มาปวารณากันเถิด

พระไพศาล วิสาโล 16 ตุลาคม 2005

วันสุดท้ายของเทศกาลเข้าพรรษา คนทั่วไปมักเรียกว่า “วันออกพรรษา”  แต่น้อยคนจะรู้ว่าวันดังกล่าวมีอีกชื่อหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา”  ที่มีชื่อดังกล่าวก็เพราะเป็นวันที่พระภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณาต่อกัน  พิธีดังกล่าวถือเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่ทำเฉพาะในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา

“ปวารณา” นั้นแปลว่า ยอมให้ขอ ก็ได้  เช่น ญาติโยมปวารณากับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งว่า ยินดีจัดหาปัจจัยสี่ไปถวายหากท่านขอมา เป็นต้น  อีกความหมายหนึ่งของปวารณาคือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน  ความหมายประการหลังนี้คือที่มาของวันมหาปวารณา  ในวันดังกล่าวพระภิกษุทั้งหลายจะกล่าวเปิดโอกาสต่อกันและกันให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ โดยกล่าวเป็นภาษาบาลี  แปลเป็นไทยได้ว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณากะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้า ด้วยอาศัยความหวังดีเอ็นดู เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไข แม้ครั้งที่สอง…..แม้ครั้งที่สาม…..”

พิธีปวารณานี้มีมาแต่สมัยพุทธกาล  เข้าใจว่าเกิดขึ้นเนื่องจากพระภิกษุสมัยนั้นมาอยู่ร่วมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานๆ ก็เฉพาะช่วงเข้าพรรษา  เมื่อออกพรรษามักจะจาริกแยกย้ายกันไป โดยไม่แน่ใจว่าจะได้พบกันอีกเมื่อใด  ดังนั้นก่อนที่จะแยกย้ายจากกันจึงมีการปวารณาแก่กันและกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวกันได้หากมีโอกาสมาพบกันใหม่ในวันข้างหน้า

พิธีกรรมดังกล่าวมีความสำคัญ ถึงกับทรงมีบัญญัติให้พระสงฆ์งดทำอุโบสถหรือพิธีสวดปาฏิโมกข์เพื่อมาทำปวารณาแก่กันและกันในวันนั้นแทน  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าคำว่ากล่าวตักเตือนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้บุคคลมีความเจริญมั่นคงในทางธรรมได้  ในสมัยพุทธกาลมีบุคคลจำนวนไม่น้อยบรรลุธรรมได้ก็เพราะได้รับฟังคำว่ากล่าวตักเตือน  ด้วยเหตุนี้จึงทรงถือว่าการว่ากล่าวตักเตือนนั้นเปรียบเสมือนการชี้ขุมทรัพย์เลยทีเดียว

พิธีปวารณามีขึ้นเพื่อย้ำเตือนให้บุคคลเห็นคุณค่าของคำว่ากล่าวตักเตือน  โดยไม่เพียงเปิดใจยอมรับคำตักเตือนเท่านั้น หากยังเชิญชวนให้สหธรรมิกชี้แนะว่ากล่าวด้วยแม้เพียงแค่ระแวงสงสัยหรือแค่ได้ยินได้ฟังมาก็ตาม  นี้คือท่าทีของผู้ใฝ่ศึกษาหมั่นพัฒนาตนที่ชาวพุทธทั้งหลายควรมี ไม่จำเพาะพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น

น่าเสียดายที่ปัจจุบันการปวารณาได้กลายเป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่งในวันสุดท้ายของการจำพรรษา  พระภิกษุจำนวนมากกล่าวคำปวารณาเป็นภาษาบาลีโดยไม่รู้ความหมาย ไม่มีการตอกย้ำให้เห็นคุณค่าของการว่ากล่าวตักเตือน  ยิ่งญาติโยมด้วยแล้วส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่ามีวันสำหรับการเปิดใจแบบนี้อยู่ด้วยในพุทธศาสนา

การเปิดใจรับคำว่ากล่าวตักเตือนหรือคำวิพากษ์วิจารณ์  แม้มิใช่ศีลข้อสำคัญในพุทธศาสนา แต่ก็เป็นธรรมข้อสำคัญสำหรับการมีชีวิตที่ดีงาม  ธรรมข้อนี้มีชื่อเรียกว่า “โสวจัสสตา” คือความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พร้อมรับฟังคำชี้แนะว่ากล่าว  จัดเป็น ๑ ในนาถกรณธรรม ๑๐ (ธรรมที่ทำให้เป็นที่พึ่งของตนได้) และมงคล ๓๘  หากขาดธรรมข้อนี้แล้วนอกจากจะทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้ยากแล้ว ชีวิตยังขาดสิ่งที่เป็นมงคลไปอย่างน้อยก็หนึ่งประการ

คนทั่วไปไม่ชอบฟังคำว่ากล่าวตักเตือนจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ถึงที่สุดแล้วสาเหตุสำคัญก็เพราะถ้อยคำเหล่านั้นกระทบอัตตา  อัตตาหรือตัวตนที่เรายึดถือนั้นต้องการการพะเน้าพะนอ  คำสรรเสริญชื่นชมเป็นเสมือนภักษาหารที่ทำให้มันพองโตขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับคำวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเป็นเสมือนของแสลงที่ทำให้อัตตาลีบเล็กลง  สำหรับชาวพุทธที่เห็นโทษของอัตตา การที่อัตตาลีบเล็กลงนั้นแหละเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ ดังนั้นจึงไม่พรั่นพรึงต่อคำวิจารณ์  แม้ความไม่พอใจจะเกิดขึ้นเมื่อได้ฟังถ้อยคำดังกล่าว แต่ก็ตระหนักดีว่าตัวที่เดือดเนื้อร้อนใจนั้นคือเจ้าตัวอัตตาต่างหาก หาใช่อะไรอื่นไม่  ดังนั้นจึงไม่ใส่ใจกับอาการดังกล่าว ถือเสียว่าต้องทรมานเจ้าตัวอัตตาเสียบ้าง มันจะได้หายกำเริบ หาไม่มันจะได้ใจจนขึ้นขี่คอบังคับเราให้เป็นข้ารับใช้มันอยู่เรื่อยไป

คำว่ากล่าวตักเตือน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้บุคคลมีความเจริญมั่นคงในทางธรรม ซึ่งเปรียบเสมือนการชี้ขุมทรัพย์เลยทีเดียว

ผู้มีปัญญาย่อมตระหนักดีว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นนอกจากจะช่วยทรมานอัตตาให้คลายพยศลงแล้ว ยังช่วยให้เราเกิดปัญญาเพิ่มพูนขึ้น  เพราะในคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นย่อมมีความจริงแฝงอยู่เสมอไม่มากก็น้อย แม้จะออกมาจากปากของผู้ประสงค์ร้ายก็ตาม  ความจริงนั้นอาจเป็นความจริงเกี่ยวกับตัวเรา เช่น จุดอ่อนของเรา หรือข้อบกพร่องในงานของเรา  ความจริงแบบนี้บ่อยครั้งแม้แต่เพื่อนที่ใกล้ชิดก็มองไม่เห็น หรือถึงเห็นก็ไม่กล้าพูด  มีแต่ศัตรูหรือคู่กรณีเท่านั้นที่กล้าพูด  จริงอยู่เขาอาจเติมแต่งใส่สีสันให้มันเลวร้ายเกินจริง  แต่ถ้าเรารู้จักมองและแยกแยะความจริงออกจากความเท็จหรือความเข้าใจผิด เราก็จะได้เรียนรู้บางแง่มุมเกี่ยวกับตนเองที่อาจมองไม่เห็นมาก่อน  เมื่อรู้แล้วแทนที่จะเสียใจหรือทดท้อ กลับนำมาปรับปรุงแก้ไขพัฒนาตน ก็ย่อมเป็นผลดีแก่ตัวเราเองไม่ใช่หรือ

นอกจากความจริงเกี่ยวกับตัวเราแล้ว คำวิพากษ์วิจารณ์ยังเปิดเผยให้เราเห็นความจริงเกี่ยวกับตัวผู้พูดเอง  คนบางคนยิ่งว่ากล่าวเรามากเท่าไร เราก็ยิ่งเห็นว่าเขาเป็นคนอย่างไร จริงใจหรือไม่ น่าคบเพียงใด  จะว่าไปแล้วถ้าอยากรู้จักใครให้ดี จะดูที่คำสรรเสริญชื่นชมของเขาหาได้ไม่ หากต้องดูที่คำว่ากล่าวของเขา  คนที่หวังดีต่อเราย่อมว่ากล่าวด้วยความปรารถนาดี ระมัดระวังถ้อยคำ  ส่วนคนที่มุ่งร้ายย่อมต่อว่าอย่างสาดเสียเทเสีย  ถ้าเรารู้จักฟังและแยกแยะก็จะเห็นความจริงว่าใครที่เป็นมิตร และใครที่ไม่ใช่มิตร  และควรคบกับเขาแค่ไหน ใกล้แค่คืบหรือห่างเป็นวา

สุดท้ายคำวิพากษ์วิจารณ์ยังเปิดใจให้เราเห็นความจริงเกี่ยวกับโลกว่า นินทากับสรรเสริญเป็นของคู่กัน  คนเรามักเคลิบเคลิ้มจนตัวลอยเมื่อได้ยินคำชื่นชม  แต่คำต่อว่าจะช่วยดึงเรากลับมาสู่ความจริง และตระหนักว่าธรรมดาของโลกนั้นมีทั้งขึ้นและลง บวกและลบ มีได้ก็มีเสีย มีสำเร็จก็มีล้มเหลว  ดังนั้นเมื่อประสบกับสิ่งที่น่ายินดีก็อย่าหลงดีใจจนลืมตัว ให้ระลึกว่าสักวันหนึ่งเราอาจประสบสิ่งตรงข้าม ดังนั้นจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและเตรียมใจไว้เสมอ  นั่นหมายความว่า ถ้าไม่อยากทุกข์เพราะคำตำหนิ ก็อย่าไปดีใจเวลาได้รับคำสรรเสริญ

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ผู้มีปัญญาจึงไม่หวั่นกลัวคำว่ากล่าว กลับเชิญชวนด้วยซ้ำ  ดังเห็นได้จากพิธีปวารณาในวันสุดท้ายของการจำพรรษา  จะว่าไปแล้วการปวารณาดังกล่าวไม่ควรเป็นเรื่องของสงฆ์เท่านั้น แม้คฤหัสถ์ก็ควรกระทำต่อกันเช่นกัน  ดังนั้นจึงอย่าปล่อยให้ปวารณาเป็นแค่พิธีกรรม แต่ควรผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและชุมชน  ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่ชีวิตดีงามจึงจะเป็นอันหวังได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา