เติบโต: ความคาดหวังที่ไม่ได้ดั่งใจ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 19 พฤศจิกายน 2017

“ตอนแม่อยู่ หนูไม่เคยฟังแม่เลย”

“ผมแค่อยากให้พ่อแม่มีความสุข ทุกวันนี้พ่อไม่ยอมช่วยตนเอง อ้างแต่ว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า เรียกร้องคนรอบตัวไปหมด ไม่ยอมช่วยเหลือตนเอง จนแม่เครียดพลอยลามมาถึงผมด้วย”

“เรื่องมันผ่านไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ ก็ยังทำใจให้อภัยอีกฝ่ายไม่ได้”

ความคาดหวังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ตามติดเราทุกคน บางอย่างเราก็รับรู้โดยรู้ตัว และบางอย่างความคาดหวังก็หลบซ่อนไม่ให้เรารู้ตัวง่ายๆ

ส่วนหนึ่งความคาดหวังช่วยให้เรามีเข็มทิศนำทางในการกระทำของเราว่า เราต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไรในความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบตัว รวมถึงตัวเราเอง เช่น เราคาดหวังให้เพื่อนร่วมงานรับผิดชอบงาน คาดหวังหัวหน้างานว่าจะมีความรู้ความสามารถสมกับบทบาทหน้าที่ เราคาดหวังให้ตนเองเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ในส่วนผลลัพธ์ของความคาดหวัง เราก็คาดหวังว่าผลลัพธ์นั้นจะช่วยให้เราเข้าใกล้ความปรารถนาลึกๆ ที่อยู่ในใจ

ความปรารถนาเป็นเสมือนอาหารใจที่ช่วยเติมเต็มให้เรามีความสุข เบิกบาน  เราทุกคนต่างปรารถนาความรักทั้งในการให้และเป็นที่รัก เราปรารถนาในการยอมรับ การมีคุณค่า ความมั่นคง ปลอดภัย การเป็นพวกพ้อง การเชื่อมโยง ความเคารพ ฯลฯ ในขณะเดียวกันเราก็อาจพบว่า เราอาจมีความคาดหวังผิดๆ เนื่องจากความเข้าใจผิดบางอย่าง

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้เล่าเกร็ดชีวิตของหลวงปู่ดูลย์ อตุโลว่า เมื่อครั้งหนึ่งสมัยหลวงปู่ยังมีชีวิต เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ ผู้คนจำนวนมากต่างสิ้นเนื้อประดาตัว  บางคนมาตัดพ้อกับหลวงปู่ดูลย์ว่า อุตสาห์ทำบุญเข้าวัดเป็นประจำ ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทำไมบุญกุศลไม่ช่วย ทำไมธรรมะไม่คุ้มครองให้พ้นจากความวอดวาย หลายคนตัดสินใจเลิกเข้าวัดทำบุญ หลวงปู่ตอบพวกเขาว่า ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น

หลวงปู่อธิบายว่า “ความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจำโลกอยู่แล้ว ทีนี้ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะเมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น”

มุมมองความเข้าใจของชาวบ้านที่มองว่า การทำบุญจะนำมาซึ่งความปลอดภัย แคล้วคลาดจากภัยพิบัติ ได้ก่อเกิดความผิดหวัง โกรธเคือง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผิดจากความคาดหวังในเรื่องการทำบุญ

เมื่อฐานคิดผิดทาง ความคาดหวังก็ผิดทางตามไปด้วย

เราอาจมีความคาดหวังผิดๆ เนื่องจากความเข้าใจผิดบางอย่าง

ความคาดหวัง ความปรารถนา เป็นแรงขับเคลื่อนให้ชีวิตไปข้างหน้า แรงขับนี้สามารถเป็นได้ทั้ง ‘ฉันทะ’ และ ‘ตัณหา’  จุดแยกคือการมีสติเป็นตัวกำกับหรือไม่ รวมถึงเจตนาที่ขับเคลื่อนว่าเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

‘ตันหา’ คือ ความกระหายอยาก ความปรารถนา ความต้องการในสิ่งเร้า ความคาดหวังว่าการครอบครองหรือบรรลุความสมอยากจะช่วยให้มีความสุข รวมถึงความสุขทางกายจากการได้ การมี การเป็น และความสุขจากการไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น (ในสิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่ต้องการ เช่น โรคภัย การเปลี่ยนแปลงเชิงลบ)

ขณะที่ ‘ฉันทะ เป็นความอยากหรือความปรารถนาที่มีฐานของกุศลเจตนา เป็นอิสระจากอกุศลจิต โลภะ โทสะ โมหะ

ในชีวิตประจำวัน ความคาดหวังอาจถูกร้อยรัดไปด้วย ‘ตัณหา’ โดยเข้าใจว่ามันคือ ‘ฉันทะ’ โดยตัณหาหลายอย่างกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น ความร่ำรวย ความสำเร็จที่มาจากการทำงานหนักและแข่งขันแย่งชิง

หลายคนมีความคาดหวังที่ขับเคลื่อนชีวิต ซึ่งเป็นทั้งฉันทะและตัณหา พร้อมกับความรู้สึกตกค้างจากความคาดหวังที่ไม่ได้ดั่งใจ เช่น ความคาดหวังให้บุคคลที่เรารักหายจากโรคภัย คาดหวังให้ความรักในอดีตหวนกลับมา คาดหวังให้เรื่องราวในอดีตไม่ต้องเกิดขี้น

และด้วยการยึดติดกับการคาดหวัง แรงยึดติดก็ทำให้เกิดแรงกดดัน บีบคั้นให้ชีวิตดิ้นรนต่อสู้เพื่อทำให้ความคาดหวังบรรลุผล จนความผิดหวังกลายเป็นเรื่องรุนแรง และยิ่งเมื่อความคาดหวังนั้นไม่มีทางเกิดขึ้น การยึดติดกับความคาดหวังที่ไม่ได้ดั่งใจ ก็ไม่ต่างจากการพยายามเดินชนกำแพง โดยเข้าใจว่านั่นคือประตู

เราคาดหวังให้โรคร้ายหายไปจากตัวเรา หายไปจากบุคคลรอบข้างที่เราแสนรักไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่า เราต้องการมีท่าทีเช่นใดกับพ่อแม่ที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย

ร่างกาย จิตใจ เสี่อมสภาพด้วยความชรา กิจวัตรประจำวันหลายอย่างท่านต้องพึ่งพาเรา ความทรงจำเริ่มเลอะเลือน แต่เราเลือกได้ว่า เราจะไม่รับรู้ความเป็นไปในตัวท่าน หรือยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นว่าจะเชื่อมโยงอย่างไรกับพวกท่านดี

เราคาดหวังให้อดีตย้อนกลับมาไม่ได้ แต่เลือกได้ว่าจะอยู่กับความผิดหวังเจ็บแค้น หรือเลือกยอมรับความจริง และปลดปล่อยความคาดหวังที่ไม่ได้ดั่งใจนั้น เพื่อให้ตนเป็นอิสระจากความรู้สึกเชิงลบเหล่านั้น

การมีทัศนคติ ฐานคิดที่ถูกต้อง และการยอมรับความจริง จึงเป็นหนทางนำมาซึ่งสันติ

เรายอมรับความจริงเพื่อเป็นอิสระจากตัณหา พร้อมกับเรายังขับเคลื่อนความคาดหวังหรือความปรารถนานั้นด้วยฉันทะ และมีสติ มีฐานธรรมะที่จะช่วยให้เราวางท่าทีจิตใจได้ถูกต้อง ช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการยอมรับความจริง

ฉันคาดหวังและปรารถนาให้ตนเองเข้มแข็ง กล้าหาญในการเผชิญอุปสรรค

ฉันคาดหวังและปรารถนาที่จะซื่อสัตย์ สุจริตต่อหน้าที่ จริยธรรม และชีวิตของตนเอง

ฉันคาดหวังและปรารถนาที่จะเผชิญหน้าความจริง แม้ความจริงนั้นจะยากต่อการยอมรับ

ด้วยการยอมรับความจริง เราจึงเป็นอิสระจากความคาดหวังที่ไม่ได้ดั่งใจ อิสระจากการยึดติดในสิ่งที่นำมาแต่ความทุกข์ใจ และการยอมรับความจริงได้ก็ต้องอาศัยการมีความสามารถ ซึ่งได้มาจากการปฏิบัติและเข้าถึงธรรมะ


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน