ว่าด้วย..สุขทุกข์ (๒)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 27 มิถุนายน 2010

“คุณไม่เข้าใจฉันเลย  VS  ฉันรู้สึกชื่นชมกับน้ำใจของคุณมาก ขอบคุณนะ

หัวหน้างานมักหาเรื่องแกล้งฉันเสมอ  VS  ฉันซี้กับหัวหน้างาน สบายจริงๆ

แกพูดกับฉันแบบนี้ได้ยังไง ฉันเป็นแม่ (พ่อ) แกนะ  VS  ฉันรักพ่อ (แม่)”

ความสุข ความทุกข์เป็นประสบการณ์ที่ล้อมรอบตัว  ความ ‘สุข’ เป็นสิ่งที่เราปรารถนา ก่อเกิดยามที่ความต้องการ ความปรารถนาได้รับการตอบสนอง ความคาดหวังได้รับผลสำเร็จ พวกเราสัมผัสได้ถึงรสชาติความสุขยามที่เราสมหวังในความรัก ได้เป็นที่รัก ได้รับมิตรภาพ รู้สึกถึงความปลอดภัย ความรื่นรมย์ น่าพอใจ  เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม จิตใจที่เบิกบานแจ่มใสเป็นสิ่งที่เราแสดงออกได้ง่ายดาย ก็เรามีความสุขนี่นา  แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขดูจะแสนสั้น ราวกับมันติดปีกบินไปได้โดยเร็ว เพราะเพียงไม่นานความรู้สึกเชิงลบ ความเบื่อหน่าย ขุ่นเคืองคับข้อง ผิดหวังก็ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในจิตใจเรา เป็นความทุกข์ใจที่พวกเราต่างไม่ปรารถนา ต้องการหนีห่าง ไม่รวมถึงความทุกข์กายจากการถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิต ทั้งความทุกข์กาย-ใจ ความสุขกาย-ใจเป็นคู่สัมพันธ์ที่เปรียบหมือนสองด้านในเหรียญเดียวกัน

ปฏิกิริยาของพวกเราส่วนใหญ่ คือ ความพยายามในการพลิกเหรียญด้านที่เป็นความสุขเข้าหาตัว โดยหลงลืมไปว่า ไม่ว่าเราจะพยายามเพียงใด นิ้วมือของเราก็จำเป็นต้องสัมผัสด้านความทุกข์ของเหรียญในเวลาเดียวกัน เราหลีกเลี่ยงความทุกข์ไม่ได้ เพราะมันคือ อีกโฉมหน้าของความสุข

“ฉันจำได้ดีถึงความรู้สึกปวดร้าวในจิตใจ อาการที่มักตื่นขึ้นกลางดึก และสัมผัสถึงความโกรธเคือง ผิดหวัง เสียใจ ยามที่ภาพความคิดที่บาดตาบาดใจผุดขึ้น มันเป็นภาพของบุคคลที่ฉันรักกำลังหัวเราะ พูดคุยสนิทสนม หยอกล้อกับคนอื่นอยู่  ยามใดที่ภาพนี้ผุดขึ้น ความคิดชุดหนึ่งก็แสดงตัวของมันเองทันทีว่า เธอ/เขาเลือกคนอื่น ‘เขาไม่รักฉัน เขาทรยศความรัก ไม่เห็นคุณค่าความรักของฉัน’  จากนั้นฉันก็สัมผัส และรับรู้ถึงพลังงานของอารมณ์เชิงลบต่างๆ โกรธ ผิดหวัง เสียใจ เจ็บแค้น มันผุดลอยขึ้นและลอยขึ้น จากนั้นอารมณ์เหล่านี้ก็โอบรัดตัวฉันไปหมด จนรู้สึกเจ็บร้าว อยู่ไม่เป็นสุข ร้องไห้น้ำตาไหล

มันดูเหมือนว่าภาพความคิดและอารมณ์เช่นนี้มักผุดขึ้นมาเสมอๆ แม้ในยามที่ฉันจะปลีกตัวไปชายทะเล ดูหนัง อยู่กับผู้คน หรือทำกิจกรรมอะไรก็ตาม  มันเล่นงานฉันอยู่หมัด ฉันสัมผัสถึงแรงกระตุ้นในจิตใจที่อยากตอบโต้ อยากแก้แค้น อยากทำอะไรก็ได้เพื่อที่จะจัดการเจ้าคนโง่ เจ้าคนเลวที่ทำร้ายจิตใจฉัน จุดประสงค์คือ เพื่อให้ความรู้สึกอารมณ์ทุกข์ในใจมันหายไป”

ยามที่อารมณ์ความทุกข์เกิดขึ้น ปฎิกิริยาของเราคือ การหลีกเลี่ยง การกำจัดและต่อต้าน  โทสะผุดขึ้นเต็มที่ในรูปของความโกรธ ความเศร้า เสียใจ ผิดหวัง  ขณะเดียวกันอารมณ์สุขที่ผุดขึ้น คือสิ่งที่เราอยากเก็บรักษา หรือไล่ล่าหาความรัก  ท่าทีเช่นนี้เราซ่อนความเข้าใจผิด นั่นคือ  ๑) เราหลงว่าอารมณ์ความรู้สึกในใจ คือสิ่งที่จริงแท้แน่นอน สมควรและสมเหตุผลที่เราจะทำตามอารมณ์นั้นๆ  ๒) อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ มีสาเหตุมาจากภายนอก นั้นคือสิ่งภายนอก จะเป็นภูมิอากาศ การกระทำของคนรอบตัว รัฐบาล ฯลฯ เป็นสาเหตุที่ทำให้เราเป็นสุขหรือทุกข์ การทำให้ตนเองเป็นสุขหรือทุกข์อยู่ที่การกระทำภายนอก  ๓) อารมณ์ความรู้สึกเชิงลบเป็นสิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป ถ้าเราไม่กำจัดหรือทำลายมันเสีย  แตกต่างจาก ๔) อารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก ความสุขที่จางหายไปได้ เราต้องไล่ล่า ต่อเติม หรือสรรหาความสุขในใส่ใจเรา

ปฎิกิริยาที่ตามมาคือ อารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก-ลบ สุข-ทุกข์ในใจของพวกเรากลายเป็นขนมหวาน หรือแส้โบยตีก็ได้ที่คอยบงการกำกับตัวเรา เพื่อให้เรากระทำการอะไรก็ตามเพื่อคอยตอบสนองเอาใจเจ้านายที่แท้จริงคือ อัตตา หรือความเป็นตัวกู ของกู  อัตตาทำงานโดยมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นเครื่องมือ แท้จริงเบื้องหลังอารมณ์ที่ผุดขึ้น ก็เนื่องมาจากอัตตาที่คอยป้อนชุดความคิดต่างๆ เข้ามาในจิตใจ เช่น “เราแย่ เราไม่ดี เราไม่เก่ง ฯลฯ”  ปฎิกิริยาอารมณ์ที่ทำงานร่วมด้วยก็คือ ความเศร้า เสียใจ ความผิดหวัง เศร้าหมอง อาจรวมถึงความโกรธแค้นด้วย  ขณะที่ชุดความคิดว่า “เราเป็นที่รัก เราเป็นที่ชื่นชอบ ฯลฯ” ก็ให้อารมณ์ความรู้สึกถึงความสุข ความพอใจ  ปฎิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองร่วมกับอารมณ์ด้วยก็คือ ลักษณะการหายใจ สั้น ถี่ เร่ง หรือยาว ผ่อนคลาย เครียด ฯลฯ ตามแต่ลักษณะอารมณ์  อารมณ์ความรู้สึกสุข-ทุกข์ บวก-ลบ จึงเป็นเพียงปฏิกิริยาที่จิตใจและร่างกายมีต่อชุดความคิดที่ผุดขึ้นใจ

แท้จริงเบื้องหลังอารมณ์ที่ผุดขึ้น ก็เนื่องมาจากอัตตาที่คอยป้อนชุดความคิดต่างๆ เข้ามาในจิตใจ

หากพิจารณาให้ดี โรคเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า คืออารมณ์ความรู้สึกที่ครอบงำผู้คนจำนวนมากในสังคม เราต้องเอาตัวรอดกับสภาพชีวิตและสังคมบริโภคนิยม เราต้องพยายามไขว่คว้ากับสิ่งที่คาดหวัง  โชคร้ายที่ยาแก้โรคภัยเหล่านี้คือการรู้จัก เข้าใจ และเท่าทันตนเอง เป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังหมางเมิน ไม่ใส่ใจ  ขณะที่พยาธิสภาพร้ายแรงของโรคภัยเหล่านี้คือ อาการซึมเศร้าที่ยิ่งบั่นทอนสุขภาพชีวิต จิตใจของตนเอง และกระทบต่อคนใกล้ตัว แพร่เชื้อความทุกข์ออกไปจากความเครียด โกรธเคือง เศร้า ให้กระจายต่อไป

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ตั้งข้อสังเกตว่า เรามักคาดหวังที่จะให้พ่อแม่เข้าใจเรา คาดหวังที่จะได้เจ้านายที่รัก ยอมรับ และให้โอกาสเรา ถ้าจะมีแฟนก็คาดหวังว่าอยากให้ได้แฟนที่ถูกใจเรา รักเรา  เราคาดหวังต่างๆ นานากับคนรอบตัว แต่ตัวเราซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดจิตใจตัวเราเองมากที่สุด กลับไม่เคยคิดที่จะทำความเข้าใจ ยอมรับ หรือให้โอกาสตนเองทำความรู้จัก ศีกษาเรียนรู้ และเท่าทันจิตใจของตนเองเลย  ตรงกันข้าม เรากลับหนีห่างจากจิตใจตนเองด้วยการเฝ้าตามหาความสุขภายนอก หนีห่างสิ่งที่เป็นทุกข์ โดยไม่ได้ศึกษา เรียนรู้ เพื่อทำความรู้จักจิตใจเราจริงๆ

เพื่อที่เราจะเรียนรู้ ค้นพบ และยอมรับได้ว่า แท้จริงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ก็ตาม แท้จริงก็ไม่ได้เป็นสิ่งยั่นยืน และไม่ใช่สิ่งที่จีรัง ยกเว้นแต่เราคอยหมั่นให้อาหารแก่อารมณ์ด้วยการตอบโต้ หรือพยายามหนีห่างผ่านการครุ่นคิดครั้งแล้วครั้งเล่า ดังเช่นหลายคนที่ปล่อยให้ความคิดเข้าครอบงำโดยไม่รู้ตัว  สิ่งที่เราพึงตระหนักรู้คือ อารมณ์ความรู้สึกบวก-ลบ สุข-ทุกข์ หาใช่ตัวปัญหาไม่ แต่คือ ปฏิกิริยาของเราที่มีต่ออารมณ์นั้นๆ ต่างหากที่ก่อปัญหาและความทุกข์แท้จริง  และนี่เป็นบทเรียนที่เราทุกคนต้องคอยเฝ้ามองเรียนรู้ตนเอง

บทเรียนนี้อาจจะยาก แต่ผลแห่งการเรียนรู้ คือ เราจะอยู่เหนืออารมณ์สุขทุกข์ และอารมณ์จะทำร้ายเราไม่ได้อย่างที่เป็นมา และนั่นคือ ความสุขที่ไม่ได้อิงกับวัตถุสิ่งของหรือผู้คนภายนอก มันคือความสุขภายใน


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน