เงาผ้าเหลืองในแสงตะวัน

มะลิ ณ อุษา 12 มีนาคม 2017

เสียงระฆังดังแว่วมาจากวัดที่อยู่บนเนินห่างจากหมู่บ้านชั่วเดินเมื่อย บ่งบอกถึงวัตรปฏิบัติประจำวันได้เริ่มขึ้นแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณให้กับชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้เตรียมตัวหุงหาอาหาร เพื่อใส่บาตรในยามเช้า

ก่อนที่แสงแรกของวันจะมาถึง พระภิกษุผู้ครองผ้าสีเหลืองหม่นเดินประคองบาตรมาในความสำรวมเป็นแถวแนว ข้าวอุ่นๆ ในกระติ๊บน้อย ถูกจัดวางลงในบาตรอย่างเบามือ อาหารพื้นบ้านที่ปรุงอย่างเรียบง่ายถูกส่งต่อให้ลูกศิษย์ที่อยู่ท้ายแถว เสียงคำให้พรดังกังวานราวกับเสียงระฆังยามเช้า แม่เฒ่ายกมือพนมสาธุจนท่วมหัว

ห่างไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร เสียงระฆังระทึกรัวในอารามอันกว้างใหญ่ไพศาล บุรุษผู้ครองผ้าสีเหลืองสด ประคองความจริง-ความเท็จไว้ในอารมณ์ เดินเอียงไปเอียงมาอยู่ในแถวแนวของกาลเวลา เมื่อความขุ่นมัวครอบงำจนขาดสติยั้งคิด เสียงพร่ำบ่นก่นด่าจึงระงมไปทั่วสารทิศ

ผู้คนศรัทธากราบไหว้สิ่งใด ?

คำตอบอันแสนเศร้าในโมงยามนี้ก็คือ ผู้คน (ในสังคมไทย) กราบไหว้ทุกสิ่ง ทุกสิ่งที่เชื่อหรือถูกทำให้เชื่อด้วยโฆษณาการทั้งปวง

การเกิดในดินแดนที่ได้สถาปนาศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ถือเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคในคราวเดียวกัน เป็นโอกาสในแง่ของการศึกษาและปฏิบัติให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยการเกื้อหนุนจากบริบททางสังคม ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพและมิติทางจิตใจหรือจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม สถานปฏิบัติธรรมที่มีอยู่มากมายทั่วหัวระแหง อีกทั้งการหล่อหลอมด้วยทัศนคติความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติมากมาย ซึ่งหากพิจารณาผิวเผิน ก็เป็นไปเพื่อการเกื้อกูลศาสนาและศรัทธาในใจของผู้คนให้คงอยู่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

ภายใต้บริบทดังกล่าว มีผู้ปฏิบัติที่เข้าถึง แก่นแท้ คำสอนของพระพุทธองค์มิใช่น้อย ผู้ที่พลัดหลงอยู่ตามเปลือกตามผิวก็อีกเหลือคณานับ ด้วยว่าไปหยิบจับเอาทัศนคติและวิถีปฏิบัติอันมิใช่แก่นสารมายึดมั่นถือมั่น ยิ่งถ้าเป็นความเชื่อที่ถูกบิดเบือนจากคำสอน เส้นทางแห่งการเข้าถึงความจริงก็จะยิ่งห่างไกลออกไปอีก ซ้ำร้ายยังกลายเป็นพิษภัยต่อความสุขสงบของสังคม อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน…ท่ามกลางสถานการณ์อันแหลมคมนี้ เรากำลังยืนอยู่ตรงจุดไหน ?

ผู้คนในสังคมไทยกราบไหว้ทุกสิ่ง ทั้งที่เชื่อหรือถูกทำให้เชื่อด้วยโฆษณาการทั้งปวง

ในวิกฤตมีโอกาส…

การกลับมาตั้งหลักในเส้นทางที่จะนำเราไปสู่พุทธภาวะ ต้องอาศัยความกล้าหาญและสติปัญญาอย่างยิ่งยวด ที่ผ่านมาเราทั้งหลายคล้ายกับคนหลับใหลอย่างสุขารมย์ในปราสาทราชวัง แล้วจู่ๆ ก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา เป็นการตื่นท่ามกลางซากปรักหักพังเสียด้วย ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องกล้าที่จะละทิ้งความสุขสบายและยอมรับว่า ความสุขสบายนั้นเป็นเพียงมายาภาพฝัน เราต้องกล้าที่จะพูดในสิ่งเป็นความจริงและปฏิบัติตนบนความยากลำบากเพื่อพิสูจน์สิ่งนั้น แต่การจะทำเช่นนั้นได้ จะต้องอาศัยสติปัญญาในการมองเห็นความจริงโดยปราศจากมายาคติ ซึ่งนับว่าเป็นจุดหักเหที่ท้าทายยุคสมัยยิ่งนัก

ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน เราต้องพบเจอสิ่งกระตุ้นที่ยั่วยุจิตใจให้ห่างไกลจากความสงบ โดยเฉพาะสื่อรูปแบบต่างๆ ที่พร้อมจะกระโจนมาดึงความสนใจจากเราตลอดเวลา (แม้กระทั่งขณะที่เราอยู่ในห้องน้ำ) ทั้งอารมณ์และความคิดถูกปั่นให้หมุนติ้วแทบไม่ได้หยุดพัก

เราทั้งหลายได้เปลี่ยนมานับถือลัทธิบริโภคนิยม แทนการเป็นพุทธศาสนิกชนไปเสียแล้ว แม้ใครหลายคนอาจจะโต้แย้งว่า นี่เป็นคำตัดสินที่ออกจะเกินเลยความจริง ก็เพราะว่า “ฉันยังทำบุญใส่บาตร ปล่อยนกปล่อยปลา” หรือ “ฉันยังบริจาคเงินสร้างโบสถ์สร้างวิหารไม่ได้ขาด” หรือ “ฉันยังไปวัดถวายสังฆทาน” หรือ “ฉันยังไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม” ฯลฯ

ส่วนเสี้ยวของตัวอย่างที่นำมากล่าวอ้างข้างต้นนั้น ล้วนเป็นการ ทำกิจ เป็นกิจที่เราได้รับการถ่ายทอดว่าให้ทำอย่างนี้สิ ทำอย่างนั้นสิแล้วชีวิตจะดีขึ้น

พระไพศาล วิสาโล ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อใดที่เราทำกิจแล้ว อย่าลืมทำจิตด้วย”

การ ทำจิต คือการวางจิตให้สงบเย็น หรือเกิดกุศลจิต บ่อยครั้งที่เราทำกิจด้วยจิตใจที่ว้าวุ่นกังวล เป็นทุกข์ เพราะคาดหวังว่า การทำกิจจะช่วยบรรเทาความทุกข์ หรือบางรายทำกิจก็เพราะอยากได้อยากมีมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือหนักกว่านั้น คือการแก้กรรม กำหนดจิตไปที่ผลที่อยากให้เกิดกับตัว แม้จะออกมาจากสถานที่แห่งนั้นแล้ว จิตก็ยังคงวนเวียนว่าเมื่อไร บุญกุศลที่ทำไป จะส่งผลเสียที อันนี้ถือว่า ทำกิจ แต่ไม่ได้ทำจิต

การกำหนดจิตในการทำกิจเช่นนี้เอง จึงเป็นช่องว่างในการโฆษณาชวนเชื่อให้คนมาทำบุญ บริจาคเงิน หรือบูชาวัตถุต่างๆ โดยกล่าวอ้างว่าเป็นไปเพื่อแก้ไขทุกข์ หรือเพื่อตอบสนองความอยากได้ใคร่มีอันไม่จบสิ้น มิหนำซ้ำ รูปแบบวิธีการยังตอบสนองเงื่อนไขชีวิตของผู้บริโภคอีกด้วย

“เมื่อทำกิจแล้ว อย่าลืมทำจิตด้วย”

ในขณะที่การกำหนดจิตที่ควรจะเป็น คือสิ่งที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น คือการน้อมจิตให้เกิดกุศล ลดความยึดมั่นถือมั่น ทั้งตัวตนและวัตถุสิ่งของ ขัดเกลาความอยากได้ใคร่มี ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในสังคมเมือง กึ่งเมือง และชนบท กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งระบบโครงสร้าง ตั้งแต่ระดับนโยบายลงมา

ดังนั้น การกลับมาตั้งหลักในเส้นทางที่จะนำไปสู่การตื่นรู้ ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากนี้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ จำเป็น และยากยิ่ง เราไม่อาจเพิกเฉยต่อสถานการณ์ เพราะแค่การนิ่งเฉย ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ปรากฎการณ์เหล่านี้คงอยู่ต่อไป

เริ่มต้นที่นี่ เดี๋ยวนี้…

เริ่มต้นจากการทำกิจและทำจิตในชีวิตประจำวัน ทำหน้าที่และการงานอย่างเต็มที่ ด้วยจิตใจที่เบิกบาน มองอุปสรรค ความทุกข์ที่เข้ามาในแง่มุมใหม่ เป็นแง่มุมที่ช่วยให้เราขัดเกลาตัวเอง ช่วยเตือนสติไม่ให้ประมาท วางใจให้อยู่ในฝั่งกุศล ให้เอื้อเฟื้อเกือกูล เผื่อแผ่แบ่งปัน ทั้งกับผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำงานที่สุจริตและรู้จักใช้จ่าย ไม่หวังรวยทางลัด ไม่รุ่มหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มีปิยวาจาและไม่บิดเบือน ห่างจากเครื่องดองของเมา

หากเราดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข ก็หมายความว่าชีวิตมีความมั่นคงจากภายใน การทำกิจสอดคล้องกับการทำจิต ไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งบุญพาณิชย์จากภายนอก การทำบุญหรือบริจาคทานก็จะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่ตรงและจริง

ดวงตะวันทอแสงสีทองอาบจีวรสีเหลืองหม่น รอยเท้าที่จารึกลงบนผืนดินทราย ไม่นานสายลมจะพัดผ่าน รอยเท้าจะเลือนหายไป จวบจนเสียงระฆังของวันใหม่จะดังขึ้นอีกครั้ง

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน