เรียกหา.. ความรักในครอบครัว

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 19 กรกฎาคม 2009

หลายข่าวที่พาดหัวและสร้างความฮือฮาในช่วงเดือนที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งในนั้นคือ ข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กชายชั้นประถมหก เนื่องจากน้อยใจเพราะถูกพ่อตำหนิจากพฤติกรรมติดเกม  เด็กชายส่งข้อความผ่านมือถือบอกลาเพื่อนๆ ก่อนที่จะจบชีวิตด้วยการกระโดดตึกตาย  พฤติกรรมเด็กติดเกม การฆ่าตัวตาย เป็นสัญญาณเตือนภัยที่สื่อสารได้จากข่าวนี้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวในสมัยนี้ ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวของสังคมไทยเรา ณ ขณะนี้ ดูช่างอ่อนแอและเปราะบาง

การที่ใครสักคนเลือกฆ่าตัวตาย จบชีวิตของตน ย่อมหมายถึงบุคคลผู้นั้นมองไม่เห็นคุณค่าของการดำรงชีวิต มองไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างตนกับบุคคลที่แวดล้อม ขณะเดียวกันในความรู้สึกก็มีความทุกข์ที่รุมเร้าเข้ามา มันช่างหนักหนาเกินทานทน เกินกว่าจิตใจจะแบกรับ และด้วยอารมณ์ชั่ววูบ รวมกับความหลงผิดที่มองว่าการจบชีวิต คือทางออกของความทุกข์ แต่นั่นก็ยิ่งเป็นวังวนที่ยิ่งทำให้ติดจมความทุกข์  เพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เราแต่ละคนคงต้องทำอะไรสักอย่างแล้วเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้

ความรักเป็นสายใยที่หล่อเลี้ยงครอบครัว เด็กทุกคนควรได้เกิดมาท่ามกลางความรักจากทั้งพ่อและแม่  ความรักของคนทั้งคู่มีบทบาทหน้าที่และความสำคัญที่แตกต่างกัน พ่อและแม่รักลูกด้วยท่าทีและวิธีการที่แตกต่างกัน  ในฐานะพ่อซึ่งมักมีหน้าที่สำคัญ คือ การทำหน้าที่การงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ความสำเร็จของการงานอาชีพหมายถึงความมั่นคงของครอบครัว และความสำเร็จนี้ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเพื่อสร้างความสำเร็จนั้น ซึ่งก็คือ การต้องต่อสู้ ดิ้นรน ความพากเพียร บากบั่น  ดังนั้นความรักที่พ่อมีให้กับครอบครัว กับลูกของตน จึงเป็นความรักที่ต้องผ่านการต่อสู้ ผ่านการฟาดฟันและแย่งชิง

ความรักเช่นนี้เป็นความรักที่มีเงื่อนไข ฝ่ายพ่อตระหนักดีผ่านประสบการณ์ของตนว่าในสังคมโลกทุกวันนี้ เราต้องเข้มแข็ง ต่อสู้ และอดทน  ความรักเช่นนี้หล่อหลอมให้เด็กน้อยเรียนรู้ว่าเพื่อให้พ่อซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตยอมรับตน และชื่นชม ภาคภูมิใจในตัวลูก ตนเองจะต้องต่อสู้และทำตามเงื่อนไขบางประการที่พ่อปรารถนา  กระบวนการเช่นนี้ทำให้เด็กน้อยเรียนรู้สิ่งสำคัญของชีวิต คือ การฝึกตน  เด็กน้อยได้เรียนรู้ถึงความเข้มแข็ง การต่อสู้ และการพิสูจน์ตนเอง

ในอีกทาง ความรักอีกลักษณะที่มีบทบาทและความสำคัญ คือ ความรักแบบไร้เงื่อนไขที่ลูกจะได้รับจากแม่  ไม่ว่าลูกจะมีหน้าตาหน้ารักน่าชังอย่างไร เขาจะเป็นคนดีหรือเลว น้ำนมจากอกของแม่ก็พร้อมหลั่งไหลให้ทารกตัวน้อยอิ่มหนำสำราญ  ธรรมชาติและสรีระของแม่ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและพร้อมให้การโอบอุ้มชีวิต เป็นเสมือนจักรวาลที่เด็กน้อยรับรู้ว่าตนเป็นที่รักได้ตลอดเวลา  เด็กน้อยสามารถสัมผัสถึงความรักแบบไร้เงื่อนไข ความเมตตากรุณาที่กว้างใหญ่ดั่งมหาสมุทร  ความรักเช่นนี้ทำให้เด็กน้อยเรียนรู้ถึงความอ่อนโยน ความเมตตากรุณา การถนอมรักษา การให้อภัย การปล่อยวางและโอบรับ

นับแต่เราจำความได้ เราเรียนรู้เรื่องราวชีวิตและความสัมพันธ์จากนิทาน ตำนาน เทพนิยาย ภาพยนตร์ ฯลฯ สิ่งที่เราเรียนรู้มีมากมายและหลายอย่าง  เราจดจำเอาไว้ในจิตใต้สำนึก  เมื่อเราพบปะ หลงรัก หรือชอบพอใครสักคนก็ตาม โดยไม่รู้ตัว เรามีภาพพิมพ์บางอย่างในใจ มันเป็นภาพพิมพ์แห่งความคาดหวังว่าบุคคลที่เราชื่นชมหลงรัก และบุคคลที่อยู่ตรงหน้าเราจะเป็นบุคคลที่มีความคิดนึก ความรู้สึก และการกระทำเป็นไปตามภาพพิมพ์ที่เรามีอยู่ในจิตใจลึกๆ  พ่อ หรือผู้ชาย จะต้องเป็นบุคคลที่รับผิดชอบ เก่งกาจ เข้มแข็ง มีความรัก เหมือนเจ้าชายหรือพระราชาในนิทาน เป็นสุภาพบุรุษเหมือนพระเอกในภาพยนตร์  แม่ หรือผู้หญิง จะเป็นบุคคลที่แสนใจดี อ่อนโยน น่ารัก รับผิดชอบ ฯลฯ  แต่เมื่อเราพบว่าบุคคลที่อยู่ตรงหน้ากระทำในสิ่งที่ต่างจากภาพพิมพ์ในใจจนเกินกว่าจะรับ ความผิดหวังก็พร้อมแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ ขุ่นเคือง และอาจจบลงด้วยความเกลียดชัง

โชคไม่ดีนักที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนรู้ความรักอย่างเท่าทันนัก ขณะเดียวกันเราล้วนมีความบกพร่องในตนเองทั้งสิ้น และยิ่งหากเราละเลยการเรียนรู้ เข้าใจ และศึกษาตนเองด้วยแล้ว การทำหน้าที่พ่อและแม่ก็อาจเป็นการกระทำตามมีตามเกิด หรือตามประสา  หลายคนเป็นพ่อแม่เพียงเพราะการรู้วิธีการมีเพศสัมพันธ์ หลงลืมว่านั่นเป็นความรับผิดชอบและภารกิจที่ยิ่งใหญ่  บทบาทความเป็นพ่อแม่ คือ การทำหน้าที่ของผู้ขับขี่นำพา “ครอบครัว” เพื่อเดินทางไปสู่เส้นทางของเป้าหมาย นับแต่เป้าหมายการเติบโตทางร่างกาย: การมีสุขภาพกายแข็งแรง  การเติบโตทางจิตใจ: การมีจิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรม  และการเติบโตทางสติปัญญา: การมีความรู้ ความสามารถในการทำงาน การช่วยเหลือตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่น สังคม รวมไปถึงการมีความสามารถในการเข้าถึงธรรมะ เข้าถึงความจริงของชีวิต

การที่ใครสักคนเลือกจบชีวิตของตน ย่อมหมายถึงบุคคลผู้นั้นมองไม่เห็นคุณค่าของการดำรงชีวิต มองไม่เห็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างตนกับบุคคลที่แวดล้อม

พร้อมกันนี้สำหรับเราทุกคนที่อาจเคยมีบาดแผลความสัมพันธ์จากพ่อหรือแม่ก็ตาม การยอมรับตระหนักรู้ว่าเราทุกคนต่างมีความไม่สมบูรณ์พร้อมในตนเอง การยอมรับว่าพ่อและแม่ของเราทุกคนต่างก็ทำดีที่สุด ณ ภาวะขณะนั้นๆ ทำดีที่สุดเท่าที่สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และสำนึกรู้ในจิตใจจำนำพาไปได้  หลายคนเลือกที่จะยึดถือมุมมองของการคาดโทษ ความผิดหวัง และโกรธแค้นว่า ความเลวร้ายทั้งหมด ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีที่มาของสาเหตุจากการกระทำของพ่อแม่  มุมมองเช่นนี้อาจช่วยให้เรามีคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มุมมองเช่นนี้ไม่ช่วยให้เกิดผลดีกับใคร แม้แต่ตัวเราซึ่งอาจรู้สึกสบายใจ  กระนั้นมุมมองของการคาดโทษ กล่าวโทษ ก็ทำให้เราหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในตนเอง  เหตุผลสำคัญคือ เมื่อเรากล่าวโทษไปที่บุคคลอื่น ก็หมายถึงว่าเราไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างใดต่อความผิดพลาด ปัญหา หรือสิ่งไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้น  กระนั้นก็มิได้หมายความว่าสาเหตุของปัญหา หรือสิ่งไม่พึงปรารถนาจะมาจากตัวเรา  เราทุกคนต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งไม่พึงปรารถนาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

การทำความเข้าใจมุมมองต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ  แนวคิดการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือครอบครัวจึงมุ่งหมายเสนอมุมมองการยอมรับในข้อจำกัดเพื่อการเข้าใจ การให้อภัย และการปล่อยวางสิ่งถ่วงรั้งในจิตใจเพื่อเราจะได้ก้าวเดินต่อไปได้   พร้อมกับความรู้ ความเข้าใจ ก็จะช่วยนำทางชีวิตเราสู่เส้นทางที่ถูกต้องและพึงปรารถนา  แรงกายทำให้เราขับเคลื่อนชีวิต แรงใจทำให้เราเปลี่ยนแปลง และแรงศรัทธาทำให้เราสร้างโลก

ขอให้เรามาศรัทธาสร้างครอบครัวที่ดีเพื่อมอบของขวัญผ่าน “ลูกที่รัก” สู่โลกและสังคมของเรา


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน