เราต้องการศาสนา เพื่อใช้เดินทาง

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 19 มกราคม 2007

เวลาที่เราต้องเดินทางไปที่แห่งไหนก็ตาม สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการเตรียมพร้อม ก็คือ การปล่อยวางจากสิ่งที่ค้างคา และเตรียมพร้อมกับการเดินทางข้างหน้า  และสำหรับการเดินทางของชีวิต เราไม่เพียงต้องพร้อมรับเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ และปล่อยวางโดยไม่ใช่หลงลืมกับสิ่งเก่าที่ผ่านไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลักการดำเนินชีวิต เป้าหมายและทิศทางที่เราจะนำพาชีวิตไป จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า คือ กระบวนการสิ้นสุดของชีวิต และนับจากนั้นโลกนี้ก็จะไม่มีตัวเราดำรงอยู่  เราจะไม่ได้พบปะบุคคลที่เรารัก ครอบครัว  แม้แต่การงาน ทรัพย์สินใดๆ เราก็ไม่สามารถยึดถือหรือไขว่คว้าใดๆ ได้  สิ่งที่รอคอยยังรวมถึงความไม่รู้  อาจรวมถึงความรู้สึกต่างๆ นานา ทั้งความนึกคิดในสมองก็ทำงานวิ่งวุ่นไปด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย  กล่าวกันว่าภาพการกระทำต่างๆ ในอดีตจะวิ่งย้อนเข้ามา  ความรู้สึกที่ก่อเกิด ไม่ว่าจะเป็นกลัว ตื่นตระหนก ว้าเหว่ เจ็บปวด เศร้าซึม โกรธ และทุกข์ทรมาน  หรือความรู้สึกปิติ สุขสงบ  ทั้งหมดคือ ผลสอบจากการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา

ท่านทะไลลามะกล่าวคำพูดสำคัญ คือ เราดำเนินชีวิตหรืออยู่อย่างไร เราก็จะตายอย่างนั้น  หากเราต้องการภาวะการตายที่ดี สงบสุข เหตุปัจจัยสำคัญคือ การดำเนินชีวิตที่ดี และสุขสงบ

ความตายเป็นบทจบของทุกสิ่งที่เราไขว่คว้า ที่เราดำรงอยู่  เราไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้ว่าเราจะตายอย่างไร และตายเมื่อใด  มีเพียง ณ ขณะนี้และเดี๋ยวนี้เท่านั้นที่เราพอมีโอกาสเตรียมตัว เตรียมพร้อมเพื่อการเดินทางไปสู่บทจบของชีวิต คือ ความตาย

ณ ขณะนี้ ขอให้ทุกท่านได้ส่งใจรำลึกถึงบุคคลผู้เป็นที่รักซึ่งได้จากโลกนี้ไป เขาหรือเธออาจมีทรัพย์สมบัติ หรือภารกิจที่ตกค้างฝากไว้เป็นเครื่องรำลึกถึง อาจเป็นสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือจากเราให้ช่วยสะสางก็ตาม  ขอเรารำลึกถึงท่านเหล่านั้น และตระหนักรู้ต่อความจริงที่ว่า ชีวิตเรานั้นแท้จริงก็เหมือนพยับแดด เหมือนสายหมอกที่แลมองเห็น เหมือนว่าจับต้องได้ แต่ก็หยิบฉวยไม่ได้  ที่แท้แล้ว สิ่งที่หลงเหลือมีเพียงภาพประทับของผู้จากไปที่อยู่ในใจของพวกเรา ผู้ยังมีชีวิตอยู่

หัวใจสำคัญของศาสนา คือ การให้คำอธิบายที่สำคัญ 2 ประการแก่ชีวิตของพวกเรา คือ  1) ความจริงของโลกคืออะไร  และ 2) เราควรดำเนินชีวิตอย่างไรตามความจริงของโลก  คำอธิบายในทางศาสนานี้เองเป็นที่พึ่งทางจิตใจของพวกเรา  เราทุกคนต้องการสิ่งพึ่งพิงโดยเฉพาะในทางจิตใจ : ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน ชื่อเสียง  แต่ความตายคือสิ่งที่เราทุกคนจะพบว่า เราไม่สามารถหยิบฉวยสิ่งเหล่านี้ได้  สิ่งที่เราพอหยิบฉวยได้ มีแต่กุศลผลกรรมที่ติดตัวไป  ลึกๆ ในจิตใจของเราทุกคนต่างต้องการศาสนา เราต้องการคำอธิบายในการได้มีชีวิตในโลก และคำอธิบายในการที่ต้องจากโลกนี้ไป  และรวมถึงคำอธิบาย คำสอนที่บอกให้เรารู้ว่าเราควรดำเนินชีวิตอย่างไรในโลกใบนี้ ในโลกที่เรามีสิทธิ์ดำเนินชีวิตได้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วต้องลาจากไป

พุทธศาสนาอธิบายความจริงของโลกด้วยหลักไตรลักษณ์ คือ สรรพสิ่งในโลกดำรงอยู่ภายใต้สภาพที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  และสัมพันธ์ด้วยหลักอิทัปปัจยตา  ความหมายคือ สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนแปรเปลี่ยนสภาพ ไม่มีความคงทนยั่งยืน ดำรงอยู่และสูญสลายภายใต้เหตุ และปัจจัย  จากความจริงข้อนี้ การดำรงชีวิตที่ขัดแย้งกับความจริงดังกล่าว เช่น การเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น เพื่อหวังครอบครองสิ่งที่ครอบครองไม่ได้ ก็คือ ความโง่เขลา ความทุกข์  หรือการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ก็มีแต่ความทุกข์ เพราะทุกสิ่งล้วนแตกดับ สูญสลายได้  อีกทั้งการแบกยึดถือสิ่งใด ก็คือ ความเหนื่อยหนักของชีวิต

เราดำเนินชีวิตหรืออยู่อย่างไร เราก็จะตายอย่างนั้น

ผู้เขียนใคร่ขอหยิบยืมเนื้อความจาก ส.ค.ส.ของอาจารย์สันติกโร ผู้สมาทานแนวทางปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างท่านอาจารย์พุทธทาส ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้มอบให้กับลูกศิษย์และมิตรสหายในเมืองไทย  ผู้เขียนหวังว่าจะก่อประโยชน์และข้อคิดแก่การมีชีวิตในสังคมสมัยใหม่ ดังนี้

ร่างกายมีพลัง  ไม่ฟุ่มเฟือย  –  มีการงานพอทำประโยชน์แก่ส่วนรวม

มีเงินพออยู่ได้  ไม่ตื่นเต้นกำไร  –  แต่งตัว แต่งกาย พอไม่ทรมานทั้งเรา ทั้งตา จมูกเขา

จัดการเป็น  ไร้รุนแรง  –  มีความรู้พอปฏิบัติ  แก้ปัญหาชีวิตได้

ไม่เคร่ง ไม่เครียด ทั้งไม่ขี้เกียจ  –  สนุกกับทุกเรื่อง  อย่างไม่เผลอสติ

รักเพื่อนพ้อง  โดยไม่ครอบครอง  –  ชมเป็น  ติเป็น  ตามวาระ

ให้ไม่เกินกำลัง  รับเพื่อรักษาน้ำใจ

รู้เห็นสัจจะ  อย่างไม่ยืนหยัด  –  มีเกียรติ  สักแต่ว่าความเป็นมนุษย์ชีวิตหนึ่ง

มีกิจกรรมทางเพศที่ไม่เบียดเบียนใคร  ไม่ยั่วสัญชาตญาณจนอาละวาด  เอ็นดูแก่กันและกัน  นำมาซึ่งความใกล้ชิดอย่างลึกซึ้งทางน้ำใจ

ศรัทธา  ปราศจากงมงาย

เห็นแจ้ง  พอปล่อยวาง ตระหนักกฎธรรมชาติ ตลอดเวลา

เย็นเป็นสุข  ไม่เป็นทุกข์  ใจสบาย

ขอเราทุกคนจงได้เดินทางไปในเส้นทางชีวิตได้อย่างกล้าหาญ เข้มแข้ง และอ่อนโยนกับชีวิต  เพื่อไปสู่บทจบของชีวิตที่พึงปรารถนา คือ ภาวะการลาจากที่สุข และสงบ


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน