วิกฤติ…ดอกไม้บาน

มะลิ ณ อุษา 23 ตุลาคม 2016

บนผืนแผ่นดินไทย หรือทั่วทุกมุมโลกที่มีคนไทยอยู่โมงยามนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางทิศใด ก็จะได้ยินได้ฟัง รวมทั้งได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ของพระองค์ พระราชกรณียกิจนานัปการ เรื่องราวส่วนพระองค์ รวมถึงเรื่องราวของพสกนิกรที่ร่วมถวายความอาลัยแด่พระองค์ท่านในรูปแบบต่างๆ

จากการเผยแพร่ของสื่อในหลากหลายช่องทาง ทำให้เห็นประจักษ์ชัดว่า ความเศร้าโศกได้เกาะกุมหัวใจของคนไทยและชาวต่างชาติ ที่ซาบซึ้งในความดีงามของพระองค์ท่านอย่างไม่อาจประมาณได้ ในจำนวนผู้คนที่มากมายมหาศาลนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีวิธีการแสดงออกซึ่งความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

ในความแตกต่าง…มีความงดงาม เสมือนดอกไม้ต่างชนิดต่างสีสันที่เบ่งบานแต่งแต้มทั่วผืนแผ่นดิน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเหลือเกินที่ดอกไม้บางชนิด แย้มบานออกมาพร้อมกับหนามแหลม ซึ่งไม่เพียงจะทิ่มตำผู้อื่นให้ได้รับบาดเจ็บแล้ว หนามแหลมนั้นยังได้กลับมาทำร้ายตัวเองอีกด้วย

ในสภาวะที่สมรรถนะทางการตระหนักรู้ของเรา มีแนวโน้มที่จะหย่อนประสิทธิภาพ อันมีที่มาจากหลายสาเหตุ ทำให้เราหวั่นไหวต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ง่าย และพร้อมที่จะกระโจนเข้าไปฟาดฟันใครหรืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น เหมือนอย่างที่เราได้รับรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์แทบทุกเมื่อเชื่อวันนั่นเอง

ไม่เพียงทิ่มตำผู้อื่นให้บาดเจ็บ แต่ยังหวนกลับมาทำร้ายตัวเอง

อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงสัปดาห์แรกแห่งการสูญเสีย เป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลโดยแท้

วันแรกที่ได้รู้ข่าว (วันที่ 13 ตุลาคม) จริงๆ แล้วต้องนับความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงที่มีข่าวลือทั้งวงนอกวงในนั้นแล้ว กระทั่งมีประกาศอย่างเป็นทางการในค่ำวันนั้น เข้าใจว่าผู้อ่านคงจะนึกภาพสภาวะของตัวเองและผู้คนรอบข้างในห้วงยามนั้นได้อย่างชัดเจน

เป็นความนิ่งงัน…มึนชา ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นความเคว้งคว้าง อย่างที่เรียกว่า ใจหายวาบ  หลังจากนั้นเราจะเริ่มค่อยๆ รับรู้ความจริงที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังพยายามต่อรองกับปาฏิหาริย์อึงคะนึงในจิตใจ จนกระทั่งจำนนต่อสถานการณ์ เมื่อขบวนพระบรมศพเคลื่อนออกจากโรงพยาบาลศิริราช ความเจ็บปวดค่อยๆ ทวีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเวลาที่ยาชาค่อยๆ หมดฤทธิ์

เมื่อความจริงมาปรากฏตรงหน้าโดยไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป ความทุกข์ที่อัดแน่นอยู่ภายในอก จึงต้องการพื้นที่ในการระบายออกเพื่อให้ทุกข์นั้นบรรเทาเบาบางลงเสียบ้าง

ด้วยวิธีการใดบ้าง…?

ขอสารภาพว่า ผู้เขียนไม่อาจจาระไนได้หมดสิ้น เพราะเท่าที่รับรู้มาก็มีมากมายเหลือคณานับ แต่ก็มีบางส่วนในจำนวนอันมากมาย ที่กระทบใจผู้เขียน

ในสถานการณ์ที่เปราะบางทางความรู้สึก เริ่มมีกระแสการให้ค่าความถูกต้องเหมาะสม ในนามของความรัก ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด ตราบใดที่เราไม่ได้นำกรอบความถูกต้องเหมาะสมของเราไปตัดสินหรือตีค่าผู้อื่น ใช้เป็นเครื่องมือในการตำหนิติเตียนหรือกระทั่งลงมือทำร้ายผู้อื่น เพราะการตัดสินผู้อื่นนี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว แม้จะกระทำในใจไม่มีใครรับรู้ ก็ถือได้ว่าเป็นความรุนแรง

กว่าที่จะมาเป็นคนคนหนึ่งได้นั้น ต้องผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย เราไม่อาจเข้าใจปัจเจกบุคคลได้อย่างลึกซึ้งถ่องแท้ฉันใด เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสินตีความคุณค่าในชีวิตของเขาได้ฉันนั้น

บ่ายวันที่ 14 ตุลาคม คุณยายคนหนึ่งยืนถือถุงพลาสติกสีฟ้าหม่นใบใหญ่อยู่ที่ป้ายรอรถประจำทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คุณยายใส่เสื้อลายดอกสีเหลืองส้ม กางเกงสีฟ้า ขณะนั้นมีผู้ปรารถนาดีเดินเข้าไปถามทำนองว่า ยายอยากได้เสื้อสีดำไหม จะจัดหาให้

แทนที่จะดีใจ คุณยายกลับปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่คาดไม่ถึง แต่เมื่อฟังแล้วก็ต้องยอมรับและเคารพในการความคิดของคุณยาย

‘เสื้อดำยายก็มี แต่ยังไม่อยากใส่ จะใส่ก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น สำหรับยายแล้ว ทุกวันนี้ในหลวงท่านยังอยู่ ยังไม่ไปไหน’

ตัดกลับมาภาพที่เราเห็น คือ หญิงสูงอายุคนหนึ่ง เนื้อตัวไม่ค่อยสะอาดสะอ้านนัก ใส่เสื้อแขนสั้นลายดอกสีส้มๆ เหลืองๆ กับกางเกงสีฟ้ายืนแบกถุงพลาสติกใบใหญ่ที่ป้ายรอรถประจำทาง

แต่นอกเหนือจากนั้น คือ สิ่งที่เราคิดและตัดสินด้วยการปรุงแต่งและตีความของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นความเห็นอกเห็นใจหรือการตำหนิติเตียนก็ตาม

จนกว่า เราจะเป็นอิสระจากความคิดปรุงแต่งนั่นแหละ เราจึงจะมองเห็นความจริงอย่างที่เป็น และเข้าใจได้ว่าจริงๆ แล้ว ความจริงมีหลายชุด ขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ของบุคคลนั้นๆ กับบริบทแวดล้อม (ไม่นับรวมความจริงแท้หรือสัจธรรม)

และด้วยความจริงจากการปรุงแต่งนี่เอง ที่เป็นชนวนให้ดอกไม้งามมีหนามแหลมงอกออกมา อาศัยกระแสลมพัดปัดป่ายไปโดนดอกไม้ดอกอื่น

จนกว่าเราจะเป็นอิสระจากความคิดปรุงแต่ง เราจึงจะมองเห็นความจริงอย่างที่เป็น

ตลอดเจ็ดวันที่ผ่านมา ผู้เขียนยอมรับว่าต้องเตือนตัวเองให้กลับมา “ตั้งสติ” หลายต่อหลายครั้ง บางครั้งการเสพสื่อทำให้เราฮึกเหิม บางครั้งก็ห่อเหี่ยว หัวเราะและร้องไห้ วนไปวนมา จนเริ่มไม่มั่นใจในสมรรถนะของความมั่นคงภายในของตัวเอง จึงได้หลีกเร้นจากผู้คนและสื่อต่างๆ ไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับสัญญาณความมั่นคงภายในของผู้คนในสังคมเพิ่มขึ้น คล้ายๆ กับว่า เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น หลังจากล้มลุกคลุกฝุ่น(ตลบ)มาสักพัก กระแสความช่วยเหลือเกื้อกูล ความเห็นอกเห็นใจ เริ่มเข้ามาแทนที่การตำหนิติเตียนบ่อยครั้งขึ้น

ผู้เขียนได้เห็นข่าวน้องๆ นักศึกษาอาชีวะปฏิญาณตนว่าจะเลิกยกพวกตีกัน ได้เห็นกลุ่มคนเล็กๆ รวมตัวกันทำริบบิ้นสีดำ เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้คน ได้ยินข่าวคุณหมอที่เปิดรักษาคนไข้โดยไม่คิดเงิน ฯลฯ  ข่าวคราวของผู้คนเรื่องแล้วเรื่องเล่า ที่นำมาซึ่งความชื่นชมตื้นตันใจ

ในเวลานี้ ผู้เขียนจึงอยากจะเชื่อและหวังว่า เราจะสามารถประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดี และด้วยสติ

ผู้อ่านลองจินตนาการภาพผืนดินอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่เต็มไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์เบ่งบานรับแดดรับฝนดูสิ ลองนึกต่อไปอีกนิดว่า ถ้าคนบนฟ้ามองลงมาเห็นความงดงามบนผืนแผ่นดินที่พระองค์ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเอาไว้ พระองค์ท่านจะรู้สึกอย่างไร

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน