สานต่อปณิธาณท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 3 มิถุนายน 2006

เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน เด็กชาวบ้านผู้หนึ่งได้ถือกำเนิด และเติบโต เล่าเรียน เขียน อ่าน ทำงานบ้าน และช่วยงานค้าขายของพ่อแม่  จากนั้นเมื่ออายุครบบวชก็ได้บวชเรียน ศึกษาปฏิบัติธรรม  จากนั้น ๒๖ ปีให้หลัง สวนโมกข์และท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์มรดกธรรมแก่สังคมโลก  ชีวิตของบุคคลธรรมดาคนหนึ่งได้เดินทางมาเพื่อสร้างสรรค์คุณประโยชน์ งดงามด้วยวิถีชีวิต และเต็มไปด้วยคุณค่าที่ควรแก่การระลึกถึงและดำเนินตามแบบอย่าง

แต่เพราะชีวิตไม่ได้ลอยอยู่ในสุญญากาศ  ไม่ว่ายุคสมัยใด เราต่างอยู่ในสภาพสังคมที่มีความรุนแรงและความวิปริตไม่มากก็น้อย  เราสามารถจับต้องได้จากรูปลักษณ์ของปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ปัญหาการก่อการร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชน  ปัญหาเหล่านี้ คือรูปแบบปัญหาภายนอกที่สะท้อนมาจากปัญหาภายในจิตใจที่ขาดการบ่มเพาะทางศีลธรรม รวมถึงความหลงอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ  สิ่งที่ท่านพุทธทาสได้มีบทบาทต่อสภาพสังคมที่แวดล้อมท่านอยู่ คือ การเทศนาและสั่งสอน รวมไปถึงการดำเนินชีวิต “สงบเย็นและเป็นประโยชน์” เพื่อเป็นแบบอย่าง

ในช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านพุทธทาสได้ดำเนินการตามปณิธาณที่ท่านมองว่าเป็นภารกิจสำคัญที่เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน นั่นคือ ๑) ให้พุทธศาสนิกชนหรือศาสนิกชนใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกชึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน  ๒) ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา  และ ๓) ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม  เหล่านี้คือ ประเด็นสาระสำคัญที่ท่านมองว่า นี่คือยุทธศาสตร์ของการฟื้นฟูสังคมให้ลดทอนความวิปริต ความรุนแรง  ในอีกด้านหนึ่ง ปณิธาณดังกล่าวก็สะท้อนถึงคุณสมบัติสำคัญ ๒ ประการที่อนุชนพึงตระหนักในคุณค่าและความเป็นแบบอย่างของท่านคือ  ๑) มุมมองและฐานคิดของผู้มีวิสัยทัศน์ ความรู้ ความเข้าใจและจิตสำนึกในระดับสากลโลก  และ ๒) การเป็นผู้มีจิตใจเปิดกว้างต่อความแตกต่าง หลากหลาย รวมถึงการเคารพต่อคุณค่า และหลักศาสนธรรมของทุกศาสนา

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้ตั้งข้อสังเกตต่อชีวิตของท่านพุทธทาสไว้ว่า ท่านพุทธทาสเป็นบุคคลสามัญธรรมดา ท่านไม่ได้มีสำนึกที่ยิ่งใหญ่แบบบุคคลผู้ยิ่งใหญ่บางท่าน สำนึกของท่านเป็นเพียงสำนึกของชาวพุทธที่รักและรับผิดชอบต่อพุทธศาสนา  คำกล่าวที่สะท้อนในเรื่องนี้คือ “เราไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อยๆ ตามสติกำลัง มีผลเท่าไรก็เอาเท่านั้น  แต่เราหวังอยู่ว่าการกระทำด้วยความจงรักต่อพระศาสนาของเรานี้ อาจมีคนเอาไปคิด ไปนึก แล้วอาจมีคนทำตามมากขึ้น  จนกระทั่งผู้มีอำนาจท่านทำ หรือประชาชนทั้งโลกพากันทำ มันก็อาจมีการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน  แม้เราจะไม่ได้พลิกเอง ผลก็เท่ากัน  เราคงยังเจียมตัว และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้น”

ท่านมีบทบาทต่อสภาพสังคมที่แวดล้อมท่านอยู่ โดยการเทศนาสั่งสอนรวมถึงการดำเนินชีวิต “สงบเย็นและเป็นประโยชน์” เพื่อเป็นแบบอย่าง

และเพราะชีวิตคือ ความสัมพันธ์  ธรรมะอยู่ในทุกแห่งทั้งในชีวิตและความสัมพันธ์  ความสัมพันธ์ทั้งกับความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หมู่คณะ คนรอบข้าง สังคม ประเทศ  สัมพันธ์ด้วยระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม  ดังนั้นจุดเริ่มต้นของภารกิจในการสานต่อปณิธาณของท่านพุทธทาส คือ การเริ่มต้นที่สำนึกรู้กับตนเอง  ในบริบทชีวิต หน้าที่การงาน ตำแหน่งและสถานภาพ  พร้อมๆ กับสำนึกรู้ต่อตนเองในฐานะมนุษย์ที่มีหน้าที่ต่อความเป็นมนุษย์ในการพัฒนา ฝึกฝนคุณธรรม และความดีงามให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้ นั่นคือ ความเป็นผู้มีจิตใจสูง

จุดเริ่มที่บทความนี้ใคร่ขอเสนอเพื่อพิจารณา คือ  ๑) การศึกษาและพัฒนา ฝึกฝนตนเอง  ปัญหาหรือสภาพการณ์ต่างๆ ที่รายล้อมตัวเราอาจมีมาในลักษณะต่างๆ  แต่การก้าวพ้นปัญหาที่เข้ามา ทั้งหมดขึ้นกับศักยภาพและคุณภาพของฐานปัญญาที่มีอยู่แล้วในตัวเรา  นั่นคือ  ๑.๑) การมีฐานปัญญาของการคิดนึก การใช้วิจารณญาณจากความรู้ ข้อมูล ประสบการณ์ ไหวพริบ ปฏิภาณ  ๑.๒) การมีฐานปัญญาทางอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งแสดงออกผ่านคุณธรรมความรัก ความเมตตา กรุณา ความอดทน การให้อภัย ฯลฯ  ๑.๓) การมีฐานปัญญาทางร่างกาย โดยผ่านการกระทำ การลงมือปฏิบัติ การรู้จักร่ายกาย ความตระหนักรู้ต่อสัญชาตญาณ ฯลฯ สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง คือ รากฐานสำคัญของการนำพาความรู้สึก ความนึกคิดมาสู่การลงมือปฏิบัติเกิดผลที่พึงปรารถนา การเจริญ “ไตรสิกขา” ศีล สมาธิ และปัญญา จึงถือเป็นแนวทางการศึกษา พัฒนา และฝึกฝนตนเอง

๒) การมีส่วนร่วมทางการเมือง  เพราะชีวิตดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ทางโครงสร้าง เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม  ระบบความสัมพันธ์ดังกล่าวจะดำรงอยู่ได้ และเอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย ไม่เบียดเบียนผู้ที่อ่อนแอกว่า  สิ่งเหล่านี้ต้องวางพื้นฐานอยู่บนศีลธรรม การมีจริยธรรมกำกับการกระทำทางการเมือง เพราะการเมืองคือ การจัดสรรส่วนแบ่งผลประโยชน์แก่คนในสังคม ซึ่งมีความแตกต่างทางฐานะ และอำนาจ  เราในฐานะประชาชน ในฐานะสมาชิกของสังคมจึงไม่อาจดูดาย และต้องถือเป็นภาระหน้าที่

และเมื่อเป็นหน้าที่ ภารกิจนี้จึงเรียกร้องความรับผิดชอบ ความยอมอดทน เหน็ดเหนื่อย  ดังเช่น เราทุกคนยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพและครอบครัว  เราในฐานะสมาชิกสังคมก็ถือเป็นหน้าที่ในการต้องยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างสรรค์สังคมที่ดี มีศีลธรรม  และปฏิเสธต่อระบบการเมือง และสถาบันทางสังคมที่ไร้ศีลธรรม  ดังนั้น การมีส่วนร่วมทางเมืองจึงถือเป็นบทบาทและสำนึกที่สำคัญของชาวพุทธ

๓) การใฝ่หาและบำรุงเลี้ยงความเป็นกัลยาณมิตร  ชีวิตที่สงบเย็น และเป็นประโยชน์ไม่ได้มีอยู่แต่ความสุขสงบในจิตใจเท่านั้น แต่ยังอยู่ในความสัมพันธ์ของชีวิตชุมชนที่เอื้อเฟื้อ เสริมสร้างและให้กำลังใจระหว่างกัน  เพราะเราทุกคนต่างล้วนมีความหลง ความอ่อนแออยู่ภายในที่ต้องอาศัยและบำรุงเลี้ยงทางอารมณ์จากกัลยาณมิตร การเตือนสติยามที่หลงผิด กระทำผิด

ปณิธาณของท่านพุทธทาสดังกล่าว กล่าวถึงที่สุดแท้จริงไม่ใช่ของบุคคลใดๆ แต่คือปณิธาณของทุกคนที่เลือกจะแลเห็นและตระหนักต่อความเป็นจริงดังกล่าว  หากเราเลือกให้อนุชนรุ่นหลังมีชีวิตที่สุข สงบ ในสังคมที่เบียดเบียนน้อยลง เราทุกคนจำเป็นต้องสานต่อปณิธาณเหล่านี้  การเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำ ผลลงเอยย่อมแตกต่างกัน  และนั่นคือ ความรับผิดชอบของทุกคน


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน