อดเหล้าเข้าพรรษาไปทำไม?

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 14 กรกฎาคม 2001

สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า มีชาวพุทธที่ “อดเหล้าเข้าพรรษา” ประมาณร้อยละ ๑๑ หมายความว่าคนที่เหลือยังคงดื่มต่อไปดังปกติ  คาดการณ์ได้โดยไม่ยากว่า แนวโน้มคนที่จะอดเหล้าเข้าพรรษานั้นมีแต่จะน้อยลงทุกปี  สาเหตุหนึ่งมาจากแรงโหมการโฆษณาของสุราเบียร์ทั้งหลายที่แข่งขันกันดุเดือด สร้างภาพตั้งแต่ความสนุกสนาน ความเป็นชายชาตรี ความเป็นคนไทย แม้แต่การโยงเข้ากับ “น้ำใจ” ความเสียสละ ฯลฯ  เหล้าเบียร์จึงกลายภาพเป็นเครื่องดื่มอัน “ปกติ” ไปแล้วในสังคมปัจจุบัน  ทั้งๆ ที่การดื่มสุราเป็นสาเหตุอันทำให้คน “ปกติ” มีพฤติกรรมอันไม่ปกติเพราะขาดสติในการควบคุมตนเอง จนกระทั่งสามารถจะละเมิดศีล ๕ มีพฤติกรรมเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นได้ครบทุกข้อ ไม่ว่าการฆ่ากัน ชิงทรัพย์ลักขโมย ล่วงละเมิดทางเพศ พูดจาด่าทอทะเลาะวิวาท  การที่สังคมเห็นว่าการดื่มสุราเป็นเรื่องปกติธรรมดา (ไม่ผิดกฎหมายเหมือนยาบ้า) สังคมจึงหา “ความปกติสุข” ไม่ได้  เรามีจำนวนคนเจ็บป่วยจากการดื่มเหล้าจำนวนมาก มีอุบัติเหตุ การฆ่า-ข่มขืน การวิวาททำร้ายร่างกายตั้งแต่บุคคลในครอบครัวไปจนถึงผู้อื่นที่มีเหตุมาจากการดื่มของมึนเมาเกิดขึ้นทุกวัน

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งทำให้การอดเหล้าเข้าพรรษาหายไป คือการเลือนไปของสาระสำคัญในเป้าหมายของ “การเข้าพรรษา” คงเหลือไว้เพียงรูปแบบของประเพณีพิธีกรรม คือการทำบุญตักบาตรในวันเข้าพรรษา แล้วรอไปอีก ๓ เดือนก็มาตักบาตรในวันออกพรรษาอีกทีหนึ่ง  ความไม่เข้าใจในแก่นสารที่แท้นี่เอง จึงทำให้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาในการพัฒนาชีวิตและสังคมในทุกระดับได้อย่างที่ควรจะเป็น เหมือนดังที่คนสมัยเดิมเข้าใจและได้ประโยชน์จากการเข้าพรรษา และวันพระ

พุทธศาสนานั้นมีความเชื่อพื้นฐานว่า “มนุษย์” เป็นสัตว์ประเสริฐได้ด้วยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและครบถ้วนทั้งด้านพฤติกรรม (ศีล) จิต (สมาธิ) ปัญญา  แต่มนุษย์เองก็มีความประมาทและความเกียจคร้านในการฝึกฝนตนเองด้วยเช่นกัน  ดังนั้นการจัดระบบชีวิตและเวลาเพื่อการฝึกฝนตนเองและเตือนสติมิให้ประมาทในกิจดังกล่าว จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น โดยจัดให้เหมาะสมกับระดับชีวิตทั้งในทางธรรมและทางโลก  คือสำหรับชีวิตของบรรพชิตหรือผู้บวชไม่ว่าชายหรือหญิงในทุกสัปดาห์ก็จะมีกิจอันเตือนตนถึงสมณภาวะ มีการปลงผมในวันโกน มีการแสดงธรรมแก่คฤหัสถ์ และมีการสวดปาฏิโมกข์ในหมู่สงฆ์เพื่อทบทวนพระธรรมวินัย โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะต้องทำวัตรทุกเช้าเย็น  สำหรับโอกาสเข้าพรรษาคือช่วงเวลาของการศึกษาปฏิบัติไตรสิกขาอย่างเข้มข้น หยุดการเดินทางและกิจอื่นที่ไม่จำเป็นจริงๆ เพื่อเอาเวลาไปศึกษาปฏิบัติธรรม มีการใช้ชีวิตรวมหมู่อย่างต่อเนื่อง และมีการปวารณาออกพรรษา เพื่อให้หมู่คณะช่วยเหลือฝึกฝนตักเตือนซึ่งกันและกัน  ความอ่อนแอของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ได้ทำให้การเข้าพรรษาเกิดประโยชน์น้อยมากแก่ผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาบวชเรียนในช่วงเวลาดังกล่าว

ความไม่เข้าใจในแก่นสารที่แท้ของพุทธศาสนา ทำให้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ไม่ได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาอย่างที่ควรจะเป็น

ในส่วนของชีวิตคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังครองเรือน ต้องใช้ชีวิตอยู่ในทางโลก  การฝึกฝนเตือนตนให้ดำรงชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาทในความสุขทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยไปกว่าชีวิตของบรรพชิตเช่นกัน  มิฉะนั้นความสุขและสบายในทางโลกจะนำไปสู่ความยึดติด พึงพอใจ ที่นำไปสู่ความไม่รู้จักพอ หรือพอใจได้ยาก  จนกระทั่งกลายเป็นทาสหรือเสพติดทางใจต่อสิ่งภายนอก (ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ฯลฯ) กลายเป็นทุกข์เพราะสิ่งภายนอกเหล่านั้น กระทั่งนำมาซึ่งการเบียดเบียนเพื่อให้ได้มาหรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งดังกล่าว  วันพระจึงเป็นวันที่คฤหัสถ์จัดระบบชีวิตเพื่อการเตือนตนเช่นเดียวกับพระในทุกสัปดาห์  นอกจากการถือศีล ๕ เป็นปกติแล้ว  ยังมุ่งขัดเกลาให้มีชีวิตอยู่เหนือความสุขทางวัตถุ โดยถือศีลเพิ่มขึ้นอีก ๓ ข้อ ได้ฝึกฝนตนเองให้กิน อยู่ แต่งตัวเรียบง่าย ได้ตรวจสอบใจตนเองไปพร้อมกับการเสริมสร้างความเคยชินในการมีชีวิตอยู่ด้วยคุณค่าที่ไม่ปรุงแต่งตามสังคม  และมีมิติทางสังคม คือเป็นวันแห่งการแบ่งปัน ทำบุญทำทานแก่สรรพชีวิตทุกระดับ  ในสมัยเดิมชุมชนจะหยุดงานในวันพระ ให้วัวควายได้พักผ่อน บางแห่งมีการทำขนมหวานเลี้ยงวัวควาย  เป็นวันที่คนทั้งหลายได้มาพบปะแลกเปลี่ยนทุกข์สุข แสดงศรัทธาความเชื่อที่ปัจเจกบุคคลมีร่วมกัน ก่อให้เกิดพลังทางสังคมที่เป็นปึกแผ่น มีจริยธรรมกำกับ

“การอดเหล้าเข้าพรรษา” มีสาระสำคัญมุ่งไปที่การฝึกฝนใจตนเองให้มีอิสระอยู่พ้นการเป็นทาสในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ มีโอกาสได้เห็นคุณประโยชน์ของสิ่งต่างๆ ในอีกแง่มุมหนึ่ง  เช่น เห็นการดีขึ้นของสุขภาพ ความประหยัดทรัพย์ ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น (นอกวงเหล้า) มีเวลาและสติปัญญาในการทำกิจอื่นๆ อย่างแจ่มใสมากขึ้น  การอดเหล้าเข้าพรรษาจึงนำไปสู่การพัฒนาทั้งพฤติกรรม จิตใจ และสติปัญญาอย่างครบถ้วนได้  อีกทั้งยังอาจส่งผลในทางต่อเนื่องให้บุคคลลด ละ เลิก การดื่มสุรายาเมาได้ในที่สุดด้วย

หากเราจับประเด็นของการฝึกฝนตนเองตามแนวทางพุทธศาสนาได้ ถึงแม้เราจะมิได้เป็นผู้ดื่มเหล้าเบียร์ มิได้เป็นผู้อดเหล้าเข้าพรรษา เราก็สามารถจะประยุกต์ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ให้เหมาะสมเพื่อพัฒนาชีวิตของเราได้เหมือนกัน  เช่นในยามปกติ เราอาจกำหนดให้มีช่วงเวลาในแต่ละสัปดาห์ ที่จะปรับพฤติกรรมของตนเองให้อยู่เหนือสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ  เช่น การงดเว้นบริโภคเนื้อสัตว์หรืออาหารที่ชอบ งดฟังวิทยุหรือดูละครเรื่องโปรด งดนอนห้องแอร์ ฯลฯ  เพื่อ “ดูใจ” ตนเอง ว่ามีอิสระ มีสติรู้เท่าทันความสุขสบายดังกล่าวเพียงใด  และในช่วงเข้าพรรษา ก็อาจกำหนดการปรับพฤติกรรมให้เข้มข้นมากขึ้นอีก เพื่อเติมความเข้มแข็งให้แก่จิตและปัญญา  เพื่อจะได้อยู่ในโลกได้อย่างอิสระ ลดการเบียดเบียน และแบ่งปันกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้นด้วย


ภาพประกอบ