สู่สังคมที่มุ่งแสวงหาความจริง

ปรีดา เรืองวิชาธร 31 ตุลาคม 2010

การที่คนในสังคมติดกับดักแห่งการคิดหรือมองคนและเหตุการณ์อย่างตัดสินตายตัว หลงอยู่ในวังวนแห่งความเห็นความเชื่อของตนจนยากที่จะเฉลียวใจว่า ความเห็นความเชื่อของเรานั้นอาจจะมีข้อจำกัด มีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริง หรือเป็นความเชื่ออันเนื่องมาจากการมองเห็นความจริงไม่ถี่ถ้วนรอบด้านนั้น มีหลายเหตุหลายปัจจัยเชื่อมโยงกันอยู่

ประการแรก คนส่วนใหญ่มักยึดมั่นถือมั่นภาพความทรงจำจากประสบการณ์ในอดีตที่ฝังจำจนรู้สึกปักใจเชื่อไปอย่างรวดเร็ว ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับภาพประสบการณ์ในอดีตนั้นๆ ซึ่งมักจะเป็นประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการหวั่นไหวสะเทือนใจภายในมากจนเก็บงำเป็นภาพในอดีตที่ฝังใจ ดังเช่น หากมีคนกลุ่มหนึ่งเคยพูดและกระทำให้เกิดความรุนแรงเสียหายกับเรา ดังนั้นหากมีความรุนแรงเสียหายเกิดขึ้นอีกเราย่อมปักใจเชื่ออย่างรวดเร็วง่ายดายว่า ต้องเป็นคนกลุ่มเดิมเป็นแน่ เรายากที่จะเฉลียวใจว่าอาจจะเป็นคนกลุ่มอื่นก็ได้ และยากที่จะตั้งคำถามเพื่อค้นหาความเป็นจริงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเท็จจริงเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเพื่ออะไร เป็นต้น

ประการต่อมา เรามักจะเลือกเชื่อหรือมีความคิดเห็นสอดคล้องต้องกันกับความอยากเห็นหรืออยากให้เป็นไปที่มีอยู่เดิมแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สอดคล้องไปกันได้กับภาพที่เราอยากเห็น เราก็จะคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องราวไปในทำนองนั้น พร้อมกับหาหลักฐานมาวิเคราะห์เชื่อมโยงไปสู่บทสรุปตามที่เราอยากเห็นอยากให้เป็น ดังเช่น หากเราไม่ชอบหรืออยู่ฝั่งตรงข้ามกับคนเสื้อแดงอยู่แล้ว เวลาเกิดเหตุวางระเบิดกลางกรุงขึ้นมาทีไร ลึกๆ เราก็อยากเห็นการสืบสวนเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่บทสรุปว่า คนเสื้อแดงเป็นคนทำ เพราะบทสรุปจะช่วยตอกย้ำว่า ที่เราโกรธเกลียดคนเสื้อแดงนั้นถูกต้องชอบธรรมแล้ว ในทางตรงข้ามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่เชื่อว่ารัฐและกระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอจะมีการตัดสินคดีความสำคัญๆ ก็จะปักใจเชื่อได้ง่ายว่า การตัดสินนั้นมีความลำเอียงหรือปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนในสังคมตกอยู่ภายใต้มนต์สะกดของสื่อแขนงต่างๆ ที่ต้องการสร้างข่าว ขายข่าว ขายจิตวิญญาณของสื่อเพื่อเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ รวมถึงเราตกอยู่ภายใต้การครอบงำชี้นำจากผู้นำกลุ่มของตน (ไม่ว่าแดงหรือเหลืองก็ตาม) อย่างไม่เฉลียวใจที่จะตั้งคำถามว่า สิ่งที่ผู้นำกลุ่มของเราพูดและทำนั้นเท็จจริงเป็นอย่างไร ลึกๆ แล้วเพื่ออะไร  มนต์สะกดชั้นเลิศอีกอย่างหนึ่งก็คือ กระแสของคนรอบข้างที่เรารู้สึกว่าเป็นพวกหรือกลุ่มเดียวกับเรา ได้พูดยุยงประโคมข่าวจนเราและกลุ่มของเรามีความเชื่อไปในทางเดียวกันอย่างปราศจากการใคร่ครวญ  ภายใต้อำนาจของมนต์สะกดทั้งจากผู้นำ สื่อ และกระแสของกลุ่ม ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการรู้เท่าทันและความสามารถในการแสวงหาความจริงตามที่มันเป็น  ด้านหนึ่งนั้นการมุ่งแสวงหาความจริงอย่างเป็นธรรมไร้อคติมักทำได้ยาก มีต้นทุนสูง และลึกๆ ในใจเราอาจจะไม่อยากรู้ความเป็นจริงก็ได้

นอกเหนือจากนี้ ที่การมองแบบตัดสินตายตัวกำลังเจริญงอกงามและฝังรากลึกในสังคมไทย ก็เพราะค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมล้วนให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบแข่งขัน เน้นความเร่งรีบรวดเร็วจนมองเห็นอะไรเกิดขึ้นก็ด่วนสรุปอย่างมักง่าย อีกทั้งให้คุณค่ากับความผิวเผินจอมปลอมมากกว่าแก่นแท้ข้างในของคน ดังนั้นเราจึงสรุปอะไรได้อย่างรวดเร็วง่ายดายจากสิ่งที่เห็นอย่างฉาบฉวยผิวเผิน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สอดคล้องไปกันได้กับภาพที่เราอยากเห็น เราก็จะคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องราวไปในทำนองนั้น

ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น หากเราจะก้าวพ้นจากวัฒนธรรมแบบตัดสินตายตัวได้ ก็ต้องเริ่มที่การทำให้ย่างก้าวของชีวิตมีความเนิบช้าลง มีสติใคร่ครวญเวลามองสิ่งที่เห็น ที่รับรู้ อย่างแยกแยะไม่ด่วนสรุปอย่างรวดเร็วและตายตัว ช่วยกันสร้างสรรค์สำนึกหรือท่าทีการแสวงหาความจริงอย่างรอบด้านและลงลึก พร้อมกับหยิบยื่นโอกาสให้กันและกันเพื่อปรับปรุงแก้ไขและเริ่มต้นชีวิตใหม่

สำหรับการป้องกันหรือไม่ตกร่องการมองแบบตัดสินตายตัวได้ง่าย เราจำต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีมองใหม่ ในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรงเสนอวิธีคิดหรือมองแบบแยกแยะ (วิภัชชวาท) เพื่อช่วยให้เราไม่หลงไปสู่กับดักของความจริงที่ไม่ครบด้านหรือไม่ตรงตามที่เป็นจริง ซึ่งเราสามารถฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดจนเกิดความคุ้นเคยใหม่ได้ โดยหมั่นกำหนดรู้ให้เท่าทันความคิด (สติ) หากเรากำลังจะด่วนตัดสินคนหรือสิ่งใด เมื่อรู้เท่าทันแล้วย่อมช่วยให้หัวใจเปิดกว้าง พร้อมที่จะรับฟังเพื่อแสวงหาความจริงบางด้านที่ขาดหายไป (ซึ่งแม้จะช้าเสียเวลาบ้างแต่ผลที่ได้ย่อมคุ้มค่า) เมื่อตระหนักรู้ชัดแล้วเราฝึกฝนการคิดหรือมองแบบแยกแยะโดยหมั่นทำในใจดังเช่นว่า

ก) เราไม่ควรลงความเห็นว่า สิ่งนี้คนนี้ดีหรือร้ายโดยส่วนเดียว เพราะจริงๆ แล้วย่อมมีด้านอื่นแง่อื่นที่ดีหรือร้ายบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้น หากจะยุติธรรมแล้วเราควรมองสิ่งนั้นคนนั้นอย่างแยกแยะและรอบด้าน ซึ่งจะช่วยทำให้เราปฏิบัติต่อสิ่งนั้นคนนั้นได้ถูกต้องมากขึ้น อย่างน้อยก็จะไม่เกิดความคลั่งไคล้ใหลหลงหรือเกลียดชังอย่างสุดโต่ง

ข) เตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า ภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏออกมา ไม่ว่าจะดีหรือร้ายเพียงใดย่อมมีเหตุปัจจัยมากมายที่เชื่อมโยงกัน แล้วหนุนให้เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นมา ดังนั้น ก่อนที่จะเข้าไปผลักไสด้วยความโกรธหรือคล้อยตามด้วยแรงชื่นชม ควรยับยั้งชั่งใจเพื่อสำรวจถึงเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย เราจะได้ไม่ตกหลุมพรางของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ค) ก่อนจะลงความเห็น ว่า คนอื่นผิดพลาดซ้ำซากไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ก็ควรชั่งใจเพื่อตรวจสอบว่า เขามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว เขาได้พยายามไปบ้างมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญเราได้ทำอะไรบ้างไหมเพื่อเป็นช่วยทำให้เขาเปลี่ยนแปลง หรือเรายังคงเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในภาพเดิมตลอดเวลา ข้อนี้จะทำได้ดีก็ต่อเมื่อรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ง) เผื่อใจอยู่เสมอว่า สิ่งที่เคยใช้ได้ผลจริงมาตลอด อาจจะใช้ไม่ได้บางบริบทบางสถานการณ์ ซึ่งอาจจะมีสิ่งอื่นวิธีการอื่นที่เหมาะสมกว่า รวมถึงเผื่อใจอยู่เสมอว่าสิ่งนั้นวิธีการนั้นเดิมเคยใช้ได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลแล้วก็ได้ เมื่อคิดอย่างนี้เสมอก็ย่อมช่วยทำให้เรามีจิตใจเป็นนักค้นคว้าอย่างสร้างสรรค์ ไม่ปฏิเสธสิ่งอื่นวิธีการอื่นได้ง่ายก่อนจะได้ไตร่ตรอง

จ) ก่อนจะปิดกั้นหรือโจมตีความเห็นต่างของผู้อื่น ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเราทุกฝ่ายไม่ควรผูกขาดความจริง ว่าเรา (หรือเขา) เท่านั้นที่คิดถูกเห็นถูก เพราะเราต่างก็กำลังเวียนว่ายอยู่กับการแสวงหาความจริงที่รอบด้านไม่ใช่หรือ จริงหรือไม่ที่แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ย่อมสัมผัสรับรู้ต่อสิ่งใดๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นความจริงหรือความรู้สึกว่าดีของเขาอาจจะไม่ตรงกับเรา จะมิดีกว่าหรือหากเราเอามุมมองที่แตกต่างมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันด้วยท่าทีของผู้รักการแสวงหาความจริง แทนที่จะปิดกั้นโจมตีความเห็นต่างก่อนที่จะได้ใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน ซึ่งย่อมทำให้สังคมได้คำอธิบายหรือได้การบางอย่างซึ่งเป็นประโยชน์แท้จริงแทนด้วยซ้ำ

ตัวอย่างการคิดแบบวิภัชชวาทหรือมองอย่างแยกแยะที่กล่าวมานี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพียงเราหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ ย่อมช่วยให้เปลี่ยนทัศนคติหรือความเห็นที่ผิดพลาด ทำให้เราใจกว้างมากขึ้น และทำให้เราไม่ถูกลากจูงไปตามอำนาจของความรู้สึกชอบชังได้ง่าย สังคมของเราก็จะสงบสุขน่าอยู่มากขึ้น

สำหรับคนที่ถูกตัดสินหากยังต้องเผชิญกับคำตัดสินอยู่ ก็ควรฝึกมองคำตัดสินให้เป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่ช่วยตรวจสอบเราให้เข้มแข็งเติบโต อันไหนใช่ก็รับรู้ยอมรับและค่อยๆ แก้ไขไปทีละเล็กละน้อย อันไหนไม่ใช่ก็วางกองลงตรงหน้า หากมีโอกาสดีก็ชี้แจงอธิบายความเป็นจริงออกไป มองอีกแง่หนึ่งบางครั้งคำตัดสินก็ถือเป็นเครื่องฝึกฝนใจให้เราลดละคลายความยึดมั่นถือมั่นที่มีในตนลง ไม่สำคัญมั่นหมายในความดี เก่ง ดัง ของตัวเราเอง มันยังทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตที่ว่า ทั้งคำสรรเสริญและตำหนิติเตียนก็ล้วนไม่เที่ยงแท้แปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย วันนี้เขาชื่นชมพรุ่งนี้เขากลับก่นด่าเสียแล้ว เอาอะไรแน่นอนไม่ได้เลยครับ


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน