ร่มเย็นด้วยปัญญาและกรุณา

พระไพศาล วิสาโล 22 พฤษภาคม 2005

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ชาวพุทธควรระลึกถึงพระพุทธองค์เป็นพิเศษ  เนื่องจากวันนี้ถือได้ว่าเป็น “วันพระพุทธเจ้า” ด้วยเป็นวันที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน  แต่เราควรจะระลึกถึงพระองค์อย่างไรจึงจะมีความหมายมากที่สุด?

เราอาจระลึกถึงพระองค์ในฐานะมหาบุรุษซึ่งครั้งหนึ่งเคยอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ และได้เผยแผ่พระธรรมคำสอนอันล้ำค่า ซึ่งได้พัฒนามาเป็นพระพุทธศาสนาที่เรานับถือในปัจจุบัน  การระลึกถึงในแง่นี้ย่อมช่วยให้เราเกิดความสำนึกในพระคุณของพระองค์และปรารถนาที่จะแสดงความกตัญญู จะด้วยอามิสบูชาหรือปฏิบัติบูชาก็ตาม

อีกด้านหนึ่งเราอาจระลึกถึงพระองค์ โดยมุ่งที่พุทธคุณหรือพระคุณสมบัติอันเป็นแก่นแท้แห่งความเป็นพระพุทธเจ้า  หรือระลึกถึงพระธรรมในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระองค์ ดังพระองค์เคยตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต”  การระลึกถึงในแง่นี้ย่อมช่วยเตือนใจให้เราน้อมนำพุทธคุณนั้นมาเป็นเครื่องชี้นำกำกับชีวิต เกิดแรงบันดาลใจที่จะปฎิบัติตามพระธรรมคำสอน หรือพัฒนาฝึกฝนตนเพื่อเข้าถึงพระธรรมดังที่พระองค์ได้ทำมาแล้ว

ถ้าหากจะปฏิบัติกับพระองค์ในลักษณะหลัง อะไรคือพุทธคุณที่เราควรระลึกถึง?  คำตอบก็คือ ปัญญา และ กรุณา  ปัญญา คือความแจ่มแจ้งประจักษ์ชัดในความเป็นจริงของชีวิตและโลก หมดสิ้นซึ่งอวิชชา  สามารถปล่อยวางจากความยึดมั่นสำคัญหมายในตัวตน จนพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง  เข้าถึงความสงบเย็นสูงสุดคือนิพพาน  ส่วน กรุณา คือความรักต่อสรรพชีวิตอย่างไม่มีเส้นแบ่ง  ปรารถนาช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ ด้วยจิตใจที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว เปิดกว้างอย่างไม่มีประมาณ

ปัญญาและกรุณานั้นเป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน  พระพุทธองค์คือมนุษย์ที่ได้พัฒนาคุณสมบัติดังกล่าวอย่างถึงที่สุด จนอยู่เหนือโลกได้  การตรัสรู้ของพระองค์เป็นเครื่องยืนยันว่า มนุษย์เรานั้นมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาตนจนพ้นจากความเป็นปุถุชนได้  พระพุทธองค์จึงมิใช่อะไรอื่น หากคืออุดมคติของความเป็นมนุษย์ที่เราควรยึดถือและเข้าถึงให้ได้มากที่สุด  ทั้งนี้ก็ด้วยการพัฒนาปัญญาและกรุณาดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญตนเป็นแบบอย่างมาแล้ว

ปัญญาและกรุณานั้นเป็นธรรมอันควรนำมาเป็นเครื่องกำกับชีวิตอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เราสามารถเผชิญกับความพลัดพรากสูญเสียในชีวิตได้อย่างไม่เป็นทุกข์ และสามารถเป็นสุขอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรของโลก  ขณะเดียวกันก็มีพลังที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้แก่โลกได้อย่างไม่ระย่อท้อแท้

ปัญญาและกรุณามิใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตเท่านั้น  หากยังมีความสำคัญสำหรับโลกโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันซึ่งกำลังถูกท่วมท้นคุกคามด้วยกระแสใหญ่ ๒ กระแส ได้แก่ วัฒนธรรมแห่งความละโมบ และ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง  ทั้งสองกระแสกำลังแผ่คลุมทั่วทั้งโลก และสร้างความทุกข์ยากนานัปการแก่สรรพชีวิต จนอาจเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของโลกเลยทีเดียว

วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ได้แก่ ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งกระตุ้นเร้าความโลภของมนุษย์อย่างไม่หยุดหย่อนและรุนแรงขึ้นทุกที  ไม่เพียงก่อความทุกข์ร้อนแผดเผาใจผู้คนเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดการเอาเปรียบเบียดเบียนแย่งชิงทำร้ายกันทุกหนแห่ง  นอกจากปัญหาอาชญากรรมจะลุกลามแล้ว ช่องว่างระหว่างผู้คนในสังคมก็เพิ่มมากขึ้น ความยากจนแพร่ระบาด จนล้มตายเพราะความหิวโหยปีละหลายล้านคน ไม่นับคนอดอยากอีกหลายร้อนล้านคน  ขณะเดียวกันระบบนิเวศก็ถูกผลาญพร่าเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่รู้จักพอของคนรุ่นนี้เท่านั้น

ส่วน วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ก็กำลังสร้างความรังเกียจเดียดฉันท์ให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วทั้งโลกและในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศลงมาถึงระดับหมู่บ้าน เพียงเพราะติดยึดกับความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว และความเชื่อ  เพื่อนบ้านต้องกลายเป็นศัตรูกัน จับอาวุธฆ่าฟันกัน และทำลายความเป็นมนุษย์ของกันและกันในทุกรูปแบบ  ไม่เพียงแต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แม้แต่ศาสนาก็ยังถูกใช้เพื่อประหัตประหารซึ่งกันและกัน

ทุกวันนี้วัฒนธรรมทั้งสองกำลังแพร่ระบาดมาในเมืองไทย และน่ากลัวยิ่งกว่าโรคระบาดทั้งหลายที่เรากำลังพรั่นพรึงอยู่ในปัจจุบัน  ในสถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีปัญญาและกรุณาเป็นเครื่องรักษาตนมิให้วัฒนธรรมอันเลวร้ายดังกล่าวครอบงำชีวิตจิตใจ  ปัญญานั้นเป็นสิ่งจำเป็นก็เพราะว่าช่วยให้เราประจักษ์ว่า ความสุขนั้นที่เที่ยงแท้ยั่งยืนนั้นมิได้อยู่ที่การบริโภคหรือการครอบครองวัตถุ  แต่อยู่ที่ความสงบภายในและการมีสัมพันธภาพที่บรรสานสอดคล้องกับผู้คนและธรรมชาติแวดล้อม  ขณะเดียวกันปัญญาก็ช่วยให้เรามองทะลุมายาและอคติจากการชวนเชื่อทั้งหลาย จนเห็นว่าผู้คนทั้งหลายไม่ว่าจะนับถือพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม ล้วนเป็นเพื่อนร่วมชาติ  หรือเห็นยิ่งกว่านั้นคือเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เช่นเดียวกับเรา  มนุษย์เรานั้นมีความเหมือนยิ่งกว่าความต่าง แม้จะมีความขัดแย้งกันแต่ก็ไม่มีวิธีอื่นใดที่จะดีกว่าการใช้สันติวิธี  การใช้ความรุนแรงตอบโต้กันนั้นมีแต่จะทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น  ความรุนแรงอาจกำจัดคนชั่วร้ายได้ แต่ไม่สามารถขจัดความชั่วร้ายได้เลย

ส่วนกรุณานั้นก็ช่วยให้จิตได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดจากการให้และความปรารถนาดี  ไม่ถูกความละโมบและโกรธเกลียดแผดเผาใจ  มีความใจกว้าง พร้อมให้อภัย  อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานอันมั่นคงสำหรับการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี  กรุณาเป็นวิธีขจัดศัตรูที่ดีที่สุดเพราะสามารถเปลี่ยนเขามาเป็นมิตรได้ด้วยการชนะใจเขา

ปัญญา และ กรุณา เป็นธรรมที่ช่วยให้เราสามารถเป็นสุขอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรของโลก ขณะเดียวกันก็มีพลังที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้แก่โลก

ในยามที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายต่างๆ มากมายโดยเฉพาะความไม่สงบที่ภาคใต้  วันวิสาขบูชาควรเป็นวันที่กระตุ้นเตือนให้เราตระหนักถึงอานุภาพของพุทธคุณอันได้แก่ปัญญาและกรุณา  และเกิดความมั่นใจที่จะนำพุทธคุณดังกล่าวมาเป็นเครื่องชี้นำกำกับชีวิตให้เกิดความสงบร่มเย็น  ขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางในการร่วมกันนำพาสังคมไทยให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน

ปัญญาและกรุณา สามารถเปลี่ยนปุถุชนให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ฉันใด  เราชาวพุทธก็ควรเชื่อว่า พุทธคุณทั้งสองย่อมสามารถเปลี่ยนแผ่นดินที่รุ่มร้อนให้เป็นดินแดนแห่งความสงบสันติได้ ฉันนั้น


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา