พุทธทาสธรรมสำหรับท่านผู้นำ

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 26 พฤศจิกายน 2005

เมื่อท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญจากองค์การยูเนสโก เชื่อว่าคงจะมีคนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจธรรมะของท่าน  ไม่ว่าจะด้วยความสนใจจริง หรือ สนใจอย่างกระทันหันเพราะท่านอาจารย์สามารถเอื้อประโยชน์ในเชิงภาพลักษณ์ของ”คุณธรรม” ให้แก่คนที่ต้องการภาพคุณธรรมให้ประชาชนศรัทธา  ความสนใจในแบบหลังก็มีประโยชน์ได้ แม้จะเริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายอื่น  แต่ถ้าสนใจศึกษาจริง เอาไปทดลองทำจริง โดยไม่คิดถึงแต่ประเด็นการตลาด จนปิดโอกาสแห่งการเข้าถึงธรรมที่ท่านอาจารย์พุทธทาสวิริยะคิดค้นเพื่อช่วยชนร่วมสมัยของท่านไม่ว่าชายหญิง ยากดีมีจน ชาวบ้านหรือคนใหญ่โต ฯลฯ ก็จะได้ประโยชน์กว่านั้นมาก

ในหนังสือ “เกร็ดธรรมะจากเกร็ดชีวิตของพุทธทาสภิกขุ : จากคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิด” มีพุทธทาสธรรมที่เหมาะสมแก่การเรียนรู้ของผู้นำทุกระดับ โดยเฉพาะระดับ CEO หรือผู้ที่รู้สึกว่ามีอำนาจมากๆ จนเริ่มรู้สึกเป็นทุกข์มากขึ้น (จากคำวิจารณ์, จากการใช้อำนาจแล้วยังไม่ได้ผล, การพ่ายแพ้ ฯลฯ)

1. อดทนกับคนคิดต่าง

ท่านอาจารย์พุทธทาสมักจะสอนผู้ใกล้ชิดของท่าน และทำให้ดูเป็นตัวอย่างเสมอถึงความอดทนในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของใคร แม้แต่ผู้ที่มีเจตนาโจมตีโดยเด่นชัด  ท่านอาจารย์โพธิ์เจ้าอาวาสสวนโมกข์ปัจจุบันเล่าไว้ในหนังสือดังกล่าวว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่า “เราต้องมีความคิดอิสระ แต่ความคิดอิสระนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ฟังความคิดของคนอื่น  ท่านบอกว่า เราต้องฟังความคิดของทุกคนเสียก่อน ฟังอย่างตั้งใจ อย่างไตร่ตรอง เพราะถ้าเราไม่ตั้งใจฟังที่เขาพูด เราเองจะพูดให้ถูกต้องไม่ได้  เพราะฉะนั้นเวลาพระพูดหรือใครพูด ท่านอาจารย์จึงมักจะมานั่งฟังด้วย ฟังว่าเขาพูดผิดหรือพูดถูกอย่างไร”

แม้การโจมตีของฝ่ายที่ไม่ปรารถนาดีต่อท่านอาจารย์ ท่านก็ยังเก็บรวบรวม แล้วนำมาแสดงความเห็นของท่านให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม (ผู้สนใจอ่านหนังสือ “ธรรมะน้ำล้างธรรมะโคลน”)

2. ปัญญาแบบใหม่ (มิได้มาจากการอ่าน)

คนจำนวนมากเข้าใจว่าท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นพระนักคิด แท้จริงท่านเป็นทั้งพระนักปฏิบัติและนักคิด นักทดลอง  สิ่งที่ท่านนำมาสอนมาจากประสบการณ์จริง มิใช่การอ่านเชิงเหตุผลแล้วชอบใจ ซึ่งไม่นำไปสู่การปฏิบัติฝึกฝนที่ท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่ง  ดังที่คุณเมตตา พานิช หลานชายผู้ใกล้ชิดในการสานต่องานเผยแผ่ธรรมของท่านอาจารย์เล่าไว้ว่า  ในขณะที่ตนเองบวชเรียนนั้น วันหนึ่งท่านอาจารย์ได้เรียกเข้าไปหา  “ท่านอาจารย์สอบถามผมว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างแล้ว  ผมก็บอกเล่าไปเรื่อยๆ ว่า เรียนนักธรรมจากนวโกวาท ฝึกนั่งสมาธิกับท่านอาจารย์โพธิ์  และผมมีหนังสือหลายเล่มที่เตรียมมาอ่าน นับตั้งแต่คำสอนผู้บวช ตัวกูของกู คำบรรยายของท่านอาจารย์ชุดอบรมผู้พิพากษา  ท่านแนะนำว่า ฝึกสมาธินั้นดีแล้ว มันมีประโยชน์จริงๆ ให้พยายามทำและศึกษา  แต่หนังสือที่เตรียมมานั้นไม่ต้องอ่าน ปิดเก็บไว้เลย  ให้หันมาศึกษาเรียนรู้ ความรู้สึกและอารมณ์ของตนเอง ให้มีเวลาอยู่เงียบๆ  เมื่อจิตใจดี ความรู้ความคิดจะเกิดขึ้นมาเอง  ให้เตรียมสมุดดินสอไว้จด จะมีประโยชน์มาก  ซึ่งก็เป็นอย่างที่ท่านว่า ผมเริ่มมองเห็นอะไรๆ หลายๆ อย่างที่ชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น  มันเกิดสติปัญญาอีกแบบหนึ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เริ่มเข้าใจอะไรๆ ในชีวิตมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการฟังคำสอนของท่าน ซึ่งในพรรษานั้นท่านสอนไม่กี่ครั้ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ  ท่านพูดเรื่อง ‘การบังคับความรู้สึก’ ซึ่งผมฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งประทับใจมาก”

3. เรียนรู้จากทุกสิ่ง เรียนรู้จากของจริง

ผู้ใกล้ชิดเล่าความเป็นผู้ใฝ่การเรียนรู้ของท่านอาจารย์ ซึ่งสนใจศึกษาตลอดเวลาตลอดชีวิต อย่างไม่เคยหยุดนิ่งเพราะคิดว่าเก่งแล้ว รู้หมดแล้ว “สมัยอยู่สวนโมกข์เก่าที่พุมเรียง ตรงที่ท่านนั่งอยู่ก็มีตะกวดอยู่ด้วย  ที่สวนโมกข์ใหม่บางทีแม่ไก่ก็มาไข่ที่โต๊ะทำงานเขียนหนังสือของท่านอาจารย์ แล้วก็ฟักไข่อยู่ตรงนั้นก็มี  ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า การอยู่ร่วมกับสัตว์ทำให้ได้เรียนรู้ สังเกตธรรมชาติหรือสัญชาติญาณของมัน ทำให้ท่านอาจารย์มีข้อมูลมากในการแสดงธรรม เพราะมาจากการศึกษาเรียนรู้โดยตรง  นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังมีวิธีการเรียนรู้อย่างแปลกๆ ซึ่งคนใกล้ชิดบอกว่า เป็นวิธีการเก็บข้อมูลตามแบบของท่าน  เช่นมีพรรษาหนึ่งซึ่งสังเกตว่า ท่านอาจารย์ไม่สรงน้ำเลย 1 เดือน มีการเช็ดตัวบ้าง แล้วท่านก็เอาข้อมูลนี้มาบรรยายธรรม  พูดถึงสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เช่น ความเหนียวตัว ความหงุดหงิด เป็นอย่างไร  ซึ่งคนที่ไม่รู้มาก่อน จะรู้สึกว่าท่านพูดได้อย่างกระจ่างแจ้งมาก ทั้งนี้เพราะท่านทดลองมาแล้วนั่นเอง”

ยิ่งไปกว่านั้นคือท่านเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนไม่ประมาทในการหาความรู้  พระอุปัฎฐากเล่าว่า แม้เป็นถึงมหาเถระแล้ว ท่านก็ยังทบทวนธรรมะต่างๆ อยู่เสมอและตักเตือนให้ผู้ใกล้ชิดไม่ละทิ้งการทบทวน

4. เสมอต้น เสมอปลาย

พระอุปัฎฐากเล่าว่า ท่านอาจารย์เป็นผู้ที่ไม่มีการจัดฉาก และเสมอต้นเสมอปลายในการปฏิบัติมาก ไม่แปรเปลี่ยนไปตามโลกธรรมทั้งหลาย  “อาตมามาอยู่กับท่านอาจารย์ ตั้งแต่ยังไม่มีถนนตัดผ่านหน้าวัด จนกระทั่งเมื่อมีถนนแล้ว การเดินทางมาสวนโมกข์สะดวก  คนมาเยอะ ข้าวของก็เยอะ  แต่อาตมาก็เห็นว่า ท่านอาจารย์นั้น อยู่มาอย่างไร ใช้อะไรมาอย่างไร ท่านก็ยังใช้อย่างเดิมอยู่   ท่านไม่หัดให้เราใช้อะไรฟุ่มเฟือย ถ้าเหลือก็ให้เอาไปเผื่อแผ่เพื่อน… อย่างสบู่สรงน้ำท่านก็ใช้ซันไลท์ หรือสบู่ของจีนก้อนเล็กๆ ตราเจดีย์ ก้อนเดียวใช้ทั้งสรงน้ำ ซักผ้า ท่านไม่เคยใช้สบู่หอม ถึงจะมีสบู่หอมยี่ห้อใหม่ๆ ที่มีคนเอาถวายพระมากมายก็ตาม… ที่สรงน้ำของท่านคือตุ่มที่อยู่ข้างหลังกุฏิ ท่านไม่ใช้ห้องน้ำ ท่านยังปฏิบัติแบบพระป่าอยู่ ท่านยังทำอะไรให้เราดูอยู่ตลอดเวลา คืออยู่แบบพระป่าจริงๆ ท่านอยู่แบบไม่ใช่เจ้าคุณว่างั้นเถอะ  บอกง่ายๆ ก็คือท่านอาจารย์อยู่แบบเรียบง่ายที่สุด ไม่มีฉากหน้าฉากหลัง”  พระสิงห์ทองจึงบอกว่าอยู่รับใช้ท่านมาเกือบ 20 ปีโดยไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยแม้แต่น้อย

ผู้นำที่ศึกษาธรรมมาดี ย่อมเท่าทันโลกธรรม 8 และตระหนักรู้ว่าอำนาจเป็นเพียงมายาหรือหัวโขนให้สวมใส่ชั่วคราว ไม่ควรไปลุ่มหลง หากเข้าใจถูกก็สามารถจะเรียนรู้และเป็นผู้นำที่ดีได้


ภาพประกอบ