เทคโนโลยีกับความตาย

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ 27 กรกฎาคม 2014

ลองมองไปรอบๆ ตัวของคุณดูสิครับ ที่ไหนบ้างที่ปลอดจากเทคโนโลยี?

ขณะนี้มือถือของคุณคงอยู่ไม่ไกลมือเกินสองสามเมตร ตรงนั้นก็ทีวีหรือไม่ก็ตู้เย็น คุณใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งการเกิดก็ต้องใช้อุปกรณ์ตรวจสุขภาพครรภ์ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ยามป่วยก็คงต้องพึ่งเทคโนโลยียาและเวชภัณฑ์ เพื่อรักษาหรือลดความเจ็บปวดทรมาน

ดีไม่ดี ยามที่เราเสียชีวิต เราก็อาจต้องต่อท่อ เชื่อมสายกับอุปกรณ์เทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

ผมไม่แน่ใจว่าภาพชีวิตและความตายแบบนี้ เป็นที่น่าพึงปรารถนาหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีแทรกซึมเข้ามาในชีวิตเราในทุกมิติ หากเพียงตั้งใจพิจารณาก็จะพบว่าชีวิตของเราเกี่ยวพัน พึ่งพิงเครื่องมือไฮเทคมากมายเหลือเกิน

หากพิจารณาความเกี่ยวพันระหว่างเทคโนโลยีกับความตาย เราจะพบว่ามันมีคุณูปการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในยามที่เรากำลังประสบความเจ็บป่วยและความตาย

ตั้งแต่ตอนที่เราพบว่าเราป่วยเป็นโรคร้าย เทคโนโลยีทางการแพทย์นั่นแหละที่ช่วยรักษาให้เราหายจากความเจ็บป่วย  ความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีพาเราไปให้หมอเก่งๆ โรงพยาบาลดีๆ สิ่งนี้ช่วยจุดประกายความหวังในชีวิตให้เรา ทำให้เรารู้สึกว่าปาฏิหาริย์เป็นสิ่งที่ไขว่คว้าได้ ไม่ไกลเกินเอื้อมมือ

นอกจากนี้ยาและเวชภัณฑ์ก็อาจช่วยเราจากความเจ็บปวดทรมาน ยาลดปวดในหลากรูปแบบ ยาเม็ด ยาน้ำ ยาฉีด แคปซูล แผ่นแปะ ทำให้เราแทบจะหมดกังวลเกี่ยวกับความเจ็บปวดทรมานทางกาย

อุปกรณ์ไฮเทคช่วยเหลือตนเอง เช่น รถเข็นไฮเทค หุ่นยนต์ช่วยเดิน แขนเทียม เครื่องช่วยมองเห็น เครื่องช่วยฟัง ช่วยให้ผู้ป่วยยังสามารถลดการพึ่งพิงผู้อื่น  ในแง่หนึ่ง เทคโนโลยีช่วยกู้ฟื้นคืนศักดิ์ศรีผู้ป่วยจากภาวะโรค หรือความทุพลภาพทางกาย

แต่หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งแล้ว เทคโนโลยีก็อาจนำความทุกข์ทรมานมาสู่ชีวิตของเราด้วยเช่นกัน เทคโนโลยีทำให้เรายอมรับความตายได้ยากขึ้น เพราะความเชื่อที่ว่า โรงพยาบาลชั้นเลิศต้องช่วยชีวิตฉันได้สิ ต้องมีหมอเก่งๆ คนไหนสิที่รักษาโรคร้ายแรงนี้ได้  ความคาดหวังว่าเทคโนโลยีคือเครื่องมือช่วยให้เรารอดพ้นจากความตาย มีส่วนทำให้เรารู้สึกอึดอัดคับแค้น ผลักไส ตั้งตนเป็นศัตรูกับความตาย

อีกกรณีหนึ่ง เทคโนโลยีลดปวด แม้จะช่วยแก้ปวด (pain) ได้จริง แต่ผลข้างเคียงของยาลดปวดก็คือ ทำให้ผู้ป่วยทนต่อความปวดได้น้อยลง ทุกข์ทรมานต่อความปวดมากขึ้น เพราะลึกๆ เชื่อว่า ความปวดเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นสิ่งที่ต้องไม่เกิดขึ้น ต้องทำให้หายไปด้วยยาแก้ปวด การผลักไสความปวดกลับทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ทุรนทุราย กลายเป็นความเจ็บปวดทางใจอีกชนิดหนึ่ง (suffering)

นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการช่วยชีวิตกู้ชีพผู้ป่วยระยะท้าย ก็มักต้องกระทำรุนแรงต่อร่างกายอย่างน่าหวาดเสียว หากเราหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ระบบทางการแพทย์ก็พร้อมที่จะใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ สอด แทง แยง แหย่ ฉีด สวน กดทุบ ช็อตไฟฟ้า อวัยวะของเราเพื่อให้ร่างกายกลับมาทำงานได้อีกครั้ง  ถ้าเราตาย ณ ขณะนั้น ก็นับได้ว่าเป็นการตายท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย หากญาติผู้ป่วยได้รับรู้ แม้จะไม่ต่อต้านการช่วยชีวิต แต่ก็มักเศร้าสลด สะเทือนใจ ที่เห็นภาพคนรักต้องถูกยื้อชีวิตจนร่างกายบอบช้ำ

ความคาดหวังว่าเทคโนโลยีคือเครื่องมือช่วยให้เรารอดพ้นจากความตาย มีส่วนทำให้เรารู้สึกผลักไส ตั้งตนเป็นศัตรูกับความตาย

เพราะความซับซ้อนของเทคโนโลยีนี้เอง ที่ทำให้บางคนหวาดกลัว คิดว่าควรจะหันหลังจากมันดีกว่า กลับไปอยู่กระท่อมน้อยในป่าใหญ่ รักษาโรคด้วยสมุนไพร หากจะตายก็ขอให้ได้ตายอย่างสงบ ตายตามธรรมชาติ ตายอย่างไร้ริ้วรอยจากการต่อเสียบกับเครื่องมือไฮเทคทางการแพทย์

แต่จินตนาการการตายแบบนี้ นับวันยิ่งยากขึ้น เพราะระบบสุขภาพกระแสหลักต่างก็อ้าแขนรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ไว้เป็นเสาหลักในการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าโรงพยาบาลศูนย์ จนถึงโรงพยาบาลในตำบล ไม่ว่าคลินิกเอกชน หรือร้านขายเวชภัณฑ์ต่างก็มีระบบคิดแบบเทคโนโลยีแบบเดียวกันไปหมด

ภาระจึงตกมาอยู่ที่เราทุกคน หากรักที่จะตัดสินใจใช้กับเทคโนโลยีอย่างไม่ถูกทำร้าย ทว่าใช้อย่างมีประโยชน์เพื่อลดความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะเท่าทันเทคโนโลยี  เราควรถามตัวเองว่า ความต้องการที่แท้จริงเบื้องหลังการใช้เทคโนโลยีของเราคืออะไร หากจำเป็นต้องใช้ เราจะใช้แค่ไหน ใช้ไปถึงเมื่อไหร่

สุดท้าย เรายอมรับความจริงได้หรือไม่ว่า แม้เราจะสามารถใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากเพียงใด ก็ไม่อาจเอาชนะความตายได้เลย


ภาพประกอบ

เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ

Backstage writer, Urban sketcher