มรณานุสติภาวนา อาจาริยบูชาหลวงพ่อคูณ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 24 พฤษภาคม 2015

กรณีการละสังขารของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมานั้น หลายคนอาจรู้สึกใจหาย ผู้ใกล้ชิดหรือลูกศิษย์อาจรู้สึกโศกเศร้าเสียใจ แต่บางคนรู้สึกขุ่นเคืองจากเหตุการณ์ข้างเคียง

ท่ามกลางความสูญเสีย หากใครเริ่มต้นตั้งสติ มองความตายที่เกิดแก่ท่านด้วยใจเป็นกลาง ตั้งจิตน้อมใจใคร่ครวญมรณานุสติธรรม เขาย่อมได้รับความรู้และปัญญาตามสมควร นับเป็นการฝึกจิตเจริญภาวนาถวายเป็นอาจาริยบูชาที่ได้อานิสงส์มากยิ่ง

ลองสำรวจใจของตน ไม่ผิดที่หลายคนจะรู้สึกใจหาย ประหนึ่งที่พึ่งสรณะได้หลุดลอยหายไป ประหนึ่งเห็นร่มโพธิ์ร่มไทรหักโค่น เมื่อนั้นเราควรกำหนดรู้ว่า ความทุกข์จากความพลัดพรากได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา

ความจริงเป็นเช่นนั้น หลวงพ่อคูณท่านได้เปิดเผยทุกขอริยสัจให้เราเห็นอย่างแจ่มแจ้ง จากข้อธรรมที่ว่า “แม้อาจารย์ก็เป็นทุกข์ จะล่วงพ้นความแก่ เจ็บ ตาย ไปไม่ได้”

ความจริงข้อนี้ชัดเจนยิ่ง เหมือนมีใครมาเขย่าปลุกตัวเราให้ตื่นขึ้น ตื่นจากความจริงว่าชีวิตมีจำกัด ควรเร่งทำความเพียรในกิจหน้าที่ที่อยู่ตรงหน้า เร่งทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ที่ได้แนะแนวทางไว้ แทนที่จะพึ่งร่มโพธิ์ของพระอาจารย์ เห็นทีต้องเริ่มบ่มเพาะร่มโพธิ์ในใจของเรา ให้เมล็ดพันธุ์แห่งความตื่นรู้ได้ผลิบานเติบโต เพื่อที่ว่าวันหนึ่ง เราจะเป็นอิสระจากการหักโค่นของสังขารในที่สุด นี่เป็นธรรมที่หลวงพ่อคูณให้ไว้ข้อแรก

ข้อต่อมา ผมเชื่อว่าผู้ติดตามข่าวหลายท่านอาจรู้สึกหงุดหงิดในตัวลูกศิษย์และคนใกล้ชิดของหลวงพ่อคูณ ตำหนิว่ายื้อชีวิตท่านไว้ทำไม ทำให้ท่านทุกข์ทรมานจากการกู้ชีพหลายต่อหลายรอบทำไม ทำไมไม่ปล่อยให้ท่านละสังขารอย่างสงบ ขัดใจว่าพวกเขาคงทำใจยอมรับความตายไม่ได้ คงหวังหาเอาประโยชน์จากท่าน เกรงว่าหากท่านจากไปแล้วจะไม่มีใครมาทำบุญที่วัด

ข้อสังเกตเบื้องหลังนั้นผมไม่รู้ข้อเท็จจริงว่ามีมูลอย่างไร แต่ผมมีข้อสังเกตประการหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งผมได้เรียนรู้มานานแล้วจากอาจารย์หมอท่านหนึ่ง

ระหว่างบรรยายเดี่ยว อาจารย์ท่านนั่นชี้นิ้วขึ้นฟ้า ถามแพทย์พยาบาลที่เข้าฟังเสวนาในวันนั้นว่า “รู้ไหมครับ คนกลุ่มใดมีแนวโน้มที่จะตายไม่ดี ตายไม่สงบมากที่สุด” อาจารย์หมอทิ้งช่วงให้เราเดาคำตอบระยะหนึ่ง แล้วจึงเฉลยว่า…

“…คนเป็นครูอาจารย์ เป็นคนมีบารมี เป็นคนดีทำประโยชน์ให้สังคมไงครับ…”

ตอนแรกผมนึกขำในคำตอบของอาจารย์ แต่ต่อมาก็พบข้อเท็จจริงว่ามีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น ความจริงว่าอาจารย์ ผู้มีอำนาจอิทธิพล คนร่ำรวยมากบารมี มักมีชีวิตวาระสุดท้ายที่ไม่สงบนัก คนเหล่านี้มักไม่ติดขัดเรื่องเงินทอง มีลูกศิษย์หรือคนใกล้ชิดเป็นหมอพยาบาล หรือไม่ก็ผู้บริหารในระบบสุขภาพสามารถฝากฝังผู้ป่วยให้ได้รับดูแลขั้นสูงในโรงพยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้ป่วยเหล่านี้จึงมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรการรักษาได้มาก

ด้วยความรักความปรารถนาดี ต้องการแสดงความซาบซึ้งกตัญญู จึงทุ่มเทการรักษาสนองพระคุณ ขอเพียงท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เห็นก็ชื่นใจ นับว่าลงทุนได้คุ้มค่าที่สุดแล้ว  ลูกหลาน ลูกศิษย์ที่รายล้อมและมีอิทธิพลต่อท่านจึงพร้อมทำทุกอย่างให้ท่านอยู่คู่สังคมไปนานๆ ดังนั้น การกู้ชีพ ยื้อชีวิต ปั๊มหัวใจ ใส่ท่อ ฯลฯ จึงมักถูกจัดบริการแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นอาจิณ กรณีที่เกิดกับหลวงพ่อคูณจึงเป็นกรณีปกติ เช่นเดียวกับที่เกิดแก่สมเด็จพระญาณสังวรฯ อาจารย์พุทธทาส และพระสงฆ์ระดับเกจิอาจารย์อีกหลายรูป

การทุ่มเทการดูแลเช่นนี้ไม่จำกัดเพียงพระเกจิอาจารย์เท่านั้น ครูบาอาจารย์ที่เป็นที่เคารพ นักการเมืองระดับสูง ดารามีชื่อเสียง หรือแม้แต่สมาชิกอาวุโสในครอบครัวฐานะดีก็ต้องเผชิญกับการยื้อชีวิตก่อนตายในทิศทางทำนองเดียวกัน

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ท่านผู้ดำเนินชีวิตด้วยดี เรียบง่ายตามครรลองแห่งธรรม จะต้องมีชีวิตในช่วงท้ายที่ไม่สงบ และต้องผ่านกระบวนการยื้อชีวิตเสียก่อนแล้วจึงค่อยจากไปได้ แม้ท่านจะสามารถทนได้ ปล่อยวางได้ แต่ผมยังเห็นว่าเราน่าจะยังเอื้อเฟื้อความสงบของชีวิตช่วงท้ายให้แก่ท่านเหล่านั้นได้มากกกว่านี้อีกสักหน่อย ผมขอเชิญชวนให้ผู้ดูแลที่มีอิทธิพลต่อชะตากรรมของผู้ป่วยทำหน้าที่ 2 ประการ

หนึ่ง มีท่าทีที่เป็นมิตรต่อความตาย ยอมรับความจริงว่าคนเราเกิดมาต้องตาย ความตายเป็นธรรมดาของชีวิตที่ทุกคนต้องพานพบ เมื่อใดที่ยอมรับความจริงข้อนี้ได้ ความตายก็จะเริ่มเป็นมิตรกับเรา อ่อนโยนกับการจากไปของแต่ละคน การกู้ชีพยื้อชีวิตซึ่งเป็นปัจจัยของทรมานก่อนตายก็เป็นอันหมดห่วงไป

สอง กระตุ้นให้ผู้ป่วยได้เขียนคำสั่งเสีย (Living Will) หรือเขียนพินัยกรรม กิจกรรมสองอย่างนี้จะช่วยให้การรักษาพยาบาลช่วงท้ายของชีวิตเป็นไปอย่างมีเอกภาพ เคารพความปรารถนาและเจตนารมณ์ของผู้ป่วย ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยยุติความขัดแย้งหรือข้อเคลือบแคลงสงสัยเมื่อผู้ป่วยหมดสติ สื่อสารไม่ได้ ในยามผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วก็ยังสามารถจัดการงานศพได้ตามแนวทางที่ได้แสดงเจตนารมณ์ไว้

ท่ามกลางความสูญเสีย หากใครเริ่มต้นตั้งสติ ตั้งจิตน้อมใจใคร่ครวญความตายที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นกลาง เขาย่อมได้รับความรู้และปัญญาตามสมควร

ข้อธรรมที่หลวงพ่อคูณให้ไว้อีกอย่างหนึ่งคือ ตัวอย่างของชีวิตช่วงท้ายก่อนตาย ให้เราได้ตั้งเป็นตุ๊กตา ให้เราได้สนทนากับคนในครอบครัวว่า ท่านต้องการชีวิตช่วงท้ายแบบเดียวกับหลวงพ่อคูณหรือไม่ อยากให้ลูกหลานปฏิบัติต่อท่านให้เหมือนหรือแตกต่างจากนี้อย่างไร การพูดคุยเรื่องความตายกับครอบครัวนี้ถือเป็นการเตรียมตัวตายได้อย่างดีเชียวครับ

จะลองเขียนคำสั่งเสีย หรือเขียนพินัยกรรมไปเลยก็ยิ่งประเสริฐ ถือเป็นการฝึกฝนการเจริญมรณานุสติภาวนา ถวายเป็นอาจาริยบูชาหลวงพ่อคูณอีกต่อหนึ่ง

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher