มืดและลึกกว่าถ้ำ คือ ที่นี่…

มะลิ ณ อุษา 29 กรกฎาคม 2018

หลังจากที่มีข่าวการช่วยเหลือเด็กๆ และผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีออกมาจากถ้ำขุนน้ำนางนอนจนครบทุกคน นอกจากจะร่วมฉลองความดีงามของมวลมนุษยชาติแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนจะไม่ปล่อยให้เลยผ่านไป คือ บทเรียนจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่ากระแสสื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอมุมมองแง่คิดต่างๆ ออกมาอย่างไม่ขาดสาย จะว่าไปแล้วก็นับตั้งแต่วันที่เริ่มค้นหากันเลยทีเดียว แม้กระทั่งชุมชนเล็กๆ ที่ค่อนข้างห่างไกลแห่งนี้ ทุกคนก็ติดตามข่าวสารกันอย่างใกล้ชิด วงสนทนาแทบทุกวง ไม่ว่าจะเป็นวงผู้ใหญ่หรือวงเด็ก ก็มักจะมีหัวข้อ ‘เด็กติดถ้ำ’ เป็นหนึ่งในนั้นเสมอ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นความใส่ใจและความห่วงใยในถ้อยสนทนาของพวกเขาเหล่านั้น แต่ที่น่าตกใจและเป็นกังวล คือ เครื่องมือในการกลั่นกรองข้อมูลที่ค่อนข้างชำรุดและหย่อนประสิทธิภาพ

ที่กล่าวเช่นนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาตำหนิตัดสินผู้ใดทั้งสิ้น หากแต่อยากสะท้อนให้เห็นสภาวะที่เกิดขึ้นในสภาพสังคมที่แวดล้อมผู้เขียนอยู่ ณ ขณะนี้ และเพื่อไม่ให้เป็นการกล่าวลอยๆ ผู้เขียนขอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาอ้างอิงประกอบ

ในคาบเรียนบ่ายวันศุกร์ ผู้เขียนชวนเด็กๆ ป.5 และป.6 ฝึกถอดบทเรียนจากปรากฏการณ์ ‘เด็กติดถ้ำ’ อยากรู้ว่า พวกเขามีมุมมองแง่คิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

เมื่อขอให้เด็กๆ ช่วยเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ตามที่พวกเขารับรู้มา สิ่งที่ได้ยินไม่ทำให้แปลกใจนัก แต่สร้างความตกใจระคนห่วงใยไม่น้อย ตกใจในข้อมูลที่พวกเขาได้รับ (หรือเลือกรับ) และวิธีป้อนข้อมูลของผู้ปกครองหรือสื่อช่องทางต่างๆ ในสังคมของเรา

ข้อมูลที่หลากหลายจากการบอกเล่าของเด็กๆ เกือบ 99% อยู่ในโหมดที่เราเรียกว่า ดรามาติก ตั้งแต่เรื่องการเข้าไปฉลองวันเกิด การซื้อขนม การขุดถ้ำ ร่างทรง การเสียสละของผู้ช่วยโค้ช การถูกพวกค้ายาบ้าจับตัวไป และแน่นอนเรื่องเล่าปรัมปรา

หลังจากปล่อยให้เด็กๆ ได้เล่ามาสักพัก ก็ถึงเวลาลากกลับเข้ามาสู่เป้าหมายสำหรับวันนี้ด้วยคำถามที่ว่า “เด็กๆ สังเกตไหมว่า มีใครที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้บ้าง” เด็กๆ นิ่งกันไปหนึ่งอึดใจ ก่อนจะค่อยๆ ตอบมาทีละกลุ่มได้แก่ นักดำน้ำ หน่วยซีล พระ คนซักผ้า (อดีต)ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และแพทย์

แต่เมื่อถูกถามว่า แล้วคิดว่ามีคนอื่นๆ อีกไหม เด็กๆ ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “มี” แต่ไม่รู้/จำไม่ได้  หลังจากชวนเด็กๆ คิดถึงการเสียสละของผู้คนมากมายเหล่านี้ โดยไม่มีสิ่งตอบแทนใดๆ เราก็ขยับสู่ประเด็นต่อไปด้วยโจทย์ที่ว่า “ถ้าเราต้องติดอยู่ในถ้ำ เด็กๆ คิดว่า อะไรที่จะช่วยให้เด็กๆ เอาชีวิตรอดจากสถานการณ์นี้ได้”

คำตอบแรก (สุดคลาสสิก – ไม่ว่าจะกับทั้งเด็กหรือผู้ใหญ่) คือ ความสามัคคี เมื่อถูกขอให้อธิบายขยายความก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ความสามัคคีที่ว่านั้นหมายถึงอะไร เด็กๆ นิ่งคิดอีกสองอึดใจ แล้วก็ค่อยๆ มีคำตอบออกมา

“ความอดทน” “การมีร่างกายแข็งแรง” “รู้จักปลอบใจตัวเอง” “หัดสังเกต” และ “มีสมาธิ”

จากคำตอบแต่ละข้อของเด็กๆ ผู้เขียนลองชวนคิดต่อว่า คุณสมบัติเหล่านี้สำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร ไม่เฉพาะตอนที่เราติดอยู่ในถ้ำ (เพราะโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก คงไม่มากนัก แต่เชื่อมโยงให้ได้กับชีวิตประจำวัน หรือเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นวิกฤตในชีวิต)

ความอดทน สำคัญต่อชีวิตเราอย่างไร?

เมื่อเจอคำถามนี้ เด็กๆ เริ่มแย่งกันตอบมากขึ้น และสามารถยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ต้องอดทนในชีวิตประจำวันได้ พร้อมกันนั้นก็มีใครบางคนถูกแซวว่า มีความอดทนน้อย ถ้าติดถ้ำคงร้องไห้จนขาดใจตายก่อนที่นักดำน้ำจะมาเจอ

เราไล่เรียงความสำคัญของคุณสมบัติแต่ละข้อไปจนครบ รวมถึงข้อที่เด็กๆ ไม่ได้พูดถึงด้วย เช่น เรื่องการเสียสละเพื่อส่วนรวม การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

คาบเรียนวันนั้นจบลงด้วยการฝึกสมาธิอย่างง่าย ผ่านการระบายสีมันดาลา ขณะที่มองเด็กๆ อยู่กับงานตรงหน้าผู้เขียนก็มีความคิดผุดขึ้นมาว่า สภาพเราตอนนี้เหมือนอยู่ในถ้ำที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง แต่กลับมองไม่เห็นอะไรเลย เพราะถูกปิดตาให้มืดมิด หันไปทางไหนก็แทบไม่มีทางออก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ครอบครัว ชุมชน สังคม แทบทุกด้าน เหมือนเป็นกำแพงมากกว่าทางออก

เด็กๆ ที่กำลังเรียนรู้และเติบโตเหล่านี้ เราจะช่วยเปิดตา เปิดโลกทัศน์ให้เขาสามารถมองเห็นความจริงอย่างเท่าทันและหยัดยืนในโลกภายนอกได้อย่างไร ในเมื่อมองไปทางไหนก็ดูเหมือนมืดมิดและตีบตัน

ข้อมูลเกือบทั้งหมดอยู่ในโหมดที่เรียกว่า ‘ดรามาติก’ ตั้งแต่เรื่องการเข้าไปฉลองวันเกิด การขุดถ้ำ ร่างทรง และเรื่องเล่าปรัมปรา

เมื่อครั้งเป็นเด็ก ในวิชาพระพุทธศาสนา ผู้เขียนเคยท่อง “โยนิโสมนสิการ” ประกอบด้วยอะไรบ้าง น่าเสียดายที่พอตอบข้อสอบเสร็จแล้ว ผู้เขียนก็ลืมไปเสียสิ้น

แน่นอนว่า กับเด็กๆ ที่กำลังระบายสีอยู่ตรงหน้าผู้เขียนในวันนั้น พวกเขาจะไม่ได้ท่อง “โยนิโสมนสิการ” แต่พวกเขาจะได้ค่อยๆ ฝึกแต่ละวิธีการ ผ่านกระบวนการลงมือทำและฝึกคิด

อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากไม่ได้อยู่ที่กระแสสื่อสังคมออนไลน์ที่เชี่ยวกรากเท่านั้น หากแต่อุปสรรคที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ครอบครัว เวลาชีวิตที่เด็กๆ อยู่กับผู้ปกครองหรือสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว เป็นเวลาแบบไหน วิธีการที่ผู้ปกครองใช้ในการสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ มีคุณภาพแค่ไหน

สภาพครอบครัวในชนบททุกวันนี้ลดขนาดลงจากเมื่อก่อนค่อนข้างมาก คนวัยทำงานพากันอพยพเข้าเมือง เหลือเพียงผู้สูงอายุอยู่กับเด็ก เวลาที่กลับมาบ้านช่วงเทศกาลก็จะชดเชยให้ลูกด้วยการซื้อข้าวของตามที่ลูกร้องขอ ซึ่งมักจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ หลายหลังคาเรือนติดตั้งอินเตอร์เน็ตไร้สาย ซึ่งกลายมาเป็นแหล่งชุมนุมของเด็กๆ และวัยรุ่น โดยเฉพาะช่วงเย็นและวันหยุดสุดสัปดาห์ กว่าจะผละออกจากกันได้ก็ค่ำมืดดึกดื่น แทบจะไม่เหลือแรงและความคิดไว้ทำการบ้านเลย

หมดคาบ เด็กๆ นำกระดาษชิ้นงานมันดาลามาส่ง ลายเส้นของพวกเขา แม้จะยังมีเส้นโย้เย้ไม่เรียบคมนัก  แต่ก็เห็นได้ว่าพัฒนาจากครั้งก่อนมาก แม้จะมีโอกาสเพียงน้อยนิด เราก็ยังคงเชื่อมั่นว่าถ้ำแห่งนี้มีทางออก เด็กๆ ล้วนมีศักยภาพในการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นโอกาสนั้นและสามารถหยิบฉวยขึ้นมาสร้างการเรียนรู้ให้กับพวกเขาหรือเปล่า และแน่นอนว่า ไม่เพียงแต่ครูเท่านั้น ผู้ปกครอง คนในชุมชน และสังคม ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบในหน้าที่นี้ด้วยเช่นกัน


ภาพประกอบ

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน