พินัยกรรมประจำวัน

มะลิ ณ อุษา 9 มีนาคม 2014

ขณะนี้เป็นเวลา 23.02 น. ของคืนวันอังคาร อีก 58 นาทีก็จะล่วงเข้าสู่วันใหม่ ถ้อยคำในสมุดบันทึกประจำวันยังคงเคลื่อนไปตามอารมณ์และความคิด

การเป็นคนที่ค่อนข้างจริงจังกับความฝัน ทำให้ท่วงทำนองในสมุดบันทึกค่อนไปทางตรวจสอบระยะของการเดินทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย มากกว่าการบรรยายเรื่องราวสัพเพเหระ

วันหนึ่งเมื่อพบว่าชีวิตที่ดั้นด้นฝ่าดงหนามมาอย่างยาวนานกำลังถึงจุดหมายปลายทางแล้ว แทนที่จะปลื้มเปรมกับรางวัลชีวิตที่อยู่แค่เอื้อม แต่ในใจกลับรู้สึกสั่นไหวด้วยความกลัว… กลัวว่ามันจะหายไปก่อนจะเอื้อมถึง กลัวว่ามันจะไม่งดงามอย่างที่วาดหวังไว้ และกลัวว่าความสุขที่ได้มาจะสิ้นสุดลงในช่วงเวลาอันสั้น

เวลาที่มีความสุข เรามักเผลอคิดไปว่า มันจะดำรงอยู่อย่างนั้นตลอดไป แน่นอน เรารู้ว่าทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แต่กับบางงานเราก็พยายามประวิงเวลาให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเรายังไม่อยากเผชิญกับความจริงที่ว่า ช่วงเวลาแห่งความสุขได้สิ้นสุดลง ราชรถกำลังจะกลายเป็นฟักทองแล้ว

เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างทาง ก่อนที่จะบรรลุเป้าหมายของชีวิต?

บางคนรอให้ได้เงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ก่อนจึงจะมีความสุข (พอใจ) แต่พอได้มาแล้วก็มีความสุขไม่นาน เพราะคิดว่าเราน่าจะมีความสุขยิ่งกว่านี้ถ้าได้เงินมากขึ้นไปอีก…และมากขึ้นอีกเรื่อยๆ

บางคนรอให้มีบ้าน มีรถ มีเงินในบัญชีมากพอ จึงจะหยุดพักเพื่อใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าเวลานั้นจะมาไม่ถึงเสียที

บางคนรอให้เกษียณก่อนจึงจะทำในสิ่งที่อยากทำ ไปในที่ที่อยากไป

ทำไมต้องรอ…?

มีผู้คนมากมายที่ทำงานหาเงินเก็บสะสมไว้ในธนาคาร แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ และก็มีผู้คนอีกไม่น้อยที่สร้างบ้านหลังใหญ่สวยงาม แต่ไม่มีโอกาสได้อยู่ และก็เช่นกัน มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีอุปกรณ์แคมปิ้งครบครันแต่กลับไม่ได้ใช้ และผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่า ตัวเองจะไม่เป็นอย่างนั้น

ใครจะรู้…?

เมื่อไม่นานมานี้มีนางพยาบาลชื่อ Bronnie Ware* ได้ทำการจดบันทึกและรวบรวมเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยก่อนตายรู้สึกเสียใจหรือเสียดาย ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่เราหลงลืมหรือมองข้ามไป ด้วยคิดว่าไม่สำคัญหรือทำเมื่อไรก็ได้ จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทำ โดยเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเสียใจและเสียดาย 5 อันดับแรก คือ เสียดายที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ปรารถนา เพราะมัวแต่ทำตามความคาดหวังของคนอื่น  เสียดายที่ทำงานหนักเกินไป ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว  เสียดายที่ไม่กล้าพอจะพูดหรือแสดงออกตามความรู้สึกที่แท้จริง  เสียดายที่ไม่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ (โดยเฉพาะเพื่อนเก่า)  และเสียดายที่ไม่ได้ทำให้ตัวเองมีความสุขกว่านี้

ความตายเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่เรามักจะไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ บางคนปลอบประโลม (หรืออาจถึงขั้นหลอก) ตัวเองทำนองว่า “คงยังไม่ถึงเวลาของเราหรอก” หรือ “ฉันยังไม่ตายง่ายๆ หรอก” ความคิดนี้ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างประมาท และนำมาซึ่งรายการความเสียใจและเสียดายอันยาวเหยียดในวาระสุดท้าย

ฉะนั้น อย่ารอเลย… ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าความตายจะมาเคาะประตูบ้านเราเมื่อไร อาจจะเป็นสิบปี หนึ่งปี หนึ่งเดือน หนึ่งวัน หรือหนึ่งชั่วโมงข้างหน้านี้ก็ได้

การระลึกถึงความตายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ถือเป็นโอกาสที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง แต่คนไทยเราถูกปลูกฝังด้วยทัศนคติที่มีต่อความตายในด้านลบมาโดยตลอด ทำให้การพูดถึงความตายกลายเป็นเรื่องต้องห้าม กระทั่งการทำพินัยกรรมหรือทำประกันชีวิตสมัยก่อนก็ไม่เป็นที่นิยม เพราะเชื่อว่าเป็นการแช่งตัวเอง อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้จำนวนคนทำพินัยกรรมและประกันชีวิตเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อก่อนหลายเท่าตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทัศนคติเกี่ยวกับความตายได้เปลี่ยนไป เป็นเพียงการสร้างชุดความเชื่อใหม่ขึ้นมาแทนที่ เปลี่ยนจากความกลัวตายของตัวเองมาเป็นการกลัวความลำบากของคนที่อยู่ข้างหลัง

สิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกเสียใจและเสียดาย มักเป็นเรื่องที่เราหลงลืมและมองข้ามไป เพราะคิดว่าไม่สำคัญหรือทำเมื่อไรก็ได้ จนสุดท้ายก็ไม่ได้ทำ

ในฉากละครคลาสสิค หลังจากผู้มีอันจะกินเสียชีวิตลง ทนายประจำตระกูลก็จะนัดผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อเปิดพินัยกรรม ผลที่ออกมาทำให้มีทั้งคนที่หัวเราะ (ส่วนใหญ่เป็นพระเอกหรือนางเอก) และร้องไห้ (ตัวร้าย) ในขณะที่ผู้ตายไม่รู้สึกรู้สาอะไรแล้ว บางคนเก็บงำความจริงหรือความปรารถนาของตัวเองตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ และยืมมือผู้อื่นจัดการหลังจากตายไปแล้ว คุณเชื่อไหมว่า ก่อนที่ความรู้สึกตัวจะหลุดลอยจากร่างไปนั้น ความรู้สึกติดค้างยังคงมีอยู่

จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะเป็นคนที่สะสางเรื่องราวเหล่านั้นเองในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเขียนพินัยกรรมในแบบของเราเอง ไม่ต้องเป็นทางการที่มีทนายความหรือพยานให้ยุ่งยาก เป็นการเขียนพินัยกรรมชีวิตให้เหมือนเขียนบันทึกประจำวัน

เราอาจเริ่มต้นด้วยการทำรายการสิ่งของที่มีอยู่ และเจตนาที่จะส่งมอบต่อให้ใคร ช่วงที่ทำรายการทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เราครอบครองอยู่นั้น ถือเป็นการซ้อมเผชิญกับความพลัดพรากขั้นต้น สิ่งของบางอย่างมีคุณค่าและความหมายสำหรับเรา การต้องผลัดเปลี่ยนไปอยู่กับคนอื่นนั้น ออกจะทำใจยอมรับได้ยากพอสมควร

มาถึงเรื่องสำคัญ สิ่งที่เรายังติดค้างทั้งต่อตัวเองและคนอื่น ทั้งที่เป็นสิ่งของ ถ้อยคำ ความปรารถนา และความรู้สึก ขอให้ระดมเขียนออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นจัดหมวดหมู่ ลำดับความสำคัญและสิ่งที่สามารถทำได้ก่อนหลัง บางอย่างต้องอาศัยเวลาและการกระทำอย่างต่อเนื่อง บางอย่างทำได้เลย อย่างเช่น เช้าวันหยุดสุดสัปดาห์ เรามายืนพิจารณาตู้เสื้อผ้า หรือตู้หนังสือ ค้นหาสิ่งที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ข้าวของบางอย่างมีเรื่องราวแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ (โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ขี้เสียดาย) นำมันออกมาใช้ หรือบริจาคไปให้คนที่จะได้ใช้ประโยชน์จริงๆ ดีกว่า และเพื่อให้การฝึกสละของรักของหวงทำได้ง่ายขึ้น เราอาจเริ่มจากสิ่งที่สามารถให้ได้ง่ายๆ เพื่อลิ้มรสความสุขจากการแบ่งปัน และเมื่อเราสามารถไต่ระดับไปขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ การละสิ่งของที่หวงแหนก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ขอรับประกันความรู้สึกโล่งเบาที่จะได้รับเป็นการตอบแทน

อย่าลืมว่า เป้าหมายหลักของเราคือ การสะสางพันธะติดค้างเก่าๆ ในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างพันธนาการใหม่ๆ ขึ้นมาอีก

เมื่อผ่านด่านสิ่งของมาแล้ว โจทย์ที่ยากและซับซ้อนที่สุดคือ ความรู้สึกและความสัมพันธ์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างต้นทุนมาอย่างไร หากเราขยันผูกปมชีวิตและความสัมพันธ์ ก็ไม่แปลกที่จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยในปริมาณเสมอกันหรือมากกว่าเพื่อคลี่คลายปมเหล่านั้น แน่นอนว่า เราต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเจ็บปวดหรือผิดหวัง แต่ผลที่เราจะได้รับก็มีคุณค่าปานกัน

มันเป็นความรู้สึกที่ดีกว่าไม่ใช่หรือ กับการที่คุณจะบอกกับตัวเองในแต่ละวันก่อนนอนว่า ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ปรารถนาและได้ทำทุกอย่างที่ควรทำอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรที่ฉันเสียดายหรือเสียใจอีกต่อไป ไม่ว่าพรุ่งนี้จะมาถึงหรือไม่ก็ตาม


* ขอบคุณข้อมูลจาก http://inspirationandchai.com/Regrets-of-the-Dying.html

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน