อัจฉริยะแบบ “สะดวกซื้อ”

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 6 กันยายน 2003

ก่อนที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยอดอัจฉริยะของโลกวิทยาศาสตร์จะตาย เขาได้สั่งเสียคนใกล้ชิดว่า ขอให้เผาศพของเขาแทนการฝังศพดังธรรมเนียมของฝรั่ง โดยให้เหตุผลว่า เขาต้องการให้ศพของเขาสูญสลายหมดสิ้นไป ไม่กลายเป็นที่สนใจและเป็นของประหลาดที่ให้ใครต่อใครมาจ้องดู  ญาติได้ทำตามคำสั่งของเขา แต่ก็พบในภายหลังว่า แพทย์ได้ละเมิดจริยธรรมโดยการแอบผ่าเอาสมองของเขาเก็บไว้ เพราะอยากรู้นักว่า สมองแบบไหนทำให้ไอนสไตน์ฉลาดล้ำลึกเป็นอัจฉริยะเกินคนธรรมดา แต่ก็ไม่สมหวังเท่าไร เพราะสมองของไอน์สไตน์มิได้พิลึกพิสดารอย่างที่คาดคิดกันไว้

ในโลกของความคิดและวิธีคิดปัจจุบัน คนเป็นจำนวนมากมักคิดแบบแพทย์ที่แอบผ่าสมองของไอนสไตน์ คือ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มีสภาพเหมือนสมการคณิตศาสตร์ หรือเป็นโลกที่สัมพันธ์กันในลักษณะกลไก ให้ผลตรงๆ แบบ ๑ + ๑ = ๒  ในเมื่อสมองเป็นอวัยวะหลักของการคิด การจำ ฯลฯ ดังนั้นความฉลาดของไอน์สไตน์จึงต้องมาจากสมอง (แน่ๆ)  ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ทุกวันนี้จึงมีโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นอันมากที่สื่อสารกับผู้ชมว่า สินค้าของตนนั้นกินแล้วช่วยบำรุงสมองทำให้ความจำดี เช่น พ่อนั่งคิดเติมศัพท์ไขว้ (ครอสเวอร์ด) จนหน้านิ่วคิ้วขมวดก็คิดไม่ออก ลูกชายมาซดอาหารเสริม (ที่นักโภชนาการบอกว่า มีคุณค่าเท่าไข่ไก่ 1 ฟอง แต่ราคาเท่ากับไข่ไก่เป็นโหล) กินเข้าไปขวดหนึ่งก็เติมคำศัพท์ได้หมด หรือเด็กกินนมที่ผสมดีเอชเอ ก็จะมีความจำดี คิดเลขเก่ง หรือใช้สมองคิดได้ถูกว่าควรตีเทนนิสอย่างไร

ด้วยวิธีคิดดังกล่าว สินค้าเหล่านี้จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ และเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังโต เด็กที่เรียนหนัก คนที่ต้องใช้สมองมาก และถึงที่สุดแล้ว อาหารเสริมด้านสมองจำเป็นสำหรับผู้คนในยุคสารสนเทศ ที่มีปริมาณข่าวสาร/ข้อมูลมากมายให้จำ  นอกจากนี้ เมื่อความแก่ทำให้ความจำและฉลาดลดลง คนจึงควรกินสาหร่าย กินรังนกแท้ ฯลฯ เพื่อให้อ่อนวัยไม่แก่เร็ว (โง่เร็ว) สินค้าเหล่านี้จึงขายดิบขายดี สังเกตได้จากความถี่ในการโฆษณาและการแย่งส่วนแบ่งตลาดกันระหว่างผู้ผลิตรายเก่า-ใหม่ อันแสดงว่าผู้บริโภคจำนวนมากยังคิดและเชื่อตามแรงโฆษณาที่จับเส้นการตลาดได้ถูกว่า คนที่มีอายุมากขึ้นเริ่มกลัวอัลไซเมอร์ ขณะที่พ่อแม่ยุคใหม่กลัวลูกไม่ฉลาด ไม่เก่ง

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันกระแสการพัฒนาเด็กได้เริ่มการเน้นเรื่องอีคิวหรือเรื่องของอารมณ์คู่กันไปกับไอคิวที่เป็นเรื่องความฉลาดรู้อย่างล้วนๆ มิหนำซ้ำยังมีแนวคิดใหม่ที่เขย่าแนวคิดเดิมว่า กระบวนการของการรู้โดยแท้จริงแล้วนั้น เป็นกระบวนการของระบบชีวิตทั้งหมด มิใช่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ดังนั้นความฉลาดของคนเราจึงมิได้เกิดจากสมองและระบบประสาทเพียงเท่านั้น (The Santiago Theory of Cognition)  วิธีคิดแบบใหม่นี้ เชื่อว่าความสามารถทางสติปัญญาของบุคคล มิได้เกิดจากสมองโดดๆ หากเป็นการทำงานร่วมกันของสมองกับระบบในชีวิตทั้งหมด ไม่ว่ากาย จิต สังคม และปัญญาการหยั่งรู้เข้าถึงสิ่งสูงสุด (พระเจ้า กฎธรรมชาติ ฯลฯ)  ด้วยเหตุนี้ ในระบบคิดแบบองค์รวมนั้น การแยกสมองของไอน์สไตน์ออกจากร่างกาย จิตใจ และระบบความสัมพันธ์อื่นๆ ที่เขามีกับผู้อื่น สิ่งอื่น (สังคม ธรรมชาติ) สิ่งที่แยกออกมาย่อมมิใช่สมองที่ทำให้ไอน์สไตน์เป็นไอน์สไตน์ เพราะสมองของมนุษย์จะมีศักยภาพและความสามารถต่อเมื่อมันทำงานอย่างมีสัมพันธภาพร่วมกับระบบอื่นทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ความรู้ใหม่ๆ ที่กล่าวมา แทบจะมิได้รับความสนใจจากคนส่วนมากของสังคม ไม่ว่าผู้ผลิตหรือผู้บริโภค  ในส่วนของผู้ผลิตนอกจากไม่สนใจแล้ว ยังไม่อยากให้ผู้บริโภคสนใจด้วย เนื่องจากขัดต่อผลประโยชน์ตนเองชัดเจน เพราะหากคนพากันเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับความฉลาด ความจำดี หันไปพัฒนาระบบชีวิตอย่างรอบด้าน แทนการซื้อสินค้าของตนไปกิน เมื่อนั้นสินค้าจะขายใครได้อีก  สำหรับผู้บริโภคที่ยังยืนหยัดเหนียวแน่นเสาะหาอาหารบำรุงสมอง-ความอ่อนเยาว์ ก็เพราะมันสอดคล้องกับสังคมในยุคที่ทำทุกอย่างให้ง่าย ทันใจ และ “สะดวกซื้อ” ได้ทุกอย่าง  ความฉลาด ความจำดี หรือความเก่งก็เป็นสินค้าที่ใช้เงินซื้อได้ ไม่ต้องลงแรงอื่น (นอกจากหาเงินให้มาก) พ่อแม่ไม่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองในด้านต่างๆ, ไม่ต้องเหนื่อย, ไม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ลูก เพื่อคอยกระตุ้นคอยฝึกลูกให้เหมาะสมกับธรรมชาติและพื้นฐานของเด็ก หรือไม่ต้องพาผู้สูงอายุไปเปิดหูเปิดตาเพื่อกระตุ้นสมองให้ได้ใช้งาน อันเป็นทางป้องกันความจำเสื่อมอย่างดี ฯลฯ ชีวิตไม่ต้องยุ่งยากขนาดนั้น เพราะเพียงแต่ซื้อสินค้าความฉลาดและความจำดีมาบริโภคก็จะเก่งได้ ความจำดีได้

ผู้บริโภคจำนวนมากยังคิดและเชื่อตามแรงโฆษณาที่จับเส้นการตลาดได้ถูกว่า คนที่มีอายุมากขึ้นเริ่มกลัวอัลไซเมอร์ ขณะที่พ่อแม่ยุคใหม่กลัวลูกไม่ฉลาด ไม่เก่ง

แน่นอนว่าความจำนั้น เป็นสิ่งสำคัญแน่นอนสำหรับมนุษย์ เพราะเป็นเสบียงของการคิดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าความคิดสร้างสรรค์ วิพากษ์วิจารณ์ และเกี่ยวข้องกับคุณภาพของสมองโดยตรง แต่มิใช่แบบกลไกที่เห็นว่ามนุษย์เป็นเหมือนเครื่องจักร ถ้าเครื่องฝืดก็ใส่น้ำมันเครื่อง หัวเทียนบอดก็เปลี่ยนหัวเทียน ความจำไม่ดีก็กินสารเพิ่มความจำเข้าไป  เพราะความจริงนั้นระบบชีวิตของมนุษย์มีทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคม ฯลฯ ที่มิได้แยกส่วนและสัมพันธ์กันแบบเครื่องกล หากเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแยกไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงของส่วนหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ ด้วย  เพราะฉะนั้นความฉลาด ความจำดี-ไม่ดี จึงมิได้เกิดขึ้นอย่างสำเร็จรูปด้วยการกินซุปไก่ หรือกินนมผสมดีเอชเอทุกวัน หากเกิดจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของอาหารการกิน การเล่น การออกกำลังกาย-กำลังสมองอย่างต่อเนื่องเหมาะสม และมีสุขภาพจิตดี (ความเครียดคือปัจจัยบั่นทอนความจำ) รวมทั้งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนและสิ่งแวดล้อม

โลกนี้จึงยังมีคนที่พร้อมจะเป็นอัจฉริยะอีกมาก และอย่างหลากหลายไม่ใช่เพียงเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ แต่เราจะต้องเข้าใจให้ถูก (มีสัมมาทิฐิ) ก่อนว่า ไม่มีอัจฉริยะที่ไหนที่ได้มาแบบสะดวกซื้อ อยู่ใกล้ที่ไหน ไปซื้อที่นั้น และถึงที่สุดแล้วศักยภาพของมนุษย์สัมพันธ์กับสังคมและธรรมชาติที่เราอาศัยอยู่ด้วยเสมอ


ภาพประกอบ