วิถีที่ไม่เบียดเบียน

พระวิชิต ธมฺมชิโต 15 มิถุนายน 2014

นี่แน่ะ โต๊ะแกล้งหนูเหรอ ยายตีให้แล้วนะ โต๊ะมาทำให้หนูเจ็บ อย่าร้องนะ มาช่วยกันตีโต๊ะเร็ว

หลายคนคงเคยอมยิ้มกับความน่ารัก ความผูกพันระหว่างยายกับหลาน ที่ยายคอยเฝ้าปกป้องดูแลหาทางล่อหลอกไม่ให้หลานร้องไห้เสียน้ำตา

แม้นี่จะเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความยากลำบากอีกมาก กว่าจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีในสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการสอนเจ้าตัวน้อยด้วยวิธีการแบบนี้เอง เป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่เรากำลังบ่มเพาะถ่ายทอดวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรงไปยังคนรุ่นต่อไป และไปยังสังคมที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในอนาคตด้วย

พุทธศาสนามีหลักการและท่าทีที่ชัดเจนมากในการไม่เบียดเบียน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น ซึ่งท่านไม่ได้หมายเอาเฉพาะความรุนแรงที่กระทำต่อมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงต่อสิ่งมีชีวิตอื่นและสิ่งแวดล้อมด้วย

ในพุทธศาสนาไม่มีคำสอนหรือเรื่องราวชวนให้เรามุ่งมั่นในการแก้แค้นหรือใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาอยู่เลย คติที่ว่าแค้นนี้ต้องชำระ ตาต่อตาฟันต่อฟัน หรือฆ่าคนเลวไม่บาป เหล่านี้ไม่ใช่คำสอนของพุทธศาสนา

การลงโทษคนชั่วคนเลวนั้นเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ และเรื่องของสังคมที่จะสร้างระเบียบกำหนดกติกาขึ้นมาใช้ร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของแต่ละคนที่จะไปลงมือหาทางโต้ตอบกันเองด้วยความรุนแรง

หลักคิดนี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในพุทธภาษิตที่เรายกขึ้นมาอ้างกันเสมอว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เท่านั้น แต่ทั้งหมดของพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นหลักการหรือวิธีปฏิบัติ หรือจะมองในแง่เป็นส่วนของพระธรรมหรือพระวินัย ทั้งหมดล้วนยืนยันถึงหลักไม่เบียดเบียนและไม่ใช้ความรุนแรงทั้งสิ้น

เริ่มตั้งแต่การให้รักษาศีลอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อการไม่เบียดเบียดผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเบียดเบียนชีวิต เบียดเบียนสิ่งของ คู่ครอง หรือเบียดเบียนต่อความจริงที่ผู้อื่นควรได้รับรู้

ในขั้นสมาธิท่านก็แนะนำให้ฝึกจิตใจให้สงบเย็น เจริญเมตตาภาวนาส่งความปรารถนาดีให้แก่สรรพชีวิตที่มองว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมด

ส่วนขั้นปัญญาก็ต้องพัฒนาไปจนมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้องชัดเจนในใจตนเองว่าความรุนแรงหรือการเบียดเบียนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จนตรึกคิดไปในทางที่จะไม่เบียดเบียนใครเป็นพื้นฐานของจิตใจอยู่เสมอ (อวิหิงสาสังกัปโป อวิหิงสาวิตก) ไม่ใช่เพียงเพราะถูกห้ามไว้ด้วยศีลหรือกฎหมายเท่านั้น

การไม่ใช้ความรุนแรงไม่เบียดเบียนใคร จึงใช้เป็นมาตรวัดความเข้าใจในหลักธรรมและความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธเราได้ดีมากอย่างหนึ่ง

ถ้าใครที่ปฏิบัติธรรมแล้วยังคงดำเนินชีวิตด้วยการเบียดเบียน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือชอบใช้วิธีการที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความหยาบคาย ชอบยั่วยุให้เกิดความโกรธเกลียดกัน นั่นคงต้องมาทบทวนแนวทางการปฏิบัติของตนเองใหม่แล้วว่ามีความผิดพลาดบกพร่องอยู่ที่จุดใดบ้าง

การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ยิ่งมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ก็จะยิ่งมีจิตใจที่ละเอียดอ่อนในการสัมผัสถึงความทุกข์ความเดือดร้อนของผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น แม้จะในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

ความเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้นอาจพบว่า ความชื่นชอบในกีฬาหรืออาชีพที่มีการฆ่าหรือทารุณสัตว์ เช่น การล่าสัตว์ป่า ชนวัวกระทิง ไปกระทั่งถึง ชกมวย ตีไก่ ยิงนก ตกปลา ฯลฯ ที่เคยมีก็จะเริ่มลดลง สัมผัสได้ถึงความโหดร้ายทารุณ และรู้สึกสงสารมากกว่าจะตื่นเต้นสนุกสนานไปกับเกมกีฬาเหล่านั้น

จากที่เคยรู้สึกเฉยๆ ในการฆ่าไก่ ทุบหัวปลา ก็จะเริ่มทำไม่ได้ ไปจนกระทั่งแม้เห็นสัตว์มีพิษ งู ตะขาบ แมงป่อง ถ้าเลี่ยงได้ก็จะพยายามไล่ หรือหลีกออกห่าง มากกว่าที่จะไปไล่ล่าฆ่าทิ้ง ทั้งๆ ที่เขาแทบไม่มีโอกาสเข้ามาทำร้ายรบกวนเราเลย ต่อไปแม้แต่มด ยุง ก็ไม่อยากไปทำลายทำร้ายชีวิตเขา

ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนขึ้นนี้จะทำให้รับรู้ถึงความทุกข์ของคนที่สูญเสียสิ่งของ จึงไม่แม้แต่จะคิดขโมยของใคร หรือนำของส่วนกลางไปเป็นของส่วนตัว ส่วนของที่ใช้ร่วมกันเป็นสาธารณะก็จะใช้อย่างทะนุถนอมและประหยัด เพราะไม่อยากให้ผู้รับผิดชอบดูแลต้องลำบากหรือสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก

พฤติกรรมที่ส่อถึงความเห็นแก่ตัวต่างๆ รวมทั้งกิริยาที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่นสิ่งอื่นก็จะค่อยๆ ลดลงไป เพราะสัมผัสได้ถึงความทุกข์ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่น ไม่ว่าการทิ้งขยะไม่เลือกที่ การแซงคิว จอดรถขวางทาง ขับปาดหน้า ก่นด่าลูกน้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ฯลฯ

นอกจากนี้ชาวพุทธเราต้องชัดเจนในหลักการที่ว่า สิ่งที่เราควรเกลียดควรขจัดทำลายทิ้งไปนั้นคือกิเลส ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาและความทุกข์ทั้งหลาย ไม่ว่าทุจริตคอรัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ กระทำรุนแรงต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือแม้แต่จิตใจผู้อื่น ไม่ใช่ยุยงให้ไปเกลียดไปทำร้ายทำลายคนที่ถูกกิเลสเหล่านั้นครอบงำจิตใจ

ชาวพุทธควรมีความกรุณาเข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้พ้นจากกิเลสความทุกข์ใจ เช่นเดียวกับที่แพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยการขจัดเชื้อโรคหรือความผิดปกติให้หมดไป มิใช่ไปฆ่าผู้ป่วยเพื่อให้โรคหมดไป

พุทธศาสนามีหลักการและท่าทีที่ชัดเจนมากในการไม่เบียดเบียน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นและสิ่งแวดล้อมด้วย

การร่วมกันขจัดกิเลสความชั่วร้ายให้หมดสิ้นไปจากสังคมเป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญ เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทั้งหลายที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำเพื่อรักษาธรรมและจรรโลงสังคมที่ดีงามเอาไว้  แต่กระบวนการขจัดความชั่วร้ายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นไปบนพื้นฐานของความถูกต้องและสอดคล้องกับหลักธรรมด้วย

การลงมือขจัดความชั่วร้าย ด้วยวิธีคิดวิธีการที่ชั่วร้ายหยาบคายไม่แพ้กัน ย่อมแสดงถึงความพ่ายแพ้ตั้งแต่ต้น เพราะเป็นการน้อมรับเอาต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายที่ต้องการทำลายนั้นเข้ามาไว้ในตนตั้งแต่แรก โอกาสที่คุณธรรมความดีจะกลับมาสู่สังคมจึงเกิดขึ้นไม่ได้เลยด้วยวิธีการเหล่านี้

แม้การกำจัดความเลวร้ายในสังคมด้วยครรลองแห่งธรรมนั้นจะต้องใช้เวลายาวนานมาก แต่นั่นเป็นเพราะเราเองที่ละเลยปล่อยให้กิเลสบ่มเพาะงอกงามอยู่ในจิตใจและสังคมมานาน จนความเลวร้ายปรากฏให้เห็นอย่างออกหน้าออกตาแล้วจึงค่อยออกมาวิ่งหาทางแก้ไข

ตราบใดที่เรายังไม่เห็นว่าการที่ยายตีโต๊ะเพื่อปลอบหลานเป็นหนึ่งในวิถีบ่มเพาะกิเลสและความรุนแรง เมื่อใดที่เรายังเห็นว่าการเปิดน้ำให้ล้นทิ้ง หรือดึงกระดาษชำระในห้องน้ำสาธารณะใช้อย่างไม่บันยะบันยังนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย  ตัวเราเองนั่นแหละที่ควรเป็นจุดแรกที่จะต้องแก้ไขแล้วจึงค่อยๆ ขยายออกสู่สังคมโดยรวม

หากเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคนก่อน พร้อมๆ กันนั้นก็จัดกติกาสังคมให้เหมาะสม สังคมที่น่าอยู่มีคุณธรรมปราศจากความรุนแรงก็อยู่แค่เอื้อมนี่เอง


ภาพประกอบ