สิ่งที่ขาดหายไปจากการศึกษาสงฆ์

พระไพศาล วิสาโล 20 ตุลาคม 2001

ในอดีตการศึกษาของสงฆ์มีทั้งที่เป็นรูปแบบและนอกรูปแบบ  กล่าวคือมีปริยัติศึกษาที่สอนกันเป็นกิจจะลักษณะตามสำนักต่างๆ แม้จะมิได้เป็นชั้นเรียนหรือโรงเรียนอย่างปัจจุบัน  ขณะเดียวกันก็มีการอบรมสั่งสอนในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว เช่น การสอนวิชาช่าง วิชาโหราศาสตร์ หรือวิชาทางโลกต่างๆ ด้วย

การฝึกงานหรือเรียนแบบตัวต่อตัว ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน และไม่มีหลักสูตรใดๆ ทั้งสิ้น  นอกจากนั้นยังมีการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับวินัยและข้อวัตรโดยเจ้าอาวาสหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งก็ไม่เป็นกิจจะลักษณะเช่นกัน  การอบรมดังกล่าวสอดแทรกกลมกลืนไปกับชีวิตประจำวันของพระเณร เช่น ระหว่างฉัน หรือระหว่างที่พระเณรทำการอุปัฏฐาก  ในทำนองเดียวกันการฝึกสมาธิภาวนาก็ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว

การศึกษานอกรูปแบบดังกล่าวดำรงอยู่กับการศึกษาในรูปแบบหรือปริยัติศึกษามาช้านาน จนเพิ่งสูญหายไปเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ คงเหลือแต่ปริยัติศึกษาที่กลายมาเป็นส่วนเดียวที่โดดเด่นของการศึกษาสงฆ์  อันที่จริงการศึกษานอกรูปแบบเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับการศึกษาของสงฆ์ การที่พระพุทธองค์ทรงตั้งสังฆะหรือชุมชนสงฆ์ขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดการศึกษา โดยอาศัยระเบียบชุมชนและแบบแผนชีวิตที่เรียกว่า “วินัย” เป็นเครื่องฝึกหัดเกลาหรือเอื้อให้เกิดการพัฒนาตนขึ้นทั้งในทางพฤติกรรมและจิตใจ  แม้จะไม่มีการเล่าเรียนเขียนอ่านเลย ชีวิตในชุมชนสงฆ์ก็ยังเป็นชีวิตแห่งการศึกษา เพราะพระเณรมีโอกาสที่จะได้รับการฝึกหัดขัดเกลาและชี้แนะจากเจ้าอาวาสหรืออุปัชฌาย์อาจารย์ จากการปฏิบัติตามวินัยและข้อวัตรต่างๆ จากการเจริญสมาธิภาวนาด้วยตนเองหรือกับหมู่คณะ  ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการศึกษานอกรูปแบบ ที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายให้เกิดขึ้นจากสังฆะ

การศึกษาสงฆ์ในรอบศตวรรษที่ผ่านมามีความหมายเรียวลง จนเหลือเพียงแค่ปริยัติศึกษาหรือการศึกษาในรูปแบบ  สาเหตุก็เพราะถูกครอบงำด้วยกระแสการจัดการศึกษาอย่างใหม่ที่ยังมีอิทธิพลในปัจจุบัน นั่นคือการศึกษาแบบวัฒนธรรมอุตสาหกรรม หรือการศึกษาแบบโรงเรียนซึ่งมุ่ง “ผลิต” คนที่มีความรู้พร้อมกันคราวละมากๆ โดยให้มีความรู้อย่างเดียวกัน (แม้จะมีภูมิหลังหรือลักษณนิสัยและความโน้มเอียงต่างกัน) ทั้งนี้โดยเน้นความรู้จากตำราที่สามารถควบคุมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ง่ายและประเมินผลได้สะดวก

ภายใต้วัฒนธรรมความคิดแบบนี้ การศึกษาไม่ว่าในวงการสงฆ์หรือวงการคฤหัสถ์ก็จะถูกทอนความหมายให้กลายเป็นเพียงแค่การศึกษาในรูปแบบหรือการศึกษาในชั้นเรียน  แม้ภายหลังจะยอมรับและเปิดโอกาสให้มีการศึกษาแบบอื่นๆ ขึ้นมา แต่ก็ยังถือว่าการศึกษาในรูปแบบนั้นสำคัญกว่า  ดังจะเห็นได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาที่พูดถึงในปัจจุบันยังหนีไม่พ้นกรอบคิดที่เน้นการศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย  ขณะที่การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษา “ตามอัธยาศัย” ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไรจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา

จำเป็นที่จะต้องฟื้นการศึกษานอกรูปแบบขึ้นมา เพื่อให้สังฆะหรือวัดเป็นชุมชนแห่งการศึกษาอย่างแท้จริง  กล่าวคือนอกเหนือจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังควรมีการปรับปรุงจัดสรรสภาพแวดล้อมในวัด และชีวิตความเป็นอยู่ของพระเณรให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการพัฒนาตนทั้งในด้านพฤติกรรม จิตและปัญญา  รวมทั้งปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอาวาสกับพระเณรในวัด จากการเป็นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง (ในความหมายเชิงอำนาจ) มาเป็นความสัมพันธ์แบบอาจารย์กับศิษย์ให้มากขึ้น

การศึกษาสงฆ์มีความหมายแคบลง จนเหลือเพียงแค่ปริยัติศึกษาหรือการศึกษาในรูปแบบ เพราะถูกครอบงำด้วยกระแสการศึกษาแบบวัฒนธรรมอุตสาหกรรม คือมุ่ง “ผลิต” คนที่มีความรู้พร้อมกันคราวละมากๆ โดยให้มีความรู้อย่างเดียวกัน

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องการศึกษาสำหรับพระเณร แต่การศึกษาสำหรับฆราวาสก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์อยู่ไม่น้อย เพราะทุกวันนี้พระสงฆ์ยังมีบทบาทเป็นผู้นำชุมชนอยู่มากโดยเฉพาะในชนบท ดังนั้น วัดจึงควรมีส่วนในการให้การศึกษาแก่ฆราวาสด้วย โดยเฉพาะการศึกษานอกรูปแบบ

การศึกษานอกรูปแบบสำหรับคฤหัสถ์นั้น  นอกจากพระสงฆ์จะทำได้ด้วยการจัดอบรมกรรมฐาน บวชชีพราหมณ์ หรือจัดค่ายเยาวชน ตลอดจนการจัดอภิปรายและนิทรรศการในเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมแล้ว  อีกวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญมากแต่มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจ ก็คือการใช้กระบวนการกลุ่ม  บุคคลสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนความเห็นภายในกลุ่ม ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง มิใช่จากตำราหรือจากทฤษฎี  กระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มนี้เกิดขึ้นได้จากการทำให้กลุ่มมีกิจกรรมร่วมกัน อาจเป็นกิจกรรมเฉพาะกิจ หรือกิจกรรมที่ต่อเนื่องยืนยาว อาจเป็นกิจกรรมที่สมมติขึ้นมา หรือกิจกรรมที่สัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อาทิเช่น การประกวดสื่อสอนธรรมโดยทำร่วมกันเป็นกลุ่ม การจัดตั้งกลุ่มดูแลรักษาป่า หรือการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์โดยอิงหลักธรรม ดังที่พระสงฆ์ในหลายท้องถิ่นกำลังริเริ่มดำเนินการอยู่

นอกจากนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้วัดเป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับชุมชน หรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ก็เป็นการจัดการศึกษานอกรูปแบบอีกอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์สามารถทำได้  กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยตรงแล้ว ยังให้ความรู้ทางโลกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชุมชนของตน หรือมีทักษะที่เกี่ยวกับการทำมาหากินส่วนตนและการพัฒนาชุมชน  อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดการฝึกฝนพัฒนาตนในทางธรรมด้วย เช่น ฝึกให้มีความเสียสละ รับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความอดทนเห็นใจผู้อื่น เห็นคุณค่าของการร่วมมือและซื่อตรงต่อกัน เป็นต้น

ทั้งนี้โดยพระสงฆ์นอกจากจะเป็นผู้เอื้อให้เกิดกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังสามารถช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้คำชี้แนะ หรือกระตุ้นให้เกิดข้อคิดในทางธรรม โดยอาจอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มหรือระหว่างทำกิจกรรมนั้น เป็นอุทธาหรณ์สอนใจ  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้กระบวนกลุ่มเป็นสื่อสอนธรรมโดยไม่จำเป็นต้องเทศน์บนธรรมาสน์

การศึกษานอกรูปแบบดังกล่าวมา เป็นสิ่งที่วัดทุกวัดสามารถทำได้ เพราะไม่ใช้ทุนรอนมากมาย อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นขึ้นอยู่กับกำลังของแต่ละวัด  ที่สำคัญคือทำให้วัดกลับมามีบทบาทสร้างสรรค์ต่อชุมชนอย่างสมสมัย ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้แน่นแฟ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เหินห่างกันมานาน


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา