มองให้ไกลกว่าหน้าจอ

จักรกริช พวงแก้ว 28 มกราคม 2019

ถ้าคุณเป็นคนยุคมิลเลเนี่ยน (อายุระหว่าง 18-35 ปี) คุณอาจใช้เวลาเฉลี่ย 18 ชั่วโมงต่อวันเพื่อที่จะเสพสื่อต่างๆ โดยใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงอยู่กับโซเชียลมีเดียที่หลากหลายรูปแบบ  เช่น  2 ชั่วโมงเล่นเฟสบุ๊ค  3 ชั่วโมงในการส่งข้อความ และหนึ่งชั่วโมงสำหรับการดูหนัง  นั่นเท่ากับใช้เวลารวม 6 ชั่วโมง  หรืออาจจะใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงต่อวันถ้าทำทุกอย่างพร้อมกัน

การบริโภคสื่อซึ่งรวมถึงการส่งข้อความ การท่องอินเทอร์เน็ต ดู Netflix และการเล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือ  เราอยู่กับโทรศัพท์ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ หรือแม้แต่การหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาตลอดเวลาในช่วงพักระหว่างวัน ทำให้โทรศัพท์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ให้เราได้เชื่อมโยงกับคนอื่น และเป็นประตูเปิดสู่โลก รวมทั้งทำให้เราเสพติดอยู่กับมัน!

…ถ้าหากเป้าหมายของเราคือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ  เราต้องกลับมาทบทวนการใช้งานและการติดตัวไปทุกหนแห่งของอุปกรณ์ชนิดนี้…

กุญแจที่จะนำไปสู่การใช้ชีวิตที่มีสติ คือ การหาช่วงเวลา “หยุด” เพื่อที่จะกลับมาดูความตั้งใจเดิมของเรา กลับมาดูร่างกายของเราและหัวใจของเรา ก่อนที่เราจะไถลออกนอกทางไปกับสิ่งที่เราชื่นชอบ

เมื่อไรที่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เมื่อใดที่กดเข้าไปดูในโซเชียลมีเดียให้กลับมาดูว่า “เรารู้สึกอย่างไร”  เมื่อเปิดเข้าไปดูหน้าเพจของตัวเอง  เกิดอะไรขึ้นในขณะที่โพสต์และเลื่อนลงมาดูข้อความต่างๆ  เรารู้สึกอย่างไรหลังจากนั้น

สำหรับฉันก่อนที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา และก่อนที่ถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าในโลกโซเชียล ในบางครั้งที่ฉันหยุดคิด และพบว่ามีความเหงา ความรู้สึกไม่เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ  มีความเศร้ารอฉันอยู่ในโทรศัพท์นั้น ซึ่งมันทำให้ฉันกลัว

หากเป้าหมายของเราคือการใช้ชีวิตอย่างมีสติ เราต้องกลับมาทบทวนการใช้งานอุปกรณ์ชนิดนี้

เมื่อไรก็ตามที่เริ่มเข้าสู่แอพพลิเคชั่นต่างๆ ทั้งที่มีสติอยู่บ้างและทำโดยอัตโนมัติ ฉันก็จะตกลงสู่หลุมดำโดยทันที  โพสต์ต่างๆ ทั้งทวีต รูปภาพ วิดีโอและมีม  ฉันพอใจที่ได้อ่านเรื่องราวของเพื่อนและคนในครอบครัวที่อยู่ไกล มีคนเข้ามากดไลค์และชื่นชมกับข้อความและภาพที่โพสต์  ฉันใช้เวลาเป็นชั่วโมงที่จะเลื่อนหน้าจอเพื่ออ่านข้อความ แสดงความเห็น และดูภาพถ่าย  มันทำให้สติหลุดลอยออกไปจากปัจจุบัน

หลังจาก 20 นาทีผ่านไป หรืออาจจะนานกว่านั้นที่เลื่อนหน้าจอโทรศัพท์ ฉันจึงเริ่มตระหนักว่าถูกดูดเข้าไปสู่โลกของโซเชียลมีเดีย และคิดได้ว่ามันก็เหมือนกับการกินอาหารขยะ ถ้าเรากินมากไปก็จะทำให้เราป่วยได้  ตอนนี้เองที่ฉันเริ่มรู้สึกเหงา มันช่างต่างจากตอนที่เริ่มเปิดเข้าไปดูในโทรศัพท์

“ชีวิตและความตายคือสิ่งสำคัญสูงสุด

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว

และโอกาสกำลังจะสูญเสียไป…

ตื่นเถิด! ตื่นเถิด!

ค่ำคืนนี้ วันเวลาของเธอกำลังจะหายไป

อย่าใช้ชีวิตให้สิ้นเปลือง”

ทุกครั้งที่ท่องบทนี้ ทำให้นึกถึงวันเวลาที่ใช้ไปกับโซเชียลมีเดีย คิดถึงเวลาที่มีค่าที่ใช้ไปในการดูเรื่องราวของเพื่อนและคนที่รัก เวลาที่ถูกใช้ไปกับการเลื่อนหน้าจออย่างไม่สิ้นสุดจากการเช็คข้อความและคำเชิญ จากการอ่านบทความที่น่าสนใจทั้งหลาย  มันทำให้รู้สึกเศร้า อยากที่จะมีความตระหนักมากขึ้น และตื่นจากการอยู่ในโลกของโซเชียลมีเดีย เพื่อกลับมาอยู่ในโลกของความเป็นจริงอีกครั้ง

อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากลัวในการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป คือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า “จิตเปรียบเทียบ”  การเปรียบเทียบชีวิต มุมมอง ความสำเร็จ และแม้กระทั่งความสามารถในการทำสมาธิ  ในโลกของโซเชียลมีเดีย ในที่ที่ผู้คนมักจะโพสต์ช่วงเวลาดีๆ รูปสวยๆ หรือข่าวดีทั้งหลาย  ซึ่งมันง่ายมากที่จะทำให้คิดได้ว่า มีเพียงแต่เราเท่านั้นที่เจอแต่เรื่องร้ายๆ

ฉันยังจำวันหนึ่งในวิทยาลัยได้  ในตอนนั้นฉันได้ค้นหาเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่วางแผนว่าจะประชุมร่วมกัน  ถึงแม้ว่าผู้หญิงคนนั้นจะมีอายุมากกว่าฉันเพียงสองสามปี  ฉันพบว่ามีบทความนับร้อยที่เธอเขียน รางวัลที่เธอได้รับ และมันทำให้ฉันต้องกลับมาลองค้นชื่อของฉันในคอมพิวเตอร์ …ไม่พบอะไรเกี่ยวกับตัวเองเลย… ฉันไม่มีตัวตน  น้ำตาเริ่มไหลลงมาที่ใบหน้า  จิตเปรียบเทียบของฉันกำลังทำงานเต็มที่  ฉันไม่มีทางประสบความสำเร็จได้อย่างเธอ  ฉันไม่มีทางที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอะไรเลย  และวันนั้นทั้งวันฉันก็อยู่ในความเศร้าซึมหลังจากปิดคอมพิวเตอร์

จิตเปรียบเทียบจะเริ่มทำงานเมื่อเรารู้สึกไม่ปลอดภัย  มันเริ่มจากฐานของความรู้สึกขาดหาย (ฉันไม่เป็นที่รัก, ฉันไม่มีคุณค่า)  และการส่งใจออกไปข้างนอกเพื่อที่จะพิสูจน์ว่าเป็นไปตามสมมติฐานนั้นจริงหรือไม่  เช่น การเปรียบเทียบว่าถ้าฉันดูดีกว่าลิลลี่ฉันก็จะเป็นคนสวย  ถ้าฉันทำได้ดีกว่าจิมฉันจะประสบความสำเร็จ  ปัญหาก็คือจิตเปรียบเทียบนั้นจะสั่นคลอนฐานของความรู้สึกไม่มั่นคง  มันไม่เคยพึงพอใจกับสิ่งที่ได้  คำตอบที่ได้ไม่จบลงที่ฉันเป็นที่รักหรือฉันประสบความสำเร็จ

สิ่งที่น่ากลัวของการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป คือการนำชีวิตของผู้อื่นมาเปรียบเทียบกับตัวเอง

ถึงแม้ว่าเราจะได้อยู่อันดับต้นๆ ของการเปรียบเทียบก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีบางคนที่ดีกว่าเราเสมอ  ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือแม้ว่าเราจะดูดีที่สุด เป็นที่รักที่สุด ประสบความสำเร็จที่สุดในสายตาคนอื่น  แต่การยอมรับเหล่านั้นก็มาจากภายนอก ไม่ใช่การยอมรับตัวเอง เราก็ยังคงเป็นทุกข์อยู่

สิ่งที่อยู่ในก้นบึ้งของจิตเปรียบเทียบคือ “การมีตัวตน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราก็แสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วย  มันเป็นที่ๆ เราสร้าง “ยี่ห้อ” ของตัวเองเพื่อแสดงภาพลักษณ์ของเราออกมา และเพื่อที่จะเปรียบเทียบกับคนอื่น

ดังนั้นสิ่งแรกของการมีสติในการเสพเทคโนโลยีก็คือ การหยุดและตระหนักรู้ถึงพลังของเครื่องใช้เหล่านี้ที่มีต่อเรา  การถามตัวเองก่อนที่จะหยิบโทรศัพท์ใช้  การ “หยุด” และปรับพฤติกรรมตัวเองเมื่อเราทำให้มันเป็นอัตโนมัติ  และไม่ใช้มันมากไปจนกลายเป็นการเสพติด

ความวิเศษของการตระหนักรู้ที่อยู่ในช่วงจังหวะชีวิตของเรา คือ เราไม่จำเป็นที่จะต้องการอุปกรณ์พิเศษ พื้นที่สงบเงียบ หรือคำแนะนำที่สลับซับซ้อนในการที่จะฝึกฝน  เพราะเราสามารถฝึกสติไปได้ในทุกที่ที่เราอยู่ ในทุกสิ่งที่เราทำ ในท่ามกลางชีวิตที่ดำเนินไปของเราเอง


ที่มา

จักรกริช พวงแก้ว

ผู้เขียน: จักรกริช พวงแก้ว

ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา