มิ่งขวัญ เหล่าบุศณ์อนันต์  เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีจิตอาสา

นุดา 23 มิถุนายน 2022

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเป็นแฟนเพจ เลี้ยงลูกให้ถูกทาง by แม่มิ่ง ที่มีผู้ติดตามเป็นแสนคน คุณแม่ลูกสองท่านนี้เป็นทั้งนักเขียนหนังสือเรียน เขียนบทความเกี่ยวกับแม่และเด็ก ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาเด็กและวัยรุ่น

น้องโบนัสลูกสาวคนโตของแม่มิ่ง คือหนึ่งในอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ปฏิบัติงานที่สถาบันประสาทวิทยา โบนัสมีความฝันอยากเป็นหมอ ตั้งใจสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จึงมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการทำกิจกรรมจิตอาสา

แม่มิ่ง มิ่งขวัญ เหล่าบุศณ์อนันต์ คือแรงหนุนคนสำคัญที่สนับสนุนให้ลูกเป็นจิตอาสา ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากตัวเธอเองที่มีโอกาสได้ทำงาน “บัณฑิตอาสา” ตั้งแต่สมัยเรียน และนี่คือแนวความคิดและประสบการณ์ของคุณแม่ที่เพาะเมล็ดพันธุ์จิตอาสาให้ลูก  


จากนักเขียนหนังสือเรียน  มาเปิดเพจเฟซบุ๊ค เลี้ยงลูกให้ถูกทาง by แม่มิ่ง ได้อย่างไรคะ

เมื่อประมาณ 4-5ปีก่อนมีโอกาสไปร่วมงานกับ theasianparent.com  เริ่มเข้าสู่การเขียนบทความแม่ลูกและทำให้อีกหลายๆ เพจ จนวันหนึ่งรู้สึกว่ากระแสตอบรับที่ผ่านมาค่อนข้างดี ประกอบกับมองว่าการเปิดเพจของเราจะเป็นอีกช่องทางการแบ่งปัน คือเราเคยเป็นอาจารย์มาก่อน ยังมีนิสัยชอบถ่ายทอดความรู้ เลยถ่ายทอดความรู้ผ่านเพจ ปัจจุบันนี้นอกจากเขียนบทความ ยังเป็นที่ปรึกษาในเรื่องของวัยรุ่น ร่วมกับเพจ toolmorrow เป็นพ่อแม่อาสาให้กับผู้ปกครองที่อาจมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูก มีเทคนิคอะไรก็แนะนำกันไป

เป้าหมายของเพจ เลี้ยงลูกให้ถูกทาง by แม่มิ่ง คือ

อยากให้เป็นสื่อน้ำดี มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยแม่มิ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งด้านการแพทย์หรือด้านจิตวิทยา แม่มิ่งยังไปเรียนเสริมจิตวิทยาที่คณะแพทย์ศิริราช เราอยากทำตรงจุดนี้ เพราะเห็นว่าเยาวชนไทยทุกวันนี้มีปัญหาค่อนข้างมาก ยิ่งคุณพ่อคุณแม่เข้ามาปรึกษาแม่มิ่งมากเท่าไหร่ ทำให้เรามองเห็นว่า การเลี้ยงดูเด็กที่ทำให้เกิดปัญหา บางครั้งจุดเริ่มต้นคือการเลี้ยงลูกโดยที่เราอาจคาดหวังกับลูกมากเกินไป

แล้วแม่มิ่งเลี้ยงลูกสไตล์ไหน

แรกๆ ยอมรับว่าเลี้ยงลูกมีกรอบนิดหนึ่งเมื่อเขาอยู่ช่วงวัยประถม สอนให้รู้จักหน้าที่ว่าเวลานี้ควรทำอะไร โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียน นอกจากนี้แม่มิ่งยังมองว่าในวัยเด็ก การเรียนสามารถควบคู่กับกิจกรรมอย่างอื่นได้ รวมถึงการสอนให้เขารู้จักบทบาทตัวเองในบ้าน ทำงานบ้าน เรียนรู้หน้าที่และรับผิดชอบร่วมกัน พอลูกโตมาช่วงวัยมัธยม พูดได้เลยว่า แม่มิ่งค่อนข้างสบายแล้ว ซึ่งตรงข้ามกับบางครอบครัว เขาเริ่มมีปัญหาช่วงวัยรุ่น เพราะตอนเด็กคุณไม่ได้วางแบบแผนหรือให้ลูกเข้าใจตระหนักถึงหน้าที่ตัวเองตั้งแต่เล็ก ซึ่งน่าจะสอนง่ายกว่า แต่พอเปลี่ยนแปลงเป็นวัยรุ่นปุ๊บกลายเป็นการบังคับ นี่ค่ะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ที่แม่มิ่งพบจากการที่มีผู้ปกครองเข้ามาปรึกษา

มิ่งขวัญ เหล่าบุศณ์อนันต์

การสอนให้เด็กรู้จักบทบาทของตัวเองในบ้าน ทำงานบ้าน เราให้เขาทำอะไรบ้าง

งานบ้านง่ายๆ ตามวัย กรอกน้ำ ล้างจาน เก็บจาน ช่วยแม่กวาดบ้าน คือแม่มิ่งทำงานเขียนอยู่ที่บ้าน หน้าที่งานบ้านส่วนใหญ่เป็นของเรา แต่เราให้ลูกช่วยทำงานบ้านด้วย เพราะอยากให้เขารู้จักหน้าที่ เหมือนกับว่าการทำงานบ้านเป็นจุดเริ่มต้นความรับผิดชอบของเด็ก อย่างน้อยให้เขารักความสะอาด ความเป็นระเบียบ เมื่อเขาสร้างความสะอาดเป็นระเบียบให้บ้านได้ ก็จะมาเป็นระเบียบกับตัวเขาเองด้วย

แล้วเรื่องกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนล่ะคะ

การเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นสิ่งที่สนับสนุนลูกๆ มาตั้งแต่เด็กๆ มีกิจกรรมอะไรที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจเขาก็พาไป  อย่างโบนัส เริ่มไปเรียนตีขิมตั้งแต่ ป.1 ตอนนั้นเขาเห็นญาติ เห็นเพื่อนไปเรียน ก็อยากไปเรียนบ้าง แต่พอไปเรียนแล้วสิ่งหนึ่งที่แม่มิ่งสอนคือ ทำอะไรแล้วขอให้ทำจริงจัง อย่าทำเล่นๆ กลายเป็นว่าโบนัสตีขิมเก่ง ตอนอายุ 11 ไปแข่งของกระทรวงศึกษาธิการก็ได้เหรียญทอง

นอกจากสร้างเสริมประสบการณ์นอกห้องเรียนให้ลูกๆ แล้วในมุมของความมีจิตอาสาล่ะคะ คุณแม่พบว่าลูกสาวเริ่มมีใจที่อยากทำอะไรเพื่อคนอื่นเมื่อไหร่

ยกตัวอย่างโบนัสแล้วกันค่ะ จุดเริ่มต้นการเป็นจิตอาสาของเขาคือการตีขิม พอดีรู้จักคุณลุงท่านหนึ่งทำจิตอาสาอยู่แล้ว พอเห็นหลานสาวตีขิมได้ เลยพาไปเป็นจิตอาสากับมูลนิธิเซสเชียร์ ที่ รพ.สมุทรปราการ เป็นจุดเริ่มต้นของงานอาสาที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดตอนนั้น เขาเตรียมฝึกซ้อมอย่างมาก บอกหม่าม้าว่าหนูจะตีเพลงนี้ๆ เพราะเขารู้ว่าต้องไปตีขิมให้ผู้ป่วยให้คนที่มาโรงพยาบาลฟัง แต่จิตใจของความเป็นจิตอาสาจริงๆ ตอนนั้นเด็กอาจยังไม่เข้าใจ เราบอกลูกเพียงว่า เสียงดนตรีของเขาทำให้คนอื่นมีความสุข ก็ทำให้เรามีความสุขไปด้วย

ทราบว่าน้องโบนัสอยากเรียนคณะแพทยศาสตร์ ที่บ้านมีใครเป็นหมอหรือเปล่าคะ น้องถึงอยากเป็นหมอเหมือนกัน

เราพ่อแม่ไม่มีใครเป็นหมอเลย  แต่จุดเริ่มต้นคงเป็นเพราะโบนัสเติบโตมาคือเห็นอากงสุขภาพไม่ค่อยดี เข้าออกโรงพยาบาลบ่อย  บางทีอากงมีนัดที่โรงพยาบาล แม่มิ่งพาอากงไปหาหมอ ก็พาลูกไปด้วย เราก็ไม่คิดว่าเขาจะซึมซับ เพราะเด็กบางคนพาไปโรงพยาบาลจะเบื่อ ไม่ชอบ แต่คนนี้ไม่ใช่ พอไปแล้วเขาสังเกตการทำงานของหมอ สังเกตคุณพยาบาล เอาง่ายๆ ตั้งแต่ 3-4 ขวบ เขาบอกหนูเห็นคนป่วยแล้วสงสาร อยากทำงานอะไรที่ได้ช่วยเหลือคนป่วย หนูอยากมีเครื่องมืออะไรสักอย่างทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายไป ให้คนมีสุขภาพแข็งแรง  คือความคิดที่เขาเคยบอกให้แม่มิ่งฟัง เราก็รู้สึกว่าลูกคิดได้แบบนี้เลยหรือ รู้สึกว่าเขามีจิตใจโอบอ้อมอารีกับคนอื่น หรือเวลานั่งรถผ่านแล้วเห็นอุบัติเหตุข้างทาง เขาจะ รู้สึกเป็นห่วงว่าคนเจ็บจะเป็นอะไรมากไหม

เพราะตั้งใจจะสอบเข้าเรียนแพทย์ จึงมาหาประสบการณ์ด้วยการมาเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล  ใช่ไหมคะ

คือเดี๋ยวนี้รูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่อง portfolio ต้องมีเก็บผลงาน โดยปกติแล้วถ้าเป็นนักเรียนทั่วไปจะไปฝึกงานโรงพยาบาล เมื่อก่อนความรู้สึกเราคือเป็นเรื่องห่างไกล พอปัจจุบันหน่วยงานมีความเปิดกว้างมากขึ้น อาจรองรับในส่วนที่เด็กต้องใช้ portfolio รวมถึงเกียรติบัตรต่างๆ ในการฝึกงาน ตรงนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง โบนัสก็ส่งใบสมัครเข้าไป เวลากลับจากงานอาสาทุกครั้ง เขาจะมาเล่าให้แม่มิ่งฟังว่าทำอะไรบ้าง โบนัสได้อยู่ตรงจุดที่มีคนมาติดต่อ กดใบนำทาง ถามว่าไปทำงานเหนื่อยไหม เขาบอกเหนื่อยนะ แต่หนูมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนป่วย แล้วเขาก็ไม่ได้มองแค่ว่าคนนี้ๆ มาติดต่อโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่เขาสังเกตคนป่วยด้วย เพราะที่นี่เป็นโรงพยาบาลที่รักษาเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาท สมอง และสภาวะทางอารมณ์  เช่น คนนี้เดินอย่างนี้ คนนี้ดวงตาเป็นสีม่วงๆ ต้องเป็นโรคอะไรแน่

น้องโบนัสปฏิบัติหน้าที่อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล

หลังจากเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาลครบ 4 ครั้ง น้องโบนัสบอกคุณแม่ไหมคะว่าอยากทำงานอาสาต่อ

หลังจากนั้นก็ไปทำต่อที่ รพ.สต. แถวบ้าน เป็นอนามัยชุมชน เราเห็นว่าไม่ไกลบ้านนัก เดินทางสะดวก ก็เลยติดต่อให้โบนัส  ผอ.ท่านมีแนวคิดในการเปิดโอกาสให้เด็กๆ มาฝึกงาน จึงเป็นโอกาสดีของโบนัส ซึ่งที่นี่เขาได้ดูการทำงานของพี่ๆ พยาบาล พี่ๆ สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ ลงมือปฏิบัติจริง ช่วยยกผู้ป่วย ช่วยปลอบเด็กเล็กๆ ที่มาฉีดวัคซีน ได้ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต พี่ๆ ก็ค่อนข้างเมตตาให้คำแนะนำหลายด้านกับโบนัส เขาบอกว่าหม่าม้าจบงานหนูยังอยากไปช่วยพี่ เราก็บอกโบนัสว่า ให้บอกพี่ๆ ว่าวันไหนที่ต้องการคนช่วยก็โทรมาบอกหนูได้

ตอนโบนัสมาเป็นจิตอาสาที่สถาบันประสาทวิทยา คุณแม่เป็นคนรับส่งลูกสาวด้วยใช่ไหมคะ

ใช่ค่ะ ตอนเช้าไปส่งเขาที่สถาบันประสาทวิทยา แล้วเราก็นั่งรอ เอางานไปนั่งทำ ปล่อยเขาให้ไปทำหน้าที่ของเขาเอง และนัดกันว่าทำอาสาเสร็จแล้วมาเจอกันตรงนี้นะ  จริงๆ คุณแม่เอง ถ้าพูดถึงงานจิตอาสาตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ก็ไปเป็นบัณฑิตอาสาเหมือนกัน ลงพื้นที่ ลงชุมชน ตอนนั้นได้อยู่สมุทรปราการด้วย เราก็เล่าให้ลูกฟังเป็นการแลกเปลี่ยนว่า เวลาที่เราลงชุมชนจะทำให้รู้ถึงคนที่เจ็บป่วย เจ็บป่วยจากการทำงาน อย่างท้ายบ้านที่เขาไปทำ ส่วนใหญ่เป็น มีอาชีพประมง อุตสาหกรรม เราก็ได้รู้ว่า ภูมิศาสตร์ทางด้านนี้ ประชาชนแถวนี้ประกอบอาชีพแบบนี้ๆ โบนัสบอกเขามีความสุขที่ได้อยู่กับชาวบ้าน เราก็ถามเขาว่า ขนาดนั้นเลยหรือ เขาบอกว่า หนูมีความรู้สึกอย่างนั้น อย่างเขาไปเจอคุณป้าที่ไปลากเรืออวน เรือเล็ก แล้วถูกอวนบาด เล็บเนื้อเปิดขึ้นมา มันก็เป็นความบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ

หลังจากที่ลูกสาวไปทำงานอาสาสมัครในโรงพยาบาล แม่มิ่งพบว่าเขามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และได้รับอะไรกลับมาบ้าง

สิ่งแรกที่คิดว่าลูกได้รับ คือการยืนยันในสิ่งที่ตั้งใจว่ายังเป็นเช่นเดิมไหม สำหรับน้องโบนัส การได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่สถาบันประสาทวิทยา แม้จะอยู่แค่ด่านหน้า คอยแนะนำผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ แต่ก็ถือว่าตัวเองได้ทำหน้าที่สำคัญ เป็นด่านแรกที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่คนอื่น และพอมีปัญหาอะไร เขาก็เรียนรู้ที่จะแก้ไข และยังได้ทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วย ที่สำคัญโบนัสไม่เคยรู้สึกเบื่อที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาล แต่กลับชอบและอยากทำต่อ อย่างน้อยที่สุดเหมือนเป็นการคอนเฟิร์มว่าสิ่งที่เขาตั้งใจ ที่อยากเป็นคือหมอ ความรู้สึกเขาคิดว่าใช่แล้วล่ะ และมีความผูกพันกับการทำงานแบบนี้ นอกจากนี้ยังได้เพื่อนใหม่จากงานอาสาฯ  พอเขาได้ไปเจอกลุ่มเพื่อนที่มีแนวคิดเหมือนกัน ชอบเรื่องวิทย์ เรื่องสุขภาพเหมือนกัน คุยภาษาเดียวกัน  เขาก็รู้สึกมีความสุข สบายใจ

นอกจากการได้ไปหาประสบการณ์จริงในสิ่งที่ตัวเองชอบและใฝ่ฝันจะเป็นแล้ว การที่เด็กๆ ไปทำกิจกรรมจิตอาสา คุณแม่ยังมองเห็นอะไรในการไปเป็นจิตอาสาอีกคะ

แม่มิ่งมองว่า งานอาสาบางอย่างทำให้เด็กได้พบความชอบของตัวเอง และอาจกลายเป็นการค้นพบตัวตนของตัวเองก็ได้ ทำให้เขามีเป้าหมายมากขึ้น การที่เด็กไปทำกิจกรรมจิตอาสา นอกจากทำให้ได้ประสบการณ์ชีวิต ยังทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองว่าสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ และเมื่อเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง โอกาสที่จะไปทำสิ่งไม่ดีก็จะลดน้อยลง คือเด็กส่วนใหญ่เวลาเขาทำอะไรก็เพื่อตัวเอง รับผิดชอบตัวเองเป็นหลัก แต่พอวันหนึ่งที่เขาได้ไปทำอะไรให้คนอื่น แม้ยังเป็นนักเรียนอยู่ ถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันเป็นความภาคภูมิใจและสร้างคุณค่าให้ตัวเอง

“สำหรับน้องโบนัส แม้จะอยู่แค่ด่านหน้า คอยแนะนำผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ แต่ก็ถือว่าตัวเองได้ทำหน้าที่สำคัญ เป็นด่านแรกที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่คนอื่น และพอมีปัญหาอะไร เขาก็เรียนรู้ที่จะแก้ไข”

แม่มิ่งกับลูกสาว

น้องสาวอยากทำกิจกรรมจิตอาสาเหมือนพี่ไหม

เวลาไปทำกิจกรรมอะไร พี่น้องก็ไปทำด้วยกันนะคะ คือคนเล็กน้องบิวตี้เขาเห็นพี่สาวเก็บเกียรติบัตรจากกิจกรรมโน้นนี้ ก็เริ่มอยากทำตามบ้าง คือโบนัสค่อนข้างเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้อง และดูแลน้องดีมาก เขาช่วยติวหนังสือ สอนน้อง เพราะบางวิชาคุณแม่ไม่ถนัด เรามีความรู้สึกว่า เขาไม่ใช่แค่ดูแลคนอื่น หรืออยากไปทำจิตอาสากับคนอื่นนอกบ้าน แต่กับน้องสาวของตัวเองก็ดูแลเป็นอย่างดี

มีคำแนะนำอะไรสำหรับผู้ปกครองในการสร้างนิสัยความเป็นจิตอาสาให้ลูก

อย่างแรกเราต้องเปิดใจก่อน เพราะบางคนบอกว่าการเป็นจิตอาสาต้องใช้เวลา บางคนอยากใช้เวลาส่วนตัวไปเที่ยวไปทำโน่นนี่ดีกว่า แต่ให้เราเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า วันที่เราทำประโยชน์เพื่อคนอื่นก็เป็นการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน  ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ลูกเห็น ชวนเขาไปด้วยกัน เช่น เราบอกว่าว่า วันนี้หม่าม้าไปเจอในอินเตอร์เนต กิจกรรมแบบนี้ ทาสีโรงเรียนที่ขาดแคลน เราลองไปทำไหม นอกจากได้ประสบการณ์ใหม่ ยังสนุกด้วยนะ  การจะจูงใจเด็กๆ เราต้องเริ่มจากความสนุก พบประสบการณ์แบบใหม่ ที่สำคัญเราตบท้ายไปด้วยว่า เราได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นด้วย


*** อาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฉลาดทำบุญวิถีสร้างสุข มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันประสาทวิทยา หน้าที่ของอาสาสมัครคือให้คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้ป่วยที่มารับบริการที่สถาบันประสาทวิทยา

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร