สำนึกพื้นฐานของศีลธรรมสมัยใหม่

พระไพศาล วิสาโล 19 สิงหาคม 2006

ปัจจุบันมีการพูดกันมากถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูศีลธรรม  คำถามประการหนึ่งที่ต้องคิดกันก็คือ จิตสำนึก ค่านิยม หรือพฤติกรรมอย่างไร ที่ควรปลูกฝังหรือเสริมสร้างให้เกิดมีขึ้น  แน่นอนว่าศีล ๕ หรือเบญจศีล เบญจธรรม หรือเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์ กามสังวร สัมมาอาชีวะ และสติ เป็นธรรมขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต้องปลูกฝังให้เกิดมีขึ้น  แต่สำหรับสังคมสมัยใหม่ การอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม ต้องอาศัยจิตสำนึก ค่านิยม และพฤติกรรมอีกหลายประการ  อาทิ การเคารพสิทธิของผู้อื่น การยอมรับความหลากหลายและเคารพความเห็นที่แตกต่าง  การเชื่อมั่นในความเพียรของตนเอง ใฝ่รู้ใฝ่ทำ  รู้จักพึ่งตนและรับผิดชอบการกระทำของตน  การรู้จักคิดหรือคิดเป็นคิดชอบ  คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้คนในยุคบัจจุบัน ซึ่งมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้นทุกที

ปัจเจกชนเหล่านี้เป็นอิสระจากข้อผูกมัดและการกำกับควบคุมของครอบครัว ชุมชน และกฏเกณฑ์ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับผู้คนสมัยที่ยังอยู่หมู่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้นสิ่งที่จะมีอิทธิพลในการกำกับพฤติกรรมของเขาได้มากที่สุด คือจิตสำนึกจากภายใน  การพยายามปลูกฝังศีลธรรมแบบหมู่บ้าน หรือการสอนให้เชื่อฟังพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ หรือผู้ใหญ่ จึงไม่ได้ผลสำหรับคนสมัยใหม่ แม้จะได้ผลกับชุมชนสมัยก่อนก็ตาม

การเสริมสร้างปัจเจกชนที่มีศีลธรรมนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในยุคที่เน้นปัจเจกนิยมอย่างสุดโต่ง จนมีการใช้เสรีภาพอย่างเกินเลย จนก่อผลเสียทั้งต่อตนเองและสังคม  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย หรือในลำดับถัดไปก็คือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับส่วนรวม  ทั้งนี้เพราะแต่ละคนนั้นมีคุณสมบัติหรือธรรมชาติ ๒ ประการคือ ความเป็นบุคคล และการเป็นสมาชิกของส่วนรวม ซึ่งมีหลายระดับ เริ่มจากครอบครัว ชุมชน สถาบันการศึกษา ไปจนถึงประเทศชาติ และโลก  การทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความเป็นสมาชิกของส่วนรวม หรือการนำเขากลับเข้าไปมีความสัมพันธ์กับส่วนรวม โดยยังคงปัจเจกภาพไว้ได้นั้น เป็นสิ่งที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดสภาพปัจเจกชนแบบสุดโต่งได้  ดังนั้นหลักธรรมที่ควรปลูกฝัง คือ การมีสำนึกทางสังคม ความเอาใจใส่ในสมบัติและทรัพยากรสาธารณะ ไม่นิ่งดูดายกับการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือการยักยอกสมบัติของหลวง การปกป้องกฏเกณฑ์หรือหลักการที่สังคมยึดถือร่วมกัน

การมีสำนึกต่อส่วนรวม ย่อมป้องกันมิให้บุคคลกลายเป็นปัจเจกชนอย่างสุดโต่ง หรือถูกครอบงำด้วยอัตตาธิปไตย คือการถือเอาความเห็นและความต้องการของตนเป็นใหญ่  ขณะเดียวกัน การเป็นปัจเจกชนที่มีคุณธรรม ก็ป้องกันมิให้ถูกพัดพาไปตามกระแสสังคมในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือถูกครอบงำด้วยโลกาธิปไตย คือการถือเอาความเห็นของผู้คนทั้งหลายเป็นใหญ่  กล่าวอีกนัยหนึ่ง การมีสำนึกต่อส่วนรวมควบคู่กับการเป็นปัจเจกชนที่มีคุณธรรม ย่อมช่วยให้ดำรงตนอยู่ในหลักธรรมาธิปไตย คือการถือเอาธรรมะหรือความถูกต้องเป็นใหญ่

จิตสำนึกและพฤติกรรมดังกล่าว ไม่อาจแยกออกจากกระบวนทัศน์ ได้แก่ทัศนะหรือความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิตและโลก  กระบวนทัศน์ที่เอื้อเฟื้อต่อศีลธรรม คือ การตระหนักถึงความเป็นจริงว่าเราทุกคนอยู่ในเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงชีวิต สังคม และธรรมชาติเข้าด้วยกัน  กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราทั้งหลายต่างพึ่งพาอาศัยกันและมีผลกระทบต่อกันและกัน  สุขภาวะของเราไม่อาจแยกจากสุขภาวะของผู้อื่น หรือสุขภาวะในสังคมและธรรมชาติได้  การเอารัดเอาเปรียบเพื่อประโยชน์ส่วนตน ย่อมก่อให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวมและย้อนกลับมายังตนเองในที่สุด  ดังนั้นการร่วมมือกันจึงดีกว่าการแข่งขันกัน  การใช้ความรุนแรงต่อกันย่อมส่งผลเสียต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ อีกทั้งยังย้อนกลับมาที่ตัวเราด้วย ดังนั้นจึงควรที่จะใช้สันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้ง

กระบวนทัศน์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่สวนทางกับแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังระบบทุนนิยมและระบบอำนาจนิยมเท่านั้น หากยังสวนทางกับวิชาหรือศาสตร์ต่างๆ ที่สอนกันอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ  นั่นหมายความว่าในการเสริมสร้างกระบวนทัศน์ที่เกื้อกูลต่อศีลธรรม จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาวิชาการหรือศาสตร์ต่างๆ ขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกันด้วย  อาทิ เศรษฐศาสตร์แบบพอเพียง นิเวศวิทยาแนวลึก แพทยศาสตร์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ รวมทั้งสันติศึกษา

และที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ พุทธศาสตร์ที่มีโลกุตตรธรรมเป็นแกนกลาง  เพราะทุกวันนี้พุทธศาสตร์ที่สอนกันล้วนจำกัดอยู่ในเรื่องโลกิยธรรม โดยความสำเร็จทางโลกเป็นหลัก (หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่าประโยชน์ปัจจุบัน) เช่น การมีทรัพย์ มีสุขภาพ มีครอบครัวและความเป็นอยู่ที่ดี  แม้สิ่งเหล่านี้จะสำคัญ แต่ก็ยังไม่ทำให้คนมีชีวิตที่ผาสุกอย่างแท้จริง  อีกทั้งยังไม่ใช่หลักประกันทางศีลธรรมที่แน่นแฟ้น  หากจำเป็นต้องมีโลกุตตรธรรมเป็นพื้นฐาน นั่นคือการมีจิตอิสระและสงบเย็น เพราะมีปัญญาเท่าทันความผันผวนปรวนแปรของชีวิตและโลก และไม่ติดยึดสิ่งใดว่าเป็นตัวกูของกู  พุทธศาสตร์ที่มีโลกุตตรธรรมเป็นแกนกลางนั้น ถูกละเลยไปนานแล้ว (ส่วนหนึ่งก็เพราะความพยายามที่จะทำให้พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันฟื้นกลับมาให้มีความหมายกับสังคมสมัยใหม่ ดังท่านพุทธทาสภิกขุได้เป็นสดมภ์หลักในเรื่องนี้มากว่า ๗ ทศวรรษแล้ว

หลักธรรมหนึ่งที่ควรปลูกฝังในสังคมสมัยใหม่ คือ การมีสำนึกทางสังคม หรือการมีจิตสาธารณะ

ควรกล่าวย้ำในที่นี้ว่า โลกุตตรธรรมนั้นมิใช่เป็นเรื่องไกลตัว จำเพาะนักบวชเท่านั้นที่พึงใส่ใจ  แท้ที่จริงโลกุตตรธรรมมีความสำคัญกับคนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ต้องการมีชีวิตอย่างปุถุชน เพราะไม่ว่าจะประสบความสำเร็จทางโลกเพียงใด ก็หนีไม่พ้นความพลัดพรากสูญเสีย ตลอดจนความแก่ ความเจ็บป่วย และความตายไปได้  หากไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงเหล่านี้ ปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้ความผันผวนปรวนแปรดังกล่าว ชีวิตย่อมเต็มไปด้วยความทุกข์  ขณะเดียวกันเมื่อประสบความสำเร็จทางโลก ได้ทรัพย์และชื่อเสียงเกียรติยศมาแล้ว กลับปล่อยใจให้สยบมัวเมา ยึดมั่นสำคัญหมายอย่างไม่รู้เท่าทันโทษของมัน ในที่สุดก็จะกลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น  แทนที่มันจะเป็น “ของเรา” เราต่างหากที่กลายเป็น “ของมัน” จนอาจยอมตายเพื่อมันได้  ชีวิตเช่นนี้ย่อมหาความสุขได้ยาก แม้จะเป็นแค่ความสุขแบบ “โลกๆ” ก็ตาม  เพราะนอกจากจะทำให้สุขภาพกายและใจเสื่อมโทรมเพราะความเครียดแล้ว ยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานแม้กับคนในครอบครัว  หรือยิ่งกว่านั้นก็คือเกิดการเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ และทำร้ายกัน เพื่อแย่งชิงสิ่งเหล่านี้มาอยู่ในครอบครองให้ได้มากที่สุด

โลกุตตรธรรมช่วยให้เรารู้เท่าทันโลกธรรมหรือความสำเร็จทางโลก ตระหนักถึงความไม่เที่ยงหรือความผันผวนเสื่อมสลาย (อนิจจัง ทุกขัง) อันเป็นธรรมชาติของมัน  รู้ว่ามันไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราได้  และไม่มีทางที่จะยึดมันไว้ให้เป็นของเราอย่างแท้จริง (อนัตตา)  ปัญญาดังกล่าวช่วยให้จิตเป็นอิสระจากความยึดมั่นสำคัญหมายในสิ่งเหล่านี้ และดังนั้นจึงเป็นนายของมันอย่างแท้จริง คือใช้มันให้เกิดประโยชน์ โดยไม่เผลอเข้าไปเป็นทุกข์หรือถูกมัน “กัด”  สภาวะดังกล่าวอยู่ในวิสัยปุถุชนจะเข้าถึงได้ แม้จะไม่สมบูรณ์พร้อมก็ตาม  และอันที่จริงเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำสำหรับปุถุชนคนทั่วไป ที่มีชีวิตท่ามกลางความไม่สมหวังและการกระทบกระทั่งจากทุกสารทิศ  การมีโลกุตตรธรรมเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต ถึงที่สุดแล้วย่อมช่วยลดความยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู” ดังนั้นจึงทำให้ไม่ตกอยู่ในอำนาจของบริโภคนิยมหรือความทะยานอยาก ขณะเดียวกันก็ไม่เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ลุแก่โทสะหรือหมายมุ่งบังคับใครให้อยู่ในอำนาจของตน  โลกุตตรธรรมจึงเป็นพื้นฐานที่หนักแน่นมั่นคงของศีลธรรมในสังคม  ด้วยเหตุนี้โลกุตตรธรรมจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนทัศน์ทางศีลธรรม ที่ควรปลูกฝังหรือเสริมสร้างให้มีขึ้นแก่คนทั่วไปในสังคม


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา