือครองที่ดินมากที่สุด ๕๐ อันดับแรก กับ ๕๐ อันดับสุดท้าย  ความแตกต่างจะสูงถึง ๒๙๑,๖๐๗ เท่า  คงมีไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่มีความแตกต่างมากมายถึงขนาดนี้

คนระดับล่างที่ยากจนและถูกทิ้งห่างเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท  คนเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์น้อยมากจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอด ๕ ทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ใช่แต่เท่านั้นการพัฒนาที่ผ่านมายังผลักภาระให้แก่คนในชนบทรวมทั้งแย่งชิงทรัพยากรจากชนบทไปสนับสนุนเมือง ไม่ว่าน้ำ ป่า แร่ธาตุ และกำลังคน

เป็นเพราะคนชนบทถูกทอดทิ้งจากภาครัฐ เขาจึงต้องหันไปพึ่งผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น รวมทั้งบริการของรัฐ เงินกู้ และการปกป้องจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉล  แม้ชาวบ้านต้องมี “รายจ่าย” จากการพึ่งพาผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ แต่ระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวก็เป็นทางเลือกที่เลวน้อยที่สุดสำหรับเขา  ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพา “เจ้าพ่อ” ในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นฐานเสียงให้แก่คนเหล่านี้  ส่งผลให้เจ้าพ่อได้กลายมาเป็น ส.ส. และในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นรัฐมนตรีหรือร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้

ก่อนสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ  รัฐบาลที่จัดตั้งโดยเจ้าพ่อทั้งหลายที่มาจากกลุ่มก๊วนต่างๆ กันทั่วประเทศนั้น ไม่เคยมีเสถียรภาพ เพราะถูกปฏิเสธโดยคนชั้นกลางในเมือง ตั้งได้ไม่นานก็ถูกล้ม  จนมีคำกล่าวว่า “คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล  คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล” หรือพูดให้ถูกกว่านั้นตามสำนวนของเกษียร เตชะพีระก็คือ “คนต่างจังหวัดเลือกเจ้าพ่อไปตั้งรัฐบาล  คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาลของเจ้าพ่อ”

แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาไม่เพียงทำให้รัฐบาลมีเอกภาพและเสถียรภาพ โดยสามารถคุมเจ้าพ่อจากกลุ่มก๊วนต่างๆ ได้เท่านั้น  เขายังหยิบยื่นผลประโยชน์จากส่วนกลางไปให้แก่คนชนบทและผู้ยากไร้โดยตรงผ่านนโยบายประชานิยม  เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่ประชาชนระดับล่างรู้สึกว่าตนได้รับความใส่ใจจากผู้นำรัฐบาล และนั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวชนบทรวมทั้งคนยากไร้ในเมืองนับสิบล้านยังคงให้ความสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และอยากให้เขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

พูดอีกอย่าง ตราบใดที่ประชาชนระดับล่างยังรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม คนอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณก็จะยังเป็นที่นิยมและเพรียกหาจากประชาชนอย่างไม่เสื่อมคลายง่ายๆ

ป้ายหาเสียงปี 2548 ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในชาติดังที่กล่าวมา ได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองมีความเข้มข้นและขยายวงกว้างขึ้น  เพราะขณะที่ชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวแทน ได้อาศัยชนชั้นล่างในชนบทเป็นฐานในการสถาปนาอำนาจนำ  ชนชั้นนำกลุ่มเดิมซึ่งมีฐานจากระบบราชการก็ได้อาศัยชนชั้นกลางในเมืองเป็นกำลังสำคัญในการรักษาผลประโยชน์

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏเวลานี้แยกไม่ออกจากความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง  แม้ภาพที่ปรากฏดูเหมือนเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคล แต่ก็ตั้งอยู่บนฐานของโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ร้าวฉานและนับวันจะแตกแยกชัดเจนขึ้น  ในสภาพเช่นนี้การเทศนาสั่งสอนหรือเรียกร้องให้คนไทยปรองดองและสมานฉันท์กัน จึงมีความหมายน้อยมาก เพราะละเลยเหตุปัจจัยในเชิงโครงสร้างดังที่กล่าวมา

พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค โฆษก ททบ.5 (ในขณะนั้น) อ่านแถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองฯ ในการยึดอำนาจจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549

คนไทยมักมองปัญหาแค่ระดับบุคคล จึงมองไม่เห็นทางออกมากไปกว่าการแก้ที่ตัวบุคคล (เช่น พร่ำสอนให้รักกัน เรียกมาเจรจากัน) หรือไม่ก็จัดการกับตัวบุคคล (เช่น ลงโทษ จองจำ หรือกำจัดไปเลย)  วิธีดังกล่าวใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ แต่ย่อมไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง หากเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง  เหมือนกับการจัดการกับยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่มองข้ามส่วนที่อยู่ใต้น้ำ ทั้งๆ ที่มีขนาดใหญ่เป็น ๑๐ เท่าของยอดที่โผล่พ้นน้ำ

ความขัดแย้งถึงขั้นเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงต่อกันเป็นปัญหาในเชิงพฤติกรรมก็จริง  แต่สาเหตุที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวมิได้เกิดจากจิตใจที่เห็นแก่ตัวหรือใฝ่ต่ำหลงผิดเท่านั้น  หากยังเชื่อมโยงกับปัจจัยทางด้านสังคมเศรษฐกิจด้วย  ความข้อนี้พระพุทธองค์ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนในกูฏทันตสูตร  ในพระสูตรนี้พระองค์ได้ตรัสถึงเมืองหนึ่งซึ่งมีอาชญากรรมแพร่ระบาด พระราชาคิดจะใช้วิธีรุนแรง เช่น ฆ่าและทรมาน แต่พราหมณ์ทักท้วงว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้มีโจรผู้ร้ายมากขึ้น  พราหมณ์แนะว่าวิธีปราบปรามโจรอย่างถอนรากถอนโคนก็คือการทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างถ้วนหน้า โดยให้พันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกร ให้เงินทุนแก่ผู้ทำการค้าขาย และให้อาหารและเบี้ยหวัดแก่ข้าราชการ  ปรากฏว่าไม่นานอาชญากรรมก็หมดไป ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุขกันถ้วนหน้า

น่าสังเกตว่าพราหมณ์ไม่ได้เสนอให้มีการเทศนาสั่งสอน ชวนคนเข้าวัด หรือรณรงค์ให้ประชาชนทำดีมีศีลธรรมเลย  แต่เน้นที่การปรับปรุงเศรษฐกิจหรือจัดสรรสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  ทั้งนี้เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมนั้นสามารถส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้คน  จริงอยู่พฤติกรรมของคนเรานั้นถูกกำหนดด้วยความรู้สึกนึกคิดหรือจิตใจ  แต่ในเวลาเดียวกันจิตใจก็ถูกกำหนดด้วยอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมหรือสภาพสังคมอยู่ไม่น้อย  ดังในจักกวัตตสูตร พระองค์ได้ชี้ให้เห็นว่าความยากจนที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ปกครองที่ไร้ธรรม ไม่เพียงนำไปสู่การผิดศีลอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดมิจฉาทิฏฐิและความละโมบตามมา

อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช. แถลงข่าวภายในบริเวณโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552

ในสภาพที่บ้านเมืองแตกแยกอย่างรุนแรง มีการเผชิญหน้าและพร้อมใช้ความรุนแรงทุกฝ่าย  การผลักดันให้เกิดมาตรการต่างๆ เช่น จัดการเจรจาระหว่างแกนนำก็ดี การเรียกร้องให้เห็นแก่ชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตัวก็ดี การทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์และเที่ยงธรรมก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ควรทำ  แต่เท่านั้นยังไม่พอ ที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยก็คือการเร่งจัดการกับเหตุปัจจัยเชิงโครงสร้าง  โดยเฉพาะการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างคนรวยกับคนจน  เปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน มีกลไกในการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม รวมทั้งการปฏิรูปที่ดินและปฏิรูประบบภาษีอย่างจริงจัง เป็นต้น

ตราบใดที่มาตรการดังกล่าวถูกละเลย ปรากฏการณ์ “หนึ่งรัฐ สองสังคม” ก็จะชัดเจนโจ่งแจ้งยิ่งขึ้น  เอกภาพหรือความสามัคคีของคนในชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างเกาะกลุ่มอยู่ในพวกเดียวกัน ไม่คบค้าสมาคมกับคนต่างชนชั้นหรือต่างสถานะ ก็ยิ่งมีความคิดคับแคบและสุดโต่งมากขึ้น จนยากที่จะสื่อสารระหว่างกันได้  ผลก็คือทั้งสองสังคมสองชนชั้นนอกจากจะเหินห่างจากกันราวกับอยู่คนละประเทศแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมากขึ้นด้วย  นี้คือพื้นภูมิอันเหมาะยิ่งสำหรับการบ่มเพาะความรุนแรงในสังคมไทย

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏเวลานี้ แยกไม่ออกจากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่นับวันจะแตกแยกชัดเจนขึ้น

คนไทยจำเป็นต้องมีความเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้าง สามารถมองเห็นถึงเหตุปัจจัยที่อยู่เหนือระดับบุคคล ว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเหตุปัจจัยที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจ (เช่น การยึดติดอัตตา หรือตัณหา มานะ ทิฐิ)  ความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้เราไม่คิดถึงแต่การเทศนาสั่งสอน ขณะเดียวกันก็จะตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงนั้น อย่างมากก็แก้ปัญหาได้แค่ชั่วคราว แต่สร้างปัญหาในระยะยาว ดังรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นตัวอย่างชัดเจน

การแก้ปัญหาที่มีรากเหง้าจากโครงสร้างสังคมนั้น ไม่มีวิธีใดที่ให้ผลรวดเร็วทันใจ คนไทยจึงยังจะต้องอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองไปอีกนาน  แต่หากผู้คนเห็นปัญหาดังกล่าวร่วมกัน และช่วยกันผลักดันให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดน้อยถอยลง บ้านเมืองก็มีโอกาสที่จะกลับมาสมานฉันท์ได้อีก  แต่ในขณะที่มาตรการระยะยาวยังไม่บังเกิดผล ก็จำต้องเร่งผลักดันมาตรการระยะสั้นและระยะกลาง  เช่น การสร้างกลไกเพื่อการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติ การมีเวทีต่อรองที่เท่าเทียมกัน การทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  และที่ขาดไม่ได้ก็คือการมีสื่อกลางเพื่อส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเต็มที่  รวมทั้งเอื้อแต่ละฝ่ายได้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ไม่วาดภาพเป็นปีศาจร้ายที่ต้องทำลายให้พินาศ

ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่ท้าทายสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง  หากเราพร้อมเผชิญหน้ากับภารกิจดังกล่าวด้วยสติและปัญญา  ความสงบร่มเย็นในบ้านเมืองก็เป็นอันหวังได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา