หลากมิติจิตอาสา

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 5 กรกฎาคม 2015

“จิตอาสา” เป็นคำใหม่ที่เพิ่งใช้กันกว้างขวางเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีผู้วิเคราะห์ว่าคำๆ นี้เริ่มต้นนำมาใช้ในช่วงมหันตภัยสึนามีเมื่อ พ.ศ. 2547 ที่มีอาสาสมัครไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ช่วงแรกๆ สังคมจึงรับรู้และเข้าใจว่าจิตอาสาคืออาสาสมัครที่ช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ จนกระทั่งเมื่อกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเติบโต ความหมายของจิตอาสาก็เริ่มกินความถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่า การสร้างฝาย

ทว่าจิตอาสามีความหลากหลายและกว้างขวางเกินกว่าจะบรรยาย และไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือด้านข้าวของเงินทองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องเชิงนามธรรมอย่างจิตใจอีกด้วย เพียงแค่มี “จิต” หรือ “ใจ” กระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อผู้อื่นก็ถือว่าเป็นจิตอาสาตามความหมายของตัวอักษรนั่นเอง

จะเห็นได้ว่างานกิจกรรมจิตอาสามีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม ในยุคสมัยที่ประเทศชาติกำลังพัฒนา งานจิตอาสาที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญก็คือการออกค่ายสร้างโรงเรียนห้องสมุดหรือศาลาวัดในหมู่บ้านห่างไกล ส่วนในยุคนี้ที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความเครียด ก็มีจิตอาสารูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น จิตอาสาดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือจิตอาสาเพื่อการรับฟังเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง

อาสาสมัคร “สันติวิธี” ร่วมกันรณรงค์เพื่อยุติความขัดแย้งและป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากประเด็นทางการเมือง (ภาพจากกิจกรรมเมื่อปี 2553)

มนุษย์มีความกรุณาเป็นพื้นฐาน ดังนั้นเมื่อมีปัญหาหรือความทุกข์ สิ่งแรกที่เรามักนึกถึงคือการหาทางแก้ปัญหา แท้จริงสิ่งสำคัญก่อนการแก้ปัญหาคือการรับฟังเรื่องราวเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และปัญหานั้นๆ ก่อนการกระโดดเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งอาจแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ตามมา ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการรับฟังอย่างตั้งใจจนอีกฝ่ายรู้สึกว่ามีคนเข้าใจจะทำให้ความทุกข์คลี่คลาย โดยบางครั้งไม่ต้องเข้าไปแก้ปัญหานั้นๆ เสียด้วยซ้ำ

แค่มี “จิต” หรือ “ใจ” กระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อผู้อื่น ก็ถือว่าเป็น “จิตอาสา” ตามความหมายของตัวอักษร

เมื่อไม่นานมานี้ธนาคารจิตอาสาจัดกิจกรรม “เปิดไพ่ความเข้าใจ“ ในมหกรรมจิตอาสา “งานวัดลอยฟ้า” โดยนำจิตอาสาที่มีประสบการณ์เรื่องการรับฟัง มารับฟังเรื่องราวของผู้มาร่วมงานผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “ไพ่ความเข้าใจ” โดยให้ผู้เล่าใคร่ครวญตัวเองว่ามีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ ผ่านการคัดเลือกไพ่ความรู้สึกในมือ จากนั้นผู้รับฟังจะให้ความเข้าใจโดยคาดการหรือเดาจากเรื่องเล่าว่าผู้เล่ามีความต้องการใดที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองผ่านไพ่ความต้องการ

วิธีการนี้ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า “การให้ความเข้าใจ” (empathy) ซึ่งจะทำให้ผู้เล่ารู้สึกว่ามีคนเข้าใจ เนื่องด้วยสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยมีการรับฟังกันมากนัก ดังนั้นเมื่อมีคนมานั่งรับฟังอย่างตั้งใจและช่วยคาดเดาความต้องการในเรื่องนั้นซึ่งแสดงถึงความใส่ใจก็ทำให้คนๆ นั้นรู้สึกดีขึ้นได้ โดยที่ยังไม่ต้องเข้าไปแก้ปัญหานั้นเสียด้วยซ้ำ

การรับฟังอย่างลึกซึ้งมิเพียงคลี่คลายความอึดอัดคับข้องใจ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้ฟังเปิดใจและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับความเห็นนั้นก็ตาม และเมื่อยอมรับความคิดเห็นของอีกฝ่าย ก็จะนำมาสู่มิตรภาพท่ามกลางความแตกต่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมบ้านเมืองเราในปัจจุบันต้องการเป็นอย่างยิ่ง

อาสาสมัคร “เพื่อนรับฟัง” กำลังเรียนรู้ทักษะด้านการฟังอย่างลึกซึ้ง ก่อนลงพื้นที่ไปรับฟังเพื่อช่วยคลายความทุกข์แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ภาพจากกิจกรรมเมื่อปี 2554)

“พี่อ้น” จิตอาสาที่ไปรับฟังสุขทุกข์ของผู้ต้องขังบอกว่าการรับฟังทำให้มุมมองของเธอเปิดกว้างขึ้น จากเดิมมีทัศนคติที่ไม่ดีกับคนติดคุก แต่พอไปฟังแง่มุมการใช้ชีวิตของเขาก็ลืมความผิดถูกและคำตัดสินในอดีต กลายเป็นเพื่อนหรือมิตรภาพ และมีมุมมองใหม่ว่าคนในคุกไม่ใช่คนเลว

“แค่ไปเป็นเพื่อนก็ได้เห็นมุมของความสัมพันธ์ในความเป็นเพื่อนมนุษย์ แม้จะไม่ใช่ญาติหรือคนรู้จัก แต่เมื่อพูดคุยก็ห่วงใยเหมือนญาติเหมือนคนรู้จัก ได้ไปช่วยเขาแล้วรู้สึกมีความสุข เห็นเขาเศร้าก็รู้สึกเศร้าไปกับเขาด้วย”

นอกจากนี้การทำงานจิตอาสาเช่นนี้ทำให้เธอเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับจิตอาสาไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เคยคิดว่างานจิตอาสาเป็นงานที่ต้อง “ให้” มากๆ  โดยเฉพาะด้านวัตถุ แต่แท้จริงเพียงแค่ใช้ใจและใช้เวลาก็เป็นจิตอาสาที่มีคุณภาพได้ แต่คนส่วนใหญ่มักอ้างว่าไม่มีเวลา เช่นเดียวกับที่เธอเคยเป็น ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเรามีเวลา เพียงแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำเท่านั้น

project-boon-1

อาสาสมัคร “ทำความสะอาดวัด” เปลี่ยนการเข้าวัดทำบุญด้วยการบริจาคเงิน มาเป็นการบริจาคเวลาและแรงกายให้แก่วัดแทน (ภาพจากโครงการ “ฉลาดทำบุญ”)

ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวเรื่องจิตอาสาและสังคมเห็นความสำคัญจนองค์กรต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญจนปัจจุบันจิตอาสาถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกระดับการศึกษาโดยต้องมีการประเมินผลเช่นเดียวกับวิชาอื่นๆ  ส่วนองค์กรภาคเอกชนก็กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการกำหนดตัวชี้วัดหรือการประเมินผลเชิงปริมาณ เช่น นักเรียนระดับประถมจะต้องมีสมุดบันทึกความดี เด็กระดับมัธยมจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมกิจอาสาสะสมคะแนนเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ส่วนบริษัทเอกชนต้องทำซีเอสอาร์จิตอาสาโดยพิจารณาจากจำนวนครั้งและจำนวนคนเข้าร่วม

สิ่งที่มักเกิดขึ้นในขณะนี้ผ่านมุมมองคนทำงานเพื่อสังคมที่ไปจัดกิจกรรมในงานมหกรรมจิตอาสาต่างๆ คือเด็กนักเรียนนักศึกษามักเดินเข้าออกซุ้มต่างๆ เพื่อ “เก็บแต้ม” หรือ “เก็บคะแนน” ให้ครบตามที่ครูกำหนด โดยไม่สนใจเนื้อหาสาระของกิจกรรมจิตอาสาเหล่านั้น หันไปมองด้านองค์กรภาคธุรกิจก็มักเลือกทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกระแสซ้ำๆ ไม่กี่อย่าง เช่น การปลูกป่าชายเลน การทำฝาย เป็นต้น

“จิตอาสา” มีความหลากหลายและกว้างขวางเกินกว่านั้น

กิจกรรมจิตอาสาจะตอบโจทย์ความต้องการความสังคม ขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนทำกิจกรรมจิตอาสาได้เข้าถึงแก่นแท้ของการทำงานจิตอาสาคือการแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น ก็ต่อเมื่อกิจกรรมเหล่านั้นมีความหลากหลายมีทางเลือกที่เหมาะสมกับความชอบของแต่ละคน แม้จิตอาสาแบบให้ข้าวของเงินทองจะยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมีผู้ต้องการและเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้และทำง่าย แต่จิตอาสาที่มีความสำคัญและมีผู้ต้องการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการให้เชิงนามธรรม เช่น ให้ใจให้เวลาหรือมิตรภาพนั่นเอง

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง