สงบได้เมื่อใจยอมรับ

พระไพศาล วิสาโล 30 มกราคม 2011

คนส่วนใหญ่ทุกข์ก็เพราะ ๒ เรื่อง เรื่องที่เป็นอดีตกับเรื่องที่เป็นอนาคต  เวลาเราทุกข์เพราะของหาย ทุกข์เพราะถูกตำหนิ ทุกข์เพราะแฟนตีจาก เหตุการณ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นอดีต แต่พอนึกถึงมันก็ทำให้เราทุกข์  ถ้าไม่ทุกข์เพราะอดีต ก็ทุกข์เพราะอนาคตหรือเรื่องราวที่ยังมาไม่ถึง  เวลาเราทุกข์เมื่อเจอรถติด เราไม่ได้ทุกข์เพราะอากาศร้อน เราไม่ได้ทุกข์เพราะที่นั่งมันแข็งกระด้าง แต่เราทุกข์เพราะกำลังกังวลว่าจะไปทำงานสาย ไม่ทันประชุม หรือไม่ก็คอยลุ้นว่า เมื่อไรจะถึงๆๆ ตัวอยู่บนรถ แต่ใจไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว ก็เลยทุกข์ อันนี้เรียกว่าทุกข์ใจเพราะไปอยู่กับอนาคต  แต่ถ้าเรามีสติ รู้ทันจิตใจว่ากำลังอยู่กับอดีตและอนาคต สติจะพาเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่ทุกข์ร้อนกับเรื่องที่ผ่านไปแล้วหรือเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ทำให้ใจเป็นปกติได้

ทุกวันนี้ผู้คนไม่ค่อยมีความสุขก็เพราะใจเผลอคิดเรื่องอดีตกับอนาคต แต่ถ้ามีสติเมื่อใด ใจก็จะหวนกลับมาอยู่กับปัจจุบัน แล้วเป็นทุกข์เพราะอดีตหรืออนาคตน้อยลง  มีเหมือนกันที่บางครั้งเราไม่ได้ทุกข์เรื่องอดีตหรืออนาคต แต่ทุกข์อยู่กับปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน เช่นความเจ็บป่วยไข้ อันนี้เป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่ขอให้สังเกต เราไม่ได้ทุกข์เพราะความเจ็บป่วย แต่เป็นเพราะใจที่ปฏิเสธต่อต้านผลักไสความเจ็บป่วยมากกว่า  เมื่อใดที่ใจต่อต้าน ผลักไสอะไรก็ตาม ความทุกข์ก็ตามมาทันที  กับงานการก็เช่นกัน เราไม่ได้ทุกข์เพราะงาน แต่ทุกข์เพราะใจที่ปฏิเสธต่อต้านงานนั้น  เรามักคิดว่าเราทุกข์เพราะสิ่งที่เผชิญอยู่เฉพาะหน้า ที่จริงไม่ใช่ มันเป็นเพราะเราวางใจไม่ถูกต่างหาก พูดง่ายๆ คือเป็นเพราะใจเรานั่นเอง

เวลาเราเจองานซึ่งไม่ใช่เป็นงานของเรา เรากำลังจะกลับบ้านอยู่แล้ว แต่เจ้านายขอให้เราทำงานชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นของคนอื่น เรารู้สึกไม่พอใจขึ้นมาเลยใช่ไหม บ่นอุบอิบหรือตีโพยตีพายว่า มันไม่ยุติธรรม ทำไมต้องเป็นฉัน ถ้ามีความรู้สึกแบบนี้เราจะทำงานด้วยความทุกข์  ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดจากงานชิ้นนั้น แต่เป็นเพราะใจของเราเองที่ต่อต้านหรือปฏิเสธงานนั้น  ลองมีสติรู้ทัน หรือเลิกบ่นเลิกตีโพยตีพาย ยอมรับงานชิ้นนั้นและทำงานอย่างเต็มที่ เราจะไม่ทุกข์เลย ไม่รู้สึกว่างานนั้นยุ่งยากหรือหนักหนาอะไร ทำได้สบายมาก  ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเวลาทำงานนั้น มักเกิดจากใจที่บ่นกระปอดกระแปดว่าไม่ไหวๆ ไม่ยุติธรรม ทำไมต้องเป็นฉัน ทันทีที่คุณมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น คุณจะเป็นทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์เพราะงาน แต่ทุกข์เพราะใจที่เป็นลบมากกว่า

มีการศึกษาพบว่าเวลาถูกฉีดยา ถ้าคุณกลัวเข็มฉีดยา ทันทีที่ถูกเข็มแทง ความเจ็บจะเพิ่มเป็น ๓ เท่าของคนที่ไม่กลัว อันนี้เป็นเพราะความกลัวในใจ ทำให้ใจปฏิเสธต่อต้านเข็มนั้น แต่ถ้าเราวางใจให้เป็นกลาง ยอมรับมัน ก็จะไม่รู้สึกปวดเท่าไหร่ รู้สึกว่าพอทนได้  ยกตัวอย่างง่ายๆ ขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิอยู่ มียุงมาเกาะที่แขนเรา จะปัดก็ไม่ได้ แต่ถ้าใจเราปฏิเสธยุงตัวนั้น รู้สึกแขยง หรือกลัวเจ็บ ทันทีที่มันกัดเรา เราจะรู้สึกปวดจนอยากจะปัดหรือตบมันด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราทำใจยอมรับมัน รู้ทันความกลัวหรือความรู้สึกรังเกียจ พอถูกกัดเราจะไม่ค่อยรู้สึกปวดเท่าไหร่ พูดอีกอย่างหนึ่ง จะปวดมากหรือน้อย อยู่ที่ใจเรานั่นเอง

เมื่อใดที่ใจต่อต้าน ผลักไสอะไรก็ตาม ความทุกข์ก็ตามมาทันที

การทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ใจเราสงบลง ไม่ทุกข์อะไรง่ายๆ แม้บางครั้งสิ่งที่เผชิญนั้นจะอันตรายหรือดูน่ากลัวก็ตาม

มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยไปว่ายน้ำที่เกาะสมุย ว่ายอยู่ดีๆ ก็พบว่าตัวเองถูกกระแสน้ำพัดไกลจากฝั่งออกไปทุกที  เธอพยายามว่ายน้ำเข้าฝั่ง แต่ว่ายเท่าไหร่ก็ยิ่งไกลจากฝั่งมากขึ้น เธอตกใจมากร้องตะโกนขอให้เพื่อนช่วย เพราะถูกพัดออกทะเลไกลขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอยู่กลางกระแสน้ำที่เชี่ยวแรงมาก  เพื่อนๆ พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ ก็พยายามว่ายไปช่วยเธอ แต่พอว่ายได้สักพักก็รู้สึกว่ากระแสน้ำแรงมาก จึงเปลี่ยนใจ พยายามว่ายกลับเข้าฝั่ง

ตัวเธอเองยิ่งว่ายเข้าฝั่ง ก็ยิ่งเหนื่อย แถมไกลฝั่งออกไปเรื่อยๆ จึงรู้ว่าไม่มีประโยชน์ ตอนนั้นรู้เลยว่าคงไม่รอดแล้ว  แต่แทนที่จะตื่นตกใจ เธอกลับรู้สึกสงบ เพราะทำใจได้ว่า ถ้าจะตายก็ต้องตาย  พอทำใจได้เธอก็ปล่อยวาง อยู่เฉยๆ ลอยคอนิ่งๆ ไม่ฝืนว่ายต่อไป  ตอนนั้นเธอรู้สึกสงบมาก  ผ่านไปพักใหญ่ก็พบว่าตัวเองถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่งทีละน้อยๆ  เพื่อนเห็นเช่นนั้น ก็ว่ายออกมาช่วยเธอ พาขึ้นฝั่งได้ในที่สุด  หลังจากนั้นเธอก็มารู้ว่าตรงที่เธอว่ายน้ำนั้นมีกระแสน้ำเชี่ยวมากที่เกิดจากคลื่นกระทบฝั่ง ไม่มีใครที่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำได้ ส่วนใหญ่ตายเพราะหมดแรง  ที่เธอรอดมาได้ก็เพราะทำตัวนิ่งๆ ไม่ฝืนว่ายด้วยความตื่นตระหนก และที่เธอทำตัวนิ่งได้ก็เพราะยอมรับความตายได้ ไม่ขัดขืนหรือต่อสู้กับมัน

เวลาเจอเหตุร้ายที่หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับมันด้วยใจสงบ  บ่อยครั้งการทำเช่นนั้นกลับทำให้รอดตายด้วยซ้ำ  ตรงกันข้ามการพยายามต่อสู้ขัดขืน กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง จนอาจไม่รอดก็ได้

ผู้หญิงอีกคนหนึ่งเล่าว่า ขณะที่กำลังขับรถบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง พอผ่านทางโค้งก็เห็นข้างหน้ามีรถติดเป็นแพ เธอเริ่มชะลอความเร็ว แต่พอมองกระจกหลัง ก็เห็นว่ารถคันหลังไม่ชะลอ กลับแล่นตรงเข้ามาเต็มที่ เธอรู้เลยว่าเธอกำลังถูกอัดก๊อปปี้ ความคิดตอนนั้นบอกเธอว่าคงไม่รอด

ตอนรู้ตัวว่าจะไม่รอดเธอสังเกตว่ามือกำพวงมาลัยอยู่แน่นมาก เธอคิดขึ้นมาว่าเครียดแบบนี้มาทั้งชีวิตแล้ว ถ้าจะตายก็ขอตายแบบผ่อนคลาย เลยปล่อยมือจากพวงมาลัย  นั่งอย่างผ่อนคลาย หลับตา แล้วก็มาจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จากนั้นก็มีเสียงดังสนั่น  แล้วเธอก็หมดความรู้สึกตัว  มารู้ตัวอีกทีตอนที่ตำรวจช่วยดึงเธอออกมาจากรถ  ตำรวจแปลกใจมากที่เธอรอดมาได้โดยไม่เป็นอันตรายอะไรทั้งๆ ที่รถพังยับเยินทั้งหน้าและหลัง  แต่หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวของเธอ ตำรวจก็บอกว่าถ้าคุณเกร็งตอนนั้นคุณคงไม่รอด เพราะถ้าเธอตัวเกร็ง ก็จะต้องเจอแรงกระแทกเต็มที่

เธอบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตของเธอ ทำให้เธอกลายเป็นคนที่ผ่อนคลายและปล่อยวางมากขึ้น ไม่เคร่งเครียดหรือเอาเป็นเอาตายกับสิ่งต่างๆ  เธอได้เห็นคุณค่าของการปล่อยวางมากขึ้น  ตัวอย่างจากผู้หญิงคนนี้ชี้ว่า การยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งความตายนั้น ไม่เพียงทำให้ใจสงบเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยให้รอดตายได้ด้วย

ประเด็นที่อยากจะเน้นคือคนเราเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนา แทนที่จะต่อสู้ขัดขืน อย่างแรกที่ควรทำคือยอมรับมัน ไม่ปฏิเสธหรือต่อสู้ขัดขืน อย่างน้อยๆ มันช่วยทำให้เราทุกข์ใจน้อยลง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของหาย งานหนัก หรือความเจ็บป่วย  เมื่อเจ็บป่วยแล้วบ่นตีโพยตีพาย คุณจะทุกข์กว่าเดิม ไม่ใช่แค่ทุกข์กายเท่านั้น แต่ทุกข์ใจด้วย  แต่ถ้ายอมรับว่าเมื่อความป่วยเกิดขึ้นกับเราแล้ว ป่วยการที่จะตีโพยตีพายหรือปฏิเสธมัน แทนที่จะตีโพยตีพาย ไม่ดีกว่าหรือหากเราจะมาพิจารณาว่าจะรักษาตัวอย่างไรให้หายป่วย

การยอมรับไม่ใช่การยอมจำนน แต่หมายถึงการยอมรับความจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ไม่เสียเวลาหรือเสียอารมณ์ด้วยการตีโพยตีพายโวยวาย  แต่เราจะยอมรับความจริงได้ก็ต้องมีสติรู้ทันใจของตัวเอง เพราะปฏิกิริยาแรกของใจก็คือการโวยวาย ต่อสู้ ขัดขืน ผลักไส  เป็นธรรมดาของใจเมื่อเจอสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ใจก็จะผลักไสต่อต้านเป็นอย่างแรก ถ้าหนีไม่ได้ก็จะผลักไส แต่ถ้ามีสติรู้ทันอาการดังกล่าว มันก็จะคลายไป ช่วยทำให้ใจเราสงบ เพราะความสงบเกิดจากการยอมรับ แต่ถ้าเราดิ้นขัดขืนเมื่อไหร่ใจจะเป็นทุกข์ เร่าร้อน ทันที


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา