เปลี่ยนความสูญเสียเป็นกำไร

พระไพศาล วิสาโล 7 พฤษภาคม 2005

ในชีวิตนี้มีสิ่งต่างๆ มากมายที่ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา แม้จะพยายามเต็มที่แล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเตรียมใจพร้อมเผชิญกับสิ่งที่ไม่สมหวัง  แน่ละบางอย่างก็อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขได้ แต่บางอย่างก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ในกรณีเช่นนั้นไม่มีอะไรดีกว่าการ“ทำใจ” เพราะถึงจะเศร้าโศกเสียใจหรือโกรธแค้นแค่ไหน ก็ไม่สามารถจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

ไม่ต้องดูอื่นไกล เพียงแค่ขับรถไปเจอสัญญาณไฟแดง อะไรเล่าที่เราจะทำได้ดีไปกว่าการทำใจปกติและคอยให้สัญญาณไฟเขียวปรากฏขึ้นแทน  จะหงุดหงิดหรือตะโกนโหวกเหวกดังเพียงใด สัญญาณไฟเขียวก็ไม่มาเร็วขึ้นกว่าเดิม

สัญญาณไฟแดงอาจไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนต้องประสบเป็นประจำ แต่ความสูญเสีย ความพลัดพราก ความล้มเหลว และคำตำหนิติฉิน ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดกับทุกคนเป็นอาจิณ และมักจะนำความทุกข์มาให้  ใครๆ ก็อยากหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าว  แต่แม้จะทุ่มเทเงินทอง หยาดเหงื่อแรงงาน หรือบนบานศาลกล่าวเพียงใด ก็มิอาจหนีพ้นได้ เป็นแต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และมากน้อยเพียงใดต่างหาก

ผู้ที่ตระหนักว่าความไม่สมหวังนั้นเป็นธรรมดาของชีวิต ย่อมทำใจได้ง่ายกว่าคนทั่วไป  ชีวิตนั้นมี ๒ ด้านอยู่เสมอ คือมีทั้งความสมหวังและความไม่สมหวัง  เราไม่สามารถเลือกสิ่งหนึ่งโดยปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่งได้  มีได้ก็ต้องมีเสีย มีสรรเสริญก็ต้องมีนินทา มีการพบปะก็ต้องมีการพลัดพลัดพราก และมีเกิดก็ต้องมีตาย นี้คือกฎของชีวิต  เช่นเดียวกับกีฬา มีชนะต้องมีแพ้ ไม่มีใครที่สามารถชนะตลอดกาล  ใครที่คิดจะเอาแต่ชนะ โดยไม่ยอมรับความพ่ายแพ้เลย ไม่เรียกว่านักกีฬาฉันใด ผู้ที่คิดแต่จะสมหวังอย่างเดียว โดยไม่ยอมรับความผิดหวัง ย่อมได้ชื่อว่าผู้เห็นแก่ได้ถ่ายเดียว

คนแต่ก่อนมักอุทานว่า “อนิจจา” เมื่อเจอกับความพลัดพรากสูญเสียก็เพื่อเตือนใจตนเองว่าความไม่เที่ยงเป็นธรรมดาของชีวิต  ความตระหนักว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เที่ยงแท้ นอกจากจะทำให้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาทแล้ว ยังช่วยให้ทำใจยอมรับความสูญเสียได้อย่างไม่ฟูมฟาย

ถ้าหากยังทำใจไม่ได้ ก็ขอให้ระลึกว่า ความสูญเสียพลัดพรากหรือสิ่งไม่สมหวังทั้งปวง เมื่อเกิดขึ้นกับเราก็นับว่าแย่อยู่แล้ว  หากเราปล่อยใจให้ตกต่ำ เอาแต่เศร้าโศกเสียใจหรือโกรธแค้น ก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมตัวเองให้ทุกข์หนักขึ้น  ควรเตือนใจว่าถึงทรัพย์จะเสียไป แต่อย่าให้ใจเสียไปด้วย ถึงงานจะล้มเหลว แต่อย่าให้ใจล้มเหลวไปด้วย  เมื่อเสียทรัพย์หรืองานล้มเหลว เราอาจโทษคนอื่นได้ แต่ถ้าใจเสียหรือใจล้มเหลว จะโทษใครไม่ได้เลยนอกจากตัวเอง  เพราะฉะนั้นไม่ดีกว่าหรือหากเราจะเลิกซ้ำเติมตัวเอง และยอมเสียเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เสียซ้ำสอง

เมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา หากปล่อยใจให้ทุกข์ ย่อมถือว่า “ขาดทุน” แต่ถ้ารักษาใจให้เป็นปกติ ถือว่า “เสมอตัว”  ดียิ่งกว่านั้นคือ “กำไร” ได้แก่การรู้จักหาประโยชน์จากความไม่สมหวังดังกล่าว  อาทิ  ถือว่าความไม่สมหวังนั้นมาเป็นครูสอนเราให้เข้าใจสัจธรรมของชีวิต ว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีได้ก็ต้องมีเสีย มีสรรเสริญก็ต้องมีนินทา มีพบปะก็ต้องมีพลัดพราก  ไม่ใช่แค่สอนสัจธรรมแก่เราเท่านั้น หากยังสอนให้เรารู้จักทำใจปล่อยวางด้วยเมื่อประสบกับสิ่งไม่สมหวัง  หากเราไม่เข้าใจสัจธรรมและทำใจไม่ได้ ก็จะต้องถูก “ครู” ลงโทษอย่างไม่หยุดหย่อน มีแต่จะทุกข์ร่ำไป  ถ้าไม่อยากทุกข์ ไม่อยากถูกลงโทษ ก็ต้องน้อมรับคำสอนของ “ครู” ให้ซึมซับเข้าไปในจิตใจ  ไม่มีครูใดที่ดุเท่านี้ แต่ขณะเดียวกันจะมีครูใดเล่าที่ขยันเคี่ยวเข็นสอนสั่งให้เราซึมซับสัจธรรมได้ดีเท่านี้  เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ประสบสิ่งไม่พึงปรารถนาหรือไม่สมหวัง ก็ขอให้ขอบคุณ “ครู” ที่ได้มาสอนสัจธรรมแก่เราอีกครั้ง

ถ้าอยากจะ “กำไร” มากกว่านี้ ก็ขอให้ระลึกว่าในที่สุดคนเราก็ต้องตาย  ความตายนั้นถือว่าเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดของชีวิต ไม่มีความสูญเสียอะไรที่เด็ดขาดสิ้นเชิงเท่ากับความตาย ไม่มีอะไรที่สามารถทำให้เจ็บปวดรวดร้าวได้ยิ่งกว่าความตาย  ที่สำคัญก็คือไม่มีทรัพย์สมบัติ อำนาจ ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือใครคนใดที่จะสามารถช่วยเราได้เมื่อความตายมาถึง  แม้กระนั้นมีสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยเราได้เมื่อชีวิตใกล้แตกดับ สิ่งนั้นคือจิตใจของเราเอง  จิตใจที่พร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่เพียงแต่ปล่อยวางทรัพย์สมบัติ อำนาจ ชื่อเสียงเกียรติยศเท่านั้น  หากยังปล่อยวางแม้กระทั่งความทุกข์ ความเศร้าโศก ความเจ็บปวด ไม่ยึดเอาไว้ให้เป็นทุกข์เลย

แต่จิตใจนั้นจะปล่อยวางขนาดนั้นได้ ต้องผ่านการฝึกฝน  ทีนี้จะฝึกฝนจากอะไร คำตอบประการหนึ่งก็คือฝึกฝนจาก “ครู” คนเดิมนั้นเอง  ความพลัดพรากสูญเสียและความไม่สมหวังนั้น จะว่าไปแล้วก็คือสิ่งที่มาฝึกฝนให้เรา “เลื่อนขั้น” ในทางจิตใจ  กล่าวคือให้มีความอดทน เข้มแข็ง และปล่อยวางได้มากขึ้นๆ จนสามารถเผชิญกับความตายได้อย่างสงบ  ทุกครั้งที่เราเสียทรัพย์ ทำเงินหาย อกหัก ขอให้ระลึกว่า แม้เพียงนี้ยังทำใจปล่อยวางไม่ได้ หากเผชิญกับความตาย ซึ่งเป็นสุดยอดแห่งการสูญเสียพลัดพราก เราจะทำอย่างไร  ทุกครั้งที่เจ็บป่วย ให้ระลึกว่า เพียงแค่นี้ยังทุรนทุราย แล้วจะรับมือกับความตายซึ่งเป็นที่สุดแห่งความเจ็บป่วยได้อย่างไร

หากปล่อยใจให้ทุกข์ย่อมถือว่า “ขาดทุน” แต่ถ้ารักษาใจให้เป็นปกติถือว่า “เสมอตัว” ดียิ่งกว่านั้นคือ “กำไร” คือการรู้จักหาประโยชน์จากความไม่สมหวังดังกล่าว

ความพลัดพรากสูญเสียและความไม่สมหวัง ล้วนเป็น “ครู” หรือบทเรียนที่มาสอนเราให้จัดเจนในการเผชิญกับความไม่เที่ยงของชีวิตอันมีความตายเป็นที่สุด  ดังนั้นทุกครั้งที่ประสบกับความพลัดพรากสูญเสียหรือความไม่สมหวัง ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ แทนที่จะปล่อยใจไปกับความทุกข์ ให้ถือว่ากำลังเจอกับบทเรียนหรือบททดสอบของครูที่เราจะต้องทำให้ได้  นั่นคือสามารถผ่านเหตุการณ์ได้โดยไม่ทุกข์ พร้อมที่จะปล่อยวางกับสิ่งที่เราได้สูญเสียไป ไม่หวนหาอาลัย  ถ้าทำเช่นนั้น เราจะมิใช่เป็นผู้สูญเสียเท่านั้น หากยัง “ได้” อีกด้วย นั่นคือได้ความพร้อมในจิตใจเพื่อเผชิญกับความตายที่รออยู่เบื้องหน้า

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ความพลัดพรากสูญเสียหรือความไม่สมหวังเท่านั้นที่สามารถสอนสัจธรรมให้แก่เรา เหตุการณ์ที่พึงปรารถนาก็ยังเป็นโอกาสที่จะตอกย้ำสัจธรรมให้แก่ตัวเราเองได้ด้วย  ทุกครั้งที่เราสมหวัง ได้สิ่งปรารถนา ได้รับคำสรรเสริญ ได้รับเกียรติยศ ควรระลึกไว้ในใจเสมอว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เที่ยง ไม่ช้าก็เร็วจะต้องแปรเปลี่ยนไป  เพราะเมื่อมีได้ก็ต้องมีเสีย มีสรรเสริญก็ต้องมีนินทา ไม่มีใครที่ประสบความสมหวัง ได้รับสิ่งพึงปรารถนาหรือคำสรรเสริญไปตลอด  แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีคนนินทา แม้แต่มหาเศรษฐีที่ฉลาดที่สุดก็ยังประสบกับการขาดทุน เช่นเดียวกับนักกีฬาที่เก่งที่สุดก็ยังมีวันพ่ายแพ้  เมื่อระลึกได้เช่นนี้ ก็อย่าได้ลิงโลดหรีอดีใจมากนัก เพราะดีใจมากเท่าไร ก็จะเสียใจมากเท่านั้น ยิ่งหัวเราะดังเท่าไร ก็ยิ่งร้องไห้ดังเท่านั้น

ด้วยเหตุผลเดียวกัน ถ้าไม่อยากทุกข์เพราะถูกคนต่อว่า ก็อย่าปลื้มเวลามีคนสรรเสริญ ถ้าไม่อยากเสียใจเวลาของหาย ก็อย่าไปดีใจเวลาได้ของมา ถ้าไม่อยากกลัดกลุ้มเวลาประสบล้มเหลว ก็อย่าไปลิงโลดเวลาประสบความสำเร็จ  ยิ่งอยู่สูงมากเท่าไร ก็มีโอกาสตกลงมาเจ็บมากเท่านั้น  รักษาใจให้พอดีๆ ไม่ยินดีเวลาประสบสิ่งน่าพอใจ ถึงเวลาประสบสิ่งไม่น่าพอใจ ก็ไม่ยินร้ายไปเอง

ในทำนองเดียวกัน เวลาสุขสบาย ก็อย่าเพลิดเพลินมากนัก  ให้เตือนใจว่า วันนี้สุข ใช่ว่าพรุ่งนี้จะไม่ทุกข์  วันนี้เป็นหนุ่มสาว ใช่ว่าพรุ่งนี้จะไม่แก่เฒ่า  วันนี้มีสุขภาพดี ใช่ว่าพรุ่งนี้จะไม่เจ็บป่วย  วันนี้ยังมีลมหายใจ ใช่ว่าพรุ่งนี้จะไม่ตาย

โลกนี้ผันผวนเป็นนิจ ชีวิตนี้แปรเปลี่ยนเป็นอาจิณ จะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไม่ทุกข์ และมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข ต้องรู้ซึ้งถึงสัจธรรมดังกล่าว ไม่เพลิดเพลินกับความสมหวังจนลืมตัว เรียนรู้จากความไม่สมหวังจนเกิดปัญญา  เมื่อประจักษ์แก่ใจว่า ได้หรือเสีย สรรเสริญหรือนินทา สำเร็จหรือล้มเหลว สุขหรือทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อนั้นความเจ็บป่วยและความตายก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน

ผู้ที่รู้จักธรรมชาติอันแปรปรวนของแม่น้ำ ย่อมสามารถคัดท้ายพายเรือจนถึงจุดหมายได้อย่างสวัสดีฉันใด ผู้ที่รู้ธรรมชาติอันผันผวนของโลกและชีวิต ย่อมสามารถพาตนจนถึงสุคติได้ฉันนั้น


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา