“เสพติด” VS “ผูกพัน”

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 4 ตุลาคม 2015

เมื่อพูดถึงคนติดยา คนส่วนใหญ่มักร้องยี้และพยายามหนีห่างให้ไกลราวกับว่าคนเหล่านั้นมีเชื้อโรคร้ายหรือฆาตกร  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? และจะแก้ปัญหายาเสพติดและคนติดยาได้อย่างไร?

เป็นคำถามที่น่าสนใจและน่าค้นหาคำตอบ จนทำให้ โจฮานน์ ฮารี ซึ่งมีคนในครอบครัวติดยาเดินทางไปพูดคุยกับคนทั่วโลกเพื่อค้นหาคำตอบ  และได้รับคำตอบที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ความเชื่อและแนวทางจัดการเกี่ยวกับการติดยาที่ทำกันอยู่ทั่วโลกมานานนับนับร้อยปีคือ ยาเสพติดเป็นเรื่องร้ายแรงที่สังคมไม่อาจอดทนได้ ต้องจับกุม ดำเนินคดี คุมขัง และได้รับการลดโทษน้อยที่สุดในบรรดาคดีต่างๆ ล้วนเป็นการ “เดินผิดทาง” และทำให้ปัญหายืดเยื้อไม่สิ้นสุด

ในการปาฐกถาเทด (TED Talks) เรื่อง ทุกสิ่งที่คุณคิดว่าคุณรู้เกี่ยวกับการเสพติดล้วนผิด (Everything you think you know about addiction is wrong) เขาเชื้อเชิญให้ผู้ฟังจินตนาการว่าเสพเฮโรอีนวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 20 วัน แล้วเราก็จะเชื่อว่าเราจะกลายเป็นคนติดเฮโรอีน เพราะได้รับการบอกเล่ามาตั้งแต่เด็กว่า ในเฮโรอีนมีสารเสพติดที่หากใช้ต่อเนื่องระยะหนึ่งจะกลายเป็นคนติดยา  แต่เขาบอกว่าถ้าเป็นเช่นนั้น คุณย่าคุณยายที่หกล้มสะโพกหักแล้วได้รับมอร์ฟีนแก้ปวดซึ่งบริสุทธ์กว่าเฮโรอีนตามท้องถนน ก็กลายเป็นขี้ยาไปหมดแล้วสิ

โจฮานน์ ฮารี บนเวที TED Talks

เขากล่าวถึงการทดลองในช่วงทศวรรษ 70 ของศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา บรูซ อเล็กซานเดอร์ ที่นำหนูใส่ในกรงเปล่า โดยใส่น้ำเปล่าและน้ำผสมยาให้หนูเลือกดื่ม ปรากฎว่าหนูเลือกดื่มน้ำผสมยาบ่อยครั้งและตายไปในที่สุด

ในการทดลองครั้งต่อมาเขาใส่หนูไว้ในกรงที่เขาเรียกว่า “สวนสวรรค์ของหนู” เพราะเต็มไปด้วยอาหาร เพื่อนหนูทั้งตัวผู้ตัวเมีย และอุโมงค์เล็กๆ ที่เจ้าหนูสามารถวิ่งเล่นได้ไม่จำกัด และใส่น้ำและน้ำผสมยาเหมือนเดิม  ปรากฎว่าหนูส่วนใหญ่เลือกดื่มน้ำธรรมดา น้อยตัวมากจะดื่มน้ำผสมยาและดื่มเกินขนาด  ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า หากหนูมีความสุขและมีความสัมพันธ์กับหนูตัวอื่น มีโอกาสน้อยมากที่มันจะเลือกเสพยา

เช่นเดียวกับการทดลองในมนุษย์ ในสมัยสงครามเวียดนามพบว่าทหารอเมริกันในเวียดนามติดเฮโรอีนถึง 20 เปอร์เซ็นต์  รัฐบาลอเมริกันกังวลว่าเมื่อสงครามเลิก อเมริกาจะเต็มไปด้วยทหารผ่านศึกขี้ยา  แต่แท้จริงแล้วเมื่อทหารเหล่านี้กลับมาอยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง ส่วนใหญ่ (95%) กลับเลิกยาโดยไม่ต้องเข้าสถานบำบัดยาเสพติดเลย  ศาสตราจารย์อเลกซานเดอร์จึงสรุปว่าคนติดยาไม่ใช่เพราะสารเสพติด แต่เป็นเรื่องสภาพแวดล้อม หรือ “กรง” ที่หนูและคนเหล่านั้นอยู่อาศัยต่างหากล่ะ

ขณะที่ศาสตราจารย์ปีเตอร์ โคเฮน แห่งเนเธอร์แลนด์บอกว่าเราไม่ควรเรียกว่าการเสพติด (addiction) แต่น่าจะเรียกว่าความผูกพัน (bonding) เสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการความผูกพัน เมื่อเรามีความสุขและสุขภาพดีเราจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้อื่น  แต่หากเราโดดเดี่ยว เราก็มักจะไปผูกพันหรือยึดติดกับบางสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี ซึ่งอาจเป็นยาเสพติด การพนัน หนังโป๊ หรือโซเชียลมีเดียในโทรศัพท์มือถือ

ประเด็นสำคัญคือ ทั่วโลกประกาศสงครามกับยาเสพติดมานับร้อยปีแล้ว และเป็นการประกาศสงครามกับคนติดยาไปด้วยโดยปริยาย แต่เหตุใดจึงไม่สามารถพิชิตยาเสพติดและคนติดยาได้  คำตอบอยู่ที่รัฐแอริโซน่า สหรัฐอเมริกา และทั่วโลก

ที่แอริโซน่า โจฮานน์พบนักโทษหญิงสวมเสื้อยืดเขียนคำว่า “ฉันเป็นคนติดยา” ถูกล่ามโซ่เดินไปตามท้องถนนเพื่อทำความสะอาดสุสานฝังศพ  นี่เป็นหนึ่งในวิธีปฏิบัติต่อผู้ติดยาทั่วโลก นั่นคือลงโทษประจานและแยกพวกเขาออกจากสังคมอย่างชัดเจน เมื่อคนเหล่านี้พ้นโทษพวกเขาก็จะถูกสังคมรังเกียจ ไม่สามารถหางานทำและใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้  เมื่อเขาไม่สามารถทนอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวเช่นนั้นได้จึงหวนกลับไปเสพยาหรือใช้ชีวิตในเรือนจำซ้ำแล้วซ้ำอีก

จากการค้นคว้าและเดินทางของโจฮานน์ เขาบอกว่ามีเพียงที่เดียวในโลกที่แก้ปัญหาคนติดยาด้วยมุมมองใหม่ คือที่ประเทศโปรตุเกส

ในปี ค.ศ. 2000 โปรตุเกสเป็นประเทศที่มีปัญหายาเสพติดร้ายแรงที่สุดในยุโรป โดยมีคนติดเฮโรอีนถึงร้อยละ 1 ของประชากร  หลังจากใช้วิธีลงโทษตีตราและทำให้ละอายมาโดยตลอด แต่ปัญหายังไม่ดีขึ้น รัฐบาลจึงระดมสมองนักวิทยาศาสตร์และแพทย์เพื่อหาทางแก้ปัญหา  และได้แนวทางใหม่คือการนำเงินที่ใช้เพื่อขจัดยาเสพติดและตัดคนติดยาออกจากสังคม มาใช้เพื่อเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับสังคมอีกครั้ง

เมื่อคนเหล่านี้พ้นโทษ รัฐบาลจะส่งพวกเขากลับคืนสู่สังคมด้วยการสร้างงาน เช่น จ่ายค่าแรงให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้ประกอบการจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง และให้สินเชื่อรายย่อยแก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจส่วนตัว  ผลลัพธ์คือวารสารอาชญาวิทยาแห่งอังกฤษ (British Journal of Criminology) ตีพิมพ์ว่าผ่านไป 15 ปี ปรากฏว่าอัตราการใช้ยาลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการติดเชื้อเอชไอวีก็ลดน้อยลงด้วย

เมื่อมีความสุข เราจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่หากโดดเดี่ยว เราก็ไปผูกพันหรือยึดติดกับบางสิ่งแทน

ย้อนกลับมาสู่ทั้งสังคมโลกและสังคมไทยยุคปัจจุบัน  แม้คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ติดยาเสพติด แต่คนไม่น้อยเสพติดสิ่งเสพติดใหม่ๆ เช่น โซเชียลมีเดีย การกิน และช็อปปิ้ง ซึ่งนักจิตวิทยากล่าวว่ามักเกิดจากการขาดความเชื่อมโยงสัมพันธ์  แม้คุณจะอ้างว่ามีเพื่อนในโซเชียลมีเดียเป็นร้อยเป็นพัน แต่ลองถามตัวเองดูว่าในยามที่คุณเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ หรืออยากมีเพื่อนพูดคุยเรื่องส่วนตัว คุณมีเพื่อนสักกี่คนที่สามารถพูดคุยได้อย่างเปิดใจ  ยิ่งไร้เพื่อนก็ยิ่งโดดเดี่ยวและกระโดดเข้าไปสู่วังวนของโซเชียลมีเดียมากขึ้นๆ

เมื่อรู้ถึงต้นตอของปัญหา จึงน่าจะดีกว่าที่จะถอนตัวจากหน้าจอ มองหาและผูกมิตรพูดคุยกับคน “ตัวเป็นๆ” มากขึ้น  ส่วนคนที่อยู่รอบข้างก็ควรจะใส่ใจพูดคุยดูแลคนเหล่านี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

โจฮานน์สรุปในตอนท้ายของการปาฐกถาเท็ดว่า จากประสบการณ์ในการเยียวยาคนติดยาในครอบครัวของเขา สารสำคัญที่สามารถใช้ได้กับคนติดยาและการเสพติดชนิดอื่นๆ คือ “คุณไม่ได้อยู่ลำพัง” และ “ฉันรักเธอ” และเราควรมาร้องเพลงรักแทนการร้องเพลงประกาศสงครามกับยาเสพติด  เพราะคำตรงข้ามของการเสพติด ไม่ใช่คำว่าปกติหรือปราศจากสารมึนเมา (sobriety) แต่คือการเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน (connections)

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง