ศาสนาแห่งพิธีศพ

พระไพศาล วิสาโล 7 เมษายน 2002

ในเมืองไทยหากคนป่วยได้เห็นพระ จะรู้สึกดี มีกำลังใจ เพราะได้ที่พึ่งทางจิตใจ อย่างน้อยก็ใจชื้นที่ได้มีโอกาสทำบุญในยามลำบาก  แต่ในญี่ปุ่น ถ้าเห็นพระมา คนป่วยจะรู้สึกใจเสีย เพราะอดไม่ได้ที่จะนึกถึงความตาย  พระกับความตายเป็นของคู่กันในญี่ปุ่น เพราะหน้าที่หลักของพระที่นั่นคือการสวดศพและทำพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย ไม่มีอย่างอื่นมากไปกว่านั้น  ด้วยเหตุนี้เวลาจะไปเยี่ยมเพื่อนหรือคนรู้จักในโรงพยาบาล พระญี่ปุ่นจะใส่ชุดลำลองเหมือนชาวบ้านทั่วไป ขืนห่มจีวรอย่างพระ คนในโรงพยาบาลอาจจะแตกตื่นกันได้ง่ายๆ

ทุกวันนี้พุทธศาสนาในญี่ปุ่นแทบจะกลายเป็นเรื่องของคนตายไปแล้ว นอกจากการสวดศพแล้ว หน้าที่อีกอย่างที่ผู้คนคาดหวังจากพระก็คือการสวดมนต์ให้แก่บรรพบุรุษตามวาระสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคนญี่ปุ่น  คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะเก็บอัฐิบรรพบุรุษไว้ที่วัด ครบรอบวันตายก็มาขอให้พระสวดมนต์อุทิศให้  รายได้หลักของวัดพุทธในญี่ปุ่นจึงมาจากพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย รวมไปถึงการตั้งชื่อทางศาสนาให้แก่ผู้ตายด้วย ซึ่งค่าบริการสูงเป็นหมื่นๆ บาทต่อหนึ่งชื่อ  กล่าวได้ว่าถ้าไม่มีเรื่องเกี่ยวกับความตาย คนญี่ปุ่นก็แทบไม่มีเหตุให้ต้องเกี่ยวข้องกับพระ และถ้าไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย พระก็แทบจะไม่ได้สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับญาติโยมหรือสมาชิกวัดเลย  ที่สำคัญก็คือถ้าไม่มีพิธีกรรมเหล่านี้ ก็ไม่มีเงินเข้าวัด และพระเองก็อยู่ไม่ได้ เว้นเสียแต่ไปหาอาชีพอื่นมาเสริมเพื่อมีรายได้จุนเจือตนเองและครอบครัว  ด้วยเหตุนี้เองพุทธศาสนาในญี่ปุ่นจึงถูกขนานนามว่าศาสนาแห่งคนตาย หรือศาสนาแห่งพิธีศพ (funeral Buddhism)

จะเรียกว่านี้เป็นการปรับตัวของพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่ก็ว่าได้ เพราะหน้าที่อื่นๆ ที่พระหรือวัดเคยทำ ก็มีสถาบันอื่นรับไปหมดแล้ว  แม้กระทั่งการสร้างสำนึกทางด้านศีลธรรม คนญี่ปุ่นก็ไม่ได้พึ่งพระหรือวัดเลย ดังจะเห็นได้ว่าทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ห่างเหินศาสนา แต่ญี่ปุ่นกลับมีอาชญากรรมน้อยมาก ใครลืมของทิ้งไว้หรือทำตกหล่นที่ไหน ถ้าย้อนกลับมาก็มีโอกาสได้คืนสูงมาก ถ้าไปถามคนที่เก็บของไว้ให้ เขาคงตอบว่าตนเป็นคนไม่มีศาสนา  ในเมื่อหน้าที่อื่นๆ ก็มีสถาบันอื่นรับไปเกือบหมดแล้ว จะมีอะไรเหลือให้แก่วัดเล่า นอกจากการสวดศพ

อันที่จริง การที่พระจำกัดบทบาทของตนเองจนเหลือแค่พิธีศพนั้นเป็นเรื่องที่มีความเป็นมายาวนานนับร้อยๆ ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายของผู้ปกครองที่ต้องการควบคุมวัดไม่ให้มีอำนาจ  ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงมายังโตเกียวดังปัจจุบัน พระมีอิทธิพลในทางการเมืองมาก นิกายใหญ่ๆ หลายนิกายมีกองทัพเป็นของตนเอง  นอกจากต่อสู้กันเองแล้ว ยังกล้าท้าทายอำนาจผู้ปกครอง จนภายหลังได้ถูกปราบปรามอย่างหนักและถูกควบคุมไม่ให้มีอำนาจเหมือนก่อน  แต่ปัจจัยภายนอกไม่ใช่ปัจจัยหลัก ปัจจัยหลักคือปัจจัยภายในได้แก่การยินยอมพร้อมใจของพระเอง  การที่พระถูกควบคุมให้มีบทบาทแต่ในวัด ทำแต่พิธีศพนั้น แม้จะทำให้มีอิทธิพลต่อสังคมน้อยลง แต่ก็ช่วยให้พระมีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น เพราะไม่ต้องทำอย่างอื่นก็อยู่ได้  ระบบที่บังคับให้ผู้คนต้องสังกัดวัดใดวัดหนึ่งนั้น ทำให้ทุกวัดมีหลักประกันว่าจะมีคนมาใช้บริการจัดงานศพตลอดปี ซึ่งก็หมายถึงรายได้ที่มั่นคง  ระบบเช่นนี้ทำให้พระไม่ขวนขวายที่จะออกไปทำประโยชน์แก่ผู้คน แม้แต่จะออกไปสอนญาติโยมก็ไม่จำเป็น เพราะถึงไม่ทำ ก็ยังอยู่ได้ด้วยเงินจากงานศพ

แม้ระบบดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปเมื่อมีการปฏิรูปประเทศเมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้ว แต่พระก็เคยชินกับวิถีชีวิตดังกล่าวเสียแล้ว จึงอยู่อย่างเช้าชามเย็นชาม และเหินห่างจากญาติโยมมากขึ้นทุกที  ในที่สุดก็เลยไม่มีบทบาทต่อผู้คน และทำให้พุทธศาสนาไร้อิทธิพลต่อสังคมแม้กระทั่งในทางจริยธรรม จนเกิดความเข้าใจไปว่าพุทธศาสนาไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคนเป็นเลยแม้แต่น้อย  ร้ายกว่านั้นก็คือพระถูกมองในทางที่เลวร้ายมากขึ้น เนื่องจากมีจำนวนไม่น้อยหากินกับพิธีศพ เรียกค่าบริการแพงๆ จนกลายเป็นการขายบริการอย่างหนึ่งไม่ต่างจากอาชีพอื่น  สภาพดังกล่าวน่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับพุทธศาสนาและพระสงฆ์ไทย เพราะทุกวันนี้พิธีกรรมก็กำลังกลายเป็นบทบาทหลักของพระสงฆ์ไทย ยิ่งในเมืองใหญ่ด้วยแล้วพิธีกรรมหลักๆ ของพระที่เกี่ยวข้องกับญาติโยมก็คือพิธีศพนั่นเอง  วัดและพระจำนวนไม่น้อยมีรายได้หลักจากงานศพ จนไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ต่อสังคมและผู้คนมากกว่า  หากเป็นเช่นนี้เรื่อยไปพุทธศาสนากระแสหลักของไทยอาจกลายเป็นแค่ศาสนาแห่งพิธีศพก็ได้ โดยพระก็เป็นแค่ผู้ขายบริการทางด้านพิธีกรรมเท่านั้น

แนวโน้มดังกล่าวเห็นชัดเจนมากขึ้นทุกที แต่ยังไปไม่ไกลถึงขั้นที่พระละทิ้งชีวิตพรหมจรรย์อย่างเปิดเผย มาใช้ชีวิตครอบครัวอย่างฆราวาสเหมือนพระญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดเวลานี้ ซึ่งทำให้วัดมีสภาพไม่ต่างกับบ้านเลย  ในญี่ปุ่นนั้นพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตายมีความสำคัญถึงขั้นที่ประชาชนยอมให้พระมีชีวิตครอบครัวได้ เพื่อที่จะมีผู้ประกอบพิธีกรรมสืบไม่ขาดสาย  ในเมืองไทยหลายหมู่บ้านในชนบทก็ยอมให้พระทุศีลอยู่ในวัดได้ เพราะกลัวว่าถ้าขับไล่ออกไปแล้วจะไม่มีคนทำพิธีกรรม ต่อไปอาจอนุญาตให้ทำเกินเลยมากกว่านั้นก็ได้ ใครจะไปรู้

บทเรียนของญี่ปุ่นก็คือ ในโลกที่หลงใหลวัตถุนิยมอย่างหนักนั้น พุทธศาสนาและพระสงฆ์จะยังมีอยู่ต่อไป ไม่มีวันสูญหายไปได้  แต่จะอยู่อย่างมีคุณภาพหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา