อยู่กับน้ำท่วมอย่างไรให้มีความสุข

พระไพศาล วิสาโล 11 ธันวาคม 2011

ผู้คนมักจะคิดว่าจะอยู่อย่างมีความสุขได้ก็ต้องไม่มีน้ำท่วม ต้องไม่มีภัยพิบัติ ต้องไม่มีความพลัดพรากสูญเสีย ต้องไม่เจ็บป่วย จะต้องมีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกมันเป็นอย่างนี้เอง คือมีขึ้นมีลง มันผันผวนแปรปรวนเป็นนิจ ฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตของเราจะมีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละไปตลอด มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปลอดพ้นจากภัยพิบัติและความพลัดพรากสูญเสีย  ใครที่หวังว่าชีวิตฉันจะต้องมีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้น จึงมีความคิดที่ขัดแย้งกับความจริง ถ้าเราคิดแบบนี้เมื่อไหร่ นั่นแปลว่าเราวางใจไว้ผิดแล้ว

มนุษย์เราเมื่อตระหนักว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ก็ต้องเรียนรู้หาทางป้องกันไม่ให้เหตุร้ายนั้นเกิดขึ้น ไม่ว่าน้ำท่วม ความแก่ ความเจ็บ ความปวดก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่เราก็ต้องตระหนักดีว่า เราไม่สามารถป้องกันมันได้ตลอด สักวันหนึ่งก็ต้องเกิดน้ำท่วม ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องป่วย เพราะว่าโลกนี้ชีวิตนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา มนุษย์เรามีขีดจำกัดในการควบคุมโลกภายนอกให้อยู่ในอำนาจของเรา หรือให้เป็นไปดั่งใจเรา อันนั้นคือข่าวร้าย แต่ข่าวดีคือเราสามารถรักษาใจและจัดการใจของเราได้ แม้ว่าจิตจะเป็นอนัตตาก็ตาม แต่มันอยู่ในวิสัยที่จัดการได้ในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นถึงแม้เหตุร้ายจะเกิดขึ้นแก่เรา เช่น วันนี้น้ำท่วมมาถึงตัวแล้ว บางคนก็กำลังอยู่ท่ามกลางน้ำท่วม แต่ว่าเราสามารถรักษาใจให้เป็นสุขได้ เราสามารถอยู่กับน้ำท่วมได้โดยที่ใจไม่เป็นทุกข์ แต่เป็นสุข  สามารถอยู่กับความเจ็บป่วยได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ และมีความสุขได้

สติและปัญญา ทำให้เราสามารถอยู่กับความจริงได้ แม้เป็นความจริงที่ไม่พึงปรารถนา เราก็อยู่กับมันได้ มันแค่มารบกวนไม่ให้เราดำเนินชีวิตตามปกติ แค่มารบกวนหรือคุกคามทรัพย์สมบัติของเรา อาจจะมาทำให้ชีวิตเราไม่สะดวกมากขึ้น แต่ว่าใจเรายังเป็นสุข ใจเรายังเป็นปกติอยู่ได้  สภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราหันมาให้ความสำคัญกับจิตใจของเรา เวลานี้คนส่วนใหญ่คิดแต่ว่าจะอพยพข้าวของให้ปลอดภัยได้อย่างไร จะยกของให้สูงพ้นน้ำได้อย่างไร แต่ลืมพาใจให้ปลอดภัยจากน้ำท่วมด้วย  อย่ามัวแต่ขนของขึ้นที่สูงให้พ้นน้ำ จนลืมที่จะยกใจของเราให้สูงเหนือน้ำด้วย  หลายคนน้ำยังไม่ท่วมบ้านท่วมตัวแต่ว่าใจนั้นถูกน้ำท่วมไปเรียบร้อยแล้ว เพราะลืมหาชัยภูมิให้แก่จิตใจของตน  ชัยภูมิของใจ ที่ช่วยให้ใจพ้นจากน้ำท่วมก็คือสติ สติเป็นฐานที่มั่นคง ถ้าเราตั้งจิตอยู่บนสติหรือตัวรู้ ก็จะกอบกู้ใจจากอารมณ์ได้

เมื่อต้นปีเกิดสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วตามมาด้วยแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่าและภาคเหนือ  ผู้คนจึงพากันวิตกถึงพิบัติ และนึกว่าภัยพิบัตินั้นจะมาอย่างเฉียบพลันรุนแรง แต่เรานึกไม่ถึงว่าน้ำท่วมจะเป็นภัยพิบัติหนักหนาเท่านี้ เพราะเราเจอน้ำท่วมมาปีแล้วปีเล่า แต่ปีนี้มันมาในลักษณะที่เร็ว แรง และมาก  เพื่อนอาตมาคนหนึ่ง พอรู้ว่านครสวรรค์น้ำท่วม เธอก็ไปบ้านแม่ที่อยุธยาและเริ่มขนย้ายข้าวของ น้องสาวมาเห็นก็บอกว่าเธอตื่นตูม เธอตอบว่าตื่นตูมกับไม่ประมาท มันต่างกันนะ  เธอขนย้ายข้าวของได้ไม่นานน้ำก็ท่วมอยุธยาและท่วมสูงมาก เธอย้ายไปปักหลักอยู่ที่ปทุมธานี  พอรู้ว่าอยุธยาท่วม เธอก็เริ่มเก็บข้าวเก็บของที่ปทุมธานี น้องก็บอกว่า เก็บทำไม น้ำท่วมไม่สูงหรอก เธอก็บอกว่า อย่าประมาท  เธอทำไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าต่อมาปทุมธานีก็ท่วม แต่เธอไม่เสียใจเพราะเตรียมตัวมาแต่เนิ่นๆ แล้ว ข้าวของจึงไม่เสียหายมาก นั่นข้อแรก ข้อที่สองคือ เธอทำใจไว้แล้วว่ามันอาจเกิดขึ้น

ต่างจากเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ที่นครสวรรค์  ดังที่ทราบกันดีว่านครสวรรค์นั้นน้ำท่วมเป็นประจำ แต่ก็ท่วมไม่สูง ผิดกับปีนี้น้ำท่วมเร็วมาก และท่วมมิดหัวเลย ปรากฏว่าเธอขนของไม่ทัน ทั้งๆ ที่ได้ข่าวว่าพิษณุโลกน้ำท่วม แต่ก็ชะล่าใจไม่คิดว่าครั้งนี้มันจะมาแรงขนาดนี้ ความคุ้นชินมีข้อเสียคือทำให้เราชะล่าใจ เกิดความประมาท เพราะเราไม่เคยเจออุทกภัยที่หนักขนาดนี้มาก่อน ประสบการณ์ในอดีตทำให้เราชะล่าใจ ทำให้ไม่คิดเตรียมการ พอมันเกิดขึ้นเลยตั้งตัวไม่ทัน  เพื่อนของอาตมาคนนี้เสียใจมากเพราะว่าทรัพย์สมบัติจมหายอยู่ในน้ำเกือบหมด เอามาได้แต่โน้ตบุ๊คกับอัลบั้มภาพแต่งงาน พร้อมกับเสื้อผ้าเพียงไม่กี่ตัว  เธอนึกถึงข้อเขียนของอาตมาที่ว่า “รู้ใจก็ไร้ทุกข์” เธอสงสัยว่า ทำไมทั้งๆ ที่รู้ว่าเสียใจมากแต่ทำไมถึงยังเสียใจอยู่ นั่นเป็นเพราะเธอยังรู้ใจไม่ตลอดหรือไม่ชัดเจน คือ ยังไม่เห็นว่าที่เสียใจนั้นเป็นเพราะยังยึดติดผูกพันกับสิ่งของ ยังติดยึดอยู่กับอดีต ทั้งๆ ที่ตอนนี้สิ่งของเหล่านั้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ว่าใจก็ยังยึดข้าวของเหล่านั้นอยู่  ใจจึงไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้

สาเหตุที่คนเรามีความทุกข์มากทุกวันนี้เพราะว่า ยังยอมรับปัจจุบันไม่ได้ ยังไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้  พูดอีกอย่างคือยังไม่สามารถวางใจให้สอดคล้องกับความจริง เมื่อใดก็ตามที่เรายังไม่สามารถวางใจให้สอดคล้องกับความจริง ยังวางใจสวนทางหรือขัดแย้งกับความจริงเราก็จะทุกข์ นี่คือที่มาของความทุกข์ในจิตใจของผู้คนส่วนใหญ่

เมื่อใดก็ตามที่เราวางใจสวนทางหรือขวางความจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้า ก็ไม่ต่างจากเราสร้างบ้านแปลงเมืองขวางทางน้ำ ภัยพิบัติย่อมเกิดขึ้นในที่สุด  สมัยก่อนเมื่อถึงฤดูฝนมวลน้ำก้อนใหญ่มาเยือนโดยไม่ทิ้งความสูญเสียไว้ เพราะผู้คนสร้างบ้านยกพื้นสูง แต่พอเราสร้างบ้าน สร้างถนนขวางทางน้ำ น้ำก็พัดพาทำลายสิ่งต่างๆ ทันที  ในทำนองเดียวกัน จิตที่สวนทางหรือขวางความเป็นจริงก็จะถูกความจริงโบยตีให้เป็นทุกข์  ส่วนจิตที่สอดคล้อง กลมกลืนกับความจริงก็จะไม่ทุกข์

ไม่ทุกข์ไม่ได้แปลว่าไม่สูญเสีย เช่นเวลาเจ็บป่วย ถ้าหากยอมรับความจริงได้ว่าฉันเจ็บฉันป่วย ก็ทุกข์แค่กายไม่ทุกข์ใจ แต่คนจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ทุกข์กายอย่างเดียวแต่ว่าทุกข์ใจด้วย เพราะใจไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับความแก่ ไม่ยอมรับความป่วย ทั้งๆ ที่ความจริงนั้นเป็นกระแสที่ไหลเลื่อนแปรเปลี่ยนเป็นนิจเช่นเดียวกับสายน้ำ เป็นหนุ่มก็เปลี่ยนเป็นแก่ จากสุขภาพดีก็กลายเป็นสุขภาพไม่ดี สมบัติที่เคยมีก็สูญเสียไป  ถ้าเรายอมรับความจริงเหล่านี้ เมื่อแก่เราก็ยอมรับว่าแก่ เมื่อป่วยเราก็ยอมรับว่าป่วย เมื่อสูญเสียเราก็ยอมรับว่าสูญเสีย นั่นแสดงว่าเราวางใจสอดคล้องกับกระแสแห่งความจริง ความทุกข์ก็จะลดลง แต่เมื่อเราวางจิตขวางความจริง ก็ไม่ต่างกับการสร้างบ้านหรือเอาตัวขวางกระแสน้ำเชี่ยว ก็ย่อมถูกน้ำพัดจนพังทลายหรือซวดเซจมหายไป ผลก็คือทุกข์ระทม

สาเหตุที่คนเราทุกวันนี้มีความทุกข์กันมาก เป็นเพราะไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

คนที่วางจิตสวนทางกับความจริงอย่างนั้น บางทีท่านเปรียบเหมือนคนที่หลับใหล ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยว่าเกิดอะไรขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า “กระแสน้ำหลากย่อมพัดพาเอาชีวิตของผู้นอนหลับใหลไปฉันใด มฤตยูย่อมพาชีวิตของคนที่ยึดติดมัวเมาในบุตรและในทรัพย์สินไป ฉันนั้น” อันนี้คือถ้อยคำที่พระองค์ตรัสกับนางกีสาโคตมีที่สูญเสียลูกไปและไม่ยอมรับว่าลูกตายแล้ว พยายามขอให้ใครต่อใครช่วยลูกเธอให้ฟื้นขึ้นมา แต่ไม่มีใครช่วยได้อีกทั้งไม่สามารถทำให้เธอยอมรับว่าลูกเธอตายแล้ว  จึงมีคนแนะนำเธอให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระองค์แทนที่จะเทศนาสั่งสอนนาง กลับบอกว่าพระองค์ช่วยเธอได้ แต่เธอต้องไปหาเม็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตาย เธอก็ดีใจรีบไปหาแต่ก็พบว่าทุกบ้านแม้มีเม็ดผักกาด แต่ก็มีคนตายแล้วทั้งนั้น  ในที่สุดเธอก็ยอมรับความจริงว่าความตายเป็นธรรมดา ฉันไม่ได้สูญเสียคนเดียว คนอื่นก็สูญเสียกันทั้งนั้น เหมือนหลายคนที่ฟังจ.ส.๑๐๐ แล้วรู้สึกสบายใจเมื่อรู้ว่าฉันไม่ได้รถติดคนเดียว แต่รถติดกันหมดทั้งกรุงเทพฯ ก็เลยยอมรับความจริงได้

เมื่อนางกีสาโคตมียอมรับความจริงได้ ไม่เพียงแต่วางลูกลงพื้นแล้วเผาจนเหลือแต่เถ้าถ่านเท่านั้น หากยังวางความทุกข์ลงทั้งหมด เมื่อไปทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสสองประโยคนี้ นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเลย จากคนที่หลง จากคนที่กำลังจะบ้า ก็กลายเป็นพระโสดาบันในเวลาห่างกันแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น  นางกีสาโคตมีทุกข์ก็เพราะใจไม่ยอมรับความจริงว่าลูกตาย ใจยังยึดติดถือมั่นในลูก จึงเป็นทุกข์  พูดอีกอย่างก็คือ เธอเป็นทุกข์ก็เพราะใจนั้นสวนทางกับกระแสแห่งความจริงที่เชี่ยวกราก แต่เมื่อใดก็ตามที่วางใจสอดคล้องโอนอ่อนไปตามกระแสแห่งความจริง โอกาสที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ก็มี


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา