เธอกับฉัน: ดูแลสัมพันธภาพ (๒)

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 3 กรกฎาคม 2016

เมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย ยกเว้นกฎหมาย

คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด ฯลฯ

ข้างต้นคือ ตัวอย่างประโยคเชิงเสียดสี จิกกัด ที่หลายคงเคยได้รับรู้ในสื่อสังคมออนไลน์ หรือในการสนทนาพูดคุย  การพูดจาหรือข้อเขียนทำนองจิกกัด เสียดสี ประชดประชัน แง่หนึ่งสะท้อนถึงความไม่ชอบใจในเหตุการณ์หรือการกระทำบางอย่าง แต่อีกแง่หนึ่งก็สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ในการสรรหาแง่มุมจิกกัด  ในอีกด้าน ข้อความดังกล่าวสะท้อนการรับมือต่อเหตุการณ์ที่ปะปนทั้งเชิงตลกขบขัน เยาะเย้ย ไม่พอใจ โกรธเคือง

บุคคลสาธารณะ เช่น ผู้มีอำนาจทางการเมือง นักแสดง ผู้มีชื่อเสียง มักตกเป็นเป้าหมายการเสียดสี จิกกัด  บางครั้งคำพูดหรือข้อความดังกล่าวคงสร้างความรู้สึกเชิงลบว่า ตนได้รับการหมิ่นประมาท หยามเหยียดศักดิ์ศรี กระทบคุณค่าและความเคารพในตนเอง ซึ่งมากหรือน้อยก็ขึ้นกับเนื้อหาและระดับความรุนแรงของการเสียดสี ประชด จิกกัดนั้น  แต่ในอีกทาง การกระทำเช่นนี้มักเกิดขึ้นเนื่องจากผู้กระทำมีฐานะลำดับอำนาจที่ด้อยกว่า ซึ่งการใช้ข้อความดังกล่าว คือหนทางหนึ่งในการตอบโต้ของผู้มีลำดับอำนาจต่ำ (Low Ranks) ที่มีต่อผู้มีลำดับอำนาจสูงกว่า (High Ranks)  ดังนั้นคุณสมบัติสำคัญของผู้มีลำดับอำนาจสูง คือ ความเป็นผู้มีขันติธรรม หนักแน่น สุขุมรอบคอบ โดยเฉพาะต่อการรับฟังคำพูดในเชิงลบดังกล่าว เพราะหากสามารถรับฟังได้อย่างลึกซึ้งก็จะทราบถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ว่า แท้จริงอีกฝ่ายต้องการร้องขออะไรบางอย่าง

สำหรับความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิดกันมากๆ เช่น ครอบครัว คู่สมรส  ถือได้ว่าการสื่อสาร คือ ลมหายใจของความสัมพันธ์  ดังนั้นคุณภาพการสื่อสาร จึงเป็นเหตุและปัจจัยในการบำรุงรักษาคุณภาพความสัมพันธ์

เดวิด ก๊อตแมน นักจิตวิทยาด้านการเยียวยาชีวิตสมรส ได้นำประสบการณ์ที่ได้ทำงานเยียวยาชีวิตสมรสมาถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ว่า มูลเหตุสำคัญที่การสื่อสารสร้างความแตกร้าวในชีวิตสมรส คือ ท่าทีการสื่อสาร ๔ ลักษณะ ดังนี้

๑) การวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ ติเตียน  และ ๒) การประชดประชัน เสียดสี ถากถาง

“ทำแบบนี้ไม่ได้เรื่อง” “ใช้สมองหรือเปล่า” “ไอ้หัวขี้เลื่อย” ฯลฯ  การสื่อสารเช่นนี้สร้างผลกระทบคือ การทำร้ายจิตใจ การสร้างความรู้สึกด้อยค่าหยามเหยียดให้กับอีกฝ่าย  ท่าทีการสื่อสารเช่นนี้ยังก่อให้เกิดการเปรียบเทียบคุณค่าว่า ผู้กระทำมีลำดับอำนาจเหนือกว่า และอีกฝ่ายมีบทบาทหรือฐานะลำดับอำนาจที่ต่ำกว่า  ดังนั้นหากอีกฝ่ายเลือกนิ่งเงียบ ไม่ตอบโต้ จึงหมายความถึงการยอมรับว่าตนมีความด้อยกว่า  การตอบโต้กลับด้วยวิธีการเดียวกันก็เพื่อสื่อสารว่า ตนไม่ได้ด้อยกว่า ทั้งอาจมีความเหนือกว่าอีกฝ่าย

การสื่อสารใน ๒ แบบข้างต้นจึงก่อให้เกิดการกระตุ้นตอบโต้ และสร้างผลกระทบลุกลาม

๓) การวางท่าทีเย็นชา เฉยเมย ไม่ตอบสนอง

ปฎิบัติตัวราวกับ “ทองไม่รู้ร้อน” เหมือนกับอีกฝ่ายเป็นอากาศธาตุ ซึ่งก่อเกิดจากปฏิกิริยาผลลัพธ์คือ การไม่ยอมรับ ไม่รับรู้ ไม่ใส่ใจ ไม่เห็นตัวตน ถือเป็นท่าทีเชิงลงโทษอีกฝ่าย

๔) การกล่าวโทษ การปกป้องตนเอง

ในความสัมพันธ์ย่อมเกิดความขัดแย้ง การกระทบ ขัดใจ และสิ่งเหล่านี้ต้องการการคลี่คลาย ทำความเข้าใจ  แต่หากอีกฝ่ายใช้ท่าทีปกป้องตนเอง กล่าวโทษความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่าสาเหตุมาจากอีกฝ่าย โดยกระทำเช่นนี้เป็นปกติ ย่อมสร้างบาดแผลในจิตใจอีกฝ่าย  ในบรรยากาศที่มีการตัดสินถูกผิด ภาวะนี้ก่อเกิดความกดดัน ความเครียด ความไม่ปลอดภัย

ในความสัมพันธ์ที่มีการใช้ท่าทีทั้ง ๔ ลักษณะ เจตนาเชิงบวกที่ซ่อนอยู่ คือ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพื่อให้เกิดการเติบโต  แต่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้คือ ผู้รับสารที่ถูกกระทำไม่สามารถเข้าถึงความหมายในเจตนาเชิงบวกนั้น โดยสิ่งที่พวกเขารับรู้คือ การถูกปฏิบัติในเชิงลบ ก่อเกิดความรู้สึกเชิงลบ ความด้อยคุณค่า บั่นทอนความเคารพตนเอง  ดังนั้นด้วยการตอบโต้เพื่อปกป้องคุณค่าตนเอง รักษาความเคารพในตนเอง พฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้คือ การถอนตัวจากความสัมพันธ์ และการหย่าร้างในที่สุด

พฤติกรรมทั้ง ๔ ลักษณะ คือพยาธิสภาพที่กีดกันความสุขในครอบครัว เปรียบเหมือนผีร้ายที่กัดกินความสัมพันธ์ การขับไล่หรือทำลายผีร้ายคือ หมอผีจะต้องเอ่ยนามของผีร้ายให้ถูกต้อง ซึ่งมีผลให้เกิดอำนาจขับไล่ผีร้ายได้  มองในแง่จิตวิทยา สิ่งนี้คือ “การสร้างความตระหนักรู้”  การเข้าใจและตระหนักรู้ในพฤติกรรมที่สร้างความแตกร้าว ก็เพื่อรู้เท่าทันตนเอง และหลีกเลี่ยงการใช้พฤติกรรมนี้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์

คุณภาพของการสื่อสาร เป็นเหตุและปัจจัยในการบำรุงรักษาความสัมพันธ์

ชีวิต คือ ระบบความสัมพันธ์ และในความสัมพันธ์ต้องการการบำรุงรักษา  บททดสอบที่เข้ามา คือบทเรียนที่ช่วยนำพาทางเลือกมาให้ว่า เราจะเลือกตอบโต้เฉพาะหน้าด้วยความไม่ชอบใจ ผ่านพฤติกรรมการสื่อสารเชิงลบทั้ง ๔ ลักษณะ  หรือเลือกที่จะเท่าทันผีร้ายในใจ และเลือกความสัมพันธ์ที่ให้คุณประโยชน์ในระยะยาวกับตัวเรา กับความสัมพันธ์ระยะยาวแทน


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน