อะไรทำให้คุณสนใจ “เตรียมตัวตาย”

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 17 กรกฎาคม 2016

เมื่อถามว่าอะไรทำให้คุณไม่สนใจเรื่องการเตรียมตัวตาย คนส่วนใหญ่ล้วนมีเหตุผลมากมาย เช่น ฉันยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวทำไมต้องสนใจเรื่องความตาย ฉันมีชีวิตที่สนุกสนานจนลืมนึกถึงความตาย หรือความตายเป็นเรื่องธรรมดาและธรรมชาติ สักวันหนึ่งก็ต้องมาถึง เมื่อมาถึงก็รู้เองจะต้องเตรียมตัวไปทำไม

ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งมีความเห็นที่แตกต่างจากข้างต้นอย่างสิ้นเชิง เมื่อเว็บเพจในเฟสบุ๊คชื่อ Peaceful Death ที่ทำหน้าที่สื่อสารเกี่ยวกับการตายสงบอันดับต้นๆ ของเมืองไทยตั้งคำถามเพื่อให้ผู้อ่านแบ่งปันประสบการณ์ในหัวข้อ “อะไร/เหตุการณ์ใด/ใครที่ทำให้คุณสนใจเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างสงบ” พบคำตอบที่คล้ายคลึงกันว่า คนเหล่านี้ล้วนเผชิญหน้ากับความตายหรือเฉียดตายมาแล้วทั้งสิ้น อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด ซึ่งเมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้ว มุมมองเกี่ยวกับชีวิตและความตายก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำตอบจากคำถามข้างต้น ที่มีผู้ตอบเกือบร้อยรายมาให้อ่านพอสังเขป โดยขอไม่อ้างอิงชื่อ เพื่อความเป็นส่วนตัวของเจ้าของความเห็นดังนี้ค่ะ

“ตัวเจ้าของ (ตัวเอง) เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วเฉียบพลัน แพทย์ทำการช่วยชีวิตอยู่เจ็ดชั่วโมงครึ่ง การได้กลับมาใช้ชีวิตใหม่อีกครั้งทำให้รู้ว่าความตายมันไม่เคยนัดใครล่วงหน้าว่าจะมาเยือนเมื่อใด คนเราตายได้ทุกเวลา ฉะนั้นการทำใจให้ยอมรับความตายอย่างมีสติและต่อเนื่อง จึงเป็นทางออกทางเดียวที่จะรับมือกับความตายได้อย่างไม่ทุกข์ทรมาน เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่แน่นอน แต่ว่าจะนอนแน่ๆ ในวันหนึ่ง”

“คนเราตายได้ทุกขณะ ไม่มีคำว่าพรุ่งนี้ แฟนเสียชีวิตกะทันหันโดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยที่ก่อนแฟนจะเสียไม่กี่นาที แฟนโทรมาตามบอกมีเรื่องอยากจะบอก อยากพบ อยากเจอมาก คิดถึง เราก็บ้างานค่ำมืด ไม่ยอมกลับบ้าน ทำแต่งานๆๆๆๆ บอกกลับไป ‘พรุ่งนี้ค่อยคุยก็ได้’…จะไม่ใช้คำว่าพรุ่งนี้อีกตลอดชีวิตที่เหลือ”

“มาดูแลลูกป่วยหนักนอนไอซียูสองอาทิตย์เต็มๆ ที่โรงพยาบาลของรัฐ กินและนอนใช้ชีวิตในห้องนอนรวมอีกสองเดือน เห็นเด็กๆ ป่วยมากมาย โรคแปลกๆ เห็นเด็กๆ ทุรนทุรายและเสียชีวิตก็มี ทรมานทั้งคนป่วยและคนเฝ้า แต่ละคนก็ต่างมีที่มาและเรื่องราวที่ถ้าไม่มาอยู่โรงพยาบาลคงใช้ชีวิตโลกสวย จินตนาการไร้สาระไปวันๆ มันทำให้เห็นสัจธรรมอะไรหลายๆ อย่างของชีวิตว่าไม่ได้มีแค่ด้านสวยด้านสุขในโลกโซเชียล”

ขณะกำลังบ้าทำงานจนค่ำมืดไม่ยอมกลับบ้าน แฟนก็โทรมาตามและพูดว่า “มีเรื่องอยากจะบอก อยากเจอมาก” เราตอบกลับไปว่า “พรุ่งนี้ค่อยคุยก็ได้” จากนั้นไม่กี่นาทีต่อมา แฟนก็เสียชีวิตกะทันหันโดยอุบัติเหตุทางรถยนต์

“ตัวเองเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ ตรวจรู้วันนี้ปุ๊บต้องรีบเข้าสวนหัวใจเลย เพราะมีแนวโน้มจะหัวใจวายสูงมาก ตอนนั้นห่วงลูกมาก ไม่ทันได้พูดอะไรกันมากเลยต้องรีบแอดมิท ตอนช่วงที่สวนหัวใจ หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย แต่ก็ผ่านมาได้ คิดได้ว่าชีวิตนี่ไม่แน่นอนจริงๆ”

“เคยเข้ารักษาไอซียูสองครั้งด้วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผ่านมาได้ทั้งสองครั้ง และอีกครั้งที่เข้ารักษาโรคนี้ด้วยการจี้ไฟฟ้าที่หัวใจ หมอบอกว่ามีโอกาสเสียชีวิตขณะรักษา 1 ใน 1000 ใช้เวลาในการรักษาร่วมแปดชั่วโมง จากที่หมอบอกว่ารักษาเสร็จรุ่งขึ้นก็กลับบ้านได้ แต่กลายเป็นต้องนอนต่ออีกห้าวัน ด้วยมีการอักเสบที่เยื่อบุหัวใจเจ็บและทรมานมาก ทุกวันนี้ไม่มีวันไหนที่ไม่คิดถึงความตาย และเพียรฝึกที่จะไม่ให้ตายอย่างไร้สติ”

“น้องสาวคนเล็กสุดท้องจากไปด้วยมะเร็งปอด เริ่มจากน้องสาวไออยู่สองปี หาหมอตลอด หมอบอกเป็นภูมิแพ้ สุดท้ายมาพบว่าเป็นมะเร็งที่ปอดระยะท้ายๆ แล้ว รักษาอยู่ 19 เดือน ด้วยคีโมอย่างดีที่สุดเท่าที่มีในสมัยสิบปีที่แล้ว ประมาทที่มุ่งรักษากาย ไม่ได้รักษาใจ (สติ) คิดแต่ว่าในยุคนี้ยาต้องดี และน้องเขาสะสมบุญด้วยการบริจาคโลหิตมากกว่า 30 ครั้ง เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปี จนถึงตอนเริ่มไอคืออายุ 37 ปี จากไปตอน 41 ปี (เขาต้องหาย) วันสุดท้ายที่กอดน้อง เขาขอให้ปล่อยให้เขาไป จากวันนั้นถึงวันนี้สิบปีแล้ว ได้เรียนรู้แล้วว่าต้องเตรียมตัวก่อนจะตาย เป็นวิธีที่จะไม่เสียใจ”

จากตัวอย่างประสบการณ์ตรงของคนเหล่านี้ นับเป็นเรื่องราวที่ไม่จำเป็นต้องมีบทสรุป เพราะมีคำตอบอยู่ในตัวว่าเหตุใดเราจึงควรสนใจเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างสงบ คำกล่าวที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา” น่าจะใช้ได้ดีกับกรณีนี้ หากไม่เห็นความตายปรากฏอยู่ตรงหน้า โดยเฉพาะความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก หรือการ “เฉียดตาย” ของตัวเอง ก็ยากที่จะตระหนักว่า “ความรู้สึก” ที่แท้จริงในห้วงขณะที่เผชิญหน้ากับภาวะใกล้ตายนั้นเป็นเช่นไร…ตื่นตระหนก หวาดกลัว เศร้าหมอง หรือนิ่งสงบ…ซึ่งคนๆ นั้นจะรู้คำตอบในตอนนั้นเองว่าเตรียมตัวพร้อมรับความตายมากน้อยเพียงใด หากยังไม่พร้อม มีสิ่งใดที่ต้องแก้ไข ชำระสะสาง หรือฝึกฝนเพิ่มเติม

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอยกคำกล่าวของ พระไพศาล วิสาโล ผู้บุกเบิกเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบในสังคมไทยมานานกว่าสิบปีมาเป็นบทสรุปปิดท้ายว่า

“แทนที่จะอยู่อย่างคนลืมตาย ก็หันมาเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับความตายอยู่เสมอ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เราจะสามารถเผชิญความตายด้วยใจสงบ หรือเห็นความตายเป็นมิตรที่เราพร้อมอ้าแขนรับด้วยรอยยิ้ม”  และ “ความตายถึงแม้อยู่ไกลไปอีกหลายวัน แต่การตระหนักถึงความตายอยู่เสมอทำให้เราอ่อนโยน ปล่อยวาง และสงบลง”

ติดตามความเคลื่อนไหว ความรู้ และเครื่องมือเกี่ยวกับการเตรียมตัวตายอย่างสงบได้เพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ Peaceful Death และเว็บไซต์ peacefuldeath.co ค่ะ


ภาพประกอบ

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง