พิธีแรกนาขวัญในพุทธประวัติ

จักรกริช พวงแก้ว 14 พฤษภาคม 2018

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ 7 พรรษา พระองค์ได้โดยเสด็จพร้อมพระราชบิดา ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ตามพระราชประเพณี ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะทรงเสด็จเป็นพระยาแรกนาด้วยพระองค์เอง

ในครั้งนั้นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ใต้ต้นชมพูพฤกษ์ หรือต้นหว้า อยู่ลำพังพระองค์เดียว เพราะมหาดเล็ก พระพี่เลี้ยง พระสหาย ไปชมพระราชพิธีแรกนากันหมด เจ้าชายสิทธัตถะได้สมาธิถึงขั้นแรก “ปฐมฌาน”

พิธีแรกนาเสร็จตอนบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย ได้เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเวลาเที่ยงวัน ไม่คล้อยตามดวงตะวันก็เกิดอัศจรรย์ใจ จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ เมื่อพระราชบิดาเสด็จมา ทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า

“กาลเมื่อวันประสูติ จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสนั้น ก็ทำปาฎิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้องบนชฎาพระดาบส อาตม ก็ประณตเป็นปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติยวันทนาการคำรบสอง”

พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน

ครั้งแรกเมื่อภายหลังประสูติที่ดาบสมาเยี่ยม เห็นท่านดาบสไหว้ก็เลยไหว้

ครั้งที่สองก็คือ ครั้งทรงเห็นปาฏิหาริย์

ครั้งที่สามคือ ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ได้สำเร็จพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก


Photo Credit : https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_9136

จักรกริช พวงแก้ว

ผู้เขียน: จักรกริช พวงแก้ว

ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา