ม่านหมอกในจิตใจ (๒)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 12 ธันวาคม 2010

ผู้เขียนหอบหิ้วกระเป๋าหนักๆ ๒ ใบขึ้นรถโดยสารเพื่อกลับบ้าน รถแน่นพอสมควรแต่โชคดีที่ได้นั่ง  คนนั่งข้างๆ ถือกระเป๋าใบใหญ่เช่นกัน  ไม่นานก็มีชายร่างใหญ่มายืนข้างๆ ทำให้ต้องนั่งอย่างประหยัดพื้นที่  โดยไม่ตั้งใจผู้เขียนมองไปรอบๆ ที่ว่างในรถ ซึ่งก็มีที่ทางพอสมควร  สิ่งที่เกิดขึ้นในใจคือ ความขุ่นเคือง พร้อมกับความคิดนึกในใจว่า “ทำไมต้องมายืนเบียดๆ ตรงนี้”  ความขุ่นข้องในใจเกิดขึ้นโดยไม่มีวี่แวว อยู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาและไม่ไปไหน เหมือนกับมีแขกไม่ได้รับเชิญเข้ามาในบ้าน เจ้าของบ้านไม่ได้เชื้อเชิญ แต่แขกคนนี้ก็เข้ามาโดยไม่ต้องทักทาย  และเมื่อเจ้าของพยายามขับไล่ แขกคนนี้ก็ไม่ยอมไป

ผู้เขียนรู้สึกขุ่นเคืองชายร่างใหญ่ว่าเป็นต้นเหตุความไม่สะดวกสบาย  ใจที่ขุ่นเคืองเกิดขึ้น ขณะที่การคิดนึกส่วนหนึ่งก็รู้ดีว่า ชายคนนี้มีสิทธิ์ที่จะยืนตรงไหนก็ได้ และความจริงเขาก็คงไม่ได้ตั้งใจที่จะมายืนเบียดผู้เขียน เขาเพียงยืนอยู่ในตำแหน่งนี้พอดี  อีกครั้งที่หัวคิด เหตุผล และความเข้าใจทำงานสวนทางกับอารมณ์ความรู้สึก  สงครามเล็กๆ เกิดขึ้นในใจ  หากเป็นเมื่อก่อนคงง่ายที่จะตอบสนองโดยการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจออกมา แต่เมื่อตระหนักรู้ตัวกับความโกรธ ความขุ่นเคือง  อาการขุ่นเคืองก็ค่อยๆ จางคลาย

ความยากลำบากในตอนแรกคือ เวลาที่ความขุ่นเคือง หรือความรู้สึกเชิงลบเกิดขึ้น พลังและอานุภาพของความรู้สึกเหล่านี้ดูเข้มข้น จริงจัง และราวกับมันจะอยู่ติดทนถาวร หากตัวเราไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ความรู้สึกนั้นหายไป  อาการเช่นนี้เรียกว่า “ความยินร้าย”  และตรงกันข้าม ความรู้สึกเชิงบวก เป็นสุข คือ “ความยินดี” ที่เราจะมุ่งรักษา หวงแหน และตามหาเพื่อให้อยู่กับตัวเราตลอดไป  ม่านหมอกในจิตใจเบื้องต้นและสำคัญ คือ ปฏิกิริยาในจิตใจ “ความยินดีและยินร้าย” และมันเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินชีวิตไปตามลู่วิ่งของสังคม  ผสานกับความเป็นสังคมบริโภคนิยมที่ความสุข ความทุกข์ ขึ้นกับการบริโภค การแสวงหาตัวตนผ่านการบริโภคอุปโภค ปฏิกิริยานึ้จึงยิ่งเข้มข้นและรุนแรง  อย่างที่พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล นิยามตัวตนของสังคมปัจจุบันว่าขับเคลื่อนด้วยพลังของ “โกรธ เกลียด กลัว”  เราโกรธสิ่งที่ทำให้เราไม่ชอบใจ  เราเกลียดสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เรากลัว  และเรากลัวสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่ทำร้ายเรา  และด้วยความเขลา ความไม่รู้ในม่านหมอกเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้ความยินดียินร้ายเข้มข้นและรุนแรง

สิ่งที่ซับซ้อนคือ สาเหตุความขัดเคือง ภาวะโกรธ เกลียด กลัว ส่วนหนึ่งก็มาจากสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม  เพียงแต่ความรุนแรงของปัญหาถูกเติมแต่งเชื้อเพลิงด้วยม่านหมอกในจิตใจที่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ  ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงถูกยกระดับให้เป็นความรุนแรงเพราะเชื้อเพลิงปฏิกิริยาที่เข้าไปแต่งเติม  สำนวน “น้ำผึ้งหยดเดียว” จึงหมายถึงเรื่องเพียงเล็กน้อย สามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่โตที่คาดไม่ถึงได้  แรงขับของความโกรธ เกลียด กลัวก็เริ่มต้นด้วยเรื่องเล็กๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น ความอับอาย การสบประมาท การใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจ รวมไปถึงการเบียดเบียนอื่นๆ

เราทุกคนล้วนต่างมีประสบการณ์ของความขัดเคืองใจ มากน้อยไปตามขอบเขตและระดับ “ความถือสา” ของเรื่องราวนั้นๆ ว่ากระทบตัวกู ของกูมากน้อยแค่ไหน  พร้อมกับเหตุผลที่เราให้กับตนเองว่า เรื่องราวนั้นมีความถูกต้อง ชอบธรรมมาสนับสนุนด้วยมากน้อยเพียงใด  ดังเช่นผู้เขียนหนังสือ “ความสุข” หลวงพ่อมาติเยอ ริการ์ ที่เล่าประสบการณ์ความโกรธจากที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านถูกเพื่อนพระโปรยขนมเล่นบนตัวเครื่องเพราะความสนุกสนาน  หรือเหตุการณ์ที่ท่านได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากอุบาสิกาที่มีประวัติการทุจริตคอร์รัปชั่น  ปฏิกิริยานั้นจะสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม แต่สิ่งที่หลวงพ่อถ่ายทอดประสบการณ์ในประเด็นนี้คือ อารมณ์โกรธส่งผลในทางทำลาย บดบังไม่ให้เรารับรู้สิ่งต่างๆ อย่างแจ่มชัด และลดทอนความสงบภายใน  เรากลับกลายเป็นหุ่นเชิดของความโกรธ  พวกเราคงนึกถึงตนเองได้ดียามที่ความโกรธเข้าครอบงำ เรากระทำสิ่งต่างๆ ที่เราคาดไม่ถึง เรากลายเป็นสิ่งที่น่าเกลียด น่ากลัวเสียเอง

หลวงพ่อมาติเยอ ริการ์

เมื่อความรู้สึกเชิงลบเกิดขึ้น อานุภาพของมันดูเข้มข้นจริงจัง ราวกับจะอยู่ติดทนถาวร

สิ่งที่ยากลำบากคือ บางท่านมองว่าปฏิกริยาเนื่องด้วยความโกรธเป็นสิ่งสมควรในภาวะการณ์ตรงนั้น นั่นเพราะความโกรธกำลังครอบงำอยู่  และนั่นทำให้เรารับรู้ ตีความและเข้าใจเรื่องราวตรงนั้นอย่างมีอคติ  สัญญาณเตือนที่เราอาจใช้เป็นเครื่องนำทางก็คือ ภาวะจิตใจขณะนั้นอยู่ห่างหรือใกล้ไกลเพียงใดกับภาวะ “สว่าง สะอาด และสงบ” ในจิตใจ  การตอบโต้ด้วยม่านหมอกของปฏิกิริยาโกรธ เกลียด กลัว อาจยุติปัญหาได้ขณะนั้น แต่แท้จริงก็เป็นการเพาะชำความขัดแย้งและความรุนแรงระลอกใหม่  มีแต่สติ สัมปชัญญะ และปัญญาที่เป็นเสมือน “น้ำดับไฟ” ที่แท้จริง  หลวงพ่อมาติเยอเล่าว่าท่านมีทางเลือกสำหรับภาวะการณ์ขณะนั้นคือ การอธิบายเรื่องราวความสำคัญของคอมพิวเตอร์ และความเปราะบางของตัวเครื่องให้เพื่อนของท่านเข้าใจ  และกรณีหลัง ท่านก็เพียงเตือนอย่างหนักแน่นถึงข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจความยุ่งยากของเธอ รวมถึงอาจค่อยๆ ช่วยให้เธอพ้นความยุ่งยากนั้นถ้าเป็นไปได้

แต่ทำเช่นนี้ได้ สิ่งสำคัญคือ การเท่าทันภาวะจิตใจที่มีปฏิกิริยายินดี ยินร้าย  ระลึกเสมอว่าภาวะของพายุอารมณ์นั้นเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ไม่ใชสิ่งถาวร  และอาจรวมถึงการเลือกที่จะไม่ตอบโต้ จนกว่าภาวะภายในจะสงบและมีสันติมากพอ  ถึงตรงนี้ เรื่องราวความไม่ชอบใจที่เข้ามา (มันเข้ามาตลอดชีวิต) จึงเป็นเหมือนบททดสอบให้เรามีโอกาสเรียนรู้และแก้ตัว  ฝึกไปเรื่อยๆ ก่อนที่เราจะลาจากโลกนี้ไป


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน