เมื่อความตายมาเยือน

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 28 สิงหาคม 2004

ชั่วขณะที่เราอยู่กับบุคคลผู้เป็นที่รัก ขณะที่เราพูดคุย หัวเราะ ร้องไห้ โอบกอด หรือแม้แต่เฝ้ามองเขาหรือเธอ  วูบหนึ่งของจิตใจที่อาจแวบเข้ามาโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เราตระหนักรู้ดีว่า ชั่วขณะเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ได้ตลอดไป  เดือนหน้า ปีหน้า ๒-๓ หรือ ๑๐ กว่าปีข้างหน้า เราและผู้เป็นที่รักก็จะต้องจากพรากกันในที่สุด เราไม่รู้เพียงว่าความตายที่จะมาพรากชีวิตไปนั้น โฉมหน้าความตายนั้นจะเป็นอย่างไร จะมาเร็วหรือช้าเมื่อไร

สิ่งที่พวกเราส่วนใหญ่มักกระทำ คือ การพยายามหลงลืมความจริงเรื่องนี้ อาจโดยการเพิกเฉย ปฏิเสธ หรือปัดความรู้สึกนึกคิดถึงความกังวลต่อความตายที่อาจแวบเข้ามาว่า พรุ่งนี้ความตายยังไม่มาเยือนเราหรอก หรือถ้าหากมันมาจริงๆ ก็ขอให้เป็นเรื่องราวของวันพรุ่งนี้เถิด และเมื่อมีสัญญาณความตายปรากฏด้วยโรคภัยต่างๆ ด้วยวัยที่แก่ชราของผู้เป็นที่รักหรือตัวเราเองก็ตาม เราก็อาจสวดภาวนา ขอให้ความตายอย่ามาเยือนเราเร็วนัก ขอความเจ็บป่วยจงหายไป หรืออย่างน้อยที่สุดหากต้องตายก็อย่าให้ทุกข์ทรมานนัก  ในการเผชิญหน้ากับความตายมีหนทางใดที่ดีกว่าการสวดภาวนาเช่นนี้หรือไม่

ในสังคมทุนนิยม ตราบที่ภาวะใกล้ตายยังไม่สิ้นสุด สัญญาณชีวิตยังปรากฏแม้จะแผ่วบาง ท่าทีต่อความตายก็คือ การยื้อยุด ต่อสู้กับความตาย (แม้จะต้องค้ำจุนด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีการแพทย์ ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายในการพยาบาลรักษาที่มากมายเพื่อที่จะลงเอยด้วยความตายในที่สุดก็ตาม) ช่วงเวลาเช่นนี้ เรามักฝากความหวังและคำตอบไว้กับแพทย์ กับเทคโนโลยีการแพทย์ว่าจะสามารถพลิกฟื้นโชคชะตาจากความตายได้  ความจริงที่คนส่วนใหญ่มักหลงลืม คือ แพทย์เป็นเพียงคนธรรมดา มีอคติโลภ โกรธ หลง โง่ และกลัวได้  ดังนั้นความคิด ความเห็น แม้กระทั่งความรู้ของพวกเขาก็อาจไม่ใช่สิ่งถูกต้องหรือสิ่งดีที่สุดก็ได้  เทคโนโลยีการแพทย์แท้จริงก็เป็นเพียงเทคโนโลยีชะลอความตาย รบกวนชีวิตผู้ต้องลาจากโลกนี้ไม่ให้ได้รับความสุขสงบมากกว่า

เมื่อความตายมาเยือนบุคคลที่เรารัก โดยเฉพาะในรูปของโรคภัยต่างๆ ภาวะยากลำบากใจ คือ จะจัดการกับความจริงที่ว่า “เราควรบอกหรือไม่ควรบอก” ให้ผู้ป่วยได้รับรู้ว่าเขากำลังจะต้องตาย  การเลือกบอกหรือไม่บอกล้วนมีต้นทุนแตกต่างกันไป  แน่นอนว่าสิ่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเมื่อรู้ความจริงว่าเวลาของพวกเขาเหลือไม่มากนัก อาการที่มักเกิดขึ้น คือ การปฏิเสธ แยกตัวถอยหนี โกรธ ขุ่นเคือง พร้อมกับความนึกคิดที่พยายามปลอบประโลมถึงความหวังและโอกาสที่น่าจะต่อรอง พลิกกลับความจริงนี้ได้ เพื่อที่จะพบว่าความจริงก็คือความจริง  ความผิดหวัง เสียใจ นำไปสู่ความเศร้าซึม  แต่เมื่อถึงที่สุด เราทุกคนไม่เฉพาะคนไข้ แต่รวมถึงเราเองด้วยก็จะยอมรับต่อความจริงนั้นและปล่อยวางได้ในที่สุด

สิ่งยากลำบากในสังคมปัจจุบันคือ เรามักไม่ยอมรับกฎความจริงข้อนี้ เราหลงลืมไปว่าโรคแต่ละชนิดต่างล้วนมีกระบวนการเฉพาะในการทำลายชีวิตและความเสื่อมโทรมของเซลล์ อวัยวะ ระบบการทำงานที่ต้องปิดฉากในที่สุด  ถึงตรงนี้การเลือกไม่บอกความจริงกับผู้ป่วยใกล้ตาย ต้นทุนสำคัญคือ การชะลอโอกาสให้ทุกฝ่ายไม่มีเวลามากพอ และไม่ได้เตรียมตัวกับความจริงนี้เท่าที่ควร เพื่อให้สามารถนำไปสู่การยอมรับความจริงได้ เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้มีเวลาได้กระทำในสิ่งที่ควรกระทำ เช่น การสะสางความขัดแย้งที่ค้างคา การร่ำลา การจัดการกับความรู้สึกที่ค้างคา เพื่อให้ทั้งผู้จากและญาติมิตรต่างสามารถปล่อยวางได้ และเพื่อให้ช่วงเวลาการตายผ่านพ้นได้อย่างงดงามและสุขสงบได้

เราพยายามปฏิเสธความจริงโดยการคิดว่า “พรุ่งนี้ความตายยังไม่มาเยือนเราหรอก หรือถ้ามันมาจริงๆ ก็ขอให้เป็นเรื่องราวของวันพรุ่งนี้เถิด”

โฉมหน้าความตายนั้นมีหลากหลายลักษณะเนื่องด้วยพยาธิสภาพต่างๆ โรคภัยร้ายแรงทั้งเอดส์ มะเร็ง อัลไซเมอร์ หัวใจวาย รวมถึงโฉมหน้าความตายในรูปอุบัติเหตุ ฆาตกรรม แม้กระทั้งการฆ่าตัวตาย  ทุกโฉมหน้าความตายนี้ สิ่งที่ทำให้เราต้องจบชีวิตคือ การไหลเวียนของเลือดหยุดลง การขนถ่ายออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ หยุดชะงักหรือไม่เพียงพอ สมองขาดออกซิเจนจนทำงานไม่ได้และตายในที่สุด อวัยวะภายในล้มเหลว รวมถึงศูนย์ระบบควบคุมชีวิตเสื่อมโทรมจนเกินเยียวยา เพียงสาเหตุประการเดียวที่เกิดขึ้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ความตายเกิดขึ้น  สิ่งเหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งของความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราขณะเผชิญความตาย แต่ละโฉมหน้าความตายยังมีรายละเอียดที่เฉพาะตัว

เมื่อความตายมาเยือน เราต่างล้วนไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะต่อรอง แต่เรามีสิทธิและอำนาจที่จะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายและจิตใจของผู้เป็นที่รักซึ่งกำลังใกล้ตาย  มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจและความรู้สึกผิดคงเกาะกินหัวใจ หากละเลยสิทธิและอำนาจที่จะเรียนรู้และเข้าใจความจริงเรื่องนี้  เพื่อที่เราจะใช้ความจริงนี้ให้อำนาจต่อเราในการพูดคุยปรึกษาหารือกับแพทย์ได้ ไม่ตกเป็นเหยื่อของทุนนิยมที่มีต่อระบบการแพทย์  ใช้ความจริงนี้ปลดปล่อยเราจากความไม่รู้ และสามารถเป็นอิสระจากความรู้สึกเชิงลบเนื่องเพราะเราได้กระทำตามความจริง ไม่ใช่ตามความไม่รู้  ความจริงนี้ยังเสริมสร้างความกล้าหาญเพื่อเผชิญความทุกข์ทรมานจากความตายได้ เพราะเราได้รู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ความจริงเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่า ร่างกายของเรากำลังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรและเมื่อใด ขั้นตอนไหนที่เป็นช่วงยากลำบาก ทุกข์ทรมาน หรือขั้นตอนสุดท้ายของชีวิต  ในแต่ละขั้นตอนของภาวะใกล้ตาย เราในฐานะผู้ป่วย ญาติ หรือแพทย์ พยาบาลก็ตาม ทำอะไร ขอบเขตได้แค่ไหนและอย่างไร มีโอกาสที่ควรจะต่อสู้ ยื้อยุด หรือควรยอมรับความตาย  ทั้งหมดก็เพื่อให้ผู้ใกล้ลาจากโลกใบนี้ไม่ทุกข์ทรมานจนเกินไป และผ่านพ้นความตายได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสุขสงบเท่าที่เขาหรือเธอพึงได้รับ  ความจริงเช่นนี้ควรค่าแก่การเรียนรู้และเพื่อเตรียมพร้อมตัวเองไม่ใช่หรือ

นายแพทย์เชอร์วิน นูแลนด์ ผู้ประพันธ์หนังสือ “เราตายอย่างไร” เน้นย้ำว่านอกเหนือจากการยอมรับอำนาจของความตายที่มีต่อชีวิตของเราทุกคนแล้ว เรายังสามารถมีอำนาจต่อความตายด้วยการเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อกลไกการสังหารชีวิตของโรคภัยร้ายแรงได้  เพื่อที่อย่างน้อยเราอาจจะพอควบคุมกระบวนการสู่ความตายอย่างสุขสงบ เท่าที่เราและบุคคลที่เกี่ยวข้องจะพึงเอื้อเฟื้อและทำให้ได้

และเพื่อที่จะตาย เราต้องมีชีวิตที่ดีด้วย  ดังนั้นขณะที่เรายังมีชีวิต สุขภาพยังแข็งแรง แม้โอกาสความตายจากโรคภัยอาจจะมีอยู่น้อย แต่เพื่อให้ชั่วขณะชีวิตของเราที่ดำรงอยู่นั้นเป็นไปอย่างมีคุณค่าและความหมาย คำแนะนำอันน่าสนใจของนายแพทย์ท่านนี้ที่เราควรพิจารณา คือ ขอให้เราดำเนินชีวิตราวกับว่าทุกๆ วันจะเป็นวันสุดท้ายของเรา พร้อมกับให้มีชีวิตในแต่ละวันราวกับว่าเราจะคงอยู่บนโลกนี้ตลอดไป  ซึ่งหมายถึงการดำรงชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาทในแต่ละวัน พร้อมกับความรับผิดชอบที่มีต่อโลกใบนี้ ก่อนที่ความตายแท้จริงจะมาเยือน


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน