ยาตราบนทางธรรม

พระไพศาล วิสาโล 19 ธันวาคม 2010

ธงธรรมจักร ธงชาติ และธงหลากสีโบกสะบัดขณะที่ขบวนธรรมยาตราค่อยๆ เคลื่อนตัวออกห่างจากเมืองชัยภูมิท่ามกลางแดดที่แผดเผา  กว่า ๒๐๐ ชีวิตทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งนำโดยพระสงฆ์มุ่งหน้าสู่ภูแลนคาซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ไกลลิบ โดยมีจุดหมายที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่เกือบสุดปลายอีกด้านหนึ่งของภูดังกล่าว

เป็นเวลา ๑๐ ปีแล้วที่ขบวนธรรมยาตรารอนแรมไปตามหมู่บ้านต่างๆ ครั้งละ ๗-๘ วันเพื่อเชิญชวนและให้กำลังใจผู้คนในการอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งกำลังเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว  เขาเหล่านี้เลือกที่จะเดินแทนการนั่งรถ เพื่อแสดงถึงความตั้งใจมั่นและพร้อมจะลำบากเพื่อเป็นปากเสียงให้แก่ป่าเขาลำเนาไพร  ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัวตามประเพณีจาริกบุญที่มีมาแต่โบราณ  ทุกคนได้รับการเชิญชวนให้เดินอย่างสงบ สำรวมกายวาจา และมีสติในทุกขณะที่ก้าวเดิน แม้แดดร้อนแรงหรือทางไกลเพียงใด ก็รักษาใจไม่ให้ทุกข์  “เหนื่อยแต่กาย ใจเบิกบาน” “กายร้อน ใจไม่ร้อน” เป็นทั้งคำขวัญและคติเตือนใจผู้เดิน

ภูหลงคือต้นน้ำลำปะทาวที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนธรรมยาตรามาตั้งแต่ปีแรก บางปีก็เดินตามลำปะทาวลงมาจากเขาจนถึงตัวเมืองชัยภูมิ  แต่ปีนี้ขบวนธรรมยาตราตั้งต้นที่นอกเมืองชัยภูมิแล้วเดินขึ้นเขา ซึ่งหมายถึงการเดินทวนกระแสลำปะทาวขึ้นไปจนถึงต้นน้ำ  การเดินหันหลังให้เมือง เดินหน้าสู่ภูเขานั้น ยังหมายถึงการหนีห่างจากความสะดวกสบาย และเผชิญความยากลำบากมากขึ้น  นอกจากจะต้องเดินสู้แรงดึงดูดของโลกแล้ว ถนนที่เคยเดินสะดวกก็กลายเป็นทุรกันดาร ทั้งแคบทั้งเต็มไปด้วยฝุ่น จุดแวะพักบางแห่งไฟฟ้าก็ไปไม่ถึง ไม่ต้องพูดถึงสัญญาณโทรศัพท์

แต่ในเวลาเดียวกันสิ่งหนึ่งที่ทุกคนสังเกตได้ คือทัศนียภาพที่แปรเปลี่ยน  ยิ่งเดินห่างเมือง ต้นไม้สองข้างทางก็ยิ่งหนาแน่น ขณะที่แท่งคอนกรีตสีเทาทึมบางตา ความเขียวขจีของธรรมชาติก็เด่นชัดขึ้น ในยามค่ำคืนเห็นดวงดาวระยิบระยับชัดเจน ยิ่งขึ้นสูง อากาศก็ยิ่งบริสุทธิ์เย็นสบาย ใช่แต่เท่านั้น น้ำในลำห้วยที่เคยขุ่นคล้ำก็ใสขึ้นด้วย

เป็นธรรมดาที่การเดินขึ้นเขาย่อมยากกว่าการเดินลงเขา แต่ทัศนียภาพที่งดงามและรื่นรมย์ก็เป็นรางวัลชดเชยความเหนื่อยยาก  เย็นวันที่ ๗ ของการเดินทาง ขบวนธรรมยาตรามายืนอยู่บนหน้าผา ถัดจากเวิ้งอากาศเบื้องหน้าคือภูต้นน้ำ ส่วนเบื้องล่างเป็นหุบเขาที่ค่อยๆ แผ่กว้างกลายเป็นทุ่งราบ ประกอบกันเป็นทัศนียภาพอันกว้างไกล มีแต่ธรรมชาติล้วนๆ ที่อยู่รอบตัวเรา จนทุกคนรู้สึกได้ว่ากำลังอยู่ในโอบกอดของป่าเขาและพงไพร  ขณะที่อาทิตย์ค่อยๆ ลับเหลี่ยมเขา ความสงบรำงับจากบรรยากาศรอบข้างได้ซึมซับแผ่ซ่านเข้าไปในใจของทุกคนที่กำลังดื่มด่ำอยู่กับธรรมชาติเบื้องหน้า

ก่อนถึงจุดสุดท้ายของการเดินทาง ขบวนธรรมยาตราได้แบ่งสายลัดเลาะผ่านป่าต้นน้ำ เป็นครั้งแรกที่หลายคนได้มาเห็น “น้ำซับ” หรือแอ่งน้ำเล็กๆ มากมาย อันเป็นที่มาของลำปะทาว สายน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนบนหลังเขาไปจนถึงชัยภูมิ เห็นได้ชัดว่าน้ำจากป่าบนเขาสูงนั้นใสสะอาด ผิดกับน้ำในลำห้วยกลางเมืองอย่างลิบลับ

ธรรมยาตรามิใช่เป็นแค่การเดินทางผ่านภูมิประเทศนานาชนิดเท่านั้น หากยังเป็นภาพสะท้อนการเดินทางของจิตใจด้วย  ต่อเมื่อเดินทวนน้ำ จึงจะเห็นน้ำใส อากาศบริสุทธิ์ ฉันใด ยิ่งทวนกระแสกิเลส จิตใจก็จะยิ่งใสสะอาดฉันนั้น  จะว่าไปแล้วการเดินทวนน้ำกับการเดินทวนกระแสกิเลสก็เป็นเรื่องเดียวกัน  เพราะในการเดินทวนน้ำนั้นนอกจากเราต้องออกแรงเดินมากกว่าปกติ เนื่องจากต้องเดินขึ้นที่สูงแล้ว ยังต้องสวนทางกับความสะดวกสบายซึ่งเป็นยอดปรารถนาของกิเลส  ยิ่งใกล้ต้นน้ำ ก็ยิ่งห่างไกลจากความเจริญและความสบาย ที่พักซึ่งเคยเป็นอาคารคอนกรีตกว้างใหญ่อย่างในคืนแรก กลับกลายเป็นที่โล่งในคืนต่อๆ มา หลายคนต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย อาศัยแสงสว่างจากแสงเทียน  แม้มิใช่สิ่งที่ใครๆ ปรารถนา แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ฝึกใจให้รู้จักลดละความสะดวกสบายและพอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย  หลายคนได้พบว่าแม้ลำบากกายแต่ใจก็เป็นสุขได้ เป็นสุขที่ไม่ต้องอิงวัตถุหรือสิ่งเสพ แต่สุขเพราะได้สัมผัสกับมิตรภาพของผู้คน สุขเพราะสามารถทำสิ่งยากให้สำเร็จได้ สุขเพราะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่ร่มรื่นและจากใจที่สงบเย็น

ยิ่งปล่อยใจไปตามกิเลสมากเท่าไหร่ ชีวิตก็ยิ่งตกต่ำ หาความสุขได้ยาก จิตใจเศร้าหมองได้ง่ายเพราะถูกครอบงำด้วยความเห็นแก่ตัว ความโลภ รวมทั้งรุ่มร้อนเพราะความอิจฉาและความโกรธเมื่อไม่สมอยาก แม้จะมีวัตถุมากมายแต่กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ กล่าวอีกนัยหนึ่งทำให้ “สุขยาก และทุกข์ง่าย”  ต่อเมื่อเอาชนะหรือรู้เท่าทันกิเลส ไม่หลุดลอยไปตามอำนาจของมัน จิตจะเป็นอิสระ โปร่งเบา ไม่หลงใหลติดยึดในวัตถุหรือความสะดวกสบาย อะไรมากระทบก็ไม่หวั่นไหวง่าย พอใจกับชีวิตที่เรียบง่ายแต่รุ่มรวยในความดี ดังนั้นจึง “สุขง่าย และทุกข์ยาก”

การเดินทวนน้ำไม่เพียงพาเราไปพบกับน้ำใส อากาศบริสุทธิ์เท่านั้น ในที่สุดยังนำเรามาถึงเขาสูง ได้เห็นทัศนียภาพอันกว้างไกลทั้งเบื้องล่างและเบื้องบน ทำให้รู้สึกปลอดโปร่งเบาสบาย  ใช่หรือไม่ว่ายิ่งเดินทวนกระแสกิเลสมากเท่าไร ใจก็ยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น ไม่เพียงรู้สึกโปร่งเบาเพราะปล่อยวางความอยากและอารมณ์อกุศลเท่านั้น หากยังสามารถมองเห็นโลกและชีวิตได้อย่างกว้างไกล ไม่มองอะไรสั้นๆ แคบๆ เพราะถูกตีกรอบด้วยความเห็นแก่ตัวหรืออคติทั้งปวง

ธรรมยาตราที่แท้จริงจึงเป็นมากกว่าการรณรงค์เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติเท่านั้น หากยังเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อฟื้นฟูใจด้วย เป็นมากกว่าการพาตัวให้ถึงที่หมายเท่านั้น หากยังเป็นการพาใจให้ถึงธรรมด้วย  จะว่าไปแล้วธรรมยาตรามิใช่เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันมาเดินกลางแดดปีละครั้งหรือนานๆ ครั้งเท่านั้น หากธรรมยาตรายังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนด้วย

ธรรมยาตรามิใช่แค่การเดินทางผ่านภูมิประเทศนานาชนิด หากยังเป็นภาพสะท้อนการเดินทางของจิตใจ

ใช่หรือไม่ว่าชีวิตของเราทุกขณะเปรียบเสมือนการเดินทาง เราแต่ละคนต้องเลือกเส้นทางของตัวเอง  จริงอยู่บางครั้งเราถูกผลักดันให้ต้องเลือกเส้นทางที่ไม่ได้ใฝ่ฝันหรือปรารถนา แม้กระนั้นเราก็ยังสามารถทำให้การเดินทางของเราเป็นเสมือนธรรมยาตรา นั่นคือเดินทางมิใช่เพื่อจุดหมายปลายทางที่เป็นรูปธรรม เช่น มีการงานและการเงินที่มั่นคง มีสถานะหรือตำแหน่งที่สูงเด่น มีชื่อเสียงเกียรติยศที่ขจรขจาย ฯลฯ แต่เพื่อความเปลี่ยนแปลงภายใน  นั่นคือการขัดเกลาจิตใจให้สะอาด หรือยกใจให้สูงขึ้น โดยพร้อมที่จะทวนกระแสกิเลส แม้ต้องประสบกับความยากลำบาก ไม่สะดวกสบาย แต่ก็มีความสุขใจเป็นรางวัล  อย่าลืมว่า ที่สุดของการเดินทวนน้ำคือต้นน้ำที่ใสสะอาดและฉ่ำเย็นฉันใด ที่สุดของการทวนกระแสกิเลส คือต้นธารแห่งความสุขที่หล่อเลี้ยงใจให้สงบเย็นฉันนั้น  แต่แม้จะยังไม่ถึงต้นน้ำ ธารใสระหว่างทางก็สามารถดับกระหาย ระงับความรุ่มร้อน หรือชำระใจให้สะอาดได้

ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด มีอาชีพอะไร ก็สามารถทำให้ชีวิตของเราดำเนินบนเส้นทางธรรมได้ นั่นคือมีธรรมเป็นจุดหมาย ขณะเดียวกันก็มีธรรมเป็นมรรควิธี  กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ “เพื่อธรรมและโดยธรรม”  ธรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน การมีธรรมเป็นจุดหมายก็คือการบรรลุถึงประโยชน์ตนและถึงพร้อมด้วยประโยชน์ท่าน  จะทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ มีเมตตากรุณา มีความพากเพียร รู้จักอดกลั้น และหมั่นไตร่ตรองด้วยปัญญา  การดำเนินชีวิตด้วยธรรม ย่อมช่วยให้มีพลังในการก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง ไม่พ่ายแพ้ต่อความทุรกันดารที่พานพบ ไม่ระย่อต่อความยากลำบากที่ขวางกั้น สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี หรือพบสุขท่ามกลางความทุกข์ได้

ใช่หรือไม่ว่ายิ่งเดินทวนกระแสกิเลสมากเท่าไร ใจก็ยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น ไม่เพียงรู้สึกโปร่งเบาเพราะปล่อยวางความอยากและอารมณ์อกุศล หากยังไม่ถูกตีกรอบด้วยความเห็นแก่ตัวหรืออคติทั้งปวง

ปีแล้วปีเล่าที่คนกลุ่มหนึ่งได้พร้อมใจกันเดินฝ่าแดดแผดเผา พาตัวมาพบกับความยากลำบากนานาชนิด โดยไม่กลัวความร้อนและความเหนื่อยยาก เพราะรู้ดีว่า “ร้อนแต่กาย ใจสงบเย็น” หรือ “เหนื่อยแต่กาย ใจเบิกบาน” นั้นเป็นสิ่งทุกคนสามารถทำได้ แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมาเจอกับความยากลำบากด้วยตัวเอง สติระหว่างที่ก้าวเดินสามารถยกใจให้อยู่เหนือความทุกข์ และพบกับความเบิกบานสงบเย็นได้ท่ามกลางไอแดดที่ร้อนระอุ

เมื่อมีธรรมย่อมไม่กลัวความยากลำบาก ซ้ำยังแปรเปลี่ยนอุปสรรคให้กลายเป็นของดีที่มีคุณประโยชน์ต่อจิตใจ แม้มีทุกข์มากระทบก็ไม่กระเทือนถึงใจ  พรหรือสิ่งประเสริฐที่แท้จริงจึงมิใช่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และธนะ แต่อยู่ที่ธรรมต่างหาก เพราะเมื่อดำเนินชีวิตเพื่อธรรม และโดยธรรมแล้ว ย่อมอยู่ในอารักขาของธรรมอย่างแน่นอน

ปีใหม่นี้แทนที่จะเรียกหาแต่อายุ วรรณะ สุขะ พละ และธนะ ไม่ดีกว่าหรือที่จะแสวงหาธรรมเพื่อนำมากำกับชีวิต หรือตั้งจิตมั่นที่จะยาตราบนทางธรรมโดยไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคทั้งปวงที่รออยู่ข้างหน้า


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา