เยาะปลาในทุ่ง

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 17 เมษายน 2016

ในทุ่งก็มีธรรม อยู่ที่ว่าจะมีใครเห็นหรือไม่

ตรงนั้นเป็นแถบหางเขื่อนที่จมอยู่ใต้น้ำตลอดหน้าน้ำ  จนเข้าหน้าแล้งน้ำเขื่อนขอดลง จึงปรากฏทิวทุ่งที่เคยเป็นทุ่งนาทุ่งหญ้าที่เลี้ยงสัตว์ น้ำยังเหลืออยู่แต่ตามท้องร่องที่เคยเป็นแม่น้ำลำห้วยมาแต่เดิม พอได้เป็นแหล่งน้ำสำหรับปศุสัตว์ และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ที่ไม่ได้ลงกลับไปกับกระแสน้ำหลากเมื่อปลายฝนต้นหนาว และส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นอาหารของชาวทุ่ง

ทุ่งท้ายเขื่อนยามแล้ง แลเวิ้งว้างกว้างไกลอย่างน่าเป็นฉากถ่ายหนังที่มีเนื้อหาเหงาเศร้า แต่ว่าตามจริงละครชีวิตชาวบ้านที่เคลื่อนไหวกันอยู่ในทุ่งกว้างแห่งนั้นจะสุขเศร้ากันปานใดอย่างไรนั้น ก็ยากที่คนแอบมองจะล่วงรู้ได้

พวกเขาจะออกมาในทุ่งกับฝูงวัวหรือควาย-อย่างใดอย่างหนึ่ง พามันไปปล่อยไว้ตรงที่มีหญ้างามดี ถึงเวลาก็ไปพาย้ายที่หรือพากลับ

ทุ่งกว้างไกล และบางทีวัวควายก็เดินและเล็มหญ้าไปไกลลิบ และเจ้าของก็ต้องเดินตามไปในระยะทางเท่ากันกลางทุ่งโล่งที่หาร่มเงาได้ยาก-อย่างดูน่าเหน็ดเหนื่อยและทุกข์-ร้อน

แต่บนเงื่อนไขเดียวกันในใจเขาจะกลับเป็นอีกอย่าง หากได้ก้าวย่างไปด้วยความรู้สึกของการเดินจงกรม

อ่างเขื่อนเป็นพื้นที่สาธารณะ ท้องทุ่งยามน้ำลดก็ถือเป็นที่สาธารณะ แต่แอ่งวังตามร่องน้ำนั้นใครอาจจองถือครองสิทธิ์ในแต่ละรอบปีได้ด้วยการเอากิ่งไม้กิ่งไผ่ลงสุมไว้ ที่เรียกว่า “เยาะ” นานไปปลาจะเข้ามาอาศัย ถึงเวลาก็มาจับเอา

และเวลาของการเอาปลาเยาะส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงสงกรานต์ ที่ลูกหลานกลับบ้านมาพร้อมหน้ากัน

ลูกอีสานจะรู้ดี เอาปลาเยาะคล้ายเป็นของขวัญในรอบปีที่คนที่บ้านเตรียมไว้รอต้อนรับการกลับมาบ้านของญาติมิตรที่จากไปอยู่ถิ่นอื่น

เป็นความสนุก เป็นความรู้สึกพิเศษ เป็นงานที่ต้องร่วมแรงกันทำ และผลตอบแทนที่ได้ยากกับการตีค่าเป็นเงิน

สงกรานต์ปีนี้มีลูกชายกลับมาบ้านคนเดียว

กับมีหลานชายอีกคนมาร่วม ก็พอแล้วสำหรับการเอาปลาเยาะในทุ่งที่พ่อใหญ่ลงเยาะเตรียมจองที่ไว้เป็นครึ่งปี

ถ้าจะให้ดีลงเอาปลาต้องเริ่มแต่เช้า จะได้เสร็จก่อนแดดแรง เริ่มจากลงข่ายกั้นล้อมเยาะทั้งทางหัวและท้ายน้ำ จากนั้นก็รื้อเศษกิ่งไม้ออกให้เกลี้ยง แล้วจึงลงมือจับปลาในวงล้อมนั้นด้วยแห

รื้อไม้ขึ้นจากน้ำเป็นงานไม่ง่ายนักอยู่แล้ว หนำซ้ำเยาะของพ่อใหญ่ยังมีผักกะเฉดกับผักตบชวาขึ้นคลุมสุมด้วยงานก็ยิ่งมากและยากขึ้นเป็นทวีคูณ  งานง่ายๆ ที่ว่าจะเสร็จสิ้นก่อนแดดแรงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว  สาวผักกะเฉดเปิดผิวน้ำได้มุมเล็กๆ ลูกชายของพ่อใหญ่ที่เพิ่งกลับมาจากกรุงเทพฯ เริ่มออกปากว่า วันนี้ท่าจะไม่เสร็จ

และตอนนั้นเองที่หลานชายของแกตามมาช่วยสมทบ ช่วยกันตัดลากรื้อค่อยๆ เอาไม้สดไม้แห้งขึ้นจากน้ำได้ทีละเล็กละน้อย แต่งานก็คืบหน้าไปแบบมีความหวัง

“ปลาเยาะ” เปรียบเสมือนของขวัญในรอบปีที่เตรียมไว้ต้อนรับการกลับมาของญาติมิตร

ภาพ: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

แดดแรงแล้วกว่าจะได้ซัดแหแรกลงน้ำ

คุ้งน้ำขนาดเล็กกว่าเวทีมวย มีข่ายกั้นทางหัวและท้ายน้ำ ผิวน้ำเกลี้ยงเกลาดีแล้ว แต่ลึกลงไปใต้ท้องน้ำเป็นโคลนหนาที่อุ้มเศษซากกิ่งไม้ หอยตายซาก และเศษสวะที่พร้อมจะถูกอุ้มขึ้นมากับแห จนไม่สามารถลากแหขึ้นมาอย่างการทอดในบึงหนองทั่วไป  หากต้องใช้วิธีกดตีนแหไปรอบๆ แล้วคลำปลดเอาปลาจากใต้น้ำโยนขึ้นบกทีละตัว ซึ่งต้องใช้ความสามารถเฉพาะ แบบที่คนไม่คุ้นกับน้ำกับปลาคงไม่สามารถทำได้

กว่าจะได้ปลาน้ำจืดพื้นบ้านแต่ละตัวเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย  ปลาขาวงาม ปลาก่า ปลาอีไท ปลาสูด ปลาหลาด ปลาไหล ปลาหมอ ปลากระดี่ ปลาช่อน ประหลาดกด ปลานาง ฯลฯ ทั้งข้องนั้นจึงยากกับการคำนวณราคา

หากซื้อหรือเอาไปขายตลาดก็คงไม่กี่ร้อย เทียบไม่ได้กับค่าแรงคนกลุ่มหนึ่งที่ยอมทุ่มเวลาเป็นครึ่งวันเพื่อปลาจำนวนหนึ่งแค่นี้  แต่ปลาที่สะอาดจากธรรมชาติแบบนี้ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ ในทุกวันนี้

การหาความสนุกและความสามัคคีในหมู่พี่น้องจากการจับปลา อาจดูขัดกับหลักปาณาติบาต แต่มันก็เป็นการล่าที่เปิดกว้างอยู่ตามสมควรทั้งโดยเครื่องมือและเป้าหมาย  ดูจากการปลดปลาปาขึ้นฝั่งของพ่อใหญ่แล้วรู้ได้ ดูแกอยากล้อเล่นกับลูกหลานมากกว่า บางทีก็โยนปลาให้ปริ่มๆ ริมฝั่งน้ำให้ได้ลุ้นกันพอหวาดเสียว ถ้าปลากลับลงน้ำได้แกว่าให้มันไปขยายพันธุ์ต่อ

ได้ปลาเนื้อดีจำนวนหนึ่งแล้ว ระหว่างกว้านจับปลาในวงล้อมกลับไปกลับมา ปลาช่อนตัวใหญ่เท่าน่องกระโจนขึ้นริมข่าย แต่ข้ามไม่พ้นตกกลับลงในวงล้อม  ทีมล่าปลาถลกแหขึ้นยอมปล่อยปลาเล็กหันมาไล่ล่าไอ้ช่อนใหญ่

อาจดูขัดกับหลักปาณาติบาต แต่ก็เป็นการล่าที่เปิดกว้างอยู่ตามสมควรทั้งโดยเครื่องมือและเป้าหมาย

จากที่ตั้งใจว่าแดดร้อนแล้วจะขึ้นกลับไปกินข้าวที่บ้าน กลายเป็นว่าขอให้เอาข้าวห่อมาส่ง ก่อไฟปิ้งปลาเป็นกับ กินข้าวเช้ากันกลางในทุ่ง ที่คำว่าอีสานว่า “กินข้าวป่า”  แล้วล่าปลาต่อกลางแดดเปรี้ยง

เห็นปลาแตกหนีจะโดดข้ามข่ายอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีตัวไหนใหญ่เท่าตัวที่เห็นที่แรก ทีมงานยิ่งตั้งความหวังว่าต้องล่าตัวใหญ่ให้ได้แล้วค่อยเลิก

ห้วงน้ำถูกกวาดแหกลับไปกลับมา ได้ปลาอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อย แต่ครั้งแล้วครั้งเล่ายังไม่สัมผัสกับปลาช่อนใหญ่ที่เป็นเป้าหมายแม้เวลาล่วงเลยมาจนใกล้เที่ยงเต็มที

แล้วจู่ๆ พ่อใหญ่ก็ถอนข่ายขึ้นจากน้ำ

ปล่อยปลาทุกตัวในวงล้อมให้ขึ้นล่องลำน้ำได้อย่างเสรี รวมทั้งปลาช่อนใหญ่ตัวนั้นด้วย จะว่าแกเหนื่อยอ่อนจนยอมแพ้ก็คงไม่ใช่ เพราะหลังจากนั้นแกก็ยังไปหยิบจับทำนั่นนี่ต่อหลังขึ้นจากน้ำ

แต่คงอย่างว่า–เป็นการล่าอย่างมีกติกาและเปิดกว้างพอ ถึงจุดหนึ่งเกมต้องจบ-แม้ไม่ชนะ

ช่อนตัวนั้นคงเป็นแม่พันธุ์ทีจะได้วางไข่เมื่อฤดูฝนมาถึง

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ