ยุคหมามาแรง

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 2 เมษายน 2005

เด็กอายุ 8 ขวบคนหนึ่งตอบคำถามระหว่างที่ดูโฆษณาขายอาหารหมาทางโทรทัศน์ว่า ถ้าเลือกได้ จะเลือกเกิดเป็นคนหรือเป็นหมา  คำตอบของเด็กไม่ผิดไปจากที่คาดคือ ขอเกิดเป็นหมา เหตุผลก็เป็นอย่างที่คิดอีกเช่นกัน คือ เขารู้สึกว่า เป็นหมาแล้วสุขสบาย อยู่ดีกินดี ได้เล่นทั้งวัน ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร  ที่ว่าไม่ผิดคาด เพราะสำหรับเด็กแล้ว ความสุขของ “ชีวิต” และความเป็น “คน” ยังจำกัดอยู่เพียงกายภาพ ดังนั้น ขอให้ได้กินได้เล่น ก็ถือว่าชีวิตได้ถึงเป้าหมายที่ต้องการแล้ว  ยิ่งในโฆษณาฉายภาพความรักความอบอุ่นที่เจ้าของมีให้กับหมาของตน เชื่อว่าคงยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เด็กซึ่งขาดความใส่ใจและความอบอุ่นจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเชื่อว่า เกิดเป็นหมาดีกว่าคน (แน่ๆ)

แต่อารยธรรมในอดีตของมนุษย์ที่ผ่านมา ไม่ว่าในซีกโลกไหน ในศาสนาใด ต่างก็ให้ความหมายของ “ชีวิต” และความเป็น “มนุษย์” ไปเกินจากระดับทางกายภาพที่เทียบเท่ากับสัตว์โลกทั่วไป คือ มนุษย์เป็นสิ่งรังสรรค์จากพระเจ้า  ส่วนในคติทางพุทธ ถือว่ามนุษย์เป็นเวไนยสัตว์ คือสัตว์ที่สั่งสอนได้  แต่มิใช่การสั่งสอนได้แบบช้างม้าวัวควายที่เราเอามาใช้งาน หรือสอนให้ดำรงชีวิตอยู่รอดได้ด้วยดีเท่านั้น  หากหมายถึงสั่งสอนให้มีอุดมคติและมีศักยภาพสูงสุดที่จะนำตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ไปสู่พระนิพพานหรือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ด้วยความเข้าใจและเข้าถึงสัจธรรมแห่งโลก

ชีวิตของผู้เกิดเป็นมนุษย์จึงมิได้มีความหมายเพียงการอยู่ไปวันๆ เหมือนสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้แต่มีเป้าหมายเพื่อให้มีกินมีใช้ ร่ำรวยสุขสบาย มีอำนาจล้นฟ้าเท่านั้น  เพราะทั้งทรัพย์สิน วัตถุ และอำนาจ ถึงที่สุดแล้วไม่อาจจะช่วยให้มนุษย์เกิดอิสรภาพ สามารถจัดการความทุกข์ในระดับต่างๆ จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ (มิเช่นนั้นคนรวยคงไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ)  มิหนำซ้ำทรัพย์สิน วัตถุ อำนาจ ยังอาจกลายเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งของตนเอง และผู้อื่นไปได้อีกด้วย คือเมื่ออยากได้ก็กระสับกระส่าย เมื่อได้แล้วก็ทุรนทุรายอยากได้อีก และหวาดกลัวการสูญเสียในสิ่งที่ได้  อันนำไปสู่การเบียดเบียนแย่งชิง ทำร้าย ทำลาย ผู้อื่นทั้งโดยตรงโดยอ้อม โดยถูกและผิดกฎหมาย เพื่อเอามาครอบครองไว้แต่ลำพังตนหรือพวกพ้อง จนกระทั่งสร้างทุกข์จากความอัตคัดขาดแคลนให้แก่คนอื่นซึ่งเป็นคนส่วนมากของสังคม  ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดโอกาสของการพัฒนาชีวิตตนเองไปสู่เป้าหมายที่ดีงาม เนื่องจากยากไร้ขาดแคลนในปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต

ชีวิตมนุษย์ มิได้มีความหมายเพียงการอยู่ไปวันๆ หรือมีเป้าหมายเพื่อให้มีกินมีใช้ ร่ำรวยสุขสบาย มีอำนาจล้นฟ้าเท่านั้น

เป้าหมายของชีวิตบุคคลจึงสัมพันธ์กับความเป็นไปในสังคมโดยรวมอย่างแยกกันไม่ออก  หากเรามุ่งหวังสังคมแห่งความสงบสุข สันติภาพ เราจำเป็นจะต้องบ่มเพาะคนในสังคม โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้และเติบโตอย่างเข้าใจคุณค่า “ความเป็นมนุษย์” ว่าแตกต่างจากสัตว์โลกทั่วไป มีคุณสมบัติบางประการที่มีอยู่เพียงในมนุษย์เท่านั้นและทำให้มนุษย์มีเป้าหมายของชีวิตที่แตกต่างจากสัตว์โลกทั่วไป  นั่นคือมนุษย์มีความใฝ่ฝันหรือจินตนาการต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่เสือสิงห์ช้างม้าปลาเต่า ฯลฯ ไม่มีจินตนาการ หากแต่อยู่ไปตามสัญชาติญาณจากเกิดจนตาย แต่มนุษย์นั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่กำเนิดมาพร้อมจินตนาการ เราจึงเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นมาเป็นลำดับได้

เมื่อยังอยู่ถ้ำ เราวาดฝันไว้ตามกำแพงถ้ำถึงการมีชีวิตอย่างอิสระมั่นคง ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย  เมื่อตั้งชุมชนเกษตรกรรม มนุษย์จินตนาการที่จะเข้าถึงสิ่งสูงสุดที่อยู่เหนือตนเองเพื่อจะอยู่ดีมีสุข จึงเกิดพิธีกรรมบูชายัญ การเซ่นบวงสรวง ฯลฯ มากมาย  แต่ถึงที่สุดเราหาได้มีเพียงความใฝ่ฝันถึงเป้าหมายชีวิตที่สุขสบายทางรูปธรรม (กายภาพ) เท่านั้น ในอารยธรรมที่ผ่านมา เรายังมีจิตนาการทางนามธรรมหรือจินตนาการเชิงอุดมคติ ต้องการมีชีวิตอยู่เหนือความทุกข์หรือความบีบคั้นทางจิตใจจากการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ด้วย จึงทำให้เกิดศาสนาต่างๆ ขึ้น เพื่ออบรมสั่งสอนให้เรามีเป้าหมายของชีวิตที่ดีงาม มีความสุขจากการมีศีลธรรม-คุณธรรม เอื้ออาทรต่อผู้อื่น ฯลฯ

พุทธศาสนาเองกำเนิดมาด้วยจินตนาการเชิงอุดมคติของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทุกรูปแบบได้ไม่เฉพาะทางร่างกายแต่ทางจิตใจด้วย จึงอุทิศตนแสวงหาทางทำให้อุดมคตินั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด แล้ววางไว้เป็นแบบแผนการปฏิบัติในระดับต่างๆ แก่มนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อสนับสนุนให้บุคคลขวนขวายบ่มเพาะคุณสมบัติดังกล่าวขึ้นมา สามารถพัฒนาตนเองให้แตกต่างออกจากสัตว์โลกทั่วไป  โดยมีเป้าหมายสำคัญมิใช่การเป็นเศรษฐีหมื่นล้าน เป็นนักการเมืองผู้มีอำนาจล้นฟ้า และมิใช่คนเก่งที่กวาดเหรียญทองวิชาการ  หากหมายถึงเป้าหมายของชีวิตที่มีอิสรภาพทางจิตวิญาณ มีศักยภาพความสามารถจัดการกับบ่วงชีวิตที่คอยร้อยรัดบีบคั้นเราอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

การเข้าใจเป้าหมายของ “ชีวิต” จึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทุกข์สุขทั้งของบุคคลและสังคม  มนุษย์ที่มีเป้าหมายชีวิตคือการหลุดพ้นจากทุกข์ การเวียนว่ายตายเกิด หรือการกลับคืนไปสู่พระผู้เป็นเจ้าอย่างสะอาดบริสุทธ์ ย่อมใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการสละ-การให้ หรืออยู่อย่างละ ลด เลิกเพื่อขัดเกลาตัวกู-ของกู  แตกต่างกับบุคคลที่มีเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือความร่ำรวยมั่งคั่ง ย่อมคิดแต่ “การเอา” ไม่ว่าโดยถูกกฎหมายหรือโดยคดโกง  ดังนั้น การเรียกหาสังคมของความเอื้อเฟื้อเจือจาน ความสุจริต ความโปร่งใส ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ฯลฯ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากคนส่วนมากในสังคมยังมีเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือความร่ำรวย และได้รับการอบรมกล่อมเกลา ถ่ายทอดผลิตซ้ำการเรียนรู้แต่เรื่อง “รวยๆ ๆ” ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ไม่ว่าจะรวยเพราะความเก่งหรือเฮงเพราะกินชาเขียวที่มีฝาเงินล้านก็ตาม


ภาพประกอบ