มารักและดูแลตนเองกันเถอะ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 22 มิถุนายน 2008

เราทุกคนถูกรุมล้อมชีวิตด้วยความเครียด และวิตกกังวล เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ความคาดหวังของเราจะประสบผลหรือไม่  มีสิ่งไม่แน่นอนมากมายเหลือเกินในชีวิต เราจึงรู้สึกวิตกกังวลพร้อมกับความพยายามที่จะคลายความวิตกกังวลก็ยิ่งทำให้ความเครียดเพิ่มพูนขึ้น  ในแง่นี้ ความเครียดคือสัญญาณที่ทำให้เราได้หันกลับมาทำความเข้าใจกับตนเองว่า “เกิดอะไรขึ้น เรากำลังทำอะไร และกำลังไปที่ไหน อย่างไร” แรงเสียดทานของชีวิตจากความเครียดเช่นนี้ คือสิ่งที่ทำให้เราต้องหันกลับมาตรวจสอบคุณค่า ความปรารถนาและความตั้งใจจริง รวมถึงทรัพยากรที่มีอยู่ว่าเราพร้อมจะเดินหน้าต่อ หยุดพักหรือถอยหลังกลับ กระนั้นชีวิตก็ยังมีความเครียดอื่นๆ รุมเร้า

“ผมกินและดื่มเพื่อลดทอนหรือบรรเทาความเครียด ความผิดหวัง  มันช่วยได้ทีเดียว แต่น้ำหนักผมก็เพิ่มขึ้น และไม่รู้ตัว รคหัวใจ เบาหวาน ความดันเลือดสูงก็เริ่มถามหา ”

“ฉันคิดว่าชีวิตมีอะไรที่ต้องทำมากมาย จึงทำได้แค่หาอะไรใส่ปากใส่ท้องเวลาที่ต้องเร่งรีบ  บางมื้อเราก็เอร็ดอร่อยกับอาหารเลิศรสในงานเลี้ยง สุขภาพก็ไม่มีปัญหา ไม่ต้องออกกำลังกายจริงจัง  แต่แล้ว ฉันก็พบว่าไม่นาน สุขภาพก็เริ่มทรุดโทรม”

“ทุกสิ่งรอบตัวดูเลวร้ายไปหมด เครียด โมโห หวาดระแวงกับเรื่องราวรอบตัว  ที่เลวร้ายคือ ดิฉันรู้สึกไม่ดีมากๆ กับตัวเอง บางครั้งดิฉันแทบอยากลุกขึ้นทำลายข้าวของ รวมถึงชีวิตตัวดิฉันเอง เวลาที่ดิฉันคิดถึงเรื่องราวความผิดหวัง ความเสียใจเก่าๆ”

ยามที่จิตใจของเรารู้สึกเจ็บปวด ผิดหวัง เศร้าเสียใจ ความรู้สึกภายในมันแตกร้าว ทุกข์ระทม มันเป็นภาวะที่ดูราวกับตัวตนภายในของเราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้จิตใจของเราหายจากความทุกข์ระทมนี้  อาจเป็นการแก้แค้น “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” หลายคนหาทางออกด้วยเหล้า ยาเสพติด เพศสัมพันธ์ รวมถึงพฤติกรรมต่อต้านสังคม  การกินดูจะเป็นพฤติกรรมที่ง่ายที่สุดเพื่อระบายความเครียด ความเจ็บปวด เสียใจ  หรือในอีกทางก็คือ การปล่อยพฤติกรรมให้ล่องลอยไปตามยถากรรม หมดอาลัยตายอยาก ปล่อยร่างกาย จิตใจให้ทรุดโทรม  แล้วสิ่งที่ตามมา คือ สาเหตุการตายของคนไทย ๓ อันดับแรกคือ โรคไม่ติดเชื้อ : เบาหวาน มะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ  โรคติดเชื้อ : เอดส์  และอุบัติเหตุ

ร่างกายที่ทรุดโทรม เจ็บป่วย ก็คือสื่อสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าจิตใจของคนผู้นั้นอยู่ในภาวะเศร้าหมอง ขาดไร้ซึ่งพลังชีวิตและกำลังใจ  สุขภาวะ คือเส้นทางของการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติเป็นแนวทางชีวิตด้วยความกรุณาต่อร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณของตน  รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อนำไปสู่ความเป็นปกติสุขของตนเองและของโลกรอบตัวเรา  การสร้างสุขภาวะที่ดีจึงต้องเริ่มต้นที่สุขภาพร่างกาย การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การมีโภชนาการที่ดี การออกกำลังกาย  พร้อมกับการเรียนรู้ที่จะวางท่าทีจิตใจให้มีสุขภาพจิตที่ดี สามารถจัดการและรับมือกับความเครียด ความผิดหวัง ฯลฯ ไม่ให้ทำร้ายชีวิตและจิตใจ

องค์ประกอบของการสร้างสรรค์สุขภาวะที่ดีให้กับตนเอง จึงเริ่มต้นที่แนวทางปฏิบัติสำคัญ ๓ ประการคือ  ๑) การใส่ใจต่ออาหารที่เรารับประทาน “เราเป็นสิ่งที่เรากิน” ดังนั้นเราจึงสามารถเป็นขยะได้ หากอาหารที่เรารับประทานคือ อาหารขยะ  ๒) การออกกำลังกายที่เราถือปฏิบัติ เราใส่ใจและปฏิบัติมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่เน้นและกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใน ต่อมไร้ท่อ เช่น โยคะ ชี่กง หรือการออกกำลังกายที่เพิ่มพูนสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ อัตราการเต้นของหัวใจ  ๓) ท่าทีจิตใจที่เราเลือกให้กับตนเอง นั่นคือ เราเลือกได้ที่จะจัดวางความรู้สึกนึกคิดและรับรู้ต่อตนเอง ต่อสังคมรอบข้างด้วยท่าทีอะไรและอย่างไร  หากเรามองว่าเราเป็นคนไม่เก่ง มุมมองเช่นนี้ก็จะเป็นความเชื่อที่ครอบงำตัวเรา จำกัดศักยภาพ ความสามารถไม่ให้แสดงออกเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องดิ้นรนออกจากความเชื่อเช่นนี้

มองย้อนลึกลงไปในตนเอง เชื่อหรือไม่ว่า เราปฏิบัติต่อร่างกายและจิตใจของเราอย่างไร เราก็จะปฏิบัติต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ในแบบนั้นเช่นเดียวกัน  เพราะเมื่อเรารู้สึก คิดและเชื่อว่าเรากินอาหารอะไรก็ได้ กินด้วยความอร่อย กินด้วยความพอใจ กินเพื่อระบายความเครียด ฯลฯ เราก็จะปฏิบัติต่อโลกรอบตัวด้วยท่าทีอะไรก็ได้ ด้วยท่าทีตามความพอใจของตนเอง หรือด้วยท่าทีโกรธ เกลียดสิ่งรอบตัว ฯลฯ  ปัญหาโลกร้อนที่กำลังรุนแรงและปรากฏผลคุกคามโลกมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุก็มาจากการขาดความตระหนักรู้ ขาดความใส่ใจ  และที่สำคัญคือ เราไม่รักโลกที่เราอาศัยอยู่  ภาพสะท้อนกลับกันก็คือ เราไม่รักตัวเอง ไม่รักที่จะดูแลร่างกายและจิตใจให้มีสุขภาวะที่ดี  โลกต้องการการปกป้องดูแล ฉันใดก็ฉันนั้น ร่างกายและจิตใจของเราก็ต้องการการดูแลปกป้อง และในการนี้เราต้องกระทำด้วยความรู้ ความเข้าใจ และทั้งหมดนั่นคือ การเรียนรู้

รูปธรรมของการรักตนเองจึงเริ่มต้นด้วยการดูแลใส่ใจอาหารที่เรากิน ออกกำลังกาย และรักษาจิตใจให้แจ่มใส มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต  คำถามที่เราทุกคนครุ่นคิดและถามตัวเองได้ ก็คือ ๑) คุณค่า เราควรหันมาดูแลใส่ใจและสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับตนเองหรือไม่  ๒) แรงจูงใจ เรามีความต้องการที่จะดูแลและรักษาสุขภาพของเราหรือไม่  ๓) ทรัพยากร หากเราเห็นคุณค่าและมีแรงจูงใจมากพอ เรามีทรัพยากรทั้งที่มีอยู่ภายใน และสิ่งรอบตัวเรา (ความรู้ เวลา พลังงาน ความสามารถ ฯลฯ) ที่จะใช้เพื่อดูแลตัวเองอย่างไร หรือจะสรรหาจากที่ไหน อย่างไร

การได้เริ่มต้นมาดูแลและใส่ใจตนเอง ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่คือการได้เริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้ที่จะมีชีวิต รักชีวิต และใช้ชีวิตเพื่อเกื้อกูลชีวิตอื่นๆ ต่อไป


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน