เพ่งพินิจกับหน้าที่ของชีวิตและสิ่งสัมพันธ์

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 1 มกราคม 2005

ทุกครั้งหากเรามีโอกาสได้ย้อนรำลึกอดีตถึงความผิดพลาดและบทเรียนชีวิตที่ผ่านมา หากเรามีจิตใจที่เข้มแข็งและกล้าหาญมากพอที่จะยอมรับความรู้สึกเศร้า เสียใจ หรือแม้แต่ความละอายในความผิดพลาดที่ผ่านมา เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินชีวิตไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสอง  การกระทำเช่นนี้ก็ถือเป็นของขวัญล้ำค่าที่เรามอบให้กับตนเอง ทั้งยังมีคุณค่าเผื่อแผ่ถึงคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างให้ได้รับความสุขจากการเรียนรู้ พัฒนาและฝึกฝนตนเอง  แต่เพราะในชีวิตจริง เรื่องราวชีวิตของใครคนหนึ่งถูกแวดล้อมด้วยปัจจัยและองค์ประกอบมากมายที่สัมพันธ์และโยงใยกับคนอื่น กับสังคม ชุมชนและโลก  การเรียนรู้ชีวิตจึงต้องยึดโยงและสัมพันธ์กับองค์ประกอบปัจจัยแวดล้อมนานา ซึ่งเมื่อพิจารณาแยกแยะ เราอาจจัดแบ่งได้ใน ๔ องค์ประกอบ คือ

๑) ตนเองกับสิ่งประเสริฐภายใน

เราทุกคนล้วนมีสิ่งประเสริฐอยู่ภายใน เป็นสิ่งประเสริฐที่บริสุทธิ์และนำพาชีวิตให้เกิดความสันติสุขภายใน หากเราได้สัมพันธ์กับสิ่งนี้อย่างประจักษ์แจ้ง  ทุกศาสนาต่างเรียกขานสิ่งประเสริฐนี้ในชื่อที่แตกต่างกัน เช่น พุทธภาวะ จิตเดิมแท้ หรือ อาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่กล่าวสื่อถึงสิ่งเดียวกัน  อย่างไรก็ตามสิ่งประเสริฐนี้ ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว อาคันตุกะที่มักมาเยี่ยมเยียน คือ สัตว์ร้ายในนามของโทสะ โมหะ และโลภะ ซึ่งมีพลังอำนาจมากพอที่จะเข้ายึดครองและครอบงำสิ่งประเสริฐให้แปรเปลี่ยนเป็นสัตว์ร้ายตามไปด้วย  ภารกิจของเราทุกคนที่ต้องรับผิดชอบตนเอง คือ จะปกป้องและรักษาตนเองอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของสัตว์ร้าย และเปิดโอกาสให้สิ่งประเสริฐที่มีอยู่แล้วได้เปิดเผยและแสดงธรรมชาติที่แท้ของความเป็นมนุษย์

๒) ตนเองกับครอบครัว 

ชีวิตที่เกิดและเติบโตขึ้นมาก็ด้วยการให้ การหยิบยื่นและช่วยเหลือจากแม่ พ่อ ญาติพี่น้อง  แล้วเมื่อเราเติบโตขึ้นมีบทบาทฐานะในฐานะพ่อ แม่และลูก หรือระหว่างสามีกับภรรยา ระหว่างเพื่อนกับเพื่อน  ด้านหนึ่งเรามีความเป็นปัจเจกที่ต้องรับผิดชอบตนเอง แต่อีกด้านที่สำคัญและไม่ด้อยกว่า ก็คือ ความเป็นครอบครัว ความเป็นเพื่อนและมีมิตรภาพสัมพันธ์กัน  ดังนั้นเพื่อให้สัมพันธภาพดำเนินไปด้วยความเกื้อกูล ด้วยเสรีภาพในการมีอิสระที่จะกระทำ คิดนึกด้วยความรับผิดชอบตนเอง พร้อมกับวินัยของการกระทำ การประพฤติที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เราจะสร้างและรักษาสมดุลชีวิตระหว่าง “เสรีภาพกับวินัย” อย่างไร

๓) ตนเองกับชุมชน สังคม

หากเราข้ามพ้นจากบทบาทใกล้ตัวในฐานะพ่อ แม่ หรือลูก ฯลฯ เรายังมีบทบาทที่ยึดโยงกับผู้อื่นในระดับที่กว้างกว่า คือ ชุมชน หรือสังคม  บทบาทในสังคม ชุมชน อาจสะท้อนในรูปของของงาน อาชีพ เช่น นักธุรกิจ พ่อค้า ข้าราชการ นักบวช ศิลปิน คนเก็บขยะ หรือแม้แต่โสเภณี ฯลฯ  สะท้อนในรูปของฐานะทางเศรษฐกิจ เช่น ชนชั้นกลาง คนชายขอบ อภิสิทธิ์ชน  หรือสะท้อนในรูปของชาติพันธ์ุ เช่น มอญ ไทย กะเหรี่ยง ฯลฯ

๔) ตนเองกับชาติ ประเทศ

ที่ยึดโยงด้วยความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นระบบโครงสร้างสังคมที่มีอิทธิพลกำหนดชีวิตของเราไม่มากก็น้อย ดังเช่น ราคาน้ำมันโลก อัตราดอกเบี้ย ภัยจากการก่อการร้าย อิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติ  ทั้งหมดนี้เราได้มีความรู้ ความเข้าใจในความแตกต่างและสำนึกถึงความเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง

ความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับบริบทรอบๆ ตัวเราล้วนส่งผลกระทบระหว่างกัน  เราในฐานะปัจเจกและหน่วยของสังคมจะพบว่า สังคมภายใต้ระบบการครอบโลกของบรรษัทข้ามชาติ ความสามารถในการกำหนดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองจะลดน้อยลงเรื่อยๆ  พื้นที่ที่ชุมชนหรือวัฒนธรรมหนึ่งๆ จะรักษาอัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตเพื่อยึดโยงเขากับความเป็นมาของพวกเขาลดน้อยลงเรื่อยๆ  สิ่งเหล่านี้กระทบต่อความรู้สึกถึงศักดิ์ศรี คุณค่าภายในตน  การตอบโต้เพื่อรักษาและคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ วัฒนธรรรม จึงเป็นสิ่งที่หลายคนรู้สึกว่าจำเป็นต้องรักษาแม้จะต้องเสียสละชีวิตก็ตาม

มัสยิดหรือเซะ จังหวัดปัตตานี

เหตุการณ์ความรุนแรงกรณีกรือเซะ จนถึงตากใบ แม้จะผ่านพ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่รากเหง้าของความคับแค้นที่ไม่ได้รับการยอมรับในความแตกต่างยังมีอยู่  พื้นที่ที่เขาสามารถดำรงอยู่ภายใต้อัตลักษณ์ วัฒนธรรมของพวกเขายังไม่มั่นคง เนื่องเพราะอคติของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ต่างวัฒนธรรม ต่างความนึกคิดเชื่อถือยังมีอยู่  และนี่เองคือภารกิจสำคัญอีกประการ คือ เราทุกคนล้วนมีหน้าที่พินิจพิจารณากับตนเองว่าตนได้มีความรู้ ความเข้าใจกับเพื่อนที่มีความแตกต่างกับเราในด้านต่างๆ อย่างไรบ้าง เพื่อประสานสอดคล้องและมีสันติภาพในการอยู่ร่วมกัน

จะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่สนใจ ไม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างที่มีอยู่ในสังคมทุกระดับ  คำตอบนั้นเราสามารถพบในตนเองได้ว่า หากเราไม่สามารถก้าวพ้นจากตนเองเพื่อเชื่อมโยงประสานและสัมพันธ์กับผู้อื่น เราก็จะหมกมุ่น ถูกกักขังอยู่แต่กับตนเองด้วยความเห็นแก่ตัว อันเนื่องจากความคับแคบของทัศนคติ ความจำกัดของความรู้ ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ  ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับตนเองก็คือ การเบียดเบียนผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมเพื่อมาปรนเปรอสนองความต้องการที่จำกัดเฉพาะของตนเองเท่านั้น  จากแง่มุมนี้เมื่อพิจารณาในระดับสังคมโดยรวม เราในฐานะหน่วยสังคมจึงมีหน้าที่ก้าวข้ามวัฒนธรรมที่อยู่รอบตัวไปสู่การเรียนรู้ ทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่อยู่ต่างออกไป และทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ต่างออกไปโดยเฉพาะความทุกข์ยากของคนอื่น หรือสังคม

เราทุกคนล้วนมีหน้าที่พินิจพิจารณากับตนเองว่า ตนได้มีความรู้ ความเข้าใจกับเพื่อนที่มีความแตกต่างกับเราในด้านต่างๆ อย่างไรบ้าง เพื่อประสานสอดคล้องและมีสันติภาพในการอยู่ร่วมกัน

วัฒนธรรมนั้นเปรียบเสมือนบ้านที่มีประตูที่เราสามารถเข้าออกได้ มีหน้าต่างที่เราสามารถมองพ้นออกไปจากบ้านของตนเอง เราในฐานะเจ้าของบ้านสามารถจัดการกับบ้าน กับอาณาบริเวณของบ้านได้  การก้าวข้ามวัฒนธรรมนี้จึงหมายถึงการที่เราสามารถเข้าออกประตูบ้านเพื่อไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้อื่น และกลับบ้านได้เมื่อเราต้องการกลับ  เท่าๆ กับที่เราสามารถมองออกหน้าต่างเพื่อรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นนอกบ้าน  เท่าๆ กับที่เรายอมเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้คนอื่นได้ก้าวเท้าเข้ามาเยี่ยมเยียนบ้านของเรา หรือมองเข้ามาเห็นสิ่งต่างๆ ในบ้าน  การก้าวข้ามวัฒนธรรมเช่นนี้จึงมีนัยความหมายไม่แตกต่าง คือ การได้เข้าไปสัมพันธ์ทั้งโดยการสัมผัสรับรู้วัฒนธรรมที่อยู่ต่างออกไป

ทั้งหมดนี้สิ่งสำคัญคือ การก้าวข้ามเพื่อพ้นไปจากอคติที่มีอยู่ในตัวเราในฐานะปัจเจก คือ อคติความโง่จากความโลภ โกรธและหลง และในฐานะหน่วยสังคมที่มีอคติจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจและไม่ยอมรับในความแตกต่าง  หัวใจสำคัญคือ หากเราก้าวไม่พ้นอคติเหล่านี้ เราจะถูกจำกัดด้วยความคับแคบที่มองเห็นแต่ประโยชน์ของตนเอง ไม่สามารถประสาน สอดคล้อง หรือสัมพันธ์กับผู้อื่นที่แตกต่างจากเราได้  และนั่นหมายถึงสันติภาพของโลกยังยากที่จะเกิดขึ้น


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน