ลูกตุ้มชีวิตกับการเดินทาง

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 11 มิถุนายน 2005

ประทีป (นามสมมุติ) บอกกับตนเองว่า เขาควรใช้ชีวิตและเวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ มีคุณค่ากับตนเอง กับเพื่อนหรือกับคนรอบข้างก็ได้  พร้อมกับคำมั่นสัญญาในใจว่า เขาไม่ควรหมกมุ่นกับภาพลามกอนาจารทางอินเตอร์เนท ไม่ควรดื่มสุรา ของมึนเมาเวลาที่เขาอยู่คนเดียวและรู้สึกว้าเหว่  เขามักรู้สึกผิด เสียใจและรู้สึกไม่ดีกับตนเองเสมอ เวลาที่เขาผิดคำมั่นสัญญากับตนเอง  เขาเฝ้าบอกตนเองหลายสิบและอาจหลายร้อยครั้งว่า เขาไม่ควรทำสิ่งนั้น เขาไม่ควรทำสิ่งนี้  เท่าๆ กับที่เขาเฝ้าบอกตนเองเช่นกันว่า เขาควรทำสิ่งนั้น เขาควรทำสิ่งนี้  ทุกครั้งที่ความเหงา ผิดหวัง เสียใจ ว้าเหว่ เข้ามา เขาก็มักเผลอไผล ปล่อยใจ ปล่อยสติเพื่อไปอยู่กับกิจกรรมที่ทำให้เขารู้สึกดีเพียงชั่วขณะ เพื่อที่จะกลับมารู้สึกเสียใจในภายหลัง

เรื่องราวชีวิตของประทีปคงทั้งเคยและกำลังเกิดขึ้นกับหลายๆ คน อาจคล้ายคลึง แตกต่างกันไปตามแต่กรณี  เท่าๆ กับที่บางคนอาจรู้สึกเดือดร้อน หรือไม่ทุกข์ร้อนแต่อย่างใดก็ได้  แต่สำหรับประทีป เรื่องนี้กัดกินใจแต่เขาก็ไม่สามารถหลุดจากวงจรนี้ได้  หากว่าประทีปมาบอกเล่าเรื่องราวความทุกข์นี้ให้พวกเราฟังเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือเพื่อระบายความคับข้องก็ตาม ผู้อ่านในฐานะเพื่อนจะมีท่าทีการตอบสนองต่อเขาอย่างไรดี  ประทีปอาจจะพบคำแนะนำ ปลอบประโลมตั้งแต่ “อย่าคิดมาก มันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ผิดปกติอะไร” “นั่งสมาธิสิ ฝีกจิตใจให้เข้มแข็ง” จนถึง “ออกไปข้างนอก พบปะเพื่อนฝูงหรือคนอื่นบ้าง”

โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เรามักเล่น “เกมลุกตุ้มนาฬิกา” กับตนเองแบบนี้เสมอ  เรามักทำตัวเองให้ถูกแกว่งไปมาระหว่าง “การวิ่งหาความสุข กับการวิ่งหนีความทุกข์” รวมถึงระหว่าง “สิ่งที่เป็น สิ่งที่มี สิ่งที่ใช่” กับ “สิ่งที่ควรเป็น สิ่งที่ควรมี สิ่งที่ควรใช่”  ยุทธศาสตร์สำคัญของพวกเราในการเล่นเกมชีวิตนี้ ซึ่งเรามักใช้จนกลายเป็นความเคยชินติดตัว ก็คือ บุคลิกภาพ อุปนิสัยความเคยชิน  โจทย์สำคัญคือ เกมชีวิตเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายทั้งหมด  การเล่นเกมชีวิตนี้ได้สร้างบุคลิกภาพ อุปนิสัยใจคอที่เราคุ้นเคย ช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัย มั่นคง และเป็นเสมือนเพื่อนสนิทที่คอยดูแลเราในเยาว์วัยมาก่อน  แต่ปัญหาสำคัญคือ หากเราไม่รู้ตัวว่า นี่คือเกมชีวิตที่เราเล่นโดยไม่รู้ตัว ด้วยเปลือกบุคลิกภาพ ความเคยชินประจำตัว  หากเราไม่สามารถเท่าทันหรือหลุดออกจากมันได้ เราจะกลายเป็นเหยื่อที่ถูกจับขังอยู่ในความเคยชินเก่าๆ ภายในตนเอง

การรู้จักเกมชีวิตเช่นนี้ ไม่ได้หมายความให้เราเลิกเล่น เพราะนัยหนึ่งของเกมชีวิต “ลูกตุ้มนาฬิกา” นี้คือ เส้นทางชีวิตที่เราต้องเดินทาง เรียนรู้  นัยความหมายตรงนี้คือ ชีวิตจึงเหมือนการเล่นการพนันที่เราต้องเล่น เพื่อให้ชีวิตต้องดำรงอยู่ ต้องสัมพันธ์กับผู้คน  เราต้องยอมจ่ายเบี้ยชีวิตของเราด้วยเวลา แรงงาน พลังงาน อารมณ์ ความรู้สึก ฯลฯ เพื่อพบว่าเราอาจจะได้กำไร หรือขาดทุนในรูปของความสุข ความทุกข์  และสิ่งสำคัญคือ บทเรียนชีวิต ซึ่งไม่ขึ้นกับว่าเราเล่นแพ้หรือชนะ  แต่มันขึ้นกับว่าเราอ่าน หรือเก็บเกี่ยวบทเรียนชีวิตจากชีวิตของเราเองหรือของคนอื่นก็ตามได้หรือไม่ และได้ดีเพียงใด

ตราบที่เราเป็นปุถุชน ชีวิตคงไม่อาจข้ามพ้นความขัดแย้งโดยง่าย โดยเฉพาะความขัดแย้งในสิ่งที่เป็นของคู่ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ดำ-ขาว ชอบ-เกลียด ฯลฯ  ด้านหนึ่งของค่านิยมที่เป็นของคู่นี้ช่วยให้เรามีหลักเกณฑ์ ตัดสินชี้วัดระบบคุณค่าต่างๆ แต่อีกด้านหนึ่งค่านิยมที่เป็นของคู่นี้ก็จับมัดเราให้อยู่ในวังวน ไม่สามารถข้ามพ้นความขัดแย้งนี้ได้  และที่สำคัญคือ มันปิดโอกาสไม่ให้เราเรียนรู้อีกบทเรียนหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องการยอมรับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเรา

วังวนของความขัดแย้งในความเป็นของคู่เกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิเสธ ไม่ยอมรับกับความเป็นไปในปัจจุบันของเรา “ฉันคงมีความสุขมากกว่า ถ้าฉันได้งานใหม่” “ชีวิตของผมคงสมบูรณ์พร้อม ถ้าเธอยอมแต่งงานกับผม” หรือท่าทีต่อตนเองในทำนองยึดถือการทำความดี เช่น “ฉันควรทำตัวให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้”  ทั้งหมดสื่อความถึงเรากำลังปฏิเสธอะไรบางอย่างในตัวเรา เรากำลังดิ้นรนเพื่อหนีอะไรบางอย่าง  ตรงนี้ ผลตอบรับก็คือ ความทุกข์ ความเจ็บปวด  เกมลูกตุ้มนาฬิกาที่ผลักไสเราไปมาจากความทุกข์ ความเจ็บปวดแบบหนึ่ง ไปสู่ความทุกข์และเจ็บปวดอีกแบบหนึ่งจะทำอะไรเราไม่ได้ หากเราเรียนรู้ที่จะข้ามพ้นสิ่งที่เป็นของคู่ และยอมรับกับความเป็นจริงที่เราเป็นอยู่

สิ่งสำคัญของชีวิตไม่ใช่ผลแพ้ชนะ แต่อยู่ที่ว่า เราเก็บเกี่ยวบทเรียนจากชีวิตของเราเองและคนอื่นได้หรือไม่ อย่างไร

กระนั้น พึงระลึกด้วยว่า เราไม่จำต้องยอมจำนนกับสิ่งที่เป็นไป สิ่งที่เป็นอยู่เสมอไป  ความทุกข์ ความเจ็บปวดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ผลักไสให้เราแสวงหาความสุขที่แท้จริง แม้จะต้องลองผิดลองถูกหรือตามความคิดความเชื่อของตนเอง  เราสามารถกำหนดทางเลือกได้ว่าเราเลือกที่จะยอมรับความเป็นจริง และเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่  หรือเลือกที่จะปรับเปลี่ยนตนเองหรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพปัจจัยภายนอกที่สอดคล้องกับความพอใจ ความปรารถนาของเราเอง

คำถามที่พึงทบทวนประการต่อมา  ความสุขที่เราแสวงหานั้น เป็นความสงบเย็นที่เราสามารถพึ่งพิงตนเองจากภายในจิตใจ หรือ เป็นความสุขแบบเร่าร้อนที่ต้องอาศัย พึ่งพิงวัตถุภายนอกเพื่อปรนเปรอให้เรามีความสุข  โจทย์สำคัญของประทีปที่ต้องตอบคำถามตนเอง คือ การเลือกมีความสุขชั่วครั้งคราวนี้เป็นความสุขประเภทใด  ให้คุณ ให้โทษกับชีวิตตนเองอย่างไร  และเราสามารถมีอุบายวิธีให้ตัวเองออกจากคุณ หรือโทษจากทางเลือกความสุขนั้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้ตนเองต้องเป็นเหยื่อถูกจับขัง

เกม “ลูกตุ้มนาฬิกา” ยังคงแกว่งไกวไปมาในชีวิตเรา  คงเป็นการดีและชีวิตคงรื่นรมย์ หากเราพบว่าเบื้องหลังความรู้สึกทุกข์ เจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจ ผิดหวัง เบื่อ เหงา  เรากำลังปฏิเสธอะไรบางอย่าง  เรามีความต้องการในอะไรบางอย่างที่เราอาจไม่รู้ตัว  หากเราพบสิ่งซ่อนเร้นเบื้องหลังที่มีอยู่ เราก็จะสามารถจัดการกับสาเหตุแท้จริงนั้นได้  ท้ายที่สุดโจทย์ปัญหาที่ประทีปต้องพิจารณา คือ จะเลือกหรือไม่เลือกเล่นเกม “ลูกตุ้มนาฬิกา”  มีทางออกอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร  ทั้งหมดที่พึงระลึก คือ ทุกทางเลือกมีประโยชน์ที่พึงได้ และต้นทุนที่ต้องจ่ายเสมอ


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน