พอดี

นาม ไร้นาม 4 มีนาคม 2018

เมื่อแผ่นดินสะสมความชื้นได้มากพอ ก็ก่อให้เกิดแรงดึงดูด เมื่อเมฆเคลื่อนผ่านมา ซึ่งเมฆก็ประกอบด้วยความชื้น ก่อให้เกิดแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน เมื่อความชื้น แรงดึงดูดถึงพร้อม ฝนก็ตกลงมา

นก หนู กินผลไม้ป่า ขี้หรือคายเมล็ดทิ้งไว้ ต่อเมื่อผืนดินซึมซับรับน้ำเอาไว้ในบริมาณที่เหมาะสม เมล็ดพืชที่ตกหล่นอยู่บริเวณนั้นก็งอกออกมา และในสภาพความแข็งแรงของเมล็ด ผสานกับภาวะอากาศที่พอเหมาะ ต้นไม้ก็เจริญงอกงาม เติบโต

ต้นไม้ในป่าแล้งในสายลมที่พัดอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้กิ่งไม้แห้งเบียด เสียดสี ก่อให้เกิดความร้อน  ขณะนั้นเองที่มีเศษปุยดอกหรือเปลือกไม้ที่ย่อยสลายจนอ่อนยุ่ยปลิวลงมาค้างอยู่  การเสียดสี ปุยนุ่มอ่อนของเศษฝอย กับลมที่พัดมา ก่อให้เกิดประกายไฟ เป็นรูปแบบให้คนรู้จักวิธีสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดประกายไฟ ก่อไฟได้

เนื้อหาบางส่วนในพุทธประวัติมักเล่าว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ทรงเห็นว่าผู้รับจะรับได้เพียงไหน ก็ทรงแสดงธรรมเฉพาะส่วนนั้น ที่คนรับจะพร้อมน้อมรับไปฝึกฝนไปปฏิบัติได้  ผู้รับถึงพร้อมพอดีกับธรรม ประโยชน์ก็บังเกิด

การก่อเกิดของสิ่งต่างๆ ในจักรวาล ล้วนกำเนิดขึ้นจากความพอดี เกิดจากองค์ประกอบที่พอเหมาะ ลงตัว นี่อาจเป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ในวิถีของมนุษย์  ในทางตรงกันข้ามก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ เมื่อการทำสิ่งใดก็ตาม เมื่อองค์ประกอบ และปัจจัยไม่ถึงพร้อม สิ่งที่คาดหวังก็ไม่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ ผลก็จะเกิดคลาดเคลื่อนไป ไม่สมบูรณ์

นั่นคือหนทาง คือวิถีตามธรรมชาติ  ดังนั้นเอง คนผู้ฝึกฝนตนเอง นักปฏิบัติส่วนหนึ่งที่ก้าวไปไม่ถึงไหน ทั้งหมดก็ด้วยองค์ประกอบและปัจจัยไม่สมบูรณ์นั่นเอง  และหลายครั้งหลายหนในชีวิตของมนุษย์ ที่ความตั้งใจกับการสร้างภาวะเงื่อนไขไม่ได้ไปพร้อมกัน จึงล้มเหลวแล้วล้มเหลวอีก  แน่นอนว่า หลายครั้งเราได้เรียนรู้ หลายครั้งเราพยายามเปลี่ยนแปลงวิธี หรือวิถี  บางคนโชคดี เมื่อพลาดก็เรียนรู้ข้อบกพร่อง และแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น  หลายคนก็เปลี่ยนซ้ำ วนๆ กลับมาที่เดิม นั่นก็ก่อให้เกิดปัญหาที่ต้องติดขัดอยู่เสมอ นั่นก็ว่ากันไปตามแต่หนทางของแต่ละคน

บางคนได้เรียนรู้และแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ แต่หลายคนก็ซ้ำวนกลับมาที่เดิม

ในทางโลกียวิถี ก็มีมากมายที่เราทำอะไร ก็ขาดๆ เกินๆ  ครูสอนนักเรียนทั้งห้อง มีสักกี่คนกันเล่าที่ถึงพร้อมที่จะเข้าถึงเนื้อหาในบทเรียนนั้นๆ ยิ่งก็โดยเฉพาะนักเรียนที่ต้องเรียนเนื้อหาเดียวกัน ในสถานะที่ความพร้อมแตกต่างกัน นั่นจึงก่อให้เกิดปัญหาเสมอในระบบการศึกษา ที่มีคนจำนวนหนึ่ง เรียนไม่ทันเพื่อน หรือกลายเป็นไม่รู้ความเอาเลยก็ยังมี

พระหรือนักบวชในศาสนาต่างๆ ก็เช่นกัน มากมายที่พยายามทำหน้าที่ของตนในการเผยแพร่ศาสนธรรมตามศาสนาของตน แต่จนแล้วจนรอด สังคมก็ยังย่ำอยู่กับความล้าหลัง จ่อมจมอยู่กับความงมงาย โดยไม่ได้เงยหน้าขึ้นมามองโลกของความเป็นจริงที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  มันจึงเป็นปัญหาว่า ผู้สอนก็จำมาจากคัมภีร์ บอกเล่ากับผู้ฟังที่ไม่พร้อม ผู้ฟังก็รับเอาได้แต่ถ้อยคำ หรือบางครั้งก็ไม่จำอะไรเอาซะเลย

โลกจึงเต็มไปด้วยผู้รู้ ที่ทั้งหมดนั้นท่องจำมาจากคัมภีร์ หรือท่องจำมาจากครูบาอาจารย์ โดยไม่สามารถเข้าสู่ขอบเขตของปัญญา หรือการเปลี่ยนแปลง หรือการแก้ไขขัดเกลาฝึกฝนตนเองได้  สิ่งที่กระทำอยู่ สิ่งที่ปฏิบัติอยู่ก็ทำไปตามที่ตัวเองเห็นสมควร และนั่นคือสิ่งที่ขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์อยู่ ทั้งหมดนั้นเป็นแต่เพียงความคิด และการตัดสินที่ยังไม่ถึงพร้อมด้วยปัญญา

คำถามก็คือ เราจะกล่าว หรือกระทำ หรือใคร่ครวญเช่นไรเล่า ที่จะพอเหมาะพอสม ที่เป็นการเคลื่อนไปพร้อมปัจจัย และองค์ประกอบที่ถึงพร้อม เพื่อจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดวิถีใหม่ เพื่อให้เกิดปัญญาญาณ ที่สามารถเอามาใช้เพื่อไปสู่ชีวิตที่มีความหมายอย่างแท้จริง  คำตอบก็คือ ไม่มีรูปแบบสำเร็จรูป  ทั้งหมดนั้นเป็นไปตามวิถีของใคร ปัจจัยเงื่อนไขของตนนั่นเอง

นิทานเซนเรื่องหนึ่งเล่าว่า ภิกษุหนุ่มนั่งฉันอาหารอยู่ อาจารย์เดินผ่านมา ถามว่า “ทำอะไรอยู่?” ทันใดนั้นเอง ภิกษุหนุ่มก็บรรลุธรรม

ครั้งพุทธกาล มีภิกษุนั่งอยู่ริมแม่น้ำ เพียงเห็นใบไม้ร่วงลงมา ทันใดท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์  นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่มันเกิดจากความถึงพร้อมของเงื่อนไข และองค์ประกอบที่ถึงพร้อมนั่นเอง

ถ้อยคำของเรา หรือการกระทำของเราจะมีค่า มีความหมาย ก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นกับคน กับองค์ประกอบที่ถึงพร้อม  หาไม่แล้ว แม้ถ้อยคำจะไพเราะ ลึกซึ้งเพียงใด ก็หาได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดไม่  นี่เองกระมังที่เป็นต้นทาง และความหมายของคำว่า กาละ เทสะ……