สมดุล

นาม ไร้นาม 16 กรกฎาคม 2017

เพื่อนเกษตรกรคนหนึ่งเล่าเรื่องการทำสวนของเขาให้ฟังว่า ธรรมชาติมันมีความสมดุลของตัวมันเอง  เมื่อรากของต้นไม้แผ่ออกไปทางไหน มันจะมีกิ่งแผ่นออกไปฝั่งตรงข้าม  เมื่อรากหยั่งลึกลง หมายถึงการยืดตัวขึ้นของต้นไม้ หากรากแผ่กว้างออกไป กิ่งของต้นไม้ก็แผ่กว้างออกไปด้วย  นี่เป็นความสมดุลของธรรมชาติที่ดำรงอยู่

แม้การตัดแต่งกิ่งของต้นไม้ก็เช่นกัน เมื่อเราเอาส่วนที่เกินความจำเป็นออกไป ส่วนที่เหลืออยู่ก็จะสมบูรณ์ขึ้น  เช่นนั้นแล้ว ธรรมชาติสามารถจัดสรรความสมดุลของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ และอีกส่วนหนึ่ง เมื่อมนุษย์ที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเข้าไปจัดการ ธรรมชาติก็จะปรับตัวไปตามความเหมาะสม  อย่างนี้เป็นว่า เกษตรกรผู้เข้าใจธรรมชาติ เขาจะสามารถจัดการต้นไม้ของเขาได้อย่างดี สร้างองค์ประกอบที่เหมาะสม เสริมเข้าไป

มองเข้าไปในป่าลึก ยุคที่คนยังไม่มากนัก ธรรมชาติมีการจัดสรรอย่างลงตัว นี่คงเป็นสิ่งที่คนรับรู้โดยทั่วไป สัตว์บางอย่างมีเล็บ บางอย่างมีฟัน กรามแข็งแรง แล้วแต่รูปแบบการหาอาหาร  มันคงจะพิลึกอยู่ไม่น้อยถ้าหากว่า สัตว์กินเนื้อที่มีฟัน และกรามไม่แข็งแรงพอสำหรับล่า  สัตว์กินเนื้อ ถ้าเทียบปริมาณกับสัตว์กินพืช ดูเหมือนในธรรมชาติ สัตว์กินเนื้อก็มีปริมาณที่น้อยกว่า

นั่นเป็นความสมดุลตามธรรมชาติ อะไรที่มากเกิน อะไรที่น้อยเกิน มันก็มีการจัดการ แน่นอนว่า สิ่งที่มีคู่มากับความสมดุลคือ ภาวะมากเกิน และภาวะน้อยเกิน หรือจะเรียกว่า เกิน กับ ขาด ล้น กับ พร่อง อะไรก็ว่าไป แต่ทั้งหมดนั้นคือสภาวะความเป็นไป ความเคลื่อนไหว และความผันผวนของธรรมชาตินั่นเอง

ในทางการแพทย์โบราณของจีน กล่าวกันว่า ระบบจักรวาล โลก และร่างกายมนุษย์ เป็นระบบเดียวกัน คือมีรูปแบบการดำรงอยู่ และการจัดการแบบเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า ระบบเสี้ยวส่วน  เมื่อแยกย่อยลงไปกว่านั้น อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ก็มีองค์ประกอบของร่างกายอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นนี่จึงเป็นที่มาของวิชานวดฝ่าเท้า ฝ่ามือ อะไรก็ว่าไป เพราะการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบของร่างกาย แต่เรื่องการแพทย์ คงเกินกำลังที่เราจะเอามาว่ากันในที่นี้

เมื่อจักรวาล โลก และชีวิตเป็นระบบเดียวกัน เราก็จะมาลองมองความเป็นไปของชีวิต ว่าอันที่จริงแล้ว เราก็ได้ยินอยู่เสมอ ถึงการแสวงหาสมดุลของคน  หลายครั้งที่มีคนบอกว่า สมดุลของแต่ละคนไม่เท่ากันหรอก บางคนต้องการสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง นั่นเป็นความจริงหรือ หรือเป็นแต่เพียงความเชื่อ หรือเป็นแต่เพียงคำพูดที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ความอิจฉา หรือความกลัว

แต่ไหนแต่ไรมา เชื่อว่าคน ต่างก็แสวงหาความสมดุลของตัวเอง  ความเจ็บป่วย ก็ทำให้คนบางคนต้องกราบไหว้วิงวอน สิ่งที่ตัวเองเชื่อว่ามีพลังเหนือกว่าเพื่อให้คุ้มครองป้องกัน กระทั่งแก้ไข หรือบางส่วนก็แสวงหายาวิเศษต่างๆ เพื่อความไม่มีโรคภัย  บางคนจัดการระเบียบชีวิต บางคนมีหลักปฏิบัติ ซึ่งนับวันสิ่งเหล่านี้ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหลายอย่างมันมาสำเร็จรูป คือไม่ต้องทำอะไรเลย ซื้อมา แล้วก็แค่กิน ทุกอย่างก็จะปรับสู่ความสมดุล นั่นก็ว่ากันไปตามความเชื่อของแต่ละคน เพราะบางอย่างไม่มีการพิสูจน์อย่างจริงจังว่า สรรพคุณที่ว่ากันมาทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันจริงแท้แค่ไหน

ร่างกายเป็นส่วนสำคัญส่วนแรก ที่เราต้องทำให้สมดุล เมื่อร่างกายสมดุลแล้ว จิตใจ และสมองก็จะถูกปรับตามมา นี่เป็นหลักการการดูแลชีวิตแบบโบราณ และสิ่งสำคัญก็คือ คนไม่สามารถกระทำสิ่งนี้ได้เลย หากปราศจากการเรียนรู้ และการปฏิบัติ  มันคงเป็นเรื่องยากมากที่คนจะเข้าถึงความสำเร็จ แม้จะเพียงเล็กน้อย ด้วยการคิดเอา  ดังนั้นการลงมือทำบางอย่าง ย่อมก่อให้เกิดผลบางอย่าง หากมีแต่ความคิดแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่มีวันเกิดขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้ กับการปฏิบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การลงมือทำบางอย่าง ย่อมก่อให้เกิดผลบางอย่าง ดังนั้นการเรียนรู้กับการปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

โดยธรรมชาติ ชีวิตก็มีการปรับสมดุลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เราเพียงแต่ทำความเข้าใจและเอื้อให้ร่างกายทำเช่นนั้นได้ เช่นในฤดูหนาว ร่างกายก็ต้องการความอบอุ่น เมื่อฤดูร้อน ร่างกายก็ขับเหงื่อออกมา เมื่อร่างกายต้องการพัก เราก็ง่วง เมื่อร่างกายต้องการอาหาร เราก็หิว อย่างนี้เป็นต้น

การเรียนรู้จะบอกอะไรกับเราบ้าง  ในทางอารมณ์ หรือจิตใจ คนมักหาเหตุผลให้ความชอบธรรมกับความเหลวไหล เลวร้าย ความบกพร่อง หรือความโง่เขลาของตัวเองเสมอ นั่นเป็นธรรมชาติของกิเลส  แต่เมื่อเราเรียนรู้ร่างกาย และเราเอื้อให้ร่างกายสามารถปรับสมดุลของตัวเองได้ อารมณ์ก็จะเรียนรู้ที่จะปรับสมดุลด้วย  ถ้าเราโกรธบ่อย เราก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่น เมื่อเราอยากได้ เราก็เรียนรู้ถึงความพอดี เมื่อเราหมกมุ่น เราก็เรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย นั่นก็ว่ากันไป

อันที่จริง อย่างที่ว่า ธรรมชาติมีวิถี วิธีในการนำพาความสมดุลกลับมาอยู่เสมอ แต่มนุษย์กลับมีความซับซ้อนยิ่งกว่านั้นมากนัก  มนุษย์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากเสียจนเกินกว่าธรรมชาติจะปรับได้ เมื่อปรับไม่ได้ ชีวิตก็ยิ่งเลยเถิดผิดเพี้ยนผันผวนไป จนไม่สามารถกลับมาสู่วิถีดั้งเดิมของชีวิตได้ และยิ่งขาดการเรียนรู้ที่จะแก้ไข ปรับเปลี่ยน มันก็ยิ่งแย่ลงไปเรื่อยๆ หรือบางครั้งมนุษย์ก็สร้างนิยามความสมดุล ความดีงาม ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้วิถีของตัวเองนั้นชอบธรรม ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่ก็ตาม

ธรรมชาติ มีความพยายามเสมอที่จะทำให้มันสมดุล เพียงแต่เราเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เปิดช่อง และเกื้อหนุน ให้มันเป็นไปได้  นี่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่มันกลายเป็นความยาก เมื่อเราถลำไปสู่ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนยากที่จะคลี่คลาย แต่อย่างไรก็ตาม นั่นคือสิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้ อย่างแน่แท้


ภาพประกอบ