วันเด็กแห่งชาติกับการล่ารางวัลและความสุข

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 20 มกราคม 2013

วันเด็กแห่งชาติเป็นวันสำคัญของชาติและสำคัญสำหรับเด็ก ในฐานะเป็นวันสังคมงานเฉลิมฉลองเพื่อเด็กและเยาวชน เด็กๆ เองก็คาดหวังจะได้รับความสุข  ในวันเด็กที่ผ่านมา เด็กหลายๆ คนคงมีความสุขจากกิจกรรมอันหลากหลายที่ผู้ใหญ่จัดให้รวมถึงสื่อสารเรื่องราวบางอย่างให้เด็กได้เรียนรู้

ผมคิดว่าในฐานะผู้ใหญ่ทั้งผู้จัดกิจกรรมวันเด็กและผู้ปกครองผู้พาบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมต่างก็กำลังสอนเด็กๆ เรื่องความสุขโดยไม่รู้ตัว ทั้งความหมายของความสุข และวิธีการเข้าถึงความสุข

ผมขอเชิญชวนให้พวกเราในฐานะ “ครูผู้สอนเด็กเรื่องความสุข” ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรมและผู้ปกครอง ถอดรหัสตัวเองด้วยการย้อนทบทวนวิธีคิดเกี่ยวกับความสุขของเรา และวิธีการสื่อสารเรื่องความสุขให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ผ่านการจัดงานวันเด็กในสถานที่ราชการแห่งหนึ่งที่ผมได้ร่วมสังเกตในวันเด็กสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความสุขคือการครอบครองรางวัลสิ่งของ 

กิจกรรมในสถานที่ราชการแห่งหนึ่งถูกออกแบบให้เป็น “โรงงานแจกของขวัญ” ห้องโถงในอาคารแห่งหนึ่งถูกออกแบบให้เป็นลานจับสลากขนาดใหญ่  บนเวทีมีพริตตี้ถือหีบใสใส่สลากยืนท่ามกลางของรางวัลกองพะเนิน  บริเวณรอบข้างออกแบบให้เป็นเวทีย่อยตอบคำถามชิงดวงแสตมป์ เด็กๆ จะต้องตอบคำถามปรนัยเพื่อแลกกับดวงแสตมป์แลกรับของขวัญ ยิ่งตอบคำถามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้แสตมป์มากขึ้น ได้ของขวัญจำนวนมากขึ้น ใหญ่ขึ้น แพงขึ้น มันดูมีความหมายทั้งต่อตัวเด็กและตัวผู้ปกครอง  เด็กคนหนึ่งแม้ได้แสตมป์จำนวนมากแล้ว แต่รู้สึกทรมานกับการต่อคิวที่ยาวนานและเบียดเสียด เด็กน้อยชวนแม่กลับบ้าน แต่แม่บอกกับลูกว่า “ไม่ได้นะลูก เราต้องเอารางวัลก่อนนะลูก”

ความสุขต้องแก่งแย่งแข่งขัน

ของรางวัลอันเป็นที่มาของความสุขมีจำกัด ผู้จัดงานจึงต้องจัดการของรางวัลให้กระจายไปยังเด็กให้ทั่วถึง  น่าสนใจที่วิธีออกแบบวิธีหนึ่งคือใช้ความสามารถในการแข่งขัน เช่น การตอบคำถามปรนัยให้ได้คำตอบถูกมากที่สุด เมื่อได้ครบแล้วก็ต้องไปต่อคิวที่เบียดเสียดยาวนานเพื่อแลกแสตมป์รับรางวัล  รางวัลดีๆ จะหมดไปในเวลาไม่นาน พ่อแม่ที่ช่ำชองเวทีจึงต้องปลุกลูกแต่เช้าให้รีบมาต่อคิวเป็นคนแรกๆ เพื่อที่จะเล่นเกมและรับรางวัลที่ดีและแพงในตอนเช้า  เรียกได้ว่าหากไม่มีความมุ่งมั่นเพียงพอก็จะต้องพ่ายแพ้ในเกมแห่งความสุขนี้ไป

ความสุขอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการโกง!

วิธีการได้รับของขวัญอีกแบบหนึ่งคือการโกง เช่น ลัดคิว ปั๊มแสตมป์เองหากเจ้าหน้าที่เผลอ ขอของรางวัลเอาดื้อๆ หรือหยิบรางวัลไปเฉยๆ  ในกรณีนี้ผู้ปกครองมักลงมือเอง สาเหตุหนึ่งอาจเพราะสงสารลูก ไม่อยากให้ลูกทรมานอยู่ในแถวที่เบียดเสียดยาวนาน  อีกประการหนึ่งอาจเป็นความหละหลวมในการออกแบบสถานที่เก็บของรางวัล  ผู้ปกครองต้องระมัดระวังที่จะแสดงพฤติกรรมดังกล่าว  วิธีการหนึ่งในการขัดเกลาให้ลูกหลาน “โตไปไม่โกง” ก็คือพ่อแม่ต้องไม่โกงเสียเอง

ความสุขขึ้นกับโชคและดวง

อีกวิธีในการออกแบบการกระจายของรางวัลคือการจับสลาก  ด้วยวิธีนี้เด็กๆ ไม่ต้องทำอะไรนอกจากเขียนชื่อ เบอร์โทรศัพท์ใส่หีบใส นั่งรอลุ้นให้พริตตี้อ่านสลากที่มีชื่อของตน  วิธีนี้สร้างความชอบธรรมในการได้รับรางวัลและง่ายต่อการจัดการของรางวัล แต่วิธีการแจกของรางวัลด้วยจับสลากก็ได้สอนให้เด็กรู้ว่าความสุขอาจไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความพยายาม ความดีงาม แต่ขึ้นอยู่กับโชคและดวง  ผมคิดว่าผู้จัดงานกำลังสอนเด็กให้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าโชค ดวง และหวยอย่างไม่รู้ตัว

ความสุขเกิดจากการเป็นผู้รับมากกว่าเป็นผู้ให้ 

กิจกรรมแห่งนี้ออกแบบให้เด็กเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้  ไม่ว่าการได้รับรางวัลนั้นจะได้มาด้วยความรู้ ความสามารถ ความเพียร หรือโชคดวงก็ตาม  ใครบางคนที่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทร้านค้า เจ้าหน้าที่องค์กร หรือลูกนักการเมืองมาแสดงบทบาทเป็นผู้ให้หรือผู้ใหญ่ใจดี  น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยเห็นภาพที่เด็กจะเป็นผู้ให้ในบทบาทที่จะให้ได้ เช่น เอาของเล่นที่เราไม่ได้เล่นแล้วแบ่งปันให้เด็กคนอื่นๆ  ส่วนเด็กที่จะใช้ความสามารถพิเศษแสดงให้คนอื่นได้ดูก็มีสัดส่วนน้อย

ความสุขต้องรอวันสำคัญ 

วันเด็กแห่งชาติมีวันเดียวในรอบปี ส่วนวันอื่นๆ ของเด็กปัจจุบันอาจมีความสุขได้ยาก เพราะถูกกดดันคาดหวังจากครอบครัวหรือโรงเรียนว่าจะต้องเป็นคนเก่ง ฉลาด ประสบความสำเร็จทางวิชาการ  ความกดดันคาดหวังต่อเด็กที่มากเกินไปอาจทำให้ผู้ใหญ่ละเลยความสุขง่ายๆ ของเด็ก เช่น ได้เล่นกับเพื่อน ได้พักผ่อน ได้อยู่กับครอบครัว ได้สำรวจค้นหาสิ่งที่ตนชื่นชอบ เป็นต้น  น่าเสียดายหากวันแห่งความสุขของเด็กต้องรอปีหน้า ทั้งๆ ที่ครอบครัวหรือโรงเรียนช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะมีความสุขได้เลยในทุกๆ วัน

ทบทวนวิธีคิดเกี่ยวกับความสุขของเรา และวิธีสื่อสารเรื่องความสุขให้เด็กๆ ได้เรียนรู้

เหล่านี้เป็นภาพในมุมหนึ่งของวันเด็กแห่งชาติที่กลายเป็นลักษณะทั่วไป  เรากำลังขัดเกลาบุตรหลานให้ยอมรับซึมซับวิถีบริโภคนิยมเช่นนี้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งขัดแย้งอย่างยิ่งกับสิ่งที่สังคมนี้ปรารถนา  เราคงอยากเห็นบุตรหลานของตนเป็นอิสระจากการพึ่งพิงวัตถุสิ่งของ  เราคงอยากเห็นภาพการแบ่งปันของเด็กๆ ภาพที่พวกเขาใฝ่เรียนรู้ ใฝ่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขได้เอง

หากเรากำลังปรารถนาเช่นนี้ องค์กรจัดกิจกรรมและพ่อแม่ก็คงต้องเท่าทันวิธีคิดเกี่ยวกับความสุขของตนเองและละเอียดอ่อนในการออกแบบกิจกรรมวันเด็กในปีต่อไป รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างความสุขของเด็กในวันธรรมดาวันอื่นๆ ด้วย

หากทำได้ดังนี้ วัฒนธรรมล่ารางวัลและล่าความสุขทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ก็คงจะบรรเทาลง


ภาพประกอบ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher