เราอยู่กับสิ่งทุกข์ทรมานใจอย่างไร

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 27 เมษายน 2007

หากลองสังเกตเด็กแรกเกิด เราจะเห็นปฏิกิริยาตอบสนองตามสัญชาตญาณที่จะคว้าจับ กำหรือยึดกุมเวลาที่เราลองแหย่นิ้วไปที่ฝ่ามือหนูน้อย ชีวิตของพวกเราต่างเรียนรู้ที่จะยึดกุม แสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อสนองความสุขและความพอใจ พร้อมกับเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงถอยห่างจากสิ่งที่สร้างความทุกข์ อึดอัดและคับข้องใจ  และเราก็พบว่าบ่อยครั้งในชีวิตเรา เราไม่สามารถทำสิ่งที่สร้างความพอใจให้เราได้ ซ้ำเรายังต้องทนอยู่กับสิ่งอึดอัด คับข้องใจ  เราจะทำฉันใดดี

พระ ส-สุ รู้สึกลำบากใจ อึดอัดใจมากกับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในวัด เนื่องจากหลวงพ่อเจ้าอาวาสประสบอุบัติเหตุอาพาสหนักต้องอยู่โรงพยาบาล สามัญสำนึกท่านรู้ว่าท่านควรไปทำหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาล แต่ความกลัว ความไม่มั่นใจ และไม่ต้องการทำหน้าที่นี้ ท่านปฏิเสธและขอทำหน้าที่ดูแลวัดแทน กระนั้นท่านก็รู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องทำหน้าที่ดูแลวัด ต้องรับผิดชอบจัดการสิ่งต่างๆ แทนเจ้าอาวาส  ท่านกำลังคิดที่จะหาวัดที่อยู่ใหม่ ด้วยเหตุผลที่บอกกับตนเองและคนอื่นๆ ว่า ท่านต้องการสถานที่ที่สัปปายะที่เอื้อต่อการศึกษาปฏิบัติธรรม เนื่องเพราะท่านไม่ถนัดดูแลวัดเช่นนี้

หลังจากมีปากเสียงอย่างหนักกับหัวหน้างานถึงจุดยืนบางอย่าง คุณ ฌ-เฌอ บอกเล่าเหตุผลของการกระทำกับคนอื่นเสมอๆ ว่า เธอทำเพื่อความถูกต้อง เธอทนไม่ได้ที่จะเห็นความไม่ยุติธรรม  ถ้าหากเธอต้องถูกให้ออก เธอก็ยินดีสู้ ฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าชดเชย  หลายคนรู้สึกชื่นชมกับความกล้าหาญและความเข้มแข็งของเธอ ขณะที่หลายคนมองว่า นี่คือ ความดื้อรั้นและมุทะลุของเธอ  บางครั้งเธอมีสีหน้ากังวล เครียดกับภาระครอบครัว แต่หากใครทักถามเธอ เธอก็จะปฏิเสธ สีหน้าคืนกลับสู่ความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ และยืนยันในจุดยืนของเธอต่อไป

ธรรมชาติในจิตใจของเรามีสิ่งที่เรียกว่า กลไกป้องกันตนเอง  ยามที่เราประสบกับสภาพการณ์ที่สร้างความคับข้อง ทุกข์ทรมานใจ จิตใจของเราก็จะใช้กลไกป้องกันตนเองโดยการตอบโต้เพื่อปกป้องตัวตน ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกบางประการให้ดำรงอยู่  กลไกป้องกันตนเองเช่นนี้ช่วยให้เราทนรับหรืออยู่กับสภาพความคับข้องทางจิตใจนั้นๆ ได้  การพยายามแสวงหาสภาพแวดล้อมใหม่ โดยการหนีห่างจากสภาพเดิม ก็คือ การกล่าวโทษหรือการใช้ข้ออ้างว่าต้นเหตุปัญหาที่แท้จริงมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก แทนการมองหรือพิจารณาอย่างแท้จริงว่า ต้นเหตุของความทุกข์ คับข้องใจ มาจากจิตใจภายในที่ไม่ตระหนักรู้ ไม่เข้มแข็ง และไม่อดทนต่อสภาพความไม่มั่นใจ ความคับข้อง อึดอัดใจ  การกล่าวโทษสิ่งภายนอกจึงเป็นการโยนความรับผิดชอบออกจากตนเองไปสู่สิ่งอื่น (หรือคนอื่นแทน ตามแต่กรณี) และถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสนับสนุนการกระทำของตนเอง

ในอีกลักษณะของกลไกป้องกันตนเองก็คือ การปฏิเสธ (rejection) เป็นการไม่ยอมรับ ไม่รับรู้สิ่งที่จะเข้ามากระทบจิตใจ เพื่อป้องกันไม่ให้ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อถูกสั่นคลอน แปรเปลี่ยนไป  ภาวะจิตใจภายใต้กลไกเช่นนี้จึงกระด้าง เย็นชา พร้อมที่จะตอบโต้ปะทะสิ่งที่เข้ามารุกล้ำหรือสั่นคลอน  ด้านหนึ่งของการใช้กลไกนี้ก็เพราะความเปราะบางในจิตใจที่ไม่ต้องการรับรู้สิ่งใด ไม่ต้องการให้สิ่งใดมากระทบความเปราะบางภายในใจ

กลไกป้องกันตนเองช่วยให้เราสามารถทนรับและอยู่กับสภาพที่สร้างความอึดอัด คับข้อง  แต่การใช้กลไกเช่นนี้ก็ทำให้เราไม่สามารถเรียนรู้และค้นพบสาเหตุแท้จริงของความทุกข์ในจิตใจได้ เพราะกลไกช่วยให้เราอยู่กับการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน หรือบุคลิกภาพภายในที่เรายึดถือว่านั่นคือ ตัวเรา  พระ ส-สุ มีภาพความเชื่อต่อตนเองว่า ตนเองยังไม่พร้อมรับกับความรับผิดชอบ การกระทำใดที่สุ่มเสี่ยงหรือแตกต่างจากความคุ้นเคย ทำให้ท่านรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สุขสบาย  แต่ในอีกทาง การอยู่กับตัวตนแบบเดิม ก็ทำให้ต้องถูกกักขังอยู่ในความไม่กล้า ความไม่เชื่อมั่นในตนเอง และความไม่วางใจต่อสภาพแวดล้อม

ขณะที่ตัวตนบุคลิกภาพที่ปฏิเสธสิ่งที่เข้ามากระทบความเปราะบางในใจคุณ ฌ-เฌอ ก็บอกเธอว่าเป็นการสุขสบายใจ และดีกับเธอมากกว่าในการได้รักษาตัวตนที่เชื่อมั่นตนเองสูง พึ่งพาตนเองได้ และปกป้องสิ่งเปราะบางในใจตนเองได้  ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กลไกนี้ก็ทำให้มองไม่เห็นว่า แท้จริงการมุ่งพยายามปกป้องความเปราะบางในใจ กลับเป็นต้นเหตุความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานกับผู้คนที่เธอรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเธอ เพราะการใช้ท่าทีที่ไม่ยอมเสียเปรียบใคร ไม่ยอมประนีประนอม

การกล่าวโทษสิ่งภายนอก เป็นการโยนความรับผิดชอบออกจากตนเองไปสู่สิ่งอื่นหรือคนอื่น และถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสนับสนุนการกระทำของตนเอง

คำแนะนำในทางจิตวิทยาต่อการทำความเข้าใจและเท่าทันกลไกป้องกันตนเองเช่นนี้ คือ “การเปิดใจ”  แท้จริงคำว่าการเปิดใจในที่นี้คือ การเมตตาในพุทธศาสนา และจุดเริ่มต้นก็คือ การเมตตาต่อตนเอง ด้วยการเฝ้าดูความรู้สึกนึกคิดในจิตใจโดยไม่ตัดสิน ไม่โต้ตอบ ไม่วิ่งตาม  เพียงแค่เฝ้าดู เฝ้าสังเกตอาการเคลื่อนไหวของความรู้สึกนึกคิดในจิตใจ มองเห็นการเกิดขึ้น แล้วหายไป และเกิดขึ้นเพื่อหายไปอีกครั้งวนเวียนเช่นนี้ ว่ามันเป็นไปอย่างไร  เช่น เริ่มต้นด้วยการเฝ้าดูความอึดอัด คับข้องในใจ อาจทุกข์ทรมานในตอนต้นและพบว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เราจะพบว่าความอึดอัด คับข้องนั้นเบาลง ไม่ทุกข์ทรมานเหมือนตอนต้น

นี่คือ การปล่อยวางตัวตน ตัวตนที่หนักอึ้งเพราะการแบกรับบางสิ่งบางอย่าง  ขอเราทุกคนได้ปล่อยวางด้วยการเมตตาต่อตนเอง ด้วยการมีจิตใจที่เฝ้าดูการทำงานของจิตใจโดยไม่ตัดสิน ขณะที่การงานและหน้าที่ เราก็กระทำตามความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่

ขอทุกท่านได้มีวิธีอยู่กับความทุกข์ทรมานทางจิตใจ ที่ดีกว่าการใช้กลไกป้องกันตนเองตามความเคยชิน  หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ขอให้ตระหนักรู้ตัวต่อการทำงานของกลไกนี้ในตัวเรา เพื่อที่ชีวิตเราจะสุข สงบ แท้จริง


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน