เรื่องโกงในโรงหนัง

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 8 กรกฎาคม 2012

เคยได้ยินนักดูหนังบางคนกล่าวในทำนองว่า หนัง-ต้องดูในโรงเท่านั้น ถ้าดูในสถานที่อื่นก็เหมือนไม่ใช่การดูหนัง

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อได้เข้าไปนั่งอยู่ในโรงหนังย่านปิ่นเกล้า ในตอนสายของวันปลายก่อน

บนจอผ้าผืนใหญ่ขนาดฝาบ้าน กับระบบเสียงที่ดังจากรอบทิศทางนั้น  แค่เรื่องราวธรรมดาอย่างการเดินไปของเข็มนาฬิกา หรือภาพความเคลื่อนไหวตามสี่แยกไฟแดงทั่วๆ ไปก็ยังดูต้องตา  ยังไม่นับถึงบรรยากาศที่สงบ มืด เงียบ บวกกับการที่แต่ละคนต่างถูกจำกัดพื้นที่ไว้แต่ในที่นั่งของตัวเอง  ปรุงให้บรรยากาศในโรงหนังเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่ง–สำหรับการเข้าสู่โลกอีกใบ-ที่จะปรากฏบนจอ

เป็นหนังรอบเช้าสุด แต่คนดูเต็มโรง เพราะเป็นหนังที่เปิดให้ดูฟรีในโครงการ “เล่าเรื่องโกง”  เป็นผลงานหนังสั้นสิบกว่าเรื่องจากฝีมือผู้กำกับมีชื่อ และผู้กำกับมือสมัครเล่นที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งหลายเรื่องทำได้ดีครบเครื่องในความเป็นหนัง

อย่างเรื่อง สี่แยก ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับรางวัล  หนังเล่าเรื่องอุบัติเหตุรถเก๋งของนักธุรกิจที่กำลังจะไปส่งลูกที่โรงเรียนกับรถซาเล้งคุณป้าคนเก็บของเก่าที่มาเฉี่ยวชนกันกลางสี่แยก แล้วทั้งคู่ก็มายืนโต้เถียงกันอยู่ว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ผิด  หนังฉายภาพการเผชิญหน้าของคู่กรณีที่ดำเนินไปอย่างเผ็ดร้อนเช่นเดียวกับแดดยามสายที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อย  ตัดสลับกับภาพอดีตที่มาจาก “สี่แยก” ให้คนดูเห็นที่มาของแต่ละฝ่าย

แยกที่หนึ่ง คุณป้าเก็บของเก่าอยู่ตามริมทาง แล้วขับซาเล้งคู่กายมาจากทางด้านหนึ่ง  ตัดสลับมาสู่แยกที่สอง เป็นตำรวจที่มาระงับเหตุการณ์ แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างยังโยนความผิดให้แก่กัน  นักธุรกิจว่ารถซาเล้งของคุณป้าไฟเลี้ยวก็ไม่เปิด ป้ายทะเบียนก็ไม่มี  ป้าคนเก็บของเก่าโต้ทันทีว่าซาเล้งที่ไหนมันจะมีป้ายทะเบียน  แต่แกก็ขับอยู่ได้ทุกวันไม่เคยมีอุบัติเหตุ วันนี้แกถูกชนเพราะเจ้าของรถเก๋งขับรถฝ่าไฟแดงมา และคุยโทรศัพท์มาด้วย!

ตำรวจไม่สามารถไกล่เลี่ยหาข้อยุติ  หนังตัดเข้าสู่แยกที่สาม เป็นเจ้าหน้าที่ประกันของรถเก๋งที่นักธุรกิจโทรเรียก ซึ่งเขาดูมีท่าทีเข้าข้างลูกค้าของเขาอย่างชัดเจน

หนังตัดไปเล่าแยกที่สี่ของนักธุรกิจที่ขับรถมากับลูกสาว  ทำให้คนดูได้เห็นความจริงว่า เขาคุยโทรศัพท์และขับรถฝ่าไฟแดงมาจริงๆ

แต่เขาไม่รับผิด และไม่มีใครเชื่อคำของคุณป้าคนขับซาเล้ง  การเจรจาส่อเค้าว่าจะจบลงที่แกต้องจ่ายค่าปรับ และต้องออกเงินซ่อมรถซาเล้งเอง  ป้าเครียดและเสียใจจนร้องไห้ออกมา

จนในที่สุดแกก็ออกปากท้ากับทุกคนว่า ถ้าไม่เชื่อที่แกพูดก็ให้ถามเด็กดูสิ เด็กมันไม่โกหกหรอก

เรื่องดำเนินมาถึงจุดเครียดเขม็งของทุกตัวละครในเรื่อง และคนดู

รอฟังว่าเด็กหญิงตัวน้อยจะพูดออกมาอย่างไร–พูดความจริง หรือพูดโกหกเพื่อปกป้องพ่อของเธอ

หนังจบให้คนดูน้ำตาไหลไปกับคุณป้าซาเล้ง  เมื่อเจ้าหนูบอกว่าคุณพ่อของเธอไม่ได้คุยโทรศัพท์

ยังมีข้อน่าสังเกตว่าในหนังสั้นเล่าเรื่องโกงชุดนี้ อย่างน้อยสองเรื่องมีพระสงฆ์เป็นตัวละครสะท้อนเรื่องโกง–แต่ในภาพลักษณ์ที่เป็นฝ่ายโกงด้วย  เป็นผู้ที่คอยพร่ำสอนคนอื่น (ลูกศิษย์วัด) ไม่ให้หลอกลวงคดโกงใคร  แต่แล้วก็กลายเป็นผู้ทุศีลเสียเอง ด้วยการยักยอกเงินบริจาคของวัดต่อหน้าศิษย์วัดที่ตนเฝ้าพร่ำสอน  กับอีกเรื่องให้ตัวละครที่ครองผ้ากาสาวพัสตร์ออกรับบิณฑบาตในยามเช้า-เป็นพระปลอม!

นี้อาจถือเป็นจุดสังเกตอย่างมีนัยสำคัญว่า เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องการโกงในสังคมของเรา ไฉนเล่าสมณะที่ถือเป็นผู้นำทางศีลธรรมจริยธรรมของผู้คน จึงถูกให้ภาพไปในทางร้าย-ในสายตาผู้กำกับหนัง

จริงอยู่ว่าคนดูหนังต่างรู้อยู่แก่ใจ หนังคือเรื่องแต่ง ไม่ใช่เรื่องจริง  และการมาดูหนังก็ไม่ใช่เพื่อรับคำสั่งสอนหรือฟังเทศนา นอกไปเสียจากความบันเทิง  ความสำเร็จของหนังจึงอยู่ที่จุดกระทบที่จะสร้างความสั่นสะเทือนใจใจคน ดูจบแล้วมีสิ่งติดค้างใจให้เอากลับไปคิดต่อได้

อย่างเรื่อง สิบหมื่น ที่เล่าเรื่องเสมือนจริงว่า ตั้มโทรชวนต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) ให้มาทำหนังในโครงการเล่าเรื่องโกง มีทุนให้เรื่องละ ๑ แสนบาท  ต้อมสนใจและตอบตกลงรับเงินมาทำหนัง  แต่ต่อมาเขาอ้างว่าไม่มีเวลา และเสนอจะแบ่งเงิน ๗ หมื่นบาท จากที่ได้มา ๑ แสนบาท ให้ตั้มรับไปทำหนังแทนแล้วใส่ชื่อผู้กำกับร่วมกัน  ตั้มรับงบ ๗ หมื่นบาทมาจ้างให้นักศึกษาทำต่อในราคา ๕ หมื่นบาท

หนังจบแบบเรียบๆ ด้วยฉากที่ตั้มเอาต้นฉบับหนังที่เขาจ้างนักศึกษาทำ มาให้ต้อมเปิดดู (เรื่องราวในหนังที่นักศึกษาทำมานั้น กลายเป็นหนังอีกเรื่องในชุดนี้)

จบเรื่องราวหนังขึ้นจอดำ แล้วตามด้วยตัวหนังสือสีขาวแสดงสถิติตัวเลขอัปยศในสังคมไทย  อย่างความล้มเหลวหลายหมื่นล้านของโครงการโฮปเวลล์  งบก้อนใหญ่ของสนามบินสุวรรณที่ยังด้อยด้านคุณภาพ  งบประมาณ ๘ แสนล้านบาทเยียวมหาอุทกภัย ที่เงินช่วยเหลือยังเดินไปไม่ถึงประชาชนผู้เดือดร้อน และ ฯลฯ ที่กระแทกใจคนดูให้ฉุกคิด และเชื่อมโยงไปถึงตัวอย่างเล็กๆ ที่เพิ่งดูจากหนังเรื่องที่เพิ่งดูผ่านไปได้ โดยไม่ต้องตั้งท่าสั่งสอนคนดูแบบหนังเชยๆ

หนังเล่าเรื่องโกงฉายอยู่ในโรง-รอบเช้า แค่ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ พ้นจากนั้นไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่เฟชบุ๊ค “เล่าเรื่องโกง” มีหนังแผ่นบริการให้

แม้ว่ารสของความเป็นหนังอาจไม่เท่ากับการดูในโรง แต่รสสาระก็ไม่ได้ตกหล่นไปไหน

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ