เบื้องหลังความงามของใบไม้เปลี่ยนสี

เชาวลิต บุณยภูษิต 2 กุมภาพันธ์ 2007

ครั้งไปเที่ยวภูกระดึงสมัยเมื่อเรียนอยู่ พวกเรา (ผู้เขียนและกลุ่มเพื่อนๆ อีกหลายคนในหมู่คณะ) อุตส่าห์เดินดั้นด้นลัดเลาะไปตามทุ่งหญ้า ลำเนาป่า ไหล่เขา ห้วยละหาร ซึ่งเป็นที่ราบบ้าง สูงชันบ้าง บนภูระยะทางไปกลับจากบ้านพักรวมแล้วกว่า ๑๐ กิโลเมตรเพื่อไปดูต้นเมเปิลในป่าปิด

พอถึงร่องลำธารเล็กๆ กลางหุบเขาในป่าปิด หมู่ต้นเมเปิลกำลังอวดใบสีแดงเต็มต้น ส่วนที่หล่นเกลื่อนพื้นเบื้องล่างสวยงามเป็นภาพประทับในความทรงจำ

อีกที่หนึ่ง ที่น้ำตกเพ็ญพบใหม่ ใบเมเปิลร่วงหล่นลงพื้น บางใบค้างอยู่ตามโขดหินริมน้ำ บางใบก็ล่องลอยตามกระแสน้ำพัดพา พวกเราถ่ายรูปกับเมเปิลต้นใหญ่ ฉากหลังเป็นธารน้ำตก ท่ามกลางอากาศเย็นสบายดังหนึ่งอยู่ในห้องปรับอากาศในเมืองกรุงแม้จะเป็นเวลาเที่ยงวันก็ตาม

ครั้งนั้นพวกเราได้แค่หยิบใบเมเปิลขึ้นมาดู และถ่ายรูป (ทั้งที่ใจจริงอยากจะเก็บกลับมาเป็นที่ระลึก!) เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีกฎข้อหนึ่ง “ไม่เก็บนำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายเสื่อมสภาพแก่กล้วยไม้ ดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ” จึงไม่มีใครเก็บใบเมเปิลมาอย่างที่ใจต้องการ ยอมทำตามสโลแกนโฆษณาฟิล์มยี่ห้อหนึ่งที่ติดอยู่บนหลังแป “เราจะไม่เอาอะไรไปนอกจากรูปถ่าย เราจะไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากรอยเท้า”

จำได้ว่าครั้งนั้นสมาชิกหญิงสาวรุ่นน้องในกลุ่มคนหนึ่งขาแพลงเพราะเดินทางระยะไกล และขึ้นลงโขดหินตามลำธาร จนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สองคนต้องมาช่วยกันทำเปลผ้าใบหามเธอกลับ

นอกจากความทรงจำจะมีบันทึกรายละเอียดการเดินทางไว้ในสมุดบันทึกแล้ว ภาพการเดินทางขึ้นลง และการเดินไปตามจุดต่างๆ บนภูกระดึง ตั้งแต่รีบตื่นแต่ตี ๕ กว่าๆ ไปรอดูพระอาทิตย์ขึ้นกลางทะเลหมอกที่ผานกแอ่น ดูพระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูก  พระอาทิตย์ตกที่ชะง่อนหินยื่นใต้กิ่งสนที่ผาหล่มสัก ดอกไม้ป่า ทุ่งหญ้า เสียงสนสามใบต้องลม นั่งกินอาหารมื้อกลางวันซึ่งเป็นข้าวห่อที่ถือกันไปตามผาสูง  ไอเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน รวมถึงมิตรภาพระหว่างการเดินทาง ฯลฯ ยังคงแจ่มชัดอยู่ในใจ

สิบกว่าปีต่อมาในช่วงรอยต่อระหว่างปลายฤดูใบไม้ร่วงกับต้นหน้าหนาว หน้าที่การงานให้โอกาสออกเดินทางไปประเทศแคนาดา ดินแดนที่ใช้ใบเมเปิลเป็นสัญลักษณ์ในธงชาติ  ขณะที่เดินทาง เห็นใบเมเปิลและไม้อื่นๆ สองข้างทางหลากสีสัน ทั้งเขียว แดง เหลือง นอกจากจะหลากสีแล้ว ยังมีโทนสีเข้มอ่อนแตกต่างกันไป ดังหนึ่งธรรมชาติผู้เป็นจิตรกรเอกตั้งใจระบายสี ดูเพลินๆ อาจจะเผลอคิดไปว่าเบื้องหน้าคือภาพวาดบนผ้าใบขนาดใหญ่…ธรรมชาติช่างงดงามเหลือเกิน

ครั้งนี้ใบเมเปิลร่วงเกลื่อนอยู่ใต้โคนต้นริมถนนในเมือง ใครอยากเก็บก็ไม่มีกฎเกณฑ์ใดห้ามไว้ แต่ไม่มีใครเก็บมา!

เมื่อเห็นความงามของธรรมชาติแล้ว อดห้ามใจให้คิดไกลไปหลังจากนั้นไม่ได้…อีกไม่นานในหน้าหนาว ต้นไม้ที่เห็นใบร่วงหล่น เหลือแต่กิ่งก้านสีทึมเทา คล้ายไม้ยืนโกร๋นต้นตาย ไม่น่าทอดทัศนา

แต่ก็เป็นธรรมชาตินั่นเองที่ปรับตัวเองให้สอดรับกับฤดูกาล หากต้นไม้เมืองหนาว (ที่ไม่ใช่ต้นสน) ไม่สลัดใบทิ้งในหน้าหนาวที่อากาศเย็นจัดเป็นระยะเวลานาน ต้นนั้นคงจะไม่มีชีวิตรอดไปจนวงปีขยายหลายรอบเป็นแน่แท้

ทำนองเดียวกับต้นไม้ในหน้าหนาว คนเมืองหนาวแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับหลายชิ้น เริ่มจากชุดอันเดอร์แวร์ในสุด ตามด้วยเสื้อเชิ้ต ทับด้วยเสื้อแจ็กเก็ต และชุดสูท ข้างนอกก็มีเสื้อโอเวอร์โค้ทคลุมทับอีกชั้น  นอกจากนี้แล้วยังมีถุงมือ ผ้าพันคอ หมวก  เพื่อรักษาให้ร่างกายอบอุ่นที่สุด

เราคนเมืองร้อนเมื่อไปเมืองหนาวก็ต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้ามากชิ้นกว่าการแต่งกายปกติเช่นเมื่ออยู่ในเมืองไทย มิเช่นนั้นแล้ว ร่างกายคงทนความหนาวเย็นไม่ได้ อาจเจ็บไข้ไม่สบายเอาได้

ดูคนเมืองหนาวแต่งกายด้วยเสื้อผ้านับชิ้นไม่ถ้วนแล้ว ดูสวยงาม เข้ากับบรรยากาศและภาวะแวดล้อม แต่ถ้ามาแต่งกายแบบเดียวกันในกรุงเทพฯ เห็นแล้วคงจะรู้สึกพิพักพิพ่วนชอบกลอยู่

ใบไม้หลากสีสันพาให้นึกไปถึงเบื้องหลังความสวยงามของใบไม้เปลี่ยนสี นั่นก็คือการปรับตัว  และเบื้องลึกไปกว่านั้น คือหลักคำสอน เกิด แก่ เจ็บ ตาย

เบื้องหลังสีเหลืองแดงของใบเมเปิล คืออนิจจลักษณะในไตรลักษณ์ อันเป็นสามัญลักษณะ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปแก่สรรพสิ่ง  ใครเห็นใบไม้เปลี่ยนสี แล้วยังหลงมั่นในตัวเองว่าเที่ยงแท้แน่นอน ยังคิดจะเป็นเจ้าครองโลก ครองอวกาศนอกโลก มิหนำซ้ำยังหลงคิดว่าระบอบของตัวเองเลิศเลอ นำไปยัดเยียดให้ชาวโลกทำตาม เขาคนนั้นคงจะพิกลในการรับรู้เป็นแน่

สมดังที่สุภา ศิริมานนท์ กล่าวเตือนไว้ในบทนำของนิยายอิงประวัติศาสตร์ “เจ็งกิ๊ซข่าน” ว่า “ขอท่านได้โปรดรับทราบไว้เสียแต่บัดนี้ด้วยประการหนึ่งว่า คนเราทุกคนไม่ว่ารูปใดนามใดในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มิใช่จะอยู่ค้ำฟ้า ใครคนใดก็ตามที่กล่าวออกมาว่าเป็นผู้ซึ่งจะอยู่ค้ำฟ้าไซร้ ใครคนนั้นก็ต้องเป็นคนที่ไม่สมควรซึ่งใครจะพึงพูดสนทนาด้วยได้เลยเป็นอันขาด”

ข้อสงสัยคือ เมื่อความเป็นจริงคือไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน แล้วมนุษย์เราควรจะปรับตัว และปฏิบัติตนอย่างไรในช่วงเวลาหลังผลิใบกับก่อนใบจะร่วงหล่น?

เพราะใบไม้หลังร่วงหล่นลงพื้น ยังทิ้งความงามไว้ข้างหลังให้มนุษย์ผู้ผ่านทางได้ชื่นชมในสีสันและความงาม

คนเราล่ะมีอะไรไว้ให้คนข้างหลังได้ชื่นชมบ้าง?


ภาพประกอบ