(อยาก)บอกลาสิ่งบูดเน่าในใจเสียที

ปรีดา เรืองวิชาธร 25 พฤษภาคม 2008

รุ่นน้องคนหนึ่งได้เล่าถึงชีวิตที่กำลังทนทุกข์เจ็บปวดอันเนื่องจากคนรักแปรรักปันใจไปให้คนอื่น เขารู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลังจึงรู้สึกโกรธคนรักฝังแน่นจนยากที่จะให้อภัยได้  เมื่อถามว่าแล้วจะทำอย่างไรกับความทุกข์ที่หนักหน่วงกดทับในขณะนี้ ผมรู้สึกทึ่งและชื่นชมที่เขาตอบว่า ตั้งใจว่าจะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดครั้งนี้โดยไม่ถอยหนีไปไหน เพราะคิดว่ามันเป็นโอกาสทองที่เหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนกับจักรวาลส่งของขวัญชิ้นนี้ลงมาทดสอบภูมิคุ้มกันทางจิตวิญญาณภายในว่าจะเข้มแข็งเพียงใด อีกด้านหนึ่งก็เป็นคู่ซ้อมอันท้าทายเพื่อการเติบโตภายใน  ดังนั้นจึงไม่คิดจะหลบลี้หนีหน้าความทุกข์เจ็บปวดครั้งนี้

ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่เลือกเก็บความทนทุกข์เจ็บปวดไว้ โดยกักขังหน่วงเหนี่ยวและหล่อเลี้ยงความทุกข์ไว้ในห้องมืดของใจอย่างไม่รู้ตัว  ดังพี่พยาบาลคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตนเก็บความรู้สึกโกรธเกลียดพ่อมาร่วมยี่สิบปีที่พ่อใช้ความรุนแรงกระทำกับแม่และไม่รับผิดชอบดูแลครอบครัวอย่างที่คนเป็นพ่อควรจะทำ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานและทุกอย่างในครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากแล้วแต่ก็ยังให้อภัยพ่อไม่ได้เลย  ลึกไปกว่านั้นก็กลับรู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลาที่ตนไม่สามารถรักพ่อได้ เวลาแสดงออกหรือปฏิบัติกับพ่อก็ทำเพียงเพราะได้ชื่อว่าเป็นลูก แต่ไม่ได้ทำด้วยความรู้สึกรักจากหัวใจ

หลายคนก็เป็นเช่นเดียวกับพี่พยาบาลคนนั้นที่เลือกกักขังและหล่อเลี้ยงปมความทุกข์ไว้ที่ห้องมืดของใจ  บางคนก็เก็บปมความรู้สึกด้อยหรือความไม่มั่นใจในตัวเองรวมไปถึงความรู้สึกกลัวบางอย่างภายใน รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองด้อยและไม่เก่ง  ดังเวลาต้องเผชิญกับบางเหตุการณ์ในชีวิตหรือเผชิญหน้ากับบางคนทีไรเป็นต้องรู้สึกกลัวและไม่มั่นใจไร้พลังไร้เรี่ยวแรงที่จะดำรงอยู่ ณ ขณะนั้น ทำอะไรออกมาก็ขาดคุณภาพขาดความเป็นตัวเอง ศักยภาพที่แท้จริงเหมือนถูกกดถ่วงหน่วงทับไม่สามารถปลดปล่อยมาได้อย่างอิสระ  ดังนั้นเหตุการณ์หรือคนนั้นจึงเป็นหลุมดำของชีวิตที่คอยดูดกลืนพลังชีวิตไป

บางคนก็อาจเก็บภาพเหตุการณ์ในอดีตที่ผิดพลาดล้มเหลวจนทำให้ชีวิตในช่วงนั้นหมดความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวเองลง แม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมานานแล้วแต่ก็มักผุดโผล่เป็นฝันร้ายมาหลอกหลอนจนชีวิตเศร้าหมองขาดพลังไป โดยเฉพาะหากสถานการณ์กำลังมีแนวโน้มที่ดำเนินไปคล้ายกับเหตุการณ์ในนั้นก็เกิดความตื่นตระหนกหวาดกลัว  หรือเวลาจะทำอะไรสักอย่างก็ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวจะผิดพลาดล้มเหลวเหมือนในอดีต นับเป็นการแช่แข็งภาพเหตุการณ์ไว้ในห้องมืดของใจที่เห็นได้บ่อยเช่นกัน

ที่ความรู้สึกผิด ความโกรธเกลียด ความเจ็บปวด ความกลัวหรือความรู้สึกด้อยยังคงถูกแช่แข็งไว้ในใจและผุดขึ้นมารบกวนสร้างความหวั่นไหวให้กับเราได้ทุกเมื่อ ก็เพราะเหตุการณ์หรือคนๆ นั้นได้ทำให้เราเกิดความรู้สึกทุกข์เจ็บปวดภายในรุนแรง  แรงมากพอที่จะทำให้ความมั่นคงและความสามารถภายในที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่สามารถช่วยผยุงให้เราผ่านเรื่องร้ายแรงนั้นได้  มันรุนแรงอย่างไม่นึกไม่ฝันมาก่อนและมักไม่ทันได้ตั้งตัว เราจึงรู้สึกพ่ายแพ้อย่างหมดรูปและผูกเป็นปมร้ายซ่อนอยู่ในห้องมืดของใจ  ในอีกด้านหนึ่งเราก็มักเผลอรดน้ำพรวนดินเมล็ดพันธุ์ของปมร้ายให้เติบโตงอกงามอย่างไม่รู้ตัว ดังเช่นคนที่เก็บปมผูกโกรธไว้ยามใดที่นึกถึงคนที่โกรธก็ชอบเผลอคิดปรุงแต่งให้ร้ายเขาอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า  หรือคนที่เคยผิดพลาดล้มเหลวครั้งใหญ่ในชีวิตก็ชอบเฝ้าครุ่นคิดจ่อมจมอยู่กับฝันร้ายในอดีต พร้อมกับชอบคิดวนเวียนตัดสินตีตราตนเองว่าด้อยค่าไร้ความสามารถ ไม่ว่าจะทำอะไรสำเร็จดีขึ้นมาบ้างก็มักจะมองไม่เห็นคุณค่าภายในของตน ถึงจะทำดีทำสำเร็จมากเท่าใดก็ยังรู้สึกดีไม่พอที่จะลบล้างความผิดพลาดครั้งนั้นลงได้ เป็นต้น

แม้เหตุการณ์จะผ่านมานานแล้ว แต่ก็มักผุดโผล่เป็นฝันร้ายมาคอยหลอกหลอน ทำให้ชีวิตเศร้าหมองและขาดพลัง

ลึกๆ แล้วเรายังไม่สามารถให้อภัยตัวเองและคนที่ทำให้เราทุกข์เจ็บปวดได้  และที่เรายังให้อภัยไม่ได้ก็อาจเป็นเพราะเรามองเหตุการณ์นั้นคนนั้นอย่างหยุดนิ่งตายตัว จึงยึดมั่นถือมั่นเหตุการณ์นั้นคนนั้นให้เป็นภาพนิ่งที่คอยหลอกหลอนใจ ไม่ได้รับรู้หรือมองมันตามความเป็นจริง  กล่าวคือ ประการแรกเหตุการณ์ร้ายในอดีตนั้นจริงๆ แล้วเกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัยเชื่อมโยงกันหลายชั้นหลายทอด แต่เราก็รับรู้ความจริงได้จำกัดคือ เห็นเฉพาะเจาะจงว่าคนๆ นั้นหรือบางแง่บางมุมของเหตุการณ์ว่ามันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ทนทุกข์เจ็บปวด  เช่น เมื่อผิดพลาดล้มเหลวครั้งใหญ่ในชีวิตก็เลือกเพ่งโทษเฉพาะความผิดพลาดของตัวเองเพียงจุดเดียว เป็นต้น  อีกประการหนึ่งก็คือ ใจที่จมปลักติดยึดกับอดีตอย่างไม่ปล่อยวางมักจะคอยปลุกปั้นฝันร้ายในอดีตให้ฟื้นคืนชีพอยู่เรื่อยๆ ที่สำคัญยิ่งฝันร้ายมีอิทธิพลกับเรามากเท่าใดมันก็ยิ่งปิดกั้นลดทอนความสามารถที่จะรับรู้ความจริงตามที่มันเป็น เราจะมองไม่เห็นว่าเหตุการณ์นั้นคนนั้นรวมถึงตัวเราล้วนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อย่างเช่นแม้ว่าเราจะเข้มแข็งเติบโตขึ้นแล้วแต่ก็มักจะมองไม่เห็นหรือรู้สึกว่าตนยังอ่อนแอเกินไปที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในทำนองเดียวกับอดีต

ดังนั้นหากไม่อยากกักขังหล่อเลี้ยงสิ่งบูดเน่าในใจอีกต่อไป เราจำต้องกล้าเผชิญหน้าอย่างซื่อตรงเพื่อที่จะยอมรับและรู้จักมัน ทั้งนี้เราอาจต้องใช้หลากหลายวิธีควบคู่ในเวลาเดียวกัน

สิ่งแรกที่ควรทำเป็นพื้นฐานก็คือ หมั่นทำภาวนาให้จิตใจสงบเกิดความมั่นคงภายใน รวมถึงการภาวนาในชีวิตประจำวันด้วยการตามรู้จิตที่กำลังรู้สึกนึกคิดแต่ละขณะที่กระทบสัมผัสกับโลกภายนอก หากเราฝึกฝนอยู่เสมอก็จะสามารถตามรู้ความจริงของจิตใจได้  หรือในบางครั้งที่เรากำลังทำภาวนาก็ลองเชื้อเชิญปมร้ายของเราให้ปรากฏขึ้นในใจ เมื่อภาพปมร้ายนั้นปรากฏขึ้นมาแล้วให้ใช้สติรับรู้ความรู้สึกของจิตใจเราตรงๆ โดยไม่ต้องขัดขืน ดัดแปลงหรือกดข่มลง  ฝึกตามรู้จิตที่กำลังรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ดูหรืออยู่กับมันจนเห็นหน้าตาของมันอย่างแท้จริง  เมื่อฝึกบ่อยๆ เราจะค่อยๆมองเห็นปมที่ติดค้างชัดเจนและจะค่อยๆ ยอมรับได้อย่างแท้จริง จะสามารถมองเห็นเหตุปัจจัยหลายแง่หลายด้านชัดเจน รวมถึงมองเห็นจิตที่เราเข้าไปติดยึดเหตุการณ์นั้นคนนั้นอย่างตายตัว  และสุดท้ายจะเห็นความเป็นจริงของจิตว่า มันล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เป็นสภาพที่คงอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร

นอกจากการทำภาวนาที่ลงลึกถึงความจริงของจิตแล้ว บางครั้งเราอาจตั้งคำถามและสนทนากับตัวเองภายในหรือมีเพื่อนที่สนิทใจมาร่วมสนทนาบ้างเป็นบางครั้ง โดยตั้งคำถามอย่างซื่อตรงไปที่ภายในของเราว่า หากปมร้ายในใจยังวนเวียนอยู่อย่างนี้  ๑) สิ่งที่เราจะได้ประโยชน์นั้นมีอะไรบ้าง  ๒) สิ่งที่เราจะได้รับด้านลบมีอะไรบ้าง  ๓) หากเป็นอยู่อย่างนี้เราต้องจ่ายอะไรเป็นต้นทุนบ้าง  ๔) ที่ผ่านมาเราได้รดน้ำพรวนดินปมร้ายในใจด้วยการทำอะไรบ้าง  ๕) เราจะรดน้ำพรวนดินอำนาจที่ดีงามภายในได้อย่างไร ดังเช่นพลังแห่งเมตตากรุณา ความรัก ความสามารถในการมองเห็นด้านบวกของตนเองกับผู้อื่น เป็นต้น  หากเราตอบคำถามและสนทนาอย่างใคร่ครวญ เราก็กล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะบอกลาปมร้ายในใจพร้อมกับเห็นวิถีทางบอกลาได้ชัดเจนขึ้น

เมื่อเราเห็นความจริงของจิตใจได้ชัดเจนขึ้น ประกอบกับการเพิ่มพูนอำนาจภายในซึ่งเป็นพลังความดีงามในตัว ก็จะช่วยทำให้ปมร้ายในอดีตจางคลายลงเรื่อยๆ จนตายไปจากใจเราในที่สุด


ภาพประกอบ

ปรีดา เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: ปรีดา เรืองวิชาธร

สนใจและศึกษาเรื่องการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน