รับรู้ข่าวอย่างชาวพุทธ

พระวิชิต ธมฺมชิโต 10 พฤษภาคม 2009

การดูแลตัวเองและใส่ใจกับสุขภาพเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะนั่นจะทำให้เราเจ็บป่วยน้อยลง หรือหากมีปัญหาเกิดขึ้นก็ช่วยบรรเทาให้ปัญหาเบาบางลง โดยเราไม่จำเป็นต้องวิ่งไปพึ่งพาใครมากมาย

แต่ขณะนี้การดูแลตัวเองกลับกลายเป็นสิ่งที่เราควรต้องใส่ใจกันมากขึ้น หลายคนสูญเสียเงินทองมากมายเพื่อใช้ดูแลร่างกายตัวเอง แต่สุดท้ายกลับเป็นนั่นเป็นนี่เต็มไปหมด

หลายคนมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายตัวที่ต้องกินในแต่ละวัน ตัวนั้นต้านอนุมูลอิสระ ตัวนี้ป้องกันมะเร็ง อันโน้นเพิ่มออกซิเจนให้เซลล์ อีกอันไว้ควบคุมน้ำหนัก ทั้งแบบเม็ด แบบน้ำ น้ำมัน หรือผงโรยคลุกกินกับอาหารก็มี

รวมแล้วราคาแพงกว่าอาหารที่ต้องกินจริงๆ มากมาย และแพงกว่าราคายาที่จำเป็นต้องกินรักษาโรคประจำหลายเท่า

เดี๋ยวนี้เราตกเป็นเหยื่อของธุรกิจที่ใช้ข้อมูลจริงบ้างเท็จบ้าง หรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนบอกเฉพาะด้านดีที่กระตุ้นการขาย แต่ผลร้ายข้อเสียไม่ยอมพูดถึง

บวกกันเข้ากับกลยุทธ์การตลาดและเทคนิคการโฆษณา ทำให้เราต้องเสียเงินจำนวนมากไปเพื่อสินค้าหรือบริการ ที่นอกจากไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแล้วยังอาจก่อพิษภัยตามมาในระยาวอีกด้วย

แม้แต่ข้อมูลที่ดูเหมือนจะเป็นกลางๆ ไม่ได้อิงอยู่กับธุรกิจอย่างชัดเจน เป็นผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ก็ยังต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาก่อนที่จะนำมาปฏิบัติ

อย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่านักวิทยาศาสตร์ในยุโรป พบว่าการดื่มเบียร์ วันละ 1 ลิตร ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้

พอได้ยินข่าวนี้ พุทธศาสนิกชนบางรายที่กำลังเปรี้ยวปากก็ถือโอกาสนี้ฉลอง ‘เบียร์โอสถ’ กันเต็มที่เพื่อป้องกันโรคหัวใจ

ว่าไปแล้วพุทธศาสนาเราค่อนข้างเปิดกว้างมากในเรื่องวิธีรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วย พระพุทธองค์ทรงให้สิทธิพิเศษกับภิกษุที่ป่วยไว้มากมาย เพื่อให้ทุกขเวทนาทางกายลดลง หรือให้หายจากการอาพาธเร็วที่สุด

พระวินัยหลายข้อที่มีข้อยกเว้นให้ภิกษุที่อาพาธสามารถปฏิบัติได้ เช่น ให้ภิกษุที่อาพาธยืนปัสสาวะได้ หรือให้ภิกษุที่มีแผลบนศีรษะปลงผมด้วยกรรไกรได้ รวมทั้งมีพุทธานุญาตให้ใช้การรักษาแบบต่างๆ ได้แทบทุกอย่างที่มีใช้กันในยุคนั้น เช่น ให้เจือน้ำเมาลงในยาได้จำนวนหนึ่ง ให้เข้ากระโจมอบไอน้ำสมุนไพรได้ ให้ลูบไล้ด้วยของหอมเมื่อเป็นโรคผิวหนังได้ เป็นต้น

แต่เป้าหมายของพุทธานุญาตนั้นมีไว้เพื่อให้ความสะดวกแก่ภิกษุอาพาธ ลดความทุกข์ที่มีอยู่ลง จะได้ทุ่มเทปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ได้ มิใช่เพื่อความสุขสบายทางกายแล้วใช้ชีวิตอย่างประมาทเพลิดเพลิน แต่สิ่งที่อนุญาตทั้งหมดต้องไม่ขัดกับหลักธรรมพื้นฐาน เช่น ต้องไม่ใช่เป็นการพรากชีวิตสัตว์มาทำยา เป็นต้น

หลักปฏิบัติเหล่านี้แม้จะเป็นของภิกษุสงฆ์ แต่ก็น่าจะพอนำมาเป็นหลักให้ชาวพุทธเราใช้พิจารณาเลือกวิธีการดูแลสุขภาพให้กับตนเองได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมเต็มไปด้วยข้อมูลสุขภาพที่เคลือบไว้ด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ

เดี๋ยวนี้เราตกเป็นเหยื่อของธุรกิจที่ใช้ข้อมูลจริงบ้างเท็จบ้าง หรือบอกเฉพาะด้านดีที่กระตุ้นการขาย แต่ผลร้ายข้อเสียไม่ยอมพูดถึง

ผลการวิจัยชิ้นนั้นบอกด้วยว่า การดื่มเบียร์ซึ่งมีสารโฟเลตอยู่จะช่วยลดระดับสารโฮโมซีสเตอีน (homocysteine) ในเลือดลง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจลงได้ ทำให้ข้อมูลดูน่าเชื่อถือขึ้นมาก ทั้งๆ ที่พวกเราแทบจะไม่รู้จักโฮโมซีสเตอีนหรือโฟเลตกันเลยก็ตาม

และถึงแม้ว่าผลการศึกษาจะเป็นจริงดังกล่าว แต่ก็ยังมีความจริงอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ และควรจะต้องรู้ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติ เช่น

เราควรต้องได้รู้ว่าสารโฮโมซีสเตอีนนี้จริงๆ ไม่ใช่สารอันตราย แต่เป็นสารเคมีปกติอย่างหนึ่งที่มีในร่างกาย โดยร่างกายก็มีกระบวนการควบคุมระดับสารตัวนี้อยู่แล้ว และสารตัวนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆ สาเหตุของโรคหัวใจ การมีสารนี้เพิ่มขึ้นก็มาจากหลายสาเหตุ เช่น มีอายุมากขึ้น สูบบุหรี่ มีความดันโลหิตสูง โคเลสเตอรอลสูง ดื่มกาแฟมาก ขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งกินอาหารที่มีโฟเลตต่ำ เป็นต้น

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับโฟเลตที่พบว่ามีอยู่ในเบียร์นั้น ก็ไม่ใช่สารวิเศษอะไร จริงๆ แล้วพบได้ทั่วไปในพืชผักใบเขียว และอาหารอีกหลายชนิดในบ้านเรา  นอกจากนี้ วิตามินบี 6 บี 12 ที่มีในอาหาร รวมทั้งน้ำปลาและปลาร้า ก็พบว่ามีสารช่วยลดระดับสารโฮโมซีสเตอีนในเลือดลงได้เช่นกัน

แล้วทำไมจึงพูดถึงแต่เบียร์ ไม่มีการลงข่าวพูดถึงการกินผัก กินปลาร้า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจกันบ้าง

ในฐานะที่เป็นชาวพุทธที่ท่านวางหลักกาลามสูตรไว้ให้พิจารณาก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด เมื่อพบข้อมูลเพียงแค่นี้ไม่ควรด่วนสรุปรีบนำมาใช้เป็นข้อปฏิบัติ ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะว่าการดื่มเบียร์ผิดศีล แต่ควรนำมาใช้พิจารณากับทุกๆ เรื่องที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์เคยบอกไว้ว่า คนเราเดี๋ยวนี้มักติดอยู่ในหลักเหตุเดียวผลเดียว ซึ่งก็เห็นได้จากเรื่องนี้พอมีข่าวว่าดื่มเบียร์แล้วรักษาโรคได้เราก็เลยเฮโลกันไปดื่ม (จริงๆ อยากดื่มอยู่แล้ว) แต่พุทธศาสนาเรายึดหลัก ‘ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก’ จึงต้องพิจารณาถึงความเป็นมาและผลกระทบให้ถี่ถ้วนรอบด้าน ก่อนที่จะทำสิ่งใดลงไป

ในกรณีนี้จึงไม่ควรเชื่อเพียงเพราะเห็นว่าเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์แล้ว เพราะในด้านการวิจัยโดยตัวของมันเองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก และยังมีปัจจัยอีกสารพัดที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สนใจศึกษาและไม่ได้พูดถึง

การที่เราติดอยู่ในหลักเหตุเดียวผลเดียว ในที่นี้เลยทำให้เราเห็นแต่ด้านที่เป็นประโยชน์ของเบียร์ต่อสุขภาพ ในขณะที่ผลเสียอีกมากมาย ทั้งเสียทรัพย์ ขาดสติ เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว หรือมีผลเสียต่อสุขภาพอีกมากมายเรากลับไม่ได้นึกถึง

หากใช้หลักของพุทธศาสนาแล้ว การป้องกันโรคหัวใจ ต้องเริ่มที่รู้จักประมาณในการกิน เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ ใช้กำลังกายให้มากขึ้น พร้อมทั้งรักษาจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด

การดื่มเบียร์วันละลิตรนั้น หากพิจารณาโดยหลัก ‘ผลหลากหลาย จากปัจจัยอเนก’ แล้ว เห็นอยู่ชัดๆ ว่าได้ไม่คุ้มเสียแน่


ภาพประกอบ